เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ : ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ : ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

             เมืองไทยมีการร่างรัฐธรรมนูญกันมาหลายครั้งมาก นับเป็นสิบๆครั้งเลยทีเดียว แต่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพียง 4 ครั้งเท่านั้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรกนั้นตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2491 โดยมีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก ที่เป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายของแผ่นดิน ชื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ผู้ซึ่งมีบทบาททางการเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อยู่พอสมควร เพราะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอยู่หลายตำแหน่งด้วยกัน ครั้งนี้จึงขอนำมารู้จักท่านกันดีกว่า

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ นั้นมีชื่อเดิมว่าจิตร เป็นบุตรขุนนางชื่อ พระอนันตสมบัติ ( เอม ณ สงขลา ) มีแม่ชื่อเชื้อ เกิดเมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2428 ที่จังหวัดสงขลา ท่านมีพี่น้องหลายคน เสียชีวิตในวัยเด็กเกือบหมด เหลือเพียงน้องชายคนเดียวชื่อปลอด ที่ต่อมาก็มีชื่อเสียงมาก คือพระยามานวราชเสวี นายจิตรนั้นแม้จะเกิดที่สงขลา แต่ต่อมาก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และพออายุได้ 10 ปี ก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัน ท่านเป็นคนเรียนเก่ง และเก่งทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถึงขนาดสอบได้ที่ 1 ได้เข้าเรียนต่อระดับสูงในวิชากฎหมาย จนสอบได้เป็นเนติบัณฑิตไทยใน พ.ศ. 2448 ได้ทุนกระทรวงยุติธรรมไปเรียนต่อทางด้านกฎหมาย ที่ประเทศอังกฤษ ยังสำนักเกรย์อิน สมัยโน้นคนไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษก็จะเรียนกันที่สำนักหรือสถานที่เรียนแห่งนี้

             นายจิตรศึกษาจบจากอังกฤษ เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนในพ.ศ.2453 และได้เข้าทำงานเป็นผู้พิพากษา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจินดาภิรมย์ ท่านได้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2471อีกสามปีต่อมา ใน พ.ศ.2474 ขณะที่เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ จึงเป็นผู้ที่ได้เป็นเจ้าพระยาเป็นคนสุดท้าย เพราะต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว ได้ยกเลิกการมีบรรดาศักดิ์

             หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง น้องชายของท่านคือพระยามานวราชเสวี ได้เข้าร่วมงาน ได้เป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก และยังได้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย แต่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็ยังไม่ได้เข้าไปร่วมงานด้วย จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งผู้แทนครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2476 จึงได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ขึ้นใหม่จำนวน 78 คน นับว่าเป็นชุดที่ 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2476 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาด้วยคนหนึ่ง ต่อมาอีก 7 วัน ท่านก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งน่าจะเป็นงานที่ท่านถนัดน้อยมาก แต่พอถึงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎร ที่ท่านเป็นสมาชิกก็ได้มีมติเลือกท่านเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ นับเป็นประธานสภาคนที่ 4 ต่อจากพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ที่ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ การมาเป็นประธานสภาสมัยแรกของท่านนี้เป็นเวลาไม่นานเลย เพราะว่าสมัยโน้น ข้อบังคับการประชุมสภา กำหนดให้ประธานสภาและรองประธานสภาอยู่ในตำแหน่งได้วาระสมัยประชุมสามัญเป็นปีๆไป

“ประธานและรองประธานต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเปิดสมัยประชุมสามัญทุกปี”

แต่เจ้าพระยาศรีฯก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไปในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2477 และในช่วงเวลาห้าเดือนในช่วงนั้นที่ท่านต้องรับหน้าที่สำคัญ ไปเฝ้าและกราบบังคมทูลเรื่องราวทางด้านรัฐบาล ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ โดยมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกท่านหนึ่ง คือ นายดิเรก ชัยนาม ร่วมอยู่ด้วย เพราะการที่ท่านเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นบุคคลที่รัฐบาลเห็นว่า

“ผู้ที่ควรจะไปเฝ้า ก็ควรเลือกผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้จักดีและไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งควรจะเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิในวิชาการและหลักราชการ”

ครั้งนั้นทำให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ต้องไปอยู่ที่อังกฤษเป็นเวลาประมาณห้าเดือน ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบทูลถวายความเห็นของทางรัฐบาลที่ตนได้รับมา และติดต่อให้ทางรัฐบาลได้รับทราบความที่ท่านได้รับจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท้ายที่สุดเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ก็เป็นผู้ได้รับพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477

แม้ท่านจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องห่างสภาไปอยู่ที่อังกฤษหลายเดือน เมื่อกลับมาทำหน้าที่ได้ต่อมาแล้วทางสภาฯก็ยังเลือกท่านให้เป็นประมุขของอำนาจนิติบัญญัติสืบมา ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2478 คราวนี้สภาฯได้เลือกให้พระยามานวราชเสวี ผู้เป็นน้องชายของท่าน ให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ด้วย

ขณะที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นสมัยที่ 3 นี้ มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า " กบฏนายสิบ" ซึ่งมีนายทหารชั้นประทวนหลายคนวางแผนสังหารผู้นำทางการเมืองและบุคคลสำคัญในรัฐบาล เพื่อล้มรัฐบาล โดยทางรัฐบาลได้เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้อง กรณีกบฏนายสิบนี้ มาเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรในตอนนั่นก็เพราะรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อพิจารณาคดีกบฏนายสิบเป็นการเฉพาะและสภาฯได้ย่อมผ่านกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้ คดีนี้มีผู้ต้องหาถูกตัดสินประหารชีวิตหนึ่งรายและที่จำคุกอีกหลายราย

             เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2479 ผู้ที่เข้ารับตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติต่อจากท่านก็มิใช่ใครอื่น สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกพระยามานวราชเสวี ผู้เป็นน้องชายของท่าน ที่เคยเป็นรองประธานสภาฯมาก่อนขึ้นมาเป็นประธานสภาฯ นับเป็นคนที่ 5 ของประเทศสืบแทนท่าน หลังจากนั้น ประมาณหนึ่งปี นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ชวนให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศให้เข้ามาร่วมรัฐบาลอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นงานเก่าของท่านตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลของพระยาพหลฯ จนกระทั่งพระยาพหลฯยุบสภา และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป

             ครั้นมีรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็ยังได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้เข้าร่วมรัฐบาล คราวนี้ท่านย้ายกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ร่วมรัฐบาล มาถึงปี 2482 จึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

             รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามแพ้เสียงในสภา เพราะสภาไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายสองฉบับติดต่อกัน นายกรัฐมนตรีจึงต้องลาออกในเดือนกรกฎาคม ปี 2487 นายควง อภัยวงศ์ ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็ได้เข้ามาร่วมรัฐบาล กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงว่าท่านได้ร่วมรัฐบาลทำงานกับนายกรัฐมนตรีมาถึงสามคน แม้จะมีเวลาต้องเว้นว่างไปบ้างก็ตาม การร่วมรัฐบาลกับนายควง อภัยวงศ์ ครั้งนี้ท่านยังได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ครั้งแรกนี้อยู่ทำงานช่วงปลายสงคราม จนได้ประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 แล้วจึงได้ลาออก

             เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว จนหลังจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เมื่อมี่การแต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภา ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยคนหนึ่งในวันที่ 18 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และในครั้งนี้ท่านก็ได้รับเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นประธานวุฒิสภาคนแรกของไทยด้วยในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 วุฒิสภาชุดนี้ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่รัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ นำรัฐบาลที่ตั้งใหม่เข้าแถลงนโยบายก่อนที่จะเข้าบริหารประเทศ และจากตำแหน่งในวุฒิสภานี่เอง ที่ทำให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรกของไทย เพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2491นั้น วุฒิสภาได้เลือกสมาชิกวุฒิสภา 10 ท่านเข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังมีรายนามต่อไปนี้

  1. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
  2. พระยาเทพวิทุร
  3. พลโท พระยาเทพหัสดิน
  4. หลวงประกอบนิติสาร
  5. พระชัยปัญญา
  6. พระยกฤตราชทรงสวัสดิ์
  7. พระยาสาริกพงศ์ธรรมพิลาส
  8. หม่อมเจ้าเฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต
  9. พระยาปรีดานฤเบศร์
  10. พระยาศรีธรรมราช

 

             สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งนี้มีองค์ประกอบของสมาชิกแบ่งเป็น 6 กลุ่มดังนี้ กลุ่มแรกมาจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 10 ท่าน กลุ่มที่สองมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 10 ท่าน ส่วนอีกสี่กลุ่มมีจำนวนกลุ่มละ 5 ท่านนั้นให้เลือกจากผู้สมัครตามประเภทต่างๆ รวมทั้งหมดจึงมีจำนวน 40 ท่าน เมื่อได้สมาชิกครบทุกกลุ่มแล้วก็ได้ดำเนินการเลือกประธานและเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2491 ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติเลือกเจ้าพระยาศรีฯเป็นประธาน และเลือก นายหยุด แสงอุทัย เป็นเลขาธิการ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ฉบับนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างเสร็จ และดำเนินการนำออกประกาศใช้ได้ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นระบบสภาคู่ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับนโยบายของรัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆในโลกที่บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ ส่วนที่มาของวุฒิสภาซึ่งมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีนั้น มาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า

             “ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา”

             รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ในสมัยที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้มาได้ประมาณสองปีครึ่งก็ถูกยกเลิกเมื่อมีการยึดอำนาจในเดือนพฤศจิกายนปี 2494 ตอนที่หลวงพิบูลฯ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

             เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2515