เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี : ประธานสภาฯคนแรก
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี : ประธานสภาฯคนแรก
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้น ทำให้มีสถาบันการเมืองที่สำคัญมากเกิดขึ้น และยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้. นั่นก็คือสภาซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อแรกตั้งนั้นรียกว่า "สภาผู้แทนราษฎร" และได้เป็นชื่อที่เรียกสภานิติบัญญัติของไทยมานานกว่าชื่ออื่น ครั้งนั้นบุคคลที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรรุ่นแรก ซึ่งมาจากการแต่งตั้งและได้รับเลือกจากสภาให้เป็นประยานสภา จึงเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศ ท่านผู้นี้ได้แก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) จึงขอนำมาเสนอในครั้งนี้
นายสนั่น เป็นคนกรุงเทพ เกิดที่บ้านตำบลสะพานหันนี่เอง เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2419 บิดาของท่านพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม เทพหัสดิน) และ มารดาคือคุณหญิงอยู่ ท่านกำพร้าพ่อเมื่ออายุได้เพียง 8 ขวบ ชีวิตหลังจากนั้นจึงลำบาก แต่ท่านเป็นผู้ที่ขยันเรียน เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านเรียนจบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษ ทั้งยังเป็นหนึ่งในนักเรียนรุ่นแรก 3 คนของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้น นายสนั่นเรียนจบได้ที่ 1จึงได้เข้าทำงานที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
ถึงปี 2439 ท่านก็ได้ทุนของกระทรวงธรรมการไปเรียนที่ Bouroug Road College ที่เมือง Islewort เรียนจบทางด้านการศึกษาแล้ว จึงได้กลับมารับราชการในกระทรวงธรรมการ
ในปี 2443 ท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงไพศาลศิลป์ศิลปศาสตร์ รับราชการดีได้รับความก้าวหน้ามาตลอด ถึงปี 2452 ขณะที่มีอายุเพียง 33 ปีก็ได้เลื่อนเป็นพระยาในนามเดิมว่า พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ และอีก 2 ปีต่อมาได้ขึ้นรั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ได้บรรดาศักดิ์ใหม่เป็น “พระยาธรรมศักดิ์มนตรี” จากนั้นอีก 6 ปี ในพ.ศ.2460 เมื่อท่านมีอายุได้ 41 ปี ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ จากพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นเจ้าพระยาในชื่อเดิม
สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในปี 2469 ขณะที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯอายุได้ 50 ปี หลังจากได้ทำงานด้านการศึกษาที่เป็นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากแล้ว ท่านได้ขอลาออกจากราชการ แต่ก็ไม่ ได้ว่างงาน เพราะท่านได้มาช่วยงานบุตรสาวของท่าน คืออาจารย์ไฉไล เทพหัสดิน ทำโรงเรียนจุลนาค ที่บ้านถนนหลานหลวง ดังนั้นตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ท่านจึงออกจากราชการไปแล้ว
อีก 6 ปีต่อมา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯก็ถูกชวนมาร่วมงานเป็นนักการเมืองชั่วคราว เพื่อสร้างการเมืองใหม่ของแผ่นดิน ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และในวันเดียวกันนั้นท่านก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศ โดยมี นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในตอนนั้นถือว่าสำคัญมาก หากอ่านพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งเป็นกติกาการปกครองประเทศในตอนนั้น จะเห็นได้ชัดว่าองค์กรใหม่อย่างสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกสภาฯชุดแรกนี้ มีสมาชิกของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่เป็นผู้ทรงอำนาจแท้จริงในเวลานั้นเป็นสมาชิกสภาฯอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง และสมาชิกอื่นที่มิได้เป็นผู้ก่อการฯก็ล้วนแต่แต่เป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ความสามารถมาก ในการประชุมย่อมมีการถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันมาก ตัวประธานจึงต้องเป็นที่เคารพและยอมรับจากสมาชิก
เมื่อรับหน้าที่ประธานสภาฯแล้ว หน้าที่แรกที่สำคัญของท่าน คือดำเนินการให้สภาเลือกประธานกรรมการราษฎร หรือหัวหน้ารัฐบาล และกรรมการราษฎร ตามความในธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 33 ที่บัญญัติว่า
“ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่งขึ้นเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้น. เลือกสมาชิกอีก 14 นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการสภา”
ที่ประชุมสภาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯเป็นประธาน ได้เลือกตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตผู้พิพากษา นักเรียนอังกฤษเช่นเดียวกันกับประธานสภาฯให้เป็นประธานกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ส่วนกรรมการราษฎรอีก 14 คน ที่สภาฯมีมติเลือกนั้นมี พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิศาลวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยารงสุรเดช พระยาฤทธิอาคเนย์ พระยาประมวลวิชาพูล พระประศาสน์พิทยายุทธ์ หลวงพิบูลสงคราม หลวงสินธุสงครามชัย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงเดชสหกรณ์ นายตั้ว ลพานุกรม ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี และนายแนบ พหลโยธิน
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาแรกนี้ค่อนข้างสั้น เพียง 60 กว่าวันเท่านั้น แต่ก็เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญมาก ได้ดูแลการตั้งรัฐบาลมาแล้ว มีมติตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คนที่มีนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์ฯเป็นประธาน และในการประชุมต่อมา สภาฯก็ได้พิจารณายกเลิกกฎหมายและประกาศหลายฉบับเพราะการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง เช่นยกเลิกกฎหมายสภาป้องกันราชอาณาจักร กฎหมายองคมนตรี ประกาศตั้งสภาการคลัง และประกาศตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ทั้งสภาฯยังได้มีมติโอนหน่วยงานใหม่ เช่น โอนกรมตรวจเงินแผ่นดิน จากกระทรวงการคลังมาขึ้นกับคณะกรรมการราษฎร โอนกรมร่างกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นกับ
คณะกรรมการราษฎร และ มีมติตั้งหน่วยงานใหม่ เช่นตั้งกรมพัสดุแห่งชาติ
การเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้สิ้นสุดลงในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2475 เนื่องจากท่านได้รับแต่งตั้งให้ไปดูงานด้านการศึกษา ซึ่งท่านถนัดมาก ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ สภาฯจึงมีมติเลือกเจ้าพระยาพิชัยญาติให้เป็นประธานแทน ครั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เรียบร้อยแล้ว ได้มีการตั้งหัวหน้ารัฐบาลใหม่ ที่เรียกตำแหน่งว่า " นายกรัฐมนตรี " ซึ่งก็เป็นคนเก่าคือพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีได้ตั้งรัฐบาลใหม่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯก็ยังอยู่ในรัฐบาล ดูแลด้านการศึกษา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ และต่อมาในเดือนเมษายน ปีถัดมา แม้จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง นายกรัฐมนตรีได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯก็ยังได้ร่วมรัฐบาลของพระยามโนฯ ในตำแหน่งเดิม คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ แต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นได้นำไปสู่การยึดอำนาจของคณะทหารที่นำโดย นายพันเอกพระยาพหลฯ นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ที่ทำให้พระยามโนฯต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยอมไปลี้ภัยต่างประเทศ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯจึงพ้น
ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ท่านก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ต่อไป
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลโดยมี นายพันเอก พระยาพหลฯมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลเอง ในคณะรัฐบาลใหม่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯก็ยังอยู่ในรัฐบาล และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการเหมือนเดิม ท่านอยู่ในรัฐบาล ผ่านเหตุการณ์กบฏบวรเดช และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของไทยในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จนอายุของสมาชิกสภาจากการแต่งตั้งชุดแรกสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน และในวันเดียวกันเมื่อมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาฯชุดใหม่จำนวน 78 คน เท่าจำนวนสมาชิกสภาฯที่มาจากการเลือกตั้ง ในจำนวนนี้ยังมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้รับแต่งตั้งเข้ามาด้วย หลังจากนั้นต่อมาอีก 6 วัน คือวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน สภาฯซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งที่มาจาการเลือกตั้งและการแต่งตั้งก็ได้เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่น่าเสียดาย ที่ท่านดำรงตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติในครั้งที่ 2 ในเวลาที่สั้นกว่าการเป็นครั้งแรกเสียอีก เพราะอยู่ได้เพียง 40 วันเท่านั้น ท่านก็ลาออก มูลเหตุที่ลาออกนั้นก็มิได้มีการกล่าวถึงกันมากนัก แต่มีเรื่องเล่ากันว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯผู้เป็นประธานสภา และเป็นครูเก่ามีความเห็นว่า เพิ่งจะมีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จึงคิดให้มีการ “ปฐมนิเทศ” หรือจัดสัมมนาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ขึ้นมาเพื่ออธิบายเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมสภาและการดำเนินงานของสภา โดยเชิญ
ผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้มาร่วมประชุมสัมมนากัน
ในการบรรยายนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้เป็นผู้บรรยายเองเลยทีเดียว มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถามได้ จึงมีการซักถามและการตอบคำถามกันอยู่หลายเรื่อง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯผู้ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นแรกและเคยเป็นประธานคนแรกของสภามาก่อน ก็ได้อธิบายตอบคำถามทั้งหลายได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งมาเจอคำถามของขุนสมาหาร หิตะคดี ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของจังหวัดพระนคร ที่ถามในทำนองว่า ถ้าสมาชิกสภาฯไม่พอใจประธานสภาแล้ว มีข้อบังคับข้อใดบ้างที่จะดำเนินการให้ประธานสภาฯ
พ้นจากตำแหน่งได้
เขาเล่ากันว่าคำถามนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯไม่ตอบ แต่ขอเลิกการบรรยายทันที และก็น่าจะเป็นเรื่องขึ้นมาจนสภาฯต้องหาประธานสภาฯคนใหม่ ดังที่ ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเล่าเอาไว้ว่า
“วันประชุมสภา ที่ 25 มกราคม นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประธานสภามอบให้ดำเนินการประชุมแทนและแจ้งว่าประธานสภาได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาไปทางรัฐบาลแล้วและได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานสภามาทางสภาด้วยที่ประชุมได้
ขอร้องให้รองประธานไปขอร้องให้รับตำแหน่ง”
พระยาศรยุทธฯก็ได้ไปขอร้อง แต่ไม่สำเร็จท่านยังอ้างว่าป่วยด้วย ท่านจึงพ้นตำแหน่งประธานสภา
อีก 4 ปีต่อมา ปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2480 ทางสภาฯได้มีมติเลือกท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ แต่เมื่อรองประธานสภาฯไปทาบทามท่าน กลับได้คำตอบว่า "ข้าพเจ้าวิตกว่าจะ
ทำไม่ได้ " ทางสภาฯจึงได้เลือกเจ้าพระยายมราชเข้ามาเป็นแทน
จากนั้นท่านก็ได้ห่างวงการเมืองไป ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 รวมอายุได้ 67 ปี 1 เดือน