เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

เขตการลงทุนอาเซียน จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือการลงทุนอาเซียน อันเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1998 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้มีข้อตกลงในระดับภูมิภาคร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ[1] ศักยภาพของการไหลเวียนของเงินทุนทั้งจากนอกภูมิภาคและในภูมิภาค ให้อาเซียนมีความน่าดึงดูดในแง่ของการลงทุน เป็นตลาดที่เปิดแก่เหล่าผู้ประกอบการ โดยจะครอบคลุมเฉพาะการลงทุนโดยตรง ไม่รวมถึงการลงทุนหลักทรัพย์ [2] อย่างไรก็ตามการมีข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นการแสดงถึงความชัดเจนในกระบวนการของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA-ASEAN Free Trade Area) อีกด้วย ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 6 ได้ออก “มาตรการเข้มข้น” เพื่อมาฟื้นฟูวิกฤตการเศรษฐกิจในภูมิภาคและเร่งรัดเพื่อให้มาตรการของ AIA เกิดผลโดยเร็ว ยกตัวอย่างเช่น มาตรการยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการอาเซียนในระยะแรกเริ่ม และสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติได้รับการลดภาษีร้อยละ 30 หรือยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภททุน เป็นต้น

พันธกรณีตามข้อตกลง

ข้อตกลงที่ปรากฏอยู่ในเขตการลงทุนอาเซียน มีผลผูกพันสมาชิก ให้ลดบรรดากฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดการลงทุนในอาเซียน โดยมีกรอบเวลากำหนดเพื่อเป็นหลักประกัน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ประเทศอาเซียนจะเปิดเสรีการลงทุนในด้านอุตสาหกรรม รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนให้เท่าเทียมกับสิทธิที่จะให้แก่นักลงทุนสัญชาติประเทศตัวเอง โดยต้องให้สิทธิดังกล่าวภายใน 6 เดือน หลังจากมีการทำข้อตกลงดังกล่าว (7 ตุลาคม ค.ศ. 1998) นอกจากนี้ในส่วนภาคการผลิต กลุ่มประเทศอาเซียน 6 (สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย) จากต้องให้สิทธิดังกล่าวภายในปี 2003 และเช่นเดียวกับพม่าที่จะต้องร่วมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าวภายในปี ค.ศ.2003 [3]

การดำเนินการ

ภายใต้เขตการลงทุนอาเซียนแผนการดำเนินการประกอบไปด้วยมาตรการหลากหลายเพื่อสนับสนุนและเอื้อให้เกิดการลงทุนในอาเซียน มีการจัดประชุมสัมมนาพูดคุยเรื่องการ จัดให้มีมาตรการเอื้อประโยชน์ร่วมกัน เรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากภายนอกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและกิจการเพื่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ความร่วมมือกันในภาคสาธารณชนในด้านการกำหนดกฎเกณฑ์การลงทุน การกำหนดนโยบายรัฐ ที่จะออกมาตรการเฉพาะที่จะสร้างความโปร่งใสของระบบการค้าการลงทุน เพื่อจะกำจัดอุปสรรคทางการค้าและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน การจัดโครงการฝึกฝนบุคลากรที่จะให้บริการในด้านการลงทุนและข้อมูลข่าวสาร มีการระบุสถิติการเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆจากต่างชาติ โดยจะต้องส่งข้อมูลให้แก่ (ASEAN Heads of Investment Agencies - AHIR) ดูแล และควบคุมการดำเนินการต่างๆในเขตการลงทุนอาเซียน โครงการดังกล่าวยังรวมไปถึงการรวบรวมมาตรการหรือสิ่งจูงใจใดๆที่จะเป็นการเอื้อให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ จัดพิมพ์สรุปส่งให้แก่รัฐสมาชิกทั้งหลาย เพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนของรัฐนั้นๆ เอง ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียนและการเอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ นำมาสู่ 3 โครงการย่อย ดังนี้ [4]

1. ASEAN Supporting Industrial Database (ASID) โครงการฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสนับสนุนประเทศอาเซียน เพื่อให้สมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินสถานภาพทางด้านอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดกลยุทธ์นโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเพื่อประโยชน์แก่ภาคเอกชนในการร่วมทุนและการติดต่อธุรกิจ

2.โครงการจัดระบบเทคโนโลยีที่อาเซียนเป็นผู้ผลิตและเป็นเจ้าของเพื่อเอื้อให้มีการใช้เทคโนโลยีจากภายในกลุ่มเอง ให้ความชัดเจนในการจับคู่ค้าในการลงทุน สนับสนุนการลงทุนร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเทคโนโลยีที่ผลิตได้ในอาเซียน ให้ได้ใช้ในอาเซียน และเพิ่งโอกาสการส่งออกเพื่อนำไปใช้กับประเทศนอกกลุ่ม

3.โครงการสรุปนโยบายและมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนโยบายและมาตรการพื้นฐานในแต่ละประเทศสมาชิก

ในปี ค.ศ.2009 รัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้มีการทำความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA)) อันเป็นการปรับปรุงข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียน พร้อมกับผนวกข้อตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ASEAN Investment Guarantee Agreement- IGA) เข้าด้วยกัน [5] ความตกลงนี้ประกอบด้วย 4 หลักการที่สำคัญคือ การเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในการลงทุนของอาเซียนในสายตานักลงทุนต่างชาติ โดยมีแนวคิดเปิดการค้าเสรีที่มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนบางประการที่มีในข้อตกลงเขตการลงทุนอาเซียนออกไป [6]

คณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area Council)

คณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบจากรัฐมนตรีจากรัฐสมาชิกทั้ง 10 ประเทศและเลขาธิการอาเซียน ดูแลและควบคุมการดำเนินทางด้านเศรษฐกิจและระบบการลงทุน

ตารางแถลงการณ์ดำเนินงานจากการประชุมร่วมโดยคณะกรรมการเขตการลงทุนอาเซียน [7]

1) ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มีนาคม 1999 ณ ภูเก็ต ประเทศไทย

2) ครั้งที่ 2 วันที่ 29 กันยายน 1999 ณ สิงคโปร์

3) ครั้งที่ 3 วันที่ 4 ตุลาคม 2000 ณ เชียงใหม่ ประเทศไทย

4) ครั้งที่ 4 วันที่ 14 กันยายน 2001 ณ ฮานอย เวียดนาม

ตัวอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียน[8]

1) ปี ค.ศ. 1987 เรื่อง ASEAN agreement for the promotion and protection of investments

2) ปี ค.ศ. 1996 เรื่อง Protocol to amend the 1987 Agreement for the protection of investment

3) ปี ค.ศ. 1996 เรื่อง Protocol on dispute settlement mechanism

4) ปี ค.ศ. 1998 เรื่อง Framework agreement on AIA

5) ปี ค.ศ. 2001 เรื่อง Protocol to amend the 1988 framework agreement on the AIA

ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนและประกอบธุรกิจระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ตลอดจนอัตราภาษีที่ลดต่ำลงจาก AFTA อันเป็นการขยายฐานการผลิตรวมไปถึงตลาดสินค้าในอาเซียน [9] ทั้งนี้ด้วยการสนับหนุนให้มีการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างเสรี แรงงานที่มีฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน

ความท้าทายของเขตการลงทุนอาเซียน

สำหรับประเทศไทยแล้วมีนักลงทุนมากมายที่สนใจการลงทุนในประเทศอาเซียน เพียงแต่การลงทุนที่แท้จริงนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของการร่วมลงทุนในระดับใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหา จึงได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนการลงทุนในระดับกลางด้วย เพื่อให้มีการกระจายโอกาสการลงทุนแก่ประชาชน โดยทางคณะกรรมการและเหล่านักลงทุนต่างได้มาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้นำมาซึ่งช่องทางที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดีการซื้อขายแต่ละทอดในประเทศอาเซียนต่างก็เพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าไปเรื่อยๆในแต่ละประเทศสมาชิก[10] สำหรับในอาเซียนเอง สินค้าที่มีความเคลื่อนไหวในระบบเศรษฐกิจอาเซียนคือ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอาหาร และสินค้าจำพวกผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ดังนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนก็ดำรงสถานภาพเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่นกัน ดังนี้จึงเป็นความท้าทายว่าเหล่าประเทศอาเซียนจะรักษาความสมดุลระหว่างการให้สิทธิประโยชน์กับประเทศในกลุ่มเขตการลงทุนอาเซียน กับประเทศคู่ค้าที่อยู่ในกลุ่มองค์การค้าโลกแต่อยู่นอกกลุ่มอาเซียนอย่างไร

บทสรุป

เขตการลงทุนอาเซียนเป็นอีกก้าวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่เกิดจากการรวมตัวเป็นอาเซียน โดยการที่เหล่าประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ระหว่างกัน ทั้งนี้ได้มีมาตรการส่งเสริมต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการจัดประชุมเพื่อติดตามผลเป็นระยะ อย่างไรก็ดี ในขณะที่อาเซียนพยายามจะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศก็ดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ และดำเนินกิจกรรมในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าในรูปแบบอื่นไปพร้อมๆ กัน แต่ละประเทศสมาชิกจึงมีการให้สิทธิพิเศษหรือมีข้อผูกพันอื่นๆ กับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนซึ่งอาจจะส่งผลให้เขตการลงทุนอาเซียนลดความสำคัญและด้อยประสิทธิภาพลง ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจต้องมีการวางแนวนโยบายร่วมกันโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเหล่านักลงทุนสัญชาติอาเซียนที่หวังพึ่งเขตการตกลงดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจ

บรรณานุกรม

องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.ASEAN. http://eco-cooperation.exteen.com/20100214/asean (Accessed May 21.2015)

Lawan Thanadsillapakul .2015. Open Regionalism and Deeper Integration: The Implementation of ASEAN Investment Area (AIA) and ASEAN Free Trade Area (AFTA). http://www.thailawforum.com/articles/lawanasean7.html (Accessed May 21.2015)

Nick Freeman.The Future of Foreign Investment in Southeast Asia. New York:Routledge Curzon,2004.

Sondre Ulvund Solstad. 2013. “Introduction to the ASEAN Comprehensive Investment Agreement” http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html#sthash.zzLhAv2i.dpuf http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html (Accessed October 26.2015)

Yossarin Boonwiwattanakarn.2015. Thai investment in ASEAN lagging behind regional colleagues. http://www.nationmultimedia.com/business/Thai-investment-in-Asean-lagging-behind-regional-c-30209408.html (Accessed May 23,.2015)

อ้างอิง

  1. Lawan Thanadsillapakul .2015. “Open Regionalism and Deeper Integration: The Implementation of ASEAN Investment Area (AIA) and ASEAN Free Trade Area (AFTA).” http://www.thailawforum.com/articles/lawanasean7.html (Accessed May 21.2015)
  2. องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.”ASEAN.” http://eco-cooperation.exteen.com/20100214/asean (Accessed May 21.2015)
  3. Supra note 1.
  4. Supra note 1
  5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน,”ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน (Asean Comprehensive Investment Agreement (ACIA))” <https://www.google.co.th/webhp?sourceid=chrome-instant&ion=1&espv=2&ie=UTF-8#q=acia+asean+comprehensive+investment+agreement++%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD>Z(Accessed October 26.2015)
  6. Sondre Ulvund Solstad. 2013. “Introduction to the ASEAN Comprehensive Investment Agreement” <http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html#sthash.zzLhAv2i.dpuf http://www.aseanbriefing.com/news/2013/04/12/introduction-to-the-asean-comprehensive-investment-agreement.html>(Accessed October 26.2015)
  7. Nick Freeman.The Future of Foreign Investment in Southeast Asia. (New York:Routledge Curzon,2004),page. 97-98 .
  8. Ibid.
  9. องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก.2012.อ้างแล้ว.
  10. Yossarin Boonwiwattanakarn.2015.” Thai investment in Asean lagging behind regional colleagues.” http://www.nationmultimedia.com/business/Thai-investment-in-Asean-lagging-behind-regional-c-30209408.html (Accessed May 23,.2015)