เสรีประชาไท (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคเสรีประชาไท

พรรคเสรีประชาไทได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549[1] โดยมีนายพิศาล ยวงประสิทธิ์[2] ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค (ในเรื่องของชื่อหัวหน้าพรรคนั้นได้มีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างราชกิจจานุเบกษาเล่ม 123 ตอนที่ 74ง กับราชกิจจานุเบกษาเล่ม 125 ตอนที่ 23ง เป็นต้นไปที่ได้เปลี่ยนจากนายพิศาล ยวงประสิทธิ์เป็นนายยศวัจน์ ยวงประสิทธิ์ ซึ่งในราชกิจจานุเบกษามิได้แจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด)

ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเสรีประชาไทยอย่างเป็นทางการนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นั้นพรรคเสรีประชาไทมิได้ส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลยแม้แต่คนเดียว

รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ [3]


นโยบายทางการเมืองภายในประเทศ

1.ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน

2.สร้างความสมานฉันท์ของผู้คนในสังคม

3.ประกันความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ

4.ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

5.แก้ไขกฎหมายบางอย่างที่ล้าหลังและยังไม่เป็นประชาธิปไตย

6.กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

7.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

8.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

9.ปรับปรุงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ และวิธีการดำเนินงาน ให้มีความชัดเจน

10.ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการจัดการของส่วนราชการ โดยการยุบรวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน


นโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศ

1.ใช้เอกลักษณ์ของชาติเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ โดยแสดงออกซึ่งความเป็นนโยบายอิสระ

2.ดำเนินนโยบายเป็นมิตร ไม่แทรกแซงความขัดแย้งระหว่างคู่พิพาท แต่จะสนับสนุนวิธีการระงับความขัดแย้งด้วยหลักสันติวิธี

3.ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีทางด้านเศรษฐกิจ

4.ป้องกันพฤติกรรมจากต่างชาติที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

5.ทบทวนปรับปรุงแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบต่างชาติ

6.ยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ


นโยบายด้านเศรษฐกิจ

1.ปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

2.ปรับระบบการถือทุนในลักษณะผูกขาด เพื่อให้มีการกระจายทุนอันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาติมีเสถียรภาพ

3.สร้างความสัมพันธ์ระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของประชากรให้สมดุลกัน


นโยบายด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

1.ประกันการผลิตและราคาผลิตผลของเกษตรกร

2.ปลดเปลื้องภาระหนี้สินของเกษตรกร

3.สนับสนุนสถาบันเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

5.เร่งรัดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและจำเป็นพื้นฐานให้เพียงพอ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม

6.ควบคุมมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด


นโยบายด้านสังคม

1.แก้ไขปัญหาสังคมบนพื้นฐานของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ

2.ส่งเสริมให้มีการประกันสังคมแก่ประชาชนทุกคน

3.ปฏิรูปหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

4.ส่งเสริมให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน

5.กระจายความเจริญทุกด้านสู่ชนบท

6.สนับสนุนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย

7.ฟื้นฟู ส่งเสริมและเชิดชูวัฒนธรรมไทยและป้องกันวัฒนธรรมต่ำทรามจากในและนอกประเทศ

8.ปลูกฝังความเป็นชาตินิยม

9.ส่งเสริมและรักษาพุทธศาสนา


นโยบายด้านการศึกษา

1.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน ขยายการศึกษาภาคบังคับ

2.สนับสนุนให้มีการผลิตบุคคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

3.ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา

4.ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ


นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม

1.แก้ไขปรับปรุงกฎหมายและประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับแรงงาน

2.ขยายการจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น

3.เพิ่มความมั่นคงและหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน

4.สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

5.ส่งเสริมการฝึกอาชีพ


นโยบายด้านสาธารณสุข

1. ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมบริการสาธารณสุข

2.เร่งขยายโรงพยาบาลในชนบทให้เพียงพอ

3.จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ

4.จัดระบบการสงเคราะห์รักษาพยาบาลแก่ผู้มีรายได้น้อยด้วยประกันสังคม


นโยบายด้านความปลอดภัยและกระบวนการยุติธรรม

1. ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินและกระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสม

2.เผยแพร่การศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

3.ปรับปรุงอัตราการครองชีพของตำรวจให้เหมาะสม

4.สนับสนุนการจัดตั้งศาลจราจร

5.จัดตั้งศาลปกครอง

6.กำหนดมาตรการควบคุมการครอบครองอาวุธ

7.ปรับปรุงเรือนจำและสถานที่คุมขัง


นโยบายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

1.พิทักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติ

2.ป้องกันการปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

3.พัฒนาการใช้พลังงานจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด


นโยบายด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง

1.ส่งเสริมให้กองทัพช่วยพัฒนาของประเทศ

2.ปรับปรุงสวัสดิการของกองทัพ

3.ให้มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศ

4.ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เอง


นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1.สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อชาติและนานาชาติ

2.พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3.สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของเอกชนให้มีส่วนช่วยในโครงการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในวิสาหกิจต่างๆ


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 123 ตอนที่ 74ง หน้า 119
  2. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 123 ตอนที่ 74ง หน้า 168
  3. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 123 ตอนที่ 74ง หน้า 119-141