พัฒนาสังคมไทย (พ.ศ. 2547)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคพัฒนาสังคมไทย

พรรคพัฒนาสังคมไทย เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI SOCIAL DEVELOPMENT PARTY” และเรียกชื่อย่อว่า “C.S.P” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 11/2547 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2547[1]

เครื่องหมายพรรคการเมืองเป็นภาพสี่เหลี่ยมพื้นสีขาวภายในเป็นพานรัฐธรรมนูญรองรับธงชาติไทยใต้พานรัฐธรรมนูญ มีชื่อพรรคภาษาไทยและภาษาอังกฤษปรากฏลักษณะและคำอธิบายดังต่อไปนี้ [2]

1. รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาว หมายถึง ประเทศไทยรวมทั้งสี่ภาคมีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่รวมกันเป็นปึกแผ่น มั่นคง วัฒนาถาวร ร่มเย็นด้วยศิลปวัฒนธรรม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนทุกหมู่เหล่า

2. ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นรูปธงชาติไทย หมายถึง สัญลักษณ์ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

3. ภายใต้ธงชาติไทยเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญสีเหลืองทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เชิดชูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ

4. ภายใต้พานรัฐธรรมนูญ มีตัวอักษรสีน้ำเงินเขียนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษมีข้อความว่า “พรรคพัฒนาสังคมไทย” (THAI SOCIAL DEVELOPMENT PARTY) หมายความว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

ตรายางพรรคพัฒนาสังคมไทย ใช้ภาพเครื่องหมายเดียวกันแต่มีสีเดียว[3]

มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคพัฒนาสังคมไทย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 70/3 ซอยลาดพร้าว 41 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310[4]


นโยบายของพรรคพัฒนาสังคมไทย พ.ศ. 2547[5]

พรรคพัฒนาสังคมไทยเป็นที่รวมของบุคคลที่มีความคิด หรืออุดมการณ์ที่ตรงกันเพื่อมุ่งมั่นที่จะนำแนวความคิดนั้นไปบริหารบ้านเมือง เพื่อความสงบสุขของประชาชนส่วนใหญ่ โดยกำหนดนโยบายพรรคไว้ ดังนี้


1. นโยบายปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

พรรคจะยกย่องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชนในชาติ จะทำการใดๆก็ตามที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงคู่กับประเทศไทยตลอดไป และจะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวปฏิบัติการดำรงชีวิต


2. นโยบายด้านการเมือง การปกครอง และด้านสังคม

เสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แก้กฎหมายบางฉบับที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย กระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการจากผู้ควบคุมเป็นผู้อำนวยความสะดวก และป้องกันความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยทุกระดับ


3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ

ใช้นโยบายระดมทุนจากภายในและทรัพยากรภายในประเทศ ประสานกับการพยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คัดค้านการสร้างหนี้ ออกกฎหมายควบคุมการผูกขาดของต่างประเทศหรือบรรษัทข้ามชาติ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้องค์กรประชาชนทุกสาขาอาชีพต่างๆร่วมเสนอ


4. นโยบายด้านระบบราชการและด้านการป้องกันประเทศ

ให้ข้าราชการประจำได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ปรับปรุงการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาข้าราชการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังพลหลักและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง


5. นโยบายด้านการศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้นโดยสอดคล้องกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสด้านการศึกษาจากรัฐอย่างทั่วถึง และมุ่งค้นคว้าเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการแปรเปลี่ยนมาใช้ใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีชาวบ้านที่มีขนาดเล็กและเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา


6. นโยบายด้านสาธารณสุขและด้านการกีฬา

ปรับปรุงการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จัดตั้งแพทย์แผนโบราณของเอเชียขึ้นในประเทศไทย และส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


7. นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม

ส่งเสริมและสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณี เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีของชาติ ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน และพัฒนาชนกลุ่มน้อยทุกชนชาติ โดยเฉพาะชาวเขาโดยเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม


8. นโยบายด้านต่างประเทศ

ทบทวนและแก้ไขบรรดาสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆที่ทำไว้กับต่างประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบันให้ถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกระชับสัมพันธไมตรีอันดีกับต่างประเทศทุกประเทศในโลก


9. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม

แก้ไขกฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวงที่เกี่ยวกับแรงงาน ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสหภาพสมาคมและชมรมที่เป็นประชาธิปไตย ขยายการจ้างงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มความมั่นคงและหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเยาวชน และผู้ด้อยโอกาสไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม


10. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรและพิทักษ์ทรัพยากร ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรม ยกระดับเทคโนโลยีให้ทันสมัย พึ่งตนเองได้ และให้ประชาชนช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


11. นโยบายด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินของตนเองอย่างมั่นคง ปลดเปลื้องภาวะหนี้สินเกษตรกร ส่งเสริมและแก้ไขปรับปรุงระบบสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสาขาอาชีพทุกรูปแบบ ส่งเสริมระบบการเกษตรแบบครบวงจรพึ่งตนเองได้ และสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมเกษตรกรรมเข้ากับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง


12. นโยบายการปกครองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวกับหลักการในการจับ ค้น คุมขัง ปล่อยชั่วคราว และสอบสวนผู้ต้องหาให้สอดคล้องและรองรับหลักการตามรัฐธรรมนูญ

พรรคพัฒนาสังคมไทยไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้ง จนกระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 5/2548 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ให้ยุบพรรคพัฒนาสังคมไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตมบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา (ภายใน 2 เมษายน 2548) พรรคพัฒนาสังคมไทยมีจำนวนสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยพรรคพัฒนาสังคมไทยไม่ได้ยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดเวลาแต่อย่างใด ศาลจึงตัดสินให้ยุบพรรคพัฒนาสังคมไทย[6]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง, วันที่ 20 ตุลาคม 2547, หน้า 83, 99.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง, วันที่ 20 ตุลาคม 2547, หน้า 99-100.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง, วันที่ 20 ตุลาคม 2547, หน้า 101.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง, วันที่ 20 ตุลาคม 2547, หน้า 101.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง, วันที่ 20 ตุลาคม 2547, หน้า 83-99.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 74 ง, วันที่ 19 กันยายน 2548, หน้า 33. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 8 ก, วันที่ 27 มกราคม 2549, หน้า 99-103.