ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2546 ฉบับที่ 1
ความนำ
ในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างและรูปแบบในการปกครองประเทศ ระบบการควบคุมกฎหมาย มิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ได้ถือกำเนินขึ้นควบคู่ไปกับหลักที่ว่าด้วยความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (supremacy of law) ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (pouvoir constituent) ซึ่งก่อตั้งระบบกฎหมายขึ้นทั้งระบบ และก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองรัฐธรรมนูญจึงเหนือกฎหมาย และอำนาจขององค์กรทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร และองค์กรตุลาการ องค์กรเหล่านี้จึงเป็นองค์กรที่ได้รับมอบอำนาจ (pouvoir constituent) มาจากรัฐธรรมนูญ หรือจากอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายหรือกฎเกณฑ์สูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง องค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้น จึงมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้น จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และจะตรากฎหมายให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
เมื่อรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร มีสถานะเป็นกฎหมายสูง (suprematie de la Constitution ecrite) และมีศักดิ์เหนือกฎหมายอื่น ที่กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งมิได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุด ด้วยการกำหนดให้มีระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ นอกเหนือไปจากการบัญญัติรับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร[1] หรือการกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปโดยวิธีการพิเศษที่ยากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายธรรมดาซึ่งมีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยนักนิติศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับหลักที่ว่าด้วยความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า แล้วองค์กรใดจะเป็นผู้มีอำนาจในการพิทักษ์รักษาความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ ในกรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญ อาจจะกำหนดได้โดยชัดแจ้งถึงองค์กรที่มีอำนาจควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญออสเตรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและอิตาลีที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎมหายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489–2534 เป็นต้น แต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญ มิได้บัญญัติถึงองค์กรที่มีอำนาจควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญไว้เหมือนดังเช่น กรณีของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมนำมาซึ่งข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นว่าองค์กรใดจะเป็นผู้มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว ในปี ค.ศ. 1803 ศาลสูงสุดสหรัฐฯ (Supreme Court) โดยท่านผู้พิพากษา John Marshall ได้ยืนยันอำนาจของศาลทั้งหลายภายในสหรัฐฯ ในการตรวจความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติไว้ ในคดีประวัติศาสตร์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา Marbury V. Madison. [5 U.S. (cranch) 137 (1803)] ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม และมีอิทธิพลต่อระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในเวลาต่อมา
ส่วนที่ 1 ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ
หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ ได้นำมาสู่แนวคิดในการสร้างระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุด และให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่มีสถานะเหนือกฎหมายใดๆนั้นเกิดผลได้จริง ทั้งนี้โดยการกำหนดให้มีองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติไว้ในองค์กรที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศนั้นๆ[2] ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมทุกศาล มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกันข้ามกับให้ระบบที่ใช้อยู่ในประเทศออสเตรีย และประเทศฝรั่งเศส ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามลำดับ เป็นองค์กรพิเศษองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมาย มิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ เป็นต้น
1. องค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ
การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ นั้น หากพิจารณาจากองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญจะสามารถแยกออกได้เป็น 3 องค์กร ดังนี้
1.1 การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา
การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในประเทศฝรั่งเศส ในสมัยสาธารณรัฐที่ 1 – 3 (ค.ศ. 1789–1946) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของปรัชญาเมธีคนสำคัญรุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ได้มีอิทธิพล อย่างมากในระบอบรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้แนวคิดของรุสโซ จึงส่งผลต่อระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ตามแนวคิดของรุสโซ แม้รัฐธรรมนูญมีสถานะสูงสุด ที่กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งมิได้ แต่การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา (loi) ซึ่งเป็นการแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชน โดยองค์กรอื่นใดจึงมิอาจจะกระทำมิได้ นักนิติศาสตร์ได้อธิบายว่า “รัฐสภา” จะเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยเองว่ากฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อรัฐสภาได้ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับแล้ว ก็ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่ากฎหมายนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แนวคิดที่ว่า กฎหมาย (loi) เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งทำให้ไม่อาจมีองค์กรใดที่จะมีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญนี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของ ซีเอเยส์ (Sieyes) ที่จัดตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้น ทำหน้าที่ในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “คณะลูกขุนผู้พิทักษ์” (jury constitutionnaire) โดยสิ้นเชิง แม้ต่อมาแนวคิดของซีเอเยส์ จะได้รับการยอมรับในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ด้วยการจัดตั้ง “สภาสูงพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (Senat Conservateur de la Constitution) ขึ้นก็ตามแต่องค์กรดังกล่าวก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกล้มเลิกไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่ว่า กฎหมายเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของปวงชนได้ถูกวิจารณ์โดย เกอเร เดอ มัลแบร์ (Carre de Malberg) นักกฎหมายมหาชนชาวฝรั่งเศสว่า การกล่าวว่าการใช้อำนาจของรัฐสภา กับการใช้อำนาจของประชาชนเป็นสิ่งเดียวกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจอธิปไตยในทัศนะของรุสโซนั้น ต้องใช้โดยประชาชน แต่รัฐสภาเป็นเพียงผู้แทนที่ประชาชนเลือกขึ้นมา กฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น จึงไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนตราขึ้น ดังนั้น การที่จะให้รัฐสภาวินิจฉัย โดยการลงมติในญัตติที่สมาชิกรัฐสภา เสนอว่าร่างกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ก็เท่ากับยอมรับว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุดและจะตรากฎหมายใดให้ขัดรัฐธรรมนูญ (ในสายตาของผู้อื่น) ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ในสาธารณรัฐที่ 4 จึงมีข้อเสนอให้จัดตั้ง “คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ” (Comite constitutionnel) ขึ้นโดยให้ประธานาธิบดีและประธานคณะรัฐมนตรี (President du Conseil หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) สามารถขอให้คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติได้ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร[3] ซึ่งหากคณะกรรมการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการรัฐธรรมนูญก็จะส่งกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง และถ้ารัฐสภาลงมติว่าเป็นกฎหมายแล้วก็ให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับรัฐบัญญัติที่รัฐสภาได้ตราขึ้นใหม่ แต่หากคณะกรรมการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายดังกล่าวก็จะถูกประกาศใช้ทันที ด้วยเหตุนี้ แนวคิดพื้นฐานในการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ในสาธารณะรัฐที่ 4 จึงเป็นไปเพื่อให้คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจดูความสอดคล้องระหว่างกฎหมายกับรัฐธรรมนูญและเป็นเครื่องมือในการระงับความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มากกว่าที่จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ต่อมาภายหลังการประกาศใช้ธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ในปี ค.ศ. 1958 จึงได้มีการจัดตั้ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” (Conseil Constitutionnel) ขึ้นทำหน้าที่แทนคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ และมีลักษณะเป็นองค์กรพิเศษที่มีอำนาจในการควบคุมร่างกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่งในส่วนนี้จะได้กล่าวถึงต่อไปในหัวข้อ 1.3
1.2 การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม
การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ในการตัดสินคดี Marbury V. Madison. ของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1803[4] ซึ่งศาลสูงสุดได้วางหลักว่า ศาลทั้งหลายมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ตราขึ้น โดยสภาคองเกรส ซึ่งมีข้อมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะได้[5] โดยประธานศาลสูงสุด John Mashall ได้ให้เหตุผลว่าเมื่อศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจหน้าที่ในการใช้บังคับกฎหมายแก่กรณีต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นความจำเป็นอยู่เอง ที่ศาลจะต้องตรวจสอบ ตีความและวินิจฉัยว่าอะไรคือกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับได้ ดังนั้น ถ้ามีกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้มีศักดิ์ที่สูงกว่ากฎหมายใดๆ ที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาด โดยยึดหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุด และกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การปฏิเสธหลักการดังกล่าวย่อมจะเป็นการทำลายรากฐานของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร[6] เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เช่นนี้ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้ง ก็เท่ากับว่าศาลฎีกาได้ยืนยัน และตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสุงสุดของประเทศ ซึ่งกฎหมายทั่วไปที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จะขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ และศาลย่อมเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ[7]
สำหรับกระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ด้วยเหตุที่ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกา เป็นระบบกระจายอำนาจ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมทุกศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา โดยมีกระบวนการพิจารณาอันเป็นสาระสำคัญ ดังนี้[8]
ก. ผู้มีสิทธิในการเริ่มคดี ได้แก่ คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสีย
ข. การพิจารณาวินิจฉัยของศาล เมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และคู่ความในคดีนั้น หรือผู้มีส่วนได้เสีย ยกเป็นประเด็นแห่งคดีว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือโดยศาลเห็นเอง ศาลยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่า กฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เสียก่อน และพิจารณาคดีต่อไปตามคำวินิจฉัยนั้น ทั้งนี้ หากศาลเห็นว่า กฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะปฏิเสธที่จะใช้บังคับกฎหมายนั้น กับคดีที่นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล หากคำวินิจฉัยไม่เป็นที่พอใจแก่คู่ความในคดีนั้น ก็สามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นต่อไป และให้ถือเป็นที่สุดโดยคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมสูงสุด
ค. ผลของการวินิจฉัย คำวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีใด ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นอันเสียเปล่า และมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ต้น(retrospective)[9] โดยจะมีผลบังคับระหว่างคู่ความในคดี (inter partes) เท่านั้น[10]
นับตั้งแต่ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ ได้วางหลักไว้ในการตัดสินคดี Marbury V. Madison ในปี ค.ศ.1803 เป็นต้นมา หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก โดยมีศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกำหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในเวลาต่อมา
1.3 การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรพิเศษ
แนวคิดในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรพิเศษองค์กรเดียว ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก โดย Hans Kelsen นักปรัชญากฎหมาย ชาวออสเตรีย ซึ่งเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญขึ้นโดยเฉพาะ Kelsen ได้อธิบายว่า การวินิจฉัยว่ากฎใดใช้บังคับมิได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เมื่อโดยปกติแล้ว กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับ ย่อมต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม การระงับผลของกฎหมายโดยการวินิจฉัยว่ากฎหมายใช้บังคับมิได้ จึงเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติในทางลบ (negative act of legislation)[11] ดังนั้น ศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นจึงต้องมีรากฐานที่มาจากองค์กรนิติบัญญัติ โดยให้องค์กรนิติบัญญัติมีส่วนในการแต่งตั้ง และเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งศาลพิเศษที่มีอำนาจเพิกถอนกฎหมายของรัฐสภา เพื่อให้คำวินิจฉัยนั้นเกิดผลบังคับเป็นการทั่วไป[12] ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญของประเทศออสเตรีย ค.ศ. 1920 จึงจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา [13] ซึ่งต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1955 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับการบัญญัติรับรองไว้อีกครั้ง ดังจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไปนี้ [14]
ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย รัฐธรรมนูญออสเตรีย ค.ศ. 1955 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
(1) ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รองประธานรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 12 คนและผู้พิพากษาสำรองอีก 6 คน ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญจะมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ซึ่งรัฐบาลแห่งสหพันธ์จะเป็นผู้เสนอผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ รองประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน และผู้พิพากษาสำรอง 3 คน ส่วนผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอีก 6 คนและผู้พิพากษาสำรองอีก 3 คน รัฐสภาจะเป็นผู้เสนอรายชื่อให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องสำเร็จการศึกษาวิชานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่อาจดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี ไม่ว่าจะในระดับสหพันธ์หรือมลรัฐ และเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 12 ปี แต่ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์และจะได้รับแต่งตั้งอีกไม่ได้
(2) นอกจากศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียจะมีอำนาจในการพิจารณาปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีที่ศาลยุติธรรมสูงสุด หรือศาลปกครองสูงสุดร้องขอมาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ เช่น อำนาจตรวจสอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหพันธ์และสมาชิกรัฐสภา, พิจารณากฤษฎีกา (Ordinance) ที่ออกโดยฝ่ายบริหารของสหพันธ์หรือมลรัฐว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ พิจารณาถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหพันธ์และมลรัฐที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อย่างร้ายแรง เป็นต้น
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ค.ศ. 1958 ได้มีการจัดตั้ง“คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” (Conseil Constitutionnel) ขึ้นโดยกำหนดให้
(1) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในรูปของคณะกรรมการ ประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง และตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้ง 9 คน ตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง ได้แก่ อดีตประธานาธิบดีทุกคนซึ่งจะได้รับสิทธิดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้ง ได้แก่ ผู้ที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง 3 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง 3 คน และประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง 3 คน ตุลาการรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และจะได้รับแต่งตั้งใหม่อีกไม่ได้ ตุลาการรัฐธรรมนูญจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือดำรงอื่นใดที่ได้กำหนดห้ามไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น กรรมการในคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม ข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐ หรือผู้บริหารพรรคการเมือง ในขณะเดียวกันไม่ได้
(2) เป็นที่น่าสังเกตว่า ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ค.ศ. 1958 นั้น มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศอื่นๆ กล่าวคือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีเพียงอำนาจในการควบคุมกฎหมายก่อนการประกาศใช้เท่านั้น โดยในกรณีที่ร่างกฎหมายนั้นเป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้ แต่ในกรณีที่ร่างกฎหมายนั้นเป็นร่างรัฐบัญญัติก็ไม่จำต้องส่งร่างรัฐบัญญัตินั้นไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่หากประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภา 60 คน ร้องขอให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติก่อนการประกาศใช้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญเช่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลความถูกต้องในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตรวจสอบข้อร้องเรียนและประกาศผลการเลือกตั้ง พิจารณาชี้ขาดความถูกต้องในการเลือกตั้งในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนดูแลความถูกต้องของวิธีการออกเสียงประชาชาติ และการออกเสียงประชามติ เป็นต้น
(3) สำหรับผลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อมีคำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ จะถือว่าร่างกฎหมายนั้นตกไปไม่สามารถประกาศใช้บังคับได้ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ และผูกพันองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กร
ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเยอรมัน ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน แต่เดิมนั้นเป็นระบบที่กระจายอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ไปยังศาลยุติธรรมทั้งหลายในสหพันธ์[15] ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1949 จึงได้มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์รัฐ” (Das Bundesverfassungsgericht) ขึ้น โดยกำหนดให้
(1) ศาลรัฐธรรมนูญฯ ประกอบด้วย 2 องค์คณะ แต่ละองค์คณะประกอบด้วยผู้พิพากษา 8 คน ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญฯ ในแต่ละองค์คณะ ครึ่งหนึ่งจะต้องได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Busdestag) และอีกครึ่งหนึ่งจะต้องได้รับเลือกจากสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) ในจำนวนนี้สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ และสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์ จะต้องเลือกจากผู้พิพากษาที่คัดเลือกและแต่งตั้งมาจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดต่างๆ องค์คณะละ 3 คน ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญฯ จะต้องสำเร็จการศึกษาวิชาชีพทางกฎหมาย และไม่เป็นสมาชิกของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่คล้ายกันในมลรัฐ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 12 ปี และจะได้รับแต่งตั้งใหม่อีกไม่ได้[16]
(2) ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบและควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจหน้าที่สำคัญอื่นๆ เช่น อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรของรัฐ ข้อขัดแย้งระหว่างมลรัฐกับสหพันธ์ พิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน พิจารณาวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคการเมืองใด มีวัตถุประสงค์ หรือการกระทำที่ขัดขวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์หรือไม่ และการพิจารณาวินิจฉัยให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีกระทำการอันละเมิดรัฐธรรมนูญ
(3) ในส่วนวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ รัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ค.ศ. 1949 ได้กำหนดให้วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญฯ เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งก็หมายถึง กฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ ค.ศ. 1951 และเนื่องจากการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญฯ เป็นการพิจารณาในรูปแบบของศาล กฎหมายว่าด้วยศาล รัฐธรรมนูญฯ จึงได้กำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ ไว้ตามหลักทั่วไปของการพิจารณาเป็นไปโดยเปิดเผย หลักการคัดค้านผู้พิพากษา และการรับรองสิทธิของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาที่จะขอตรวจดูเอกสาร เป็นต้น นอกจากนี้กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถสรุปในสาระสำคัญ ได้ดังนี้[17]
ก. ผู้มีสิทธิในการเริ่มคดี โดยปกติแล้วกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญฯ จะกำหนดผู้มีสิทธิในการเริ่มคดีเป็นการเฉพาะไว้ในแต่ละคำร้อง แต่ในกรณีที่คำร้องนั้นเป็นคำร้องทุกข์ว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นคดีที่มีการนำขึ้นสู่ศาลมากที่สุดนั้น บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลภายใต้เงื่อนไขที่ว่าได้มีการใช้สิทธิในการดำเนินคดีต่อองค์กรอื่นๆ ที่กำหนดไว้ให้ถึงที่สุดเสียก่อน จึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญฯ ได้
ข. กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญฯ โดยคำร้องจะต้องแสดงเหตุผลและอ้างพยานหลักฐานที่จำเป็นแห่งคดี และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญฯ พิจารณาเป็นแห่งคดี และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญฯ ก็จะเริ่มพิจารณาคดี ซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาด้วยวาจา ทั้งนี้ ในการพิจารณาศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริงจากพยานหลักฐานที่จำเป็น และอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของศาล หรือศาลอื่นหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
ค. การพิจารณาวินิจฉัยคดี ศาลรัฐธรรมนูญฯ จะปรึกษาคดีโดยลับ และทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย โดยผู้พิพากษาทุกคนจะต้องลงลายมือชื่อในคำวินิจฉัย และต้องทำคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่การพิจารณาด้วยวาจาสิ้นสุดลง ผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอาจทำความเห็นแย้งในคำวินิจฉัยนั้นได้ เหตุผลของคำวินิจฉัยจะต้องประกาศโดยเปิดเผย และคำวินิจฉัยต่าง ๆ จะต้องแจ้งให้คู่ความ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคดีทราบ
ง. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฯ ว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ผูกพันองค์กรต่างๆ ของรัฐทุกองค์กร และมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหพันธรัฐ จะต้องประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา
2. วิวัฒนาการของระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย
แนวคิดในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ได้เริ่มก่อตัวขึ้น นับแต่ที่มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ซึ่งได้รับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรไว้เป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจแบ่งระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทยตามลักษณะขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลาได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้ (1) ช่วงระยะเวลาที่รัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการตีความรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475 – 2489) (2) ช่วงระยะเวลาที่การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม (พ.ศ. 2489) (3) ช่วงระยะเวลาที่การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2489-2539) (4) ช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร ซึ่งอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ กลับไปยังศาลยุติธรรม
2.1 ช่วงระยะเวลาที่รัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการตีความรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475-2489)
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็มิได้บัญญัติรับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้โดยตรง แนวคิดในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ จึงได้ถูกบัญญัติรับรองไว้ ในมาตรา 61 ซึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ มีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆ เป็นโมฆะ” แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็มิได้บัญญัติให้มีองค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายใดเป็นโมฆะไว้แต่ประการใด ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จึงไม่มีความชัดเจนในแง่องค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 62 ซึ่งบัญญัติไว้ต่อเนื่องกับมาตรา 61 ในหมวด 6 บทสุดท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้” จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการบัญญัติไว้ต่อเนื่องกันเช่นนี้ น่าจะแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้ประสงค์จะให้อำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญกับองค์กรอื่นใด แต่คงต้องการให้ใช้ระบบเดียวกันกับที่ใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น (ในสมัยสาธารณรัฐที่ 3) ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมีความเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ไม่มีองค์กรใดที่จะมาชี้ขาดว่ากฎหมาย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชนขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ นอกจากองค์กรที่มีอำนาจแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ร่วมกันของปวงชนนั้นเอง ซึ่งได้แก่ ประชาชนและรัฐสภา เข้าใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทยคงได้นำแนวคิดเช่นนี้มาจึงบัญญัติในมาตรา 62 ไว้เช่นนั้น อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489 ก็ไม่ปรากฏว่ามีประเด็นที่ว่ากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จวบจนกระทั่งได้เกิดคดีอาชญากรสงครามในปี พ.ศ. 2488
2.2 ช่วงระยะเวลาที่การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม (พ.ศ. 2489)
การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม เป็นผลมาจากการตัดสินคดีของศาลฎีกา ในคำพิพากษาฎีกาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488[18] มาตรา 3 ในส่วนที่กำหนดโทษทางอาญาย้อนหลังขัด รัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ โดยศาลฎีกาได้ให้เหตุผลยืนยันอำนาจของตน ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติมาตรา 62 ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดอำนาจศาลที่จะตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีอำนาจตีความบทบัญญัติแห่งรัฐ ประกอบกับเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย การที่จะดูว่าอะไรเป็นกฎหมาย คือ เป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาล เพราะมิฉะนั้นแล้ว ศาลย่อมไม่อาจดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประการที่สอง เมื่อรัฐธรรมนูญได้แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ประเภท คือ อำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ แต่ละอำนาจย่อมมีอำนาจยับยั้งและกำกับ เป็นการควบคุมกันอยู่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายมาแล้ว ศาลซึ่งมีอำนาจทางตุลาการต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าศาลจะเห็นว่ากฎหมายนั้นสมควรหรือไม่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายมาไม่ถูกต้องกับรัฐธรรมนูญหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจแสดงความไม่ถูกต้องนั้นได้
ประการสุดท้าย เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ ก็จำต้องมีผู้มีอำนาจชี้ขาดว่าบทกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นการบัญญัติรับรองไว้เช่นนั้นก็จะไม่เป็นผล การที่จะส่งกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรตราขึ้น กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดได้อย่างไร และฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยกฎหมาย เช่นนี้ใครเล่าจะมีอำนาจนอกจากศาล คำพิพากษาฎีกาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ได้เป็นผลให้ศาลฎีกาในยุคหลังๆ ถือตามบรรทัดฐานในคดีนี้[19] และเป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันมาก ว่าศาลยุติธรรมได้ล่วงล้ำเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น ต่อมาในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ และกำหนดให้ศาลยุติธรรมต้องส่งเรื่องที่เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉันย
2.3 ช่วงระยะเวลาที่การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2489-2540)
ความขัดแย้งระหว่างศาลและสภาผู้แทนราษฎร ในคำพิพากษาฎีกาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ได้นำมาสู่การจัดตั้ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นองค์กรพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489[20] ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาก็กำหนดให้การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเกือบทั้งสิ้น[21] ยกเวนในช่วงที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร อำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญจึงกลับไปอยู่ที่ศาลยุติธรรมอีกครั้ง
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ได้มีการบัญญัติถึงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง และตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ[22] ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2517 กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด และมิได้กำหนดคุณสมบัติของตุลาการรัฐธรรมนูญไว้แต่ประการใด[23] ในสวนวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นที่น่าสังเกตว่านับแต่ที่ได้มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ปรากฏว่าวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรเกือบทั้งสิ้น มีเพียงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 เท่านั้นที่กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งในระยะเวลาที่แน่นอน คือคราวละ 4 ปี และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ การกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบและวาระการดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะโน้มเอียงไปในทางการเมืองเช่นนี้ จึงมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในแง่อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยหลักแล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยหลักแล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2489 รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาก็มักจะเพิ่มอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายประการให้กับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่น
(1) วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่[24]
(2) วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภามีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่[25]
(3) วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่[26]
(4) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่นหรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน[27]
(5) วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ[28]
(6) วินิจฉัยว่าข้อบังคับของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่[29]
(7) วินิจฉัยว่าร่างพระราชกำหนดเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่[30]
(8) ตีความรัฐธรรมนูญ[31]
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจหน้าที่กับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้หลายประการด้วยกัน แต่ก็ปรากฏว่ารัฐสภายังคงมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ควบคู่ไปกับอำนาจหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นๆ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ[32] จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญในกรณีต่างๆ ทั้งหมดโดย สมบูรณ์[33]
นับแต่มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้น (พ.ศ. 2489-2540) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยทั้งสิ้น 13 ฉบับ โดยเป็นคำวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียง 5 ฉบับ ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ ต.1/2494 คำวินิจฉัยที่ ต.2/2494 คำวินิจฉัยที่ ต.3/2494 คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 และคำวินิจฉัยที่ ต.1/2513 โดยเป็นคำวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง
2.4 ช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ก็กลับมาสู่หลักเดิมที่ศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ได้วางหลักไว้ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดจนการตีความรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจทั่วไปของศาล เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะได้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจไว้แก่องค์กรใดโดยเฉพาะในการพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองศาลยุติธรรม จึงกลับมาเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญอีกครั้งซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาในประเด็นที่ว่ากฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมหรือไม่ ไว้หลายครั้งด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 21/2492 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ พ.ศ. 2490 ที่ใช้บังคับย้อนหลังไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติห้ามการใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลัง
คำพิพากษาฎีกาที่ 222/2494 วินิจฉัยว่าบทบัญญัติมาตรา 33 ทวิ (1) แห่งพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว พ.ศ. 2489 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2489 มาตรา 6 เฉพาะที่ให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นในการกระทำผิดด้วยกัน เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาตรา 29 บทบัญญัติโดยเฉพาะดังกล่าวนี้ จึงใช้บังคับมิได้ ตามนัยมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญ ฯ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1212/2497 วินิจฉัยว่าผู้ที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าว ถ้าเคยขอและได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแล้ว ย่อมขาดจากสัญชาติไทย แม้จะได้ฟ้องคดีขอให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2) ก็ตาม และกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1240/2514 วินิจฉัยว่าเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในขณะที่ไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2496 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน เพื่อให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้เถียงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นคำวินิจฉัยของศาลที่มีอำนาจชี้ขาดได้ชี้ขาดไปแล้วโดยชอบ ก็ต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ ไม่อาจกลับรื้อฟื้นให้มีผลใช้บังคับขึ้นได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2536 วินิจฉัยว่าคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือไม่เท่านั้นอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง โดยไม่ต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 เป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย เป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง จึงเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ย่อมใช้บังคับมิได้
นอกจากนี้ ไม่อาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 222 มาใช้บังคับ ต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่สั่งยึดทรัพย์
ส่วนที่ 2 การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
1. เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในส่วนที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อพิจารณาระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ในการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อทำการปรับเปลี่ยนองค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งในระบบรัฐธรรมนูญ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ดังนี้
1.1 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
นับแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ยังมิได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งองค์กรซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในลักษณะรูปแบบของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คงมีบัญญัติจัดตั้งในรูปของ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรทางการเมืองมากกว่าศาลการกำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งซึ่งได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา (ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะ) ประธานศาลฎีกา และอัยการสูงสุด (ซึ่งเป็นตำแหน่งประจำจึงอาจขัดกันในตำแหน่งหน้าที่ได้) และตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีการบัญญัติวิธีการสรรหาและการคัดเลือกไว้ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
การกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบของ “คณะกรรมการ” ได้ส่งผลโดยตรงต่อวิธีพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญการดำเนินงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีการพิจารณาที่ไม่เปิดเผย และไม่มีหลักประกันพื้นฐานในวิธีพิจารณาไว้เหมือนดังเช่นวิธีพิจารณาทั่วไปขององค์กรในรูปแบบของ “ศาล” นอกจากนี้การกำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 4 ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้[34] หรือการกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรมนูญมีวาระดำรงตำแหน่งที่เป็นไปตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร[35] ก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถมีอิทธิพลเหนือตุลาการรัฐธรรมนูญได้
1.2 แนวทางการแก้ไขของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีต สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงได้วางแนวทางในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ ตลอดจนวิธีพิจารณาของ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้องค์กรพิเศษที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญอยู่ในรูปแบบของ “ศาล” หรือเรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะในรูปแบบของศาลในกระบวนการยุติธรรมในสาขากฎหมายมหาชน โดยไม่มีลักษณะเป็นองค์การทางการเมืองเหมือนดังเช่นกรณีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ปัจจัยทางการเมืองได้มีอิทธิพลเหนือคำวินิจฉัยในบางเรื่อง ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากการกำหนดให้มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในรูปแบบของ “ศาล” แทน “คณะกรรมการ” ในรูปแบบของ “ศาล” แทน “คณะกรรมการ” สภาร่างรัฐธรรมนูญยังได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญองค์กรหนึ่งในระบบรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางในหลักการสำคัญไว้ ดังนี้[36]
1.2.1 องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีองค์ประกอบที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการตัดองค์ประกอบที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่งออกไป และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน รวม 15 คน ซึ่งมีวิธีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้โดยเฉพาะ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จำนวน 15 คน เสนอต่อวุฒิสภา[37] และให้วุฒิสภาพิจารณาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน โดยการลงคะแนนลับ จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ
วาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีระยะเวลา 9 ปี ทั้งนี้จะต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อมีอายุ 70 ปีบริบูรณ์ และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว การกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ค่อนข้างยาวเช่นนี้ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระมากขึ้น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระมากขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจแต่งตั้งที่จะเข้ามาใช้อำนาจแต่งตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ หากประพฤติทุกจริตต่อหน้าที่โดยผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีหน่วยงานธุรการซึ่งสังกัดศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอิสระทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และการดำเนินงานอื่น
1.2.2 เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญไว้วางแนวทางให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มเติมจากที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอยู่แต่เดิม อาทิเช่น การพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติต่างๆ ของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการควบคุม “ก่อน” การประกาศใช้เพื่อป้องกันมิให้มีการตราบทบัญญัติที่ผิดไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด การพิจารณาคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เป็นต้น
1.2.3 วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้หลักการสำคัญที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กำหนดในรายละเอียด โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้วางแนวทางในวิธีพิจารณาอันเป็นหลักการพื้นฐานของวิธีพิจารณาความโดยศาลไว้อาทิเช่น การกำหนดให้การพิจารณาต้องกระทำโดยเปิดเผย การเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การรับฟังคำชี้แจงของผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียก่อนทำคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้เหตุผลประกอบ และให้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาลทั้งหลาย และองค์กรอื่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น
2. ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่หลักในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และวิธีพิจารณาความ ดังนี้
2.1 องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน รวม 15 คน[38] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้[39]
(1) ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวน 3 คน โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
วิธีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งซึ่งเลือกกันเองให้เลือก 4 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน รวมทั้งสิ้น 13 คน
คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 10 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 6 คน เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องเสนอพร้อมความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มติในการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
เมื่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เสนอบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภาแล้ว ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชี ในการลงมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาจะต้องกระทำโดยวิธีการลงคะแนนลับและพิจารณาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คน จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (มาตรา 259) การกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานและไม่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่เช่นนี้ ย่อมทำให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อาจพ้นจากตำแหน่งได้ก่อนกำหนดตามวาระได้ ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตาย ลาออก มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และที่สำคัญที่สุดคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่งได้ เมื่อปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ (มาตรา 260) หน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรมนูญเป็นหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอิสระทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินงานอื่นโดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 270)
2.2 เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นจากอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีตหลายประการด้วยกัน แต่ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่หลักในการควบคุมกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจหน้าที่อื่นที่เพิ่มขึ้นในประการสำคัญ ดังต่อไปนี้
2.2.1 อำนาจหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
ก. การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญก่อนการประกาศใช้กฎหมาย ในกรณีที่ร่างกฎหมายใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หรือถือว่าให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา (มาตรา 262) ในกรณีต่อไปนี้
(1) อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอความเห็นเช่นว่านั้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี และประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
(2) อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เสนอความเห็นเช่นว่านั้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี และประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
(3) อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญ
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อความขัดแย้งหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะตกไปทั้งฉบับแต่ถ้าข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป
ข. การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ภายหลังที่มีการประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ศาลส่งความเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลอาจเห็นเองหรือคู่ความในคดีได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนเกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น (มาตรา 264)
2.2.2 อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาด ความสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา (มาตรา 96)
2.2.3 อำนาจในการวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว (มาตรา 216 และมาตรา 96)
2.2.4 อำนาจในการวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองว่าขัดต่อสถานะหรือการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามคำร้องขอของสมาชิกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 47 วรรคสาม)
2.2.5 อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกพรรคการเมืองมีมติให้พ้นจากสมาชิกพรรค (มาตรา 118)
2.2.6 อำนาจในการวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลและพรรคการเมืองเลิกกระทำการ อันมีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการกระทำใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการดังกล่าวได้ (มาตรา 63)
2.2.7 อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาร้องขอประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาได้ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 142)
2.2.8 อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาแล้วแต่กรณีส่งให้พิจารณาเป็นร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีหลักการเดียวกันหรือคล้ายคลึงกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น มีหลักการอย่างเดียวกันหรือ คล้ายกันกับร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องยับยั้งไว้ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นก็จะเป็นอันตกไป (มาตรา 177)
2.2.9 อำนาจในการวินิจฉัยว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ของสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการ มีการเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ได้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำเช่นว่านั้น ก็จะเป็นผลให้การเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวนั้นสิ้นผลไป (มาตรา 180)
2.2.10 อำนาจในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้ง ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 198)
2.2.11 อำนาจในการวินิจฉัยว่าพระราชกำหนด มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยสาธารณะหรือไม่ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาได้เสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นมิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และประธานสภาได้ส่งความเห็นนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย (มาตรา 219)
2.2.12 อำนาจในการวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)
2.2.13 อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ แก่คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 295)
2.3 วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะกำหนดให้วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งจะต้องกระทำด้วยมติเอกฉันท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับประเภทของคดีที่มีการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดกระบวนการพิจารณาและหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐานของวิธีพิจารณาความในศาลไว้ดังนี้
2.3.1 ผู้มีสิทธิในการเริ่มคดี รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้ เหมือนดังเช่นระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญในบางประเทศ[40] แต่ได้กำหนดให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยในเบื้องต้นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูยหรือไม่โดยศาลอาจเห็นเองหรือคู่ความจะหยิบยกขึ้นให้ศาลพิจารณาก็ได้ ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายที่เป็นประเด็นในคดีนั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย (มาตรา 264) อย่างไรก็ตามแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติรองรับสิทธิของประชาชนในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้ก็ตาม แต่ประชาชนก็สามารถ นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาได้ ด้วยการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในกรณีที่บุคคลใดเห็นว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป (มาตรา 197)
2.3.2 วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการพิจารณาวินิจฉัยตามวิธีพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น และภายใต้แนวทางวิธีพิจารณาที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้[41]
ก. การพิจารณาโดยเปิดเผย
ข. การให้โอกาสคู่กรณีแสดงความเห็นของตนก่อนการวินิจฉัยคดี
ค. การให้สิทธิคู่กรณีที่จะขอตรวจดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตน
ง. การเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จ. การให้เห็นผลประกอบคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
2.3.3 การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้องค์คณะในการพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 9 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคน จะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนขอบตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณาเหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 267)
2.3.4 ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (มาตรา 268)
บทสรุป
ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในประเทศไทย จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด การปรับปรุงรูปแบบขององค์กรจากรูปแบบของ “คณะกรรมการ” มาเป็นรูปแบบของ “ศาล” จึงส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ องค์ประกอบและโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีความสมบูรณ์และควรจะเป็นแบบอย่างให้ศาลทั้งหลายได้ถือตาม ทั้งนี้การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะต้องศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ และกฎหมายไทย ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองประกอบการพิจารณาด้วย และที่สำคัญที่สุด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญจะต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีผลกระทบทางการเมืองความรอบคอบและความไม่เป็นฝักเป็นฝ่ายทางการเมือง จึงเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
อ้างอิง
- ↑ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก โดยรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา หมวด 6 มาตรา 2 ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญนี้.. เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และผู้พิพากษาในทุกมลรัฐจะถูกผูกพันกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังว่านั้น ไม่ว่าจะมีบทใดๆ ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแห่งมลรัฐกำหนดให้เป็นอย่างอื่นก็ตาม”
รัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน มาตรา 20 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า “อำนาจนิติบัญญัติถูกผูกพันโดยระบอบรัฐธรรมนูญ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ถูกผูกพันโดยพระราชบัญญัติและกฎหมาย
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส บัญญัติไว้ในมาตรา 62 ว่า “บัญญัติใดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ประกาศว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญจะประกาศให้และนำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับมิได้” ในกรณีเช่นนี้ แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติรับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้โดยชัดแจ้ง แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้แสดงให้เห็นอยู่ในตัวตีความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
- ↑ ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้
(1) ระบบกระจายอำนาจ (decentralized system) เป็นระบบที่มี การกระจายอำนาจในการวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่ศาลใช้บังคับกับคดีที่ศาลพิจารณาอยู่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไปยังศาลยุติธรรมทุกศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในระบบกระจายอำนาจนี้ เป็นระบบที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบและยังคงใช้บังคับอยู่ในประเทศญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสวีเดน
(2) ระบบรวมอำนาจ (centralized system) การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในระบบรวมอำนาจนี้เป็นการรวมอำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไว้ที่องค์กรๆ เดียวเป็นการเฉพาะ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในปัจจุบันระบบนี้ได้มีการนำไปใช้มากในประเทศภาคพื้นยุโรป
- ↑ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสแห่งสาธารณรัฐที่ 4 ค.ศ. 1946 ได้บัญญัติว่า
“มาตรา 91 คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ มีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นประธาน คณะกรรมการรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะรัฐมนตรี (หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) และกรรมการอีก 7 คน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้ง จากบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนของกลุ่มสมาชิกในสภาเมื่อเปิดสมัยประชุมประจำปี และกรรมการอีก 3 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากวุฒิสภา ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาว่า ร่างรัฐบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบนั้น จะทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาตรา 92 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่รัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐบัญญัติใด ก่อนการประกาศใช้ร่างรัฐบัญญัติ ประธานคณะกรรมการ อาจร้องขอให้คณะกรรมการรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างรัฐบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบนั้น จะทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ จะต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 5 วัน แต่ถ้าเป็นเรื่องรีบด่วน คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ จะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จในเวลา 2 วัน ทั้งนี้อำนาจในการวินิจฉัยของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญจะจำกัดอยู่เฉพาะการวินิจฉัยว่าต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ในหมวด 1 –10 เท่านั้น
- ↑ คดี Marbury V. Madison มีข้อเท็จจริงโดยย่อดังนี้ : ภายหลังการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของพรรค Federalists ในปี ค.ศ. 1801 ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี John Adams ได้ลงนามแต่งตั้งผู้ที่จงรักภักดีต่อพรรคFederalists ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการ (Justice of the Peace) ซึ่งบุคคลหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี Adams ก็คือ William Marbury แต่เนื่องจากหนังสือแต่งตั้งบางฉบับยังไม่สามารถส่งมอบให้กับผู้ได้รับแต่งตั้งได้ทันในวันนั้น ซึ่งก็มีหนังสือแต่งตั้ง William Marbury ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รวมอยู่ด้วย และเมื่อประธานาธิบดี Thomas Jefferson จากพรรค Republican เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดี Jefferson ซึ่งไม่พอใจต่อการแต่งตั้งตุลาการในวันสุดท้ายของประธานาธิบดี Adams จึงสั่งให้ยับยั้งหนังสือแต่งตั้งนั้นไว้ ต่อมา William Marbury จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ให้ออกหมายบังคับให้ James Madison ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวอยู่ในขณะนั้น ส่งมอบหนังสือแต่งตั้งให้กับตน โดยอ้าง Judicial Act 1789 มาตรา 3 ที่ให้อำนาจศาลสูงสุดในการออกหมายบังคับให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติการใดๆ ได้ในคดีนี้ประธานศาลสูงสุด John Marshll ได้วินิจฉัยว่า Marbury มีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ และเขาก็มีสิทธิ์ต่อไปที่จะได้รับคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งศาลสามารถออกหมายบังคับได้ แต่เมื่อศาลได้พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา Article III section 2. (2) ซึ่งให้ศาลสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตั้งแต่ต้น (original jurisdiction ) เฉพาะคดีที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ทางการฑูตเป็นคู่ความแล้ว ศาลสูงสุดจึงไม่มีอำนาจในการที่จะรับฟ้องคดี และออกหมายตามคำของ Marbury ได้ ดังนั้น Judicial Act 1789 ในส่วนที่ให้ ศาลมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ
- ↑ สาเหตุของการที่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ต้องวางหลักไว้ในคดี Martury V. Madison ให้ศาลทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ได้บัญญัติรับรองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 6 มาตรา 2 แต่มิได้บัญญัติให้มีองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ ศาลจึงต้องอ้างความเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ เพื่อให้มีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาคองเกรส
- ↑ Robert B. Mckay. An American Constitutional Law Reader. (1958).
- ↑ อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบนี้ได้มีข้อโต้แย้งจำนวนมากว่าขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจ เพราะระบบดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการสามารถตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติได้ และทางปฏิบัติที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าศาลมักจะใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยในระหว่าง ค.ศ.1880-1936 ศาลยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้วินิจฉัยว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะเป็นจำนวนมาก จนถึงขนาดมีคำกล่าวในขณะนั้นว่า สหรัฐอเมริกาถูกปกครองโดยรัฐบาลของผู้พิพากษา ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ในการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยเฉพาะ ดังเห็นได้จากการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในประเทศภาคพื้นยุโรป ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
- ↑ วิจิตรา วิเชียรชม. “การควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ.” ใน รวมบทความทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประกายพรสึก, 2535), หน้า 176 – 182.
- ↑ ในสหรัฐอเมริกา หลักในเรื่องผลย้อนหลังของกฎหมาย (retrospective) ซึ่งให้ถือว่ากฎหมายเป็นโมฆะมาแต่แรก ต่อมาได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในกรณีที่ศาลได้กลับคำพิพากษาเสียใหม่ เช่น ในคดีเดิมศาลได้พิพากษาให้กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี เป็นโมฆะเพราะขัดรัฐธรรมนูญ จำเลยในคดีจึงไม่มีความผิด แต่ต่อมาศาลได้กลับคำวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวใม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาว่าศาลจะย้อมกลับไปลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายฉบับดังกล่าวนับแต่คดีแรกจนถึงคดีหลังได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมาศาลสหรัฐฯ จึงได้เปลี่ยนแปลงหลักในเรื่องการย้อนหลังของกฎหมาย โดยวางหลักว่า ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยถึงผลของการย้อนหลังของกฎหมายเอง โดยคำนึงถึงผลดีผลเสียในเสียแต่ละคดี โปรดดูรายละเอียดในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เอกสารการสอนชุดวิชากฎหมายมหาชน หน่วยที่ 8–15. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุโขทัยธรรมาธิราช, 2534), หน้า 575 – 576.
- ↑ ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในระบบกระจายอำนาจ ได้ยึดถือหลักที่ว่าศาลมิได้เป็นองค์กรที่อยู่เหนือกว่ารัฐบาล แต่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยกว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เพราะศาลต้องใช้บังคับกฎหมาย ศาลจึงต้องตีความกฎหมาย เมื่อกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายนั้นก็ใช้บังคับมิได้ศาลจึงนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับมิได้ และเนื่องจากศาลเป็นเพียงผู้ใช้ และแสดงความเป็นอยู่ของกฎหมาย (declaration) เท่านั้น คำพิพากษาของศาลจึงมีผลแต่ในคดีระหว่างคู่ความเท่านั้น Cappelletti. Judicial Review in the Contemporary World (1976), p.51. อ้างในเรื่องเดียวกัน (หน้า 672).
- ↑ Hans Kelsen. “Judicial Review of Legislation.” 4 Journal of Politics, (1942), p.184 – 186. อ้างใน ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์. “การแบ่งแยกอำนาจกับการตีความรัฐธรรมนูญ.” วารสารกฎหมายปกครอง 1 (สิงหาคม 2536), หน้า 400.
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้าเดียวกัน. จะเห็นได้ว่า แนวคิดในการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้น ทำหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายให้ขัดรัฐธรรมนูญของ Kelsen นั้น ต้องการที่จะรวมอำนาจในการวินิจฉัยไว้ที่องค์กรๆ เดียว โดยไม่กระจายอำนาจไปยังหลายองค์กรเหมือน ดังเช่นระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกา ที่คำวินิจฉัยจะมีผลผูกพันเป็นรายคดีไปเท่านั้น โดยไม่มีผลเป็นการทั่วไป ซึ่งในบางครั้งได้ก่อให้เกิดปัญหาในคำวินิจฉัยที่ขาดความเป็นเอกภาพในแต่ละศาล
- ↑ ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรีย ได้กลายเป็นแม่แบบของระบบควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ในระบบรวมอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญไว้ที่องค์กรๆ เดียวของประเทศต่างๆ ในเวลาต่อมา
- ↑ กมลชัย รัตนสกาววงศ์. ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณารัฐธรรมนูญ. รายงานการวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย), หน้า 23 – 24.
- ↑ การที่ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะเนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญในขณะนั้น คือรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1918 มิได้บัญญัติถึงองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแต่ได้กำหนดไว้เพียงว่า “การควบคุมตรวจสอบทางรัฐธรรมนูญจะกระทำในกรณียุติข้อพิพาทระหว่างสหพันธ์รัฐและมลรัฐเท่านั้น การร้องทุกข์ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนกระทบกระเทือนจะร้องต่อศาลสูงสุดมิได้” ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยศาลยุติธรรม Karl George Zierlrin. Constitutional Control by Courts, Report to the 14th Conference on the Law on the World. (Peking China, 1990), p.6. อ้างใน กมลชัย รัตนสกาววงศ์. ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ. หน้า 17.
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า 18 –19.
- ↑ เรื่องเดียวกัน. หน้า 45-54.
- ↑ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำตนเป็นอาชญากรสงครามในระหว่างสงคราม โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในมาตรา 3 ได้บัญญัติว่า
“มาตรา 3 การกระทำใด ๆ อันบุคคลได้กระทำไม่ว่าในฐานะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ต้องตามที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม และผู้กระทำเป็นอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้
(1) ทำการติดต่อ วางแผนการศึก เพื่อทำสงครามรุกรานหรือกระทำการโดยสมัครใจเข้าร่วมสงครามกับผู้ทำสงครามรุกราน หรือโฆษณาชักชวนให้บุคคลเห็นดีเห็นชอบในการกระทำของผู้ทำสงครามรุกราน
(2) ละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีในการทำสงคราม คือปฏิบัติมิชอบธรรมต่อทหารที่ตกเป็นเชลย จัดส่งพลเรือนไปเป็นทาส ฆ่าผู้ที่ถูกจับเป็นประกัน ทำลายบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับการทหาร
(3) กระทำการละเมิดต่อมนุษยธรรม คือ กดขี่ข่มเหงในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือศาสนา”
- ↑ อย่างไรก็ตาม ก่อนคำพิพากษาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ศาลอุทธรณ์ได้เคยพิพากษาว่ากฎหมายลักษณะอาญาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2470 มาตรา 104 ก) และ ข) ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 61 แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในคำพิพากษาฎีกาที่ 456/2478
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489
“มาตรา 87 บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 88 ในการที่ศาลจะใช้บทกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 87 ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วรายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งให้ศาลทราบ
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น”
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534 อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะแต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าศาลยุติธรรม จะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยในเบื้องต้นว่ากฎหมายใช้บังคับอยู่ในคดีนั้นๆ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ศาลจึงจะส่งไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็สามารถพิจารณาวินิจฉัยคดีนั้นต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งเรื่องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญด้วยเหตุนี้ ระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงเป็นระบบผสมระหว่างระบบกระจายอำนาจและระบบรวมอำนาจ
- ↑ ตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง ส่วนมากจะปะกอบด้วยบุคคลซึ่งมีความรู้ในทางนิติศาสตร์ เช่น ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนจากฝ่ายการเมือง ได้แก่ ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในรัฐธรรมนูญบางฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และพ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ตามลำดับ แต่ในรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็มิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิไว้แต่ประการใด เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2521 ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งจึงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ
- ↑ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ได้กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ได้กำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้คัดเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนฝ่ายละ 3 คน ซึ่งสะท้อนแนวคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ที่ต้องการให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยผู้แทนองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดทั้งสามได้เป็นอย่างดี
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. . 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534
- ↑ ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 บัญญัติว่า “มาตรา 141 ภายใต้บังคับมาตรา 191 ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะตีความ และให้ถือว่าการตีความของรัฐสภาเป็นเด็ดขาด”
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 “มาตรา 207 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรมีมติว่า กรณีมีปัญหาที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาหรือประธานสภาผู้แทนแล้วแต่กรณี ส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย”
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) มาตรา 200
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 , พ.ศ. 2492, พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2521
- ↑ สภาร่างรัฐธรรมนูญ. กรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน : เอกสารพื้นฐานประกอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดรัฐธรรมนูญโดยประชาชน, (กรุงเทพฯ, 2540), หน้า 29-32.
- ↑ ในชั้นแรกนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางไว้ โดยกำหนดให้รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (มาจากการแต่งตั้ง) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือก ตลอดจนการแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต่างๆ แต่ต่อมาในการพิจารณาในวาระที่ 2 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการแก้ไขให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้เปลี่ยนแปลงให้วุฒิสภาซึ่งมีที่มาจากประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
- ↑ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญจะประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 13 คน
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 255
- ↑ 40 การมิได้รับรองสิทธิของประชาชนในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้มีการกลั่นกรองคดีก่อนที่จะนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 15 คน
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 269