เสียงประชาชน (พ.ศ. 2550)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคเสียงประชาชน

พรรคเสียงประชาชนจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550[1] โดยมีนายกำจร เชาวน์รัตน์[2] ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค ต่อมานายกำจร เชาวน์รัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่ง[3] ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อมาคือ นายเดชชาติ รัตนวรชาติ[4]

ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเสียงประชาชนนั้นเนื่องจากการที่พรรคก่อนตั้งขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งจนถึงปัจจุบันปรากฏว่าประเทศไทยได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพียงครั้งเดียวคือเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งในครั้งนั้นพรรคเสียงประชาชนมิได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนแต่อย่างใด ส่วนในแบบแบ่งเขตนั้นพรรคเสียงประชาชนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 8 คน ซึ่งก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ [5]


นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

1.เชิดชูและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และยึดมั่นปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย

2.ดำเนินการปรับปรุงและร่างกฎหมายที่ยั่งยืน

3.ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้และอุดมการณ์ทางการเมืองที่ดีให้แก่สมาชิกพรรคและประชาชนทั่วไป

4.สร้างความมั่นคงให้แก่รัฐ สร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชน และร่วมกันเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง

5.เปิดโอกาสให้ผู้แทนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอแนวความคิดและแนวนโยบายที่เป็นผลดี

6.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรอื่นๆ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจของรัฐ

7.ดำเนินการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยการให้การศึกษาแก่ประชาชน

8.ดำเนินการสร้างการบริหารกิจการประเทศที่มีมาตรฐานและยึดหลักการกระจายอำนาจ

9.สนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

10.ดำเนินการปกครองตามหลักกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหลักนิติธรรมนิยม


นโยบายด้านสังคม

1.มุ่งสร้างสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของคนไทย รวมทั้งให้มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน

2. อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติไทยให้สืบสานกันไปมิให้สูญหายไปจากสังคม

3.ดูแลด้านสวัสดิการทางสังคมเท่าที่ควร และได้รับความคุ้มครองจากรัฐในเรื่องการรักษาพยาบาลฟรี

4.พัฒนาด้านการศึกษา ให้ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาฟรี

5.ช่วยเหลือและดูแลคนสูงอายุโดยการแจกเบี้ยเลี้ยงชีพจากรัฐเดือนละ 1,000 บาท สตรีได้รับสิทธิ์การคลอดบุตรฟรี และสามารถลาคลอดบุตรกำหนด 4 เดือน โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ

6.นำเอาองค์ความรู้ในระดับโลกมาประสานเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาของประเทศ

7.ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน และยกย่องแนวความคิดภูมิปัญญาการคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ


นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1.ดำเนินการพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ

2.มุ่งพัฒนาการตลาดในระบบเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหาช่วยเหลือปลดเปลื้องหนี้สินให้แก่เกษตร

3.ดำเนินการริเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจของชาติต้องอยู่ในมือของรัฐและประชาชนคนไทย โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์

4.มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน

5.มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร และประชาชน โดยจัดหาแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมจัดตั้งธนาคารประชาชนขึ้นให้ทั่วถึง

6.ดำเนินการฝึกฝีมือแรงงานและโรงงานขนาดเล็กของคนไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน

7.มุ่งสร้างประชาชนไทยให้มีความรู้ความสามารถในการผลิต พัฒนาเป็นธุรกิจไปสู่ตลาดโลก


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนพิเศษ 151ง หน้า 42
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนพิเศษ 151ง หน้า 71
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 11ง หน้า 60
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 36ง หน้า 32
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนพิเศษ 151ง หน้า 42-47