มัชฌิมาธิปไตย (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นนทวุฒิ ราชกาวี


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคมัชฌิมาธิปไตย

พรรคมัชฌิมาธิปไตยมีจุดเริ่มต้นมาจากอดีต ส.ส. กลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ภายในพรรคไทยรักไทย หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มวังน้ำยม” ซึ่งได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ภายหลังจากเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่วางหลักว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง” ในวันที่ 30 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการเพิ่มโทษจากเดิมที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 69 ซึ่งกำหนดโทษห้ามมิให้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กำหนดหน้าปีเท่านั้น

หลังมีการประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว จึงทำให้สมาชิกพรรคไทยรักไทยหลายคนลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารและสมาชิกพรรค โดยคิดว่าเมื่อลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้วอาจจะมิต้องถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองห้าปีได้ พร้อมกับได้ดึงอดีต ส.ส. ในสังกัดของตนเองลาออกมาด้วย รวมถึงกลุ่มของนายสมศักดิ์ด้วย ซึ่งนายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงเหตุในการลาออกของตนว่า “เพื่อความสมานฉันท์

ต่อมานายสมศักดิ์จึงได้ประกาศตั้งกลุ่มของตนขึ้นเป็น “กลุ่มมัชฌิมา” ที่หมายถึง “กลุ่มสายกลาง” ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 โดยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ได้กล่าวถึงแนวทางการทำงานทางการเมืองของกลุ่มมัชฌิมาว่า “...ไม่ว่าใครก็ตาม เราไม่ได้ปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยรักไทยเดิม กลุ่มพันธมิตร หรือทหาร หรือฝ่ายไหน ก็เข้าร่วมกันได้บนความปรองดองของชาติ เพื่อความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ...” และสมาชิกในกลุ่มนั้นแทบทั้งหมดเป็นอดีต ส.ส. กลุ่มของนายสมศักดิ์ที่เคยอยู่พรรคไทยรักไทย โดยในเบื้องต้นนั้นยังไม่มีความแน่นอนว่าการตั้งกลุ่มดังกล่าวจะเป็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้น หรือจะเป็นการเข้าร่วมกับพรรคอื่น

แผนการตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น กลุ่มนายสมศักดิ์ ได้พยายามติดต่อให้คนที่มีชื่อเสียงหลายคนมาเป็นหัวหน้าพรรค เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งต่อมาถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองจากการที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27) ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งมีการกล่าวว่าชื่อของกลุ่มมัชฌิมานั้นมาจากหนังสือ “มัชฌิมทฤษฎี” ของ ดร. ชัยอนันต์ เป็นต้น และได้มีการให้นายธนพร ศรียากูล รองผู้อำนวยการกลุ่ม และคนสนิทของนายสมศักดิ์ ไปจดทะเบียนจัดตั้ง “พรรคมัชฌิมา” ไว้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 แล้ว

และแผนการที่จะร่วมกับกลุ่มอื่นนั้นก็มีการเคลื่อนไหว เช่น แผนการร่วมกับพรรคประชาราช ของนายเสนาะ เทียนทอง และกลุ่มของนายพินิจ จารุสมบัติ เพื่อจะตั้ง ”พรรคเพื่อแผ่นดิน” ขึ้น โดยมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นผู้ประสานการรวมกลุ่มดังกล่าวแต่ก็มิได้ประสบผลสำเร็จ

ต่อมา “กลุ่มมัชฌิมา” ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาราชโดยการที่กลุ่มมัชฌิมาทั้งหมดย้ายเข้ามาอยู่ในพรรคประชาราช โดยได้มีการประชุมเปิดตัวและเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550

แต่ต่อมาก็เกิดปัญหาขัดแย้งเรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนโยบายของพรรคระหว่างนายเสนาะ เทียนทอง และนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานคณะผู้บริหารพรรคประชาราช ทำให้กลุ่มมัชฌิมาลาออกจากพรรคประชาราชและดึงเอานายประชัย ซึ่งเป็นฐานทางการเงินสำคัญของพรรคประชาราชออกมา โดยการย้ายมาอยู่ “พรรคมัชฌิมา” ที่นายธนพร ศรียากูล คนสนิทของนายสมศักดิ์ ตั้งพรรคไว้ก่อนแล้ว และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น “พรรคมัชฌิมาธิปไตย” และได้ให้นายประชัย เป็นหัวหน้าพรรค

แนวทางของพรรคมัชฌิมาธิปไตยในช่วงนี้นั้น แม้นายประชัยจะได้กล่าวว่า “การตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อเป็นทางเลือกสายกลางกับประชาชน...” แต่ก็เข้าใจได้ว่ามีแนวทางที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากนายประชัยนั้นเคยได้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และนอกจากนี้ยังมีผู้สมัคร ส.ส. ที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ อีกหลายคนด้วย

หลังจากมีการเปิดตัวพรรคไม่นานก็เกิดความความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของนายประชัย และฝ่าย ส.ส. กลุ่มมัชฌิมา ขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่การที่นายประชัยต้องการจะรวมพรรคมัชฌิมาธิปไตย เข้ากับพรรคประชาราช และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และกรณีที่มีผู้สมัคร ส.ส. หลายคนที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อนายประชัย ทำให้ ส.ส. กลุ่มมัชฌิมา ไม่พอใจว่าพรรคจะมีแนวทางเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เดินทางสายกลาง

กรณีที่นายประชัย ซึ่งเคยรับจะเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินของพรรคได้จ่ายเงินสนับสนุน ส.ส. เฉพาะบางคนเท่านั้น โดยเฉพาะมีการกล่าวว่า นายประชัยได้กล่าวให้ผู้สมัคร ส.ส. เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายตน หรือฝ่ายของนายสมศักดิ์ แต่ต่อนายประชัยได้ปฏิเสธว่าตนมิได้พูดเช่นนั้น และกรณีที่นายประชัยได้ให้เงินสนับสนุนแก่ ส.ส. แต่ได้ให้ทำเป็นสัญญาเงินกู้ประกันไว้ด้วยนั้น สร้างความไม่พอใจแก่ผู้สมัคร ส.ส. หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มมัชฌิมาเป็นอย่างมาก

กรณีที่นายประชัยได้กล่าวว่าตนถูกข่มขู่ให้จ่ายเงิน 60 ล้านบาท เพื่อแลกกับตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากเมื่อพรรคมัชฌิมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตยแล้วนั้น กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 นายประชัยจึงยังมิได้เป็นหัวหน้าพรรคโดยสมบูรณ์ สร้างความไม่พอใจแก่นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคมัชฌิมา และผู้จดทะเบียนจัดตั้งพรรค ว่าหมายถึงตน

และนายประชัยก็มีกรณีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำคุก 3 ปีในคดีปั่นหุ้น TPI แม้นายประชัยได้ทำการอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ รวมทั้งการกดดันจากผู้สมัคร ส.ส. บางคนโดยการล่ารายชื่อให้นายประชัยลาออกจากพรรค นำโดยนายธนพร นายประชัยจึงได้ลาออกจากพรรคในวันที่ 4 ธันวาคม 2550 แม้ต่อมาจะมีการประกาศว่าเปลี่ยนใจภายหลังจากนั้นเพียง 3 ชั่วโมงก็ตาม แต่เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. กลุ่มที่นายประชัยให้การสนับสนุนอยู่ไม่มีผู้ชนะการเลือกตั้งเลยนายประชัยจึงยิ่งถูกบีบหนักและยอมออกจากพรรค

เมื่อนายประชัยได้ลาออกจากพรรค นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาของนายสมศักดิ์ เทพสุทินจึงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน โดยมีแนวทางของพรรคเป็นแนวทาง “เดินทางสายกลาง” และเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค แล้วถูกกล่าวว่าเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยเดิม

พรรคมัชฌิมาธิปไตยได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองโดยมีเหตุจากข้อกล่าวหาที่ว่านายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคและเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการซื้อเสียงเกิดขึ้น และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลาห้าปีในวันที่ 2 ธันวาคม 2551

ในช่วงที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยดำเนินการอยู่นั้นได้มีการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง คือ การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 โดยพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 363 คน จากจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน จากจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบสัดส่วน 80 คน และมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 11 คน และไม่มีผู้ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนเลย

นโยบายพรรคมัชฌิมาธิปไตย

นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

ยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศในทุกระดับและส่งเสริมการกระจายอำนาจไปสู่บบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่ลลน สามารถตรวจสอบและควบคุมการทำงานของราชการและฝ่ายบริหาร รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน

ปฏิรูประบบราชการ และดำเนินการป้องกันปราบปรามฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ลดขั้นตอนการทำงานของระบบราชการ เพื่อความรวดเร็วและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน

นโยบายด้านการเกษตรและป่าไม้

ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจผสมผสานที่หาตลาดได้ง่าย ราคาดี เหมาะสมกับพื้นที่ และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ 7 ประเภท ได้แก่ โค (โคเนื้อ โคขุน โคนม) กระบือ ไก่ สุนัข แมว นก (นกเขา นกกรงหัวจุก) ปลา โดยการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

จัดงบประมาณอุดหนุน เพื่อสามารถกำหนดให้เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม แก้ไขปัญหาและปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร หรือพักชำระหนี้ไว้ชั่วคราว ตลอดจนสนับสนุนแนวทางกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์การเกษตร

ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เร่งรัดการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ทำการจำแนกที่ดิน พื้นที่สงวนหวงห้าม และพื้นที่ทำประโยชน์ เป็นที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่ดินสาธารณประโยชน์ของกรมที่ดิน ให้ผู้ถือครองที่ดินที่เข้าไปอยู่อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้มีสิทธิครอบครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย และให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

รักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการอนุรักษ์และปลูกป่าทดแทน อนุรักษ์สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยา โดยสนับสนุนโครงการปลูกป่าไม้โตเร็วในเขตพื้นที่ที่ปริมาณน้ำฝนตกน้อย เพื่อนำไม้โตเร็วไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกำลังกระแสไฟฟ้า และส่งเสริมพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนตกมาก ปลูกยางหรือปลูกปาล์มน้ำมัน

นโยบายเศรษฐกิจ

ขจัดระบบการครอบงำและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จัดมาตรการเร่งด่วน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพการเงินและการคลังทั้งระบบ จัดทุนสำรองของประเทศให้มีดุลยภาพมั่นคง และบริหารความเสี่ยงในการถือครองเงินและสินทรัพย์ต่างประเทศ และจัดให้มีหน่วยงานโดยตรง เพื่อตรวจสอบเสถียรภาพการเงินและการคลังสาธารณะ

ปรับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและแก้ไขกฎหมายการคลัง ภาษีอากร ให้สนองตอบในรูปการจัดเก็บภาษี แก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบภาษีให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต การเพิ่มรายได้ของชาติ เพื่อปกป้อง ส่งเสริมการค้าภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ปรับปรุงวิธีการงบประมาณให้สนองตอบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับสมรรถภาพ การแข่งขันของประเทศ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและพอเพียง มีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน เน้นความรู้ ความสามารถในการแข่งขันและการหารายได้เข้าประเทศ

แก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ด้วยการกระจายการลงทุนและการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้มากขึ้น เพิ่มรายได้ การพักชำระหนี้ เพิ่มอัตราการออมเงินภายในประเทศ โดยสนับสนุนการออมแบบผูกพันระยะยาวในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและลูกจ้างของราชการ กองทุนประกันสังคมและในระบบการเงินทั่วไป

ส่งเสริม ปกป้อง รักษารัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและความมั่นคง ให้เป็นของรัฐ

ส่งเสริมการใช้การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิง ทดแทนผลิตภัณฑ์น้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศ ปรับปรุงระบบราง การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบทางหลวงจังหวัด ระบบทางหลวงชนบท การสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน การขุดแม่น้ำ ลำคลอง และเขื่อนกั้นน้ำ การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในทุกมิติ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด ในการเดินทางและการแก้ปัญหาการจราจรที่คับคั่ง สนับสนุนโครงการเมกะโปรเจค เชื่อมทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ให้เป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ของประเทศ ส่งเสริมการสร้างท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

นโยบายด้านอุตสาหกรรม

ปรับปรุงโครงสร้าง ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมาตรการข้อยุ่งยากต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านอุตสาหกรรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตและส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งกับตลาดโลกได้

สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมและอุตสาหกรรมครัวเรือนกระจายไปสู่ชนบท และสร้างอาชีพให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

นโยบายด้านการพาณิชย์

ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนส่วนใหญ่ ขจัดการผูกขาดเพื่อให้กลไกของระบบการค้าเสรีได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและวิสาหกิจชุมชนมีการพัฒนา จนมีขีดความสามารถรวมตัวเข้าเป็นรูปสหกรณ์

สร้างระบบข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทุกระดับสามารถรับรู้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจและการพาณิชย์ในระดับต่างๆ นับแต่เมืองใหญ่จนถึงชนบท

นโยบายด้านการศึกษา

ขยายการศึกษาภาคบังคับเป็นสิบห้าปี สร้างความเท่าเทียมในการจัดการการศึกษาของประเทศ จัดให้เรียนฟรี จากระกับอนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี ในสถาบันการศึกษาของรัฐ ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาแก่ผู้เรียนจากครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางลงไป ให้กู้ยืมโดยไม่เสียดอกเบี้ยระหว่างเรียน

จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในทุกจังหวัด โดยให้สถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการบริหารและการจัดการ

ให้การศึกษาด้านจริยธรรมแก่ประชาชนให้เป็นพลเมืองดี รักท้องถิ่น จัดการศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตน ส่งเสริมการศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาวิชาชีพในท้องถิ่นต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น

จัดการยกมาตรฐานวิชาชีพครู สนับสนุน ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความก้าวหน้าในอาชีพและแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยการจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบและจัดสวัสดิการของครูโดยเฉพาะ

นโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรม

ให้การประกันสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส จัดให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ เหมาะสมและในราคาที่ถูก ให้หลักประกันการครองชีพแก่ผู้ยากจนและผู้ว่างงาน สนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม

สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันหลักของสังคม เสริมสร้างสถาบันครอบครัว ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งทางคุณธรรม จริยธรรม สร้างค่านิยมครอบครัวให้อบอุ่น เชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันการศาสนาเข้าด้วยกัน โดยจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

พัฒนา ส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนให้แก่กลุ่มสตรีให้มีความรู้ ความสามารถและมีบทบาทในสังคม ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษา สัดส่วนรายได้หญิงต่อชายในการจ้างงาน ปกป้อง คุ้มครองสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันการทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก ส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรมและการเพิ่มพูนทักษะพัฒนาฝีมือแรงงานที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพสตรี เยาวชนในชนบท

ดูแล สงเคราะห์ ฟื้นฟู พัฒนาผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาพิเศษ ให้ได้รับการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงานและฝึกอบรมอาชีพ สามารถพึ่งตนเองได้ ส่งเสริมกีฬาเยาวชนเข้าสู่มาตรฐานโอลิมปิค และสนับสนุนกีฬาให้เป็นอาชีพ โดยจัดให้มีลานกีฬาหมู่บ้านและชุมชน ให้ส่วนลดภาษีเงินได้ของเงินบริจาคเพื่อการกีฬา สนับสนุนกองทุนและการบริจาคตามหลักศาสนา เพื่อให้เป็นหลักการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน

นโยบายด้านสาธารณสุข

ปรับปรุงโรงพยาบาล สถานีอนามัยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลและการบริการ สนับสนุนการรักษาพยาบาลฟรี และขยายความคุ้มครองโดยเพิ่มโรคที่รักษาฟรีให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลของรัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เร่งผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอแก่การบริการ เปิดอบรมวิธีการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนในชนบท

นโยบายด้านการต่างประเทศ

ยึดถือนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางและอิสระ สร้างมิตรภาพและความร่วมมือกับทุกประเทศ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นใด ยึดมั่นในนโยบายพึ่งตนเอง ถ้าจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็จะต้องไม่มีพันธะและข้อผูกพันใดๆ ผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาลมากขึ้นในเวทีโลก ทั้งด้านการเมืองและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนให้มีการตกลงหรือเจรจาทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในด้านการค้า การลงทุนและด้านอื่นๆ

นโยบายด้านการทหารและการป้องกันประเทศชาติ

กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศ โดยการใช้การทูตนำการทหาร ให้กองทัพช่วยพัฒนาประเทศ โดยการจัดให้มีการฝึกอาชีพ และช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต เพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างกลไกความเข้มแข็งของภาครัฐและความสมานฉันท์ในพื้นที่ สนับสนุนให้กองทัพมีความทันสมัยและมีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศและเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ให้กองทัพมีบทบาทในการร่วมมือกับหน่วยราชการอื่นในการบริหารประเทศ

สร้างงานให้มีปริมาณเพียงพอ เพื่อการแก้ปัญหาว่างงาน โดยการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อลดการเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวง และการจัดตั้งธนาคารแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับแรงงานไร้ฝีมือ และส่งเสริมให้มีการศึกษาสำหรับผู้ใช้แรงงาน

เข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงาน และกำหนดมาตรฐานการใช้แรงงานคนกับเครื่องจักรที่อยู่ในสภาพสมดุลและเหมาะสม ขยายสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิในการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

กำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้มีอัตราเดียวกันทั่วประเทศ และจัดสวัสดิการแรงงานให้สอดคล้องกับความสามารถและค่าครองชีพซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นจริง จัดการให้หน่วยงานที่ดูแลผลประโยชน์และรักษาสิทธิของผู้ใช้แรงงานได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง หรือไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน พัฒนากองทุนสำหรับผู้ใช้แรงงานไปต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

กำหนดยุทธศาสตร์ของการใช้แรงงานต่างชาติ จำกัดขอบเขตจำนวนแรงงานต่างชาติ รวมทั้งกำหนดพื้นที่และลักษณะของการทำงานของแรงงานต่างชาติ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้อยู่ในนโยบายด้านต่างๆ ทุกนโยบาย เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา การสาธารณสุข การค้า การนำเข้า การส่งออก การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการจราจร ยึดการยกระดับคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยของประชาชน ชุมชนและสิ่งมีชีวิต สร้างสมดุลของธรรมชาติและระบบนิเวศน์เป็นเป้าหมาย ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักและสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน ให้ประชาชนเจ้าของท้องถิ่นมีส่วนร่วมรับรู้และตัดสินใจในโครงการพัฒนาทุกๆ ระดับ ที่จะมีผลกระทบต่อคนและแหล่งทรัพยากรของท้องถิ่น

ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมต่อสภาพการณ์ปัจจุบัน

ปรับปรุงและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมของไทยให้เต็มศักยภาพ

การแก้ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้==

เสริมสร้างทัศนคติของคนไทยในชาติทุกหมู่เหล่า ที่ต่างศาสนาละชาติพันธุ์ ให้มีความเข้าใจในความเป็นไทย วิถีที่หลากหลายตามชาติพันธุ์ ให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง ยึดมั่นต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย เพื่อผนึกกำลังของทุกคนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สำหรับขับเคลื่อนองคาพยพทุกส่วนของประเทศให้พัฒนา พอเพียง และยั่งยืน เพื่อจรรโลง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติยุคใหม่

เพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างกลไกความเข้มแข็งของภาครัฐและความสมานฉันท์ในพื้นที่ โดยยึดหลักการ คนในท้องถิ่นย่อมเข้าใจปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นแก้ปัญหาในท้องถิ่นนั้นเอง เสริมสร้างและขยายโอกาสให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตามความถนัดและตามศักยภาพ โดยสอดคล้องกับจริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ปรับปรุงและพัฒนาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักศาสนาให้เหมาะสมและเพียงพอต่อประชาชนในพื้นที่

พัฒนาด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการค้าชายแดนกับต่างประเทศเพื่อนบ้าน สร้างภาพลักษณ์ ความสงบเรียบร้อย และปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะมาในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาความไม่พอเพียงของประชากรในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาภาคเกษตรกรและอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาระบบอาหารฮาลาล (มุสลิม) เพื่อการบริโภคและส่งออกไปยังโลกมุสลิม เสริมสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการยุติธรรม เร่งสมานฉันท์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่มา

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18/2551.

ทวน ลำปาว. “รวมกันไม่ได้ก็ตัวใครตัวมัน?.” เนชั่นสุดสัปดาห์ (7กันยายน 2550): 17.

ทวน ลำปาว. “ประกาศิต ‘ประชัย’ อุดม ‘ทุน’ ใหญ่กว่า ‘อุดมการณ์’?.” เนชั่นสุดสัปดาห์ (21 กันยายน 2550): 16-17.

นิติราษฎร์ บุญโย. “’อยากร่ำรวย เลือกประชัย’ อหังการคนตระกูล ‘เลี่ยว’.” เนชั่นสุดสัปดาห์ (19 ตุลาคม 2550): 21.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งกาจัดตั้งพรรคมัชฌิมา.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง (16 พฤศจิกายน 2550): 5-58.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค และกรรมการบริหารพรรค.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 112 ง (20 ธันวาคม 2550): 89-107.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 11 ง (24 มกราคม 2551): 77-80.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งกาจัดตั้งพรรคมัชฌิมา.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 178 ง ( 16 พฤศจิกายน 2550): 5-58.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 42 ง (10 เมษายน 2551): 63-67.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 67 ง (12 มิถุนายน 2551): 70-71.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 25 ง (15 กุมภาพันธ์ 2552): 32.

“’มัชฌิมทฤษฎี’ กับทางเลือกใหม่ ‘ชัยอนันต์’.” เนชั่นสุดสัปดาห์ (29 มิถุนายน 2550): 14.

มติชนรายวัน (3 ตุลาคม 2549): 15.

มติชนรายวัน (20 พฤศจิกายน 2549): 14.

มติชนรายวัน (21 กันยายน 2550): 14.

มติชนรายวัน (6 ตุลาคม 2550): 14.

มติชนรายวัน (23 ตุลาคม 2550): 13.

มติชนรายวัน (22 พฤศจิกายน 2550): 14.

มติชนรายวัน (23 พฤศจิกายน 2550): 11,13.

มติชนรายวัน (25 พฤศจิกายน 2550): 13.

มติชนรายวัน (29 พฤศจิกายน 2550): 13.

มติชนรายวัน (4 ธันวาคม 2550): 15.

มติชนรายวัน (5 ธันวาคม 2550): 14.

สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลสิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์. 2551.

“หมด ‘ประชัย’ ก็ตัวใครตัวมัน?.” เนชั่นสุดสัปดาห์ (7 ธันวาคม 2550): 84.