ส.ส. พรรคเล็ก (ส.ส. เอื้ออาทร)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง:     
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ส.ส. พรรคเล็ก (ส.ส. เอื้ออาทร)

          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นการใช้สูตรในการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งได้นำสู่การเกิดขึ้นของ ส.ส. พรรคเล็กที่ได้จำนวน ส.ส. แบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งจากการถูกจัดสรรให้ตามสูตรคำนวณคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกลายมาเป็นคำเรียก ส.ส. พรรคเล็กเหล่านั้นอีกชื่อตามที่ปรากฏในแฮ็ทแท็คของผู้เล่นทวิตเตอร์จำนวนมากว่า “ส.ส.เอื้ออาทร” อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งขอนำเสนอตามประเด็นดังต่อไปนี้

 

1.ความหมาย หรือ แนวคิด

การเลือกตั้ง (election) เป็นกลไกที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศใดที่ขาดการเลือกตั้งจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยมิได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขจำเป็น (Necessary Conditions) สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ (Sufficient Conditions) ที่จะตัดสินว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องดูปัจจัยและเงื่อนไขที่จำเป็นอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การตรวจสอบทางการเมือง ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนระบบการเลือกตั้งมีหลายประเภท สำหรับระบบการเลือกตั้งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ ได้แก่[1]

'1) ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ('Plurality System) หรือ “First Past the Post” (FPTP) กล่าวคือ ใครได้คะแนนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เป็นระบบที่ง่ายที่สุด ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ใช้ควบคู่กับเขตเลือกตั้งที่มีตัวแทนได้หนึ่งคน (Single-Member District/Constituency) หรือ แบบ 1 เขต 1 คน (ของประเทศไทยเรียกว่า แบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เขตละ 1 คนซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดในแต่ละเขต)

2)ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด ('Majority Rule) ใช้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ละเขตมีตัวแทนได้ 1 คนผู้ชนะจะต้องได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) กล่าวคือ เกิน 50% ขึ้นไป เช่น
มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 100,000 คน ผู้ชนะจะต้องได้คะแนนเสียงเกิน 50,000 คะแนน ที่เป็นเช่นนี้เพื่อให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากพอที่จะมีความชอบธรรมในการทำหน้าที่ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจะแก้ปัญหาอย่างไร?

3)ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ('Proportional Representation) (ประเทศไทย เรียกว่า แบบบัญชีรายชื่อ) จะใช้กับเขตใหญ่ที่มีตัวแทนได้หลายคน เช่น ของประเทศไทยแบบบัญชีรายชื่อใช้พื้นที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สามารถมีตัวแทนได้หลายคน ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า ระบบบัญชีรายชื่อ การนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้สัมพันธ์กับปัจจัย 5 ประการ คือ ขนาดเขตเลือกตั้ง ลำดับชั้นของเขตเลือกตั้ง สูตรการคำนวณ เกณฑ์ขั้นต่ำ และการจัดลำดับผู้สมัครเลือกตั้ง

4)ระบบเลือกตั้งแบบผสม ('Mixed Electoral System) หมายถึง ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ระบบเลือกตั้งสองระบบพร้อมกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน ระบบเลือกตั้งแบบผสมสามารถใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากเด็ดขาดก็ได้ ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่นิยม คือ แบบคู่ขนานระหว่างแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน
ในระบบนี้การจัดสรรที่นั่งของผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรค จะเป็นอิสระจากกัน  โดยไม่นำคะแนนจากระบบเลือกตั้งสองระบบมาคิดรวมกัน ระบบนี้พบได้ในประเทศญี่ปุ่นและไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับ 2550

จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการคิดคำนวณคะแนนที่พรรคการเมืองต่างๆ จะได้ที่นั่ง “ส.ส. พึงมี” ตามโควต้าจำนวนที่นั่ง ส.ส. ต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับทั่วประเทศ

จากการคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดพรรคเล็ก (ส.ส. เอื้ออาทร) เป็นคำเรียก ส.ส. ของพรรคการเมืองจำนวน 11 พรรค ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์  พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ซึ่งพรรคการเมืองเหล่านี้มีที่นั่ง ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้จัดสรรที่นั่งให้กับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี  ด้วยการปัดเลขทศนิยม ซึ่งทำให้ปรากฏว่าพรรคเล็กที่ได้เสียงลงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศรวมกันไม่ถึงคะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีหรือตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 70,000 คะแนน ก็สามารถได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้เกิดพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่งจำนวนหลายพรรค แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้เศษทศนิยม ที่วัดเกณฑ์การมีเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อระดับ 0.4 - 0.9 ไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 ที่นั่งของการพึงมี ส.ส. ก็ตาม จึงกลายมาเป็นคำเรียก ส.ส. พรรคเล็กเหล่านั้นอีกชื่อตามที่ปรากฏในแฮ็ทแท็คของผู้เล่นทวิตเตอร์จำนวนมากว่า “ส.ส.เอื้ออาทร” อีกชื่อหนึ่งนั่นเอง

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นการใช้สูตรในการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งได้นำสู่การเกิดขึ้นของ ส.ส. พรรคเล็กที่ได้จำนวน ส.ส. แบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งจากการถูกจัดสรรให้ตามสูตรคำนวณคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 จำนวน 27 พรรค ดังนี้

 

ตารางพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562[2]

อันดับ

พรรค

คะแนนที่นำมาคิด

ส.ส.พึงมีได้

ส.ส.เขต

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น

ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับการจัดสรร

รวม

1

พลังประชารัฐ

8,433,137

118.6805

97

21.6805

19

116

2

เพื่อไทย

7,920,630

111.4679

137

-25.5321

0

137

3

อนาคตใหม่

6,265,950

88.1814

30

58.1814

50

80

4

ประชาธิปัตย์

3,947,726

55.5568

33

22.5568

20

53

5

ภูมิใจไทย

3,732,883

52.5333

39

13.5333

12

51

6

เสรีรวมไทย

826,530

11.6318

0

11.6318

9

9

7

ชาติไทยพัฒนา

782,031

11.0056

6

5.0056

4

10

8

เศรษฐกิจใหม่

485,664

6.8348

0

6.8348

6

6

9

ประชาชาติ

485,436

6.8316

6

0.8316

1

7

10

เพื่อชาติ

419,393

5.9022

0

5.9022

5

5

11

รวมพลังประชาชาติไทย

416,324

5.8590

1

4.8590

4

4

12

ชาติพัฒนา

252,044

3.5470

1

2.5470

2

3

13

พลังท้องถิ่นไทย

213,129

2.9994

0

2.9994

3

3

14

รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย

136,597

1.9223

0

1.9223

2

2

15

พลังปวงชนไทย

81,733

1.1502

0

1.1502

1

1

16

พลังชาติไทย

73,871

1.0396

0

1.0396

1

1

17

ประชาภิวัฒน์

69,417

0.9769

0

0.9769

1

1

18

พลังไทยรักไทย

60,840

0.8562

0

0.8562

1

1

19

ไทยศรีวิไลย์

60,421

0.8503

0

0.8503

1

1

20

ประชานิยม

56,617

0.7968

0

0.7968

1

1

21

ครูไทยเพื่อประชาชน

56,617

0.7929

0

0.7929

1

1

22

ประชาธรรมไทย

47,848

0.6734

0

0.6734

1

1

23

ประชาชนปฏิรูป

45,508

0.6404

0

0.6404

1

1

24

พลเมืองไทย

44,766

0.6300

0

0.6300

1

1

25

ประชาธิปไตยใหม่

39,792

0.5600

0

0.5600

1

1

26

พลังธรรมใหม่

35,533

0.5001

0

0.5001

1

1

27

ไทรักธรรม

33,748

0.4749

0

0.4749

1

1

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของ ส.ส. พรรคเล็ก เป็นผลมาจากการใช้สูตรในการคำนวณที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561[3] มาตรา 128 นั้น ทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนขั้นต่ำเมื่อรวบรวมจากจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจึงเป็นพรรคที่ควรได้รับการจัดสรรให้มี “ส.ส. พึงมีได้” ต่อ ส.ส. 1
ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรตามหลักการที่ปรากฏในบทบัญญัติติของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการประกาศวิธีการใช้สูตรคำนวณของ กกต. และประกาศจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนนซึ่งมีจำนวน 11 พรรคการเมืองตามที่ปรากฏออกมา ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์
พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทยรักธรรม จึงทำให้เห็นว่า ตัวสูตรที่บัญญัติไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายไม่ชัดเจน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้วลีว่า “ให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี  แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) แต่ผลปรากฏว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 ไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้ “เกลี่ย” ให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวปัญหามีอยู่ว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่ และนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า มองว่าสูตรการคำนวณตามรัฐธรรมนูญไม่ควรเกลี่ยคะแนนให้กับพรรคเล็กที่มีค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีไม่ถึงตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ แต่ได้มีการอ้างว่าได้ใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ของมาตรา 128 ตาม (5) ที่ระบุว่า “ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมี” ซึ่งสอดคล้องกับสูตรการคำนวณตามที่ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้คำนวณสูตร ตามที่ประกาศออกมาแล้ว ปรากฏว่าพรรคเล็กที่ได้เสียงลงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศรวมกันอย่างเช่นพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ได้คะแนน 35,533 คะแนน ซึ่งไม่ถึงคะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีหรือตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 71,123 คะแนน
ก็สามารถได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้เกิดพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อเพียง 1
ที่นั่งจำนวนหลายพรรค แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้เศษทศนิยม ที่วัดเกณฑ์การมีเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อระดับ 0.4 - 0.9 ไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 ที่นั่งของการพึงมี ส.ส. ก็ตาม[4]

 

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

          จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560[5] มาตรา 91 การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภสผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครเลือกตั้งแต่ก่อนก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวนตาม (1) และ (2) ด้วย

การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

และจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561[6] มาตรา 128 ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ ให้คำนวนตามวิธีการดังนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง

(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะมีพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

(4) ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบค้น ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบค้นในกรณีมีเศษเท่ากันให้ดำเนินการตาม (6)

(5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

(6) ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวนมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทำให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อได้ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีการจับสลาก

(7) ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของร้อยห้าสิบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นำ (4) มาใช้ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม

(8) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนวันปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (1) และ (2) ด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) ถึง (8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

จากบทกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จะได้มีการนำคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมาคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับซึ่งในขั้นตอนนี้ศาสตราจารย์ ดร.
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ[7] ได้อธิบายหลักการของการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ดังนี้

ข้อที่ 1 หลักการของการนับคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ระบบการนับคะแนนบัญชีรายชื่อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบคะแนนเหลือมากที่สุด (Largest Remainders) กับระบบคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (Highest Average) ซึ่งการนับคะแนนในส่วนของประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในระบบคะแนนเหลือมากที่สุด ซึ่งแบ่งการนับคะแนนออกเป็น 2 รอบ

รอบแรก กำหนดโควต้าคะแนนเสียงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนก่อน โดยเอาคะแนนเสียงที่ถูกนับทั้งหมดที่เป็นบัตรดีของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหารด้วยจำนวนที่นั่งที่กำหนดไว้ ซึ่งของไทยกำหนดที่นั่ง ส.ส. ทั้งสภาไว้ที่ 500 คน

 

คะแนนเสียงทั้งหมด   = จำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน

500  

 

รอบแรกนี้จัดเป็นหัวใจของระบบนับคะแนนเลือกตั้งแบบนี้ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “an electoral quota” คือโควต้าที่พรรคการเมืองจะได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “Hamilton method” ดังนั้นคนที่จะได้เป็น ส.ส. ต้องผ่านด่านโควต้านี้ก่อน แม้โควต้าต่อหนึ่งที่นั่งจะไม่ได้มีกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่โดยสภาพที่เกิดขึ้นแล้วถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีที่นั่ง ส.ส. ในสภาอย่างไม่ต้องสงสัย

รอบที่สอง เอาโควต้าไปคำคำนวณที่นั่งให้กับพรรคการเมือง พรรคที่ได้คะแนนเกินโควต้าจะได้รางวัลเป็นที่นั่ง ส.ส. ส่วนว่าจะได้มากน้อยเท่าใด ก็ให้เอาโควต้าหักออกจากคะแนนเสียงทั้งหมดที่นำมาคิดคำนวณที่ละที่นั่ง ๆ เมื่อเหลือเศษเท่าไหร่ก็ไปคิดเศษที่เหลืออีกที ก็จะได้จำนวน ส.ส. ครบตามจำนวนที่ต้องการ

ข้อที่ 2 การนับคะแนนเลือกตั้งตามกฎหมายไทย  สำหรับการนับคะแนนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 91 (1) ที่กำหนดว่า “นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ยืนยันว่าประเทศไทยใช้หลักคะแนนเหลือมากที่สุด คือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศ (Total vote) ตั้งหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นจำนวนคะแนนเสียงของ ส.ส. 1 ที่นั่ง นั่นคือโควต้า ตามวิธีการแบบ Hamilton method

ต่อมาในมาตรา 91 (2) บัญญัติว่า “ให้นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกพรรค จำนวนที่ได้รับถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคนั้นจะพึงมี” จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามหลักการนับคะแนนของระบบคะแนนเหลือมากที่สุด คือ ให้เอาโควต้าตามมาตรา 91 (1) ไปหารคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ออกมาจะเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นพึงมี ซึ่งในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเอาโควต้าไปหารคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เท่าใดแล้ว ก็ต้องได้จำนวน ส.ส. เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พึงมี

แต่เมื่อพิจารณาไปยังจำนวน ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ซึ่งเกินจากจำนวนโควต้าที่คำนวณได้ ในกรณีนี้ถือเป็นปัญหาของการเกิดที่นั่ง Overhang เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 137 ที่นั่ง ขณะที่คำนวณ ส.ส.
ที่พึงมีได้รวม 111 ที่นั่ง ตามมาตรา 91 (4) ซึ่งกำหนดหลักการว่าถ้าได้เกินก็ให้มีสิทธิได้ตามจำนวนนั้น ไม่ต้องไปหักออก แต่ไม่ต้องให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นอีก สำหรับประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาโดยในความตอนท้ายของมาตรา 91 (4) ที่ระบุว่า “และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)” ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวก็มีความหมายตรงชัดเจนดังนี้

1. ให้นำบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไปจัดสรรให้พรรคอื่นที่ได้ ส.ส. เขต ต่ำกว่าที่พรรคนั้นควรจะได้ สำหรับกรณีนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อก็ไม่ต้องเอาไปคำนวณให้พรรคใดอยู่แล้ว

2. กรณีที่เอาไปคำนวณให้พรรคอื่น พรรคอื่นที่ได้รับ ก็จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 คำนวณแล้วพรรคนั้นได้ ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งน้อยกว่า ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณค่าได้ และข้อ 2 เมื่อได้รับการบวกเพิ่มแล้ว ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส. ที่พึงมีตามที่คำนวณได้

จากหลักการดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์โควต้าสำหรับ ส.ส. 1 ที่นึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีการคำนวณได้ที่ประมาณ 71,000 คะแนน ก็ย่อมไม่มีโอกาสได้ ส.ส. เพราะประการแรก ไม่ผ่านโควต้าตั้งแต่ต้น และประการที่ 2 ไม่เข้าข่ายมาตรา 91 (4) เพราะไม่เข้ากรณี “พรรคที่มีจำนวน
ส.ส. เขตต่ำกว่าที่พรรคนั้นจะพึงมี” คือไม่เข้ากรณีคำนวณแล้วมี ส.ส. เขตต่ำกว่า ส.ส. ที่คำนวณได้

ส่วนวิธีการปัดเศษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 นั้นก็ต้องปัดให้กับพรรคที่ผ่านโควต้าเท่านั้น จะเอาเศษไปถ่ายโอนให้พรรคที่ต่ำกว่าโควต้าไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่มีกรณีใดที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าที่ประมาณ 71,000 คะแนน จะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ

 

4. สรุป

จากการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 ที่นั่ง และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 ที่นั่ง โดยในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งเดียวทำให้คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วคะแนนเหล่านั้นก็จะนำมาคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการคิดคำนวณคะแนนที่พรรคการเมืองต่างๆ จะได้ที่นั่ง “ส.ส. พึงมี” ตามโควต้าจำนวนที่นั่ง ส.ส. ต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับทั่วประเทศ ซึ่งจากการคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดพรรคเล็ก (ส.ส. เอื้ออาทร) เป็นคำเรียก ส.ส. ของพรรคการเมืองจำนวน 11 พรรค ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์  พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ซึ่งพรรคการเมืองเหล่านี้มีที่นั่ง ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้จัดสรรที่นั่งให้กับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี  ด้วยการปัดเลขทศนิยม ซึ่งทำให้ปรากฏว่าพรรคเล็กที่ได้เสียงลงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศรวมกันไม่ถึงคะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. พึงมีหรือตัวเลขคะแนนขั้นต่ำ ประมาณ 70,000 คะแนน ก็สามารถได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จนทำให้เกิดพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่งจำนวนหลายพรรค แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้เศษทศนิยม ที่วัดเกณฑ์การมีเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อระดับ 0.4 - 0.9 ไม่ถึงจำนวนเต็ม 1 ที่นั่งของการพึงมี ส.ส. ก็ตาม จึงกลายมาเป็นคำเรียก ส.ส. พรรคเล็กเหล่านั้นอีกชื่อตามที่ปรากฏในแฮ็ทแท็คของผู้เล่นทวิตเตอร์จำนวนมากว่า “ส.ส.เอื้ออาทร” อีกชื่อหนึ่งนั่นเอง

 

5. บรรณานุกรม

เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก

https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ

สืบค้นจาก

http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย

(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697

สิริพรรณ นกสวน. (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ใน

พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 98-118

 

อ้างอิง

[1] สิริพรรณ นกสวน. (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ใน

พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 98-118

[2] ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ

สืบค้นจาก

http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

[4] เดอะมาสเตอร์. (2562). กกต. เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. (ที่อาจเป็น) เวอร์ชั่นของ กกต. (ออนไลน์). สืบค้นจาก

https://themaster.co/pulse/complicated-thai-mps-system/74209, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

[7] เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. (2562). การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ผิด กับคำอธิบายเรื่อง overhang seats ของไทย

(ออนไลน์) สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1453697