เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ : นายกฯผู้ลาออกกลางสภา
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ : นายกฯผู้ลาออกกลางสภา
วันนั้นแม้แรงกดดันทางการเมืองจะมีมาก แต่ก็มีคนน้อยมากที่คิดว่านายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะประกาศลาออกกลางสภา เพราะพลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายทหารเสนาธิการที่มีชื่อมากว่าเป็นนักวางแผนฝีมือดี อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯก็ได้ประกาศกลางสภาว่า
“ฉะนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา กระผมจึงได้ตัดสินใจดังนี้ กระผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบรัฐสภาของประชาธิปไตยดำรงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านเลือกบุคคลที่มีความสามารถดีกว่า เข้าบริหารประเทศและรับใช้ประชาชนและประเทศชาติต่อไป ขอบพระคุณ”
ชีวิตของนายพลเอกทหารบกผู้นี้ ทางทหารได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทางการเมืองเข้าสู่วงการเมือง โดยไม่ลงสู่สนามเลือกตั้ง ได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี และลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร ท่านผู้นี้เป็นคนมหาชัย หรือจังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นบุตรของนายแจ่ม กับนางเจือ ชมะนันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2460 ที่ตำบลมหาชัย เมื่อแรกนั้นท่านมีชื่อเดิมว่า สมจิตต์ แต่มาเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็น เกรียงศักดิ์ คนไทยสมัยหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้นได้เปลี่ยนชื่อกันหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารับราชการ ด้วยว่านายกรัฐมนตรีสมัยนั้นอยากให้คนไทยใช้ชื่อให้เป็นคำไทยบ้าง หรือไม่ก็อยากให้เหมาะสมกับเพศบ้าง คือเป็นผู้หญิงก็น่าจะใช้ชื่อที่ฟังดูอ่อนหวาน หรือถ้าเป็นชายก็ให้มีชื่อที่ฟังดูว่าเข้มแข็งเป็นต้น ท่านจะเปลี่ยนชื่อเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ แต่ท่านเรียนวิชาทหารและจบออกมารับราชการเป็นทหาร ชีวิตครอบครัวของท่านนั้นท่านมีภรรยาคือคุณหญิง
วิรัตน์ เมื่อเป็นคนเมืองสมุทรสาคร การศึกษาเบื้องต้นจึงเริ่มที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย และเมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ามาเรียนในพระนครที่โรงเรียนปทุมคงคา ก่อนที่จะไปเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนศึกษาจบออกมาเป็นนายทหาร ชีวิตการเป็นทหารของท่านก็มีชื่อเสียง เมื่อประเทศไทยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ท่านเกรียงศักดิ์ก็เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบของไทยไปปฏิบัติการรบด้วยกับกองกำลังของสหประชาชาติ ได้แสดงฝีไม้ลายมือ สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่เล่าขานกันถึง " กองพันพยัคฆ์น้อย " ที่ท่านเป็นผู้
บังคับกองพัน
พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายทหารไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทางทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ท่านเป็นทหารระดับนายพัน ดังนั้นเมื่อปี 2500 ตอนที่มีการตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่คนไทยรู้จักดีในนาม “สปอ.” หรือ “ซีโต้” ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงเทพ ท่านเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองการทหารของ สปอ. นี่ก็แสดงว่าท่านเป็นนายทหารที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ดีคนหนึ่ง การทำงานทางทหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ได้รุ่งเรืองมาด้วยดีทางด้านเสนาธิการ ท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งทางทหารที่สำคัญที่ท่านได้เป็นก็คือ เสนาธิการทหาร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ทางด้านการเมืองนั้น แม้ท่านจะเป็นทหารและเป็นข้าราชการประจำ แต่ท่านก็มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่งในช่วงชีวิตที่ทำงานประจำทางทหารด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ที่บัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย ครั้นต่อมาจอมพลถนอม นายกฯได้ยึดอำนาจในปี 2514 ท่านก็พ้นสมาชิกภาพสมาชิกวุฒิสภา จนถึงปี 2515 เมื่อมีธรรมนูญการปกครองและมีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกเกรียงศักดิ์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกเช่นกันและท่านก็ได้รู้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย นั่นก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้กองทัพถอยออกไปจากวงการเมือง ดังนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์จึงเป็นนายทหารที่รอบรู้เรื่องการเมืองไทยที่ดีมากคนหนึ่ง
ครั้นเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในเวลาดึกสงัดของวันที่ 5 ตุลาคม ต่อเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 อันเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่ไม่ชอบผู้ประท้วง ได้ใช้กำลังและอาวุธปืนบุกเข้าปราบปรามผู้ประท้วงที่รวมตัวกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยนั้นรัฐบาลที่ปกครองบ้านเมืองเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และท่ามกลางความสับสนทางการเมืองที่ตามมา บทบาททางทหารและบทบาททางการเมืองของพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มีนายทหารเรือคือพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล ในตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งก็สำเร็จลงด้วยดี ดังที่อดีตรัฐมนตรีบุญชนะ อัตถากร ได้บันทึกไว้ว่า
“คุณเสนีย์เป็นคนไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ไม่เคยปะทะหรือประจันหน้ากับทหารเลย ฉะนั้นเมื่อทหารยึดอำนาจก็ยอมออกจากตำแหน่งดีๆมิได้ต่อต้าน ไม่ว่าด้วยวาจาหรือด้วยกำลัง”
ขณะที่พลเอกเกรียงศักดิ์เข้าร่วมยึดอำนาจนั้น ท่านเป็นนายทหารบกที่มีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ตำแหน่งสำคัญในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คือเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อไป
ภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้สองวันก็มีการตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร คนนอกคณะปฏิรูปฯ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามการปกครองประเทศของรัฐบาล หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ด้วยว่ามีแรงต้านทานจากบุคคลหลายฝ่าย รวมทั้งจากคนในกองทัพเอง ท้ายที่สุดรัฐบาลของนายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็มีข้อขัดแย้งกับสภาที่ปรึกษาหรือคณะทหารเองด้วย จนทำให้พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ต้องนำคณะทหารเข้ายึดอำนาจอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล และคราวนี้คณะผู้ยึดอำนาจเห็นว่าคนในคณะทหารของตนควรจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลเอง ผลคือเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ตกเป็นของเลขาธิการคณะผู้ยึดอำนาจ คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2520 นั้นดูจะได้รับการต้อนรับจากสังคมเป็นอย่างดี งานสำคัญในระยะแรกของนายกฯเกรียงศักดิ์ คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทั้งนี้โดยอาศัยความร่วมมือของสภาฯ อันกฎหมายฉบับนี้ คนที่ชอบก็บอกว่าเป็นการหาทางยุติความขัดแย้งในกรณี 6 ตุลาคม 2519 ส่วนผู้ที่ค้านก็ว่ารัฐบาลผลักดันออกกฎหมายนี้เพื่อปิดบังความจริงในเหตุการณ์ ที่ไม่ต้องการให้คนผิดที่ไม่ใช่นักศึกษา พ้นผิดไปนั่นเอง แต่โดยรวมนายกฯเกรียงศักดิ์ได้รับความชื่นชมมากกว่า
ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้นปรากฏว่ารัฐบาลของนายกฯเกรียงศักดิ์ได้รับการชื่นชมว่ามีผลงานด้านต่างประเทศมาก ทั้งๆที่รัฐมนตรีต่างประเทศของท่านกับของรัฐบาลก่อนก็เป็นบุคคลคนเดียวกัน นายกฯเกรียงศักดิ์ตั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และแม้กับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต พลเอกเกรียงศักดิ์ก็พยายามกระชับความสัมพันธ์ และเดินทางไปเยือนด้วยตัวเอง นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานด้านต่างประเทศเป็นอย่างมากา
สำหรับงานภายในประเทศท่านได้จัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งตอนแรกก็คิดกันว่าจะเสร็จได้ในระยะเวลาหนึ่งปี แต่ในความเป็นจริงได้เกินเวลามาเล็กน้อย โดยสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรได้ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาล และทางรัฐบาลก็ได้เตรียมงานด้านต่างๆ ที่ทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ใน วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 ทำให้นักการเมืองที่เว้นว่างงานการเมืองกันมากว่า 2 ปี ได้กลับมาลงสู่สนามเลือกตั้งกันคึกคักมาก แต่ก็ยังจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ เพราะยังไม่ได้มีกฎหมายพรรคการเมืองออกมา การรวมตัวของนักการเมืองเพื่อเข้าแข่งขันเลือกตั้งจึงเรียกชื่อกันเป็นกลุ่ม เช่น "กลุ่มประชาธิปัตย์"บ้าง "กลุ่มกิจสังคม" บ้าง
ในการเลือกตั้งคราวนี้ พลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย แต่เสียงสนับสนุนท่านก็ยังดีอยู่ หลังการเลือกตั้ง เมื่อมีการหยั่งเสียงในรัฐสภา คือวุฒิสภากับสภาผู้แทนรวมกัน ท่านได้รับเสียงหนุนถึง 311 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง กับพวกที่เดินออกจากห้องประชุม 20 คน พวกหลังนั้นคงต้องการประท้วง ท่านจึงได้เป็นนายกฯต่อมาอีกสมัยหนึ่งในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2522 การมาเป็นนายกฯครั้งนี้ ท่านเลือกเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 คนมาเป็นรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ได้เอาจากกลุ่มการเมืองใหญ่เลยสักคน หากเลือกจากตัวบุคคลซึ่งหลายคนก็มีฝีมือและชื่อเสียง แต่แทบจะไม่มีเสียงมาสนับสนุนรัฐบาลเท่าใดนัก มีคนบอกว่าเสียงสนับสนุนของท่านมาจากวุฒิสภาและกองทัพ และพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เอาผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ที่ท่านตั้งมากับมือ คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาก่อนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลใหม่ของท่าน
รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ บริหารราชการมาได้ไม่กี่เดือนก็เจอกับการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2522 เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหลายคน แต่เป้าหมายนั้นอยู่ทีตัวนายกฯ ท่านจึงถูกฝ่ายค้านอภิปรายกระทบหลายครั้ง โดยหาว่านายกฯเข้าไปแทรกแซงการทำงานในกระทรวงอื่นๆ และเรื่องที่ยกมาเล่นงานถือว่าสำคัญก็คือกรณีการเปิดประมูลให้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน แต่จะอภิปรายกันอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาลงมติ ในวันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายก็ได้รับเสียงไว้วางใจมากกว่าเสียงที่ไม่ไว้วางใจ และมีจำนวนเกินกว่าครึ่ง รัฐบาลจึงอยู่ต่อมา แม้จะมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ไม่ได้ถูกอภิปรายคือนาย เกษม จาติกวณิช ลาออกไปหนึ่งคน
ดังนั้นการเป็นนายกฯของพลเอกเกรียงศักดิ์โดยไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง จึงทำให้ท่านเริ่มเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองมากขึ้น แม้ว่าต่อมาท่านจะได้จัดการปรับคณะรัฐมนตรีของท่านในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี 2523 โดยคิดว่าจะลดแรงกดดันทางการเมืองได้ แต่ก็ไร้ประโยชน์ และเมื่อมีปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้น รัฐบาลก็ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน เวลาขับขันจึงเกิดกับตัวท่าน เพราะประชาชนไม่พอใจมาก มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯลาออก ยามนี้กองทัพที่เคยหนุนก็เปลี่ยนไป พรรคการเมืองทั้งหลายที่ถูกท่านมองข้ามก็ร่วมมือกัน ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกำหนดวัน คือ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 แต่แล้วทางรัฐบาลก็ขอให้เปิดประชุมสภาฯเสียก่อนในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เป็นการตัดหน้า และนายกฯก็ประกาศลาออกกลางสภานั่นเอง
หลังจากลาออกจากนายกฯแล้วพลเอกเกรียงศักดิ์ได้กลับมาตั้งพรรคชาติประชาธิปไตย มีท่านเป็นหัวหน้าพรรคโดยลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดร้อยเอ็ดและท่านก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรสมใจ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายก็ตาม แต่ท่านก็เป็นผู้แทนฯอยู่สมัยเดียว ท่านอยู่นอกวงการเมืองต่อมาจนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2546