พลเมือง (Citizenship)
ผู้เรียบเรียง : ดร.จารุวรรณ แก้วมะโน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
พลเมืองคือใคร
พลเมืองเป็นคำที่ใช้เรียกแทนผู้คนในประเทศ เช่นเดียวกับคำว่าพสกนิกร ราษฎร และประชาชน ที่ใช้เรียกแทนผู้คนในประเทศเช่นเดียวกันในแง่ที่หมายถึงผู้ที่อยู่ในดินแดนหนึ่ง ๆ อย่างไรก็ตาม คำว่าพลเมืองนั้น มีความหมายแตกต่างออกไปจากคำว่า พสกนิกร ราษฎร และประชาชน เนื่องจากเป็นคำที่มีความคาดหวังในเรื่องของทัศนคติและพฤติกรรมบางประการแฝงอยู่ด้วย แม้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะให้ความหมายของคำว่า พลเมือง ไว้ว่าหมายถึง ประชาชนราษฎร หรือชาวประเทศ แต่โดยรากศัพท์คำว่าพลเมืองประกอบขึ้นจากสองคำสมาสกัน คือ คำว่า “พล” รวมเข้ากับคำว่าเมือง โดยคำว่า “พล” มีหลายความหมาย ในความหมายแรกแปลว่า “กำลัง” ในความหมายที่สอง คือ ทหาร เช่น กองพล หรือยกพล ในความหมายที่สามคือ สามัญธรรมดา เช่น ของพล ๆ (พน) ในความหมายที่สี่คือ ยศของทหารและตำรวจชั้นสัญญาบัตร เช่น จอมพล แต่เดิมคำว่าพลเมืองจึงเป็นคำที่ถูกใช้และรับรู้กันในหลายความหมายขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้ อาทิ หากใช้ร่วมกับไพร่บ้านพลเมืองก็จะหมายถึงคนทั่วไปแตกต่างกันเพียงถิ่นอาศัยว่าอยู่นอกเมืองหรือในเมือง แต่หากใช้รวมกับคำว่าไพร่พล ก็จะหมายถึงกำลังคนหรือกำลังทหารด้วย ปัจจุบันคำว่าพลเมืองจึงรับรู้กันในความหมายของผู้ที่เป็นกำลังของบ้านเมือง
ขณะที่คำว่าราษฎรนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า รฏฺฐ รฏฺฐิก รฏฺฐวาสี ปชา ที่หมายถึง แว่นแคว้น หรือผู้ที่อยู่ในแว่นแคว้น พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ให้ความหมายคำว่า “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire, country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน) ส่งผลให้โดยรากศัพท์แล้ว คำว่า “ราษฎร” จึงมีนัยของการเป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชา เช่นเดียวกับคำว่า “พสกนิกร” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า นิกร รฏฺฐวสก รฏฺฐวาสี ซึ่ง “วส” เป็นภาษาบาลี เดิมมีความหมายว่า อำนาจ สามารถ หรือด้วยอำนาจ ส่งผลให้คำวา “พสกนิกร” มีความหมายถึงผู้ที่อยู่เหนือดินแดนและอยู่ในอำนาจของรัฐ ขณะที่คำว่าประชาชนนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่าเป็นสามัญชนทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ พ่อค้าหรือนักบวช ด้วยเหตุนี้ ในตัวบทกฎหมายส่วนใหญ่จึงมักปรากฎคำว่า “ประชาชน” เพื่อแสดงเป็นการจำแนกประชาชนออกจากเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องด้วยสิทธิประโยชน์ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่จะเกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน
จากข้างต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า พลเมืองไม่ใช่เพียงคำที่ใช้เรียกคนที่อยู่เหนือดินแดนหนึ่ง ๆ หรือหมายถึงสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งมีสิทธิและสิทธิพิเศษที่รัฐบาลของประเทศนั้นมอบให้เท่านั้น แต่เป็นคำที่มีแนวคิดและความคาดหวังแห่งพฤติกรรมบางประการแฝงอยู่ด้วย ทำให้คำว่า “พลเมือง” เป็นคำเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่เหนือดินแดนที่มีมิติของการแสดงออกมากกว่าคำเรียกขานอื่น ๆ ในแง่ของการเป็นกำลังให้แก่บ้านเมืองอยู่ด้วย
พลเมืองสำคัญอย่างไร
ด้วยเหตุที่พลเมืองเป็นคำที่มีแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมบางประการแฝงอยู่ด้วยในแง่ของผู้เป็นกำลังให้แก่บ้านเมืองหรือรัฐที่ตนอยู่อาศัย จึงทำให้ “พลเมือง” เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจศึกษามาเป็นเวลานานแล้วในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐและเป็นเงื่อนไขที่จะสนับสนุนต่อระบอบการปกครองหนึ่ง ๆ ให้ดำรงอยู่ได้ เพลโต (Plato) และ อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกกล่าวถึงความสำคัญของพลเมืองไว้นานกว่า 2,000 ปี มาแล้ว โดยเพลโตกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “พลเมือง” ไว้ในงานที่ชื่อว่า The Republic เขาเชื่อว่าผู้คนในรัฐนั้น ล้วนแต่มีบทบาทหน้าที่ของตน พลเมืองแต่ละคนพึงแสดงบทบาทหน้าที่ตามความถนัดตามธรรมชาติของตนเพื่อสนับสนุนการอยู่รอดของนครรัฐ (Polis) โดยมุ่งหวังความดีส่วนรวมมากกว่าความปราถนาส่วนตนเพราะเขาเชื่อว่าความเป็นอยู่ของผู้คนย่อมดีไม่ได้หากคุณภาพของรัฐโดยรวมนั้นแย่
ส่วนอริสโตเติล ได้อธิบายเรื่องความเป็นพลเมืองไว้ในงานที่ชื่อว่า Politics โดยเขาเห็นว่าความเป็นพลเมืองนั้นสัมพันธ์กับธรรมชาติของรัฐและความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันภายในรัฐของผู้คน สำหรับอริสโตเติล รัฐ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของผู้คน มนุษย์ไม่อาจแสวงหาความอยู่รอดและความเจริญทางชีวิตและจิตวิญญาณได้ภายนอกรัฐ มนุษย์โดยธรรมชาติจึงเป็น “สัตว์การเมือง” (political animals) ดังนั้น มนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในชุมชนและมีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองตามธรรมชาติ โดยมีนครรัฐ (polis) เป็นรูปแบบสูงสุดของสมาคมทางการเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้พลเมืองจึงมีความสำคัญและนับเป็นคุณธรรมประการหนึ่ง เพราะนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วพลเมืองจะเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความกล้าหาญ และสติปัญญาแห่งนครรัฐ
ความสำคัญของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการปกครองกับรัฐนั้นปรากฎเป็นแนวคิดอย่างชัดเจนในงานของ จอห์น ล็อค (John Locke) โดยเขาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพลเมืองไว้ในงานที่ชื่อว่า Two Treatises of Government (1690) ว่าการที่มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคมนั้น ก็เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) ของตนไว้ และทำให้ดีขึ้นผ่านการสร้างสัญญาประชาคมร่วมกันระหว่างพลเมืองและรัฐ (Social Contract) นั่นหมายถึงรัฐและพลเมืองทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและปกป้องเสรีภาพตามธรรชาติไว้ หากรัฐไม่สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม ผู้คนในสังคมก็มีสิทธิเปลี่ยนแปลงรัฐได้หากมีความจำเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้พลเมืองจึงมีความสำคัญในแง่ของผู้มอบความยินยอมในการปกครองให้แก่รัฐ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการร่วมกันประคับประคองมาตรการต่าง ๆ ทั้งทางสังคมการเมือง ดำรงไว้ซึ่งสัญญาประชาคม ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐอย่างเคารพและอดทน ให้เกียรติต่อความแตกต่างหลากหลายเพื่อก้าวข้ามข้อผูกพันทางศาสนาและตั้งอยู่บนหลักของกฎหมายตามสัญญาประชาคมร่วมกัน
ด้านนักปรัชญาสมัยใหม่อย่าง โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) กล่าวถึงพลเมืองในงานที่ชื่อว่า The Citizen แม้เขาจะเชื่อว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีกฎกติกาคอยกำกับเนื่องจากมนุษย์มีความหลากหลายและมักจะเห็นแก่ประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ สามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการขัดเกลาธรรมชาติของมนุษย์ให้เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะเมืองไม่ได้เป็นของผู้ใด แต่เป็นของทุกผู้คนที่ต้องร่วมกันประคับประคอง เพื่อรักษาสันติภาพภายในรัฐ ป้องกันการโจมตีจากภายนอก เพื่อชีวิตที่ดีของผู้คน
จะเห็นได้ว่าแม้ในทางปรัชญาจะมองธรรมชาติของมนุษย์ต่างกัน ทว่าในทุกระบอบการปกครองก็ล้วนต่างต้องการพลเมืองที่มีความผูกพันกับรัฐและสมาชิกคนอื่น ๆ ในสังคม โดยพร้อมจะร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องผลประโยชน์ของรัฐไว้เพื่อผลประโยชน์สิทธิเสรีภาพที่บรรดาพลเมืองจะบรรลุได้ภายใต้รัฐนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แนวคิดเรื่องพลเมืองได้รับความสนใจศึกษาในหลายสาขาวิชาไม่เพียงแต่ทางด้านปรัชญาและรัฐศาสตร์ที่มุ่งศึกษาสิทธิเสรีภาพบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง แต่ยังครอบคลุมด้านกฎหมายเรื่องสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของพลเมืองภายใต้กรอบกฎหมายเพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ด้านสังคมศาสตร์ในมิติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน ภายใต้บริบทเฉพาะของสังคมที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม ด้านมานุษยวิทยาในมิติของอัตลักษณ์กลุ่ม และด้านการศึกษาที่ให้ความสนใจศึกษาความเป็นพลเมืองในมิติของการพัฒนาศักยภาพพลเมือง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเรื่องพลเมืองจึงมีความซับซ้อนของการเป็นพลเมืองในสังคมร่วมสมัย โดยครอบคลุมไม่เพียงแต่มิติทางกฎหมายและการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแง่มุมทางวัฒนธรรม สังคม และจริยธรรมของการเป็นพลเมืองด้วย
สถานะของความเป็นพลเมือง (citizenship)
สถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายนับเป็นเรื่องสำคัญ แม้ความเป็นพลเมืองนั้นจะไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะแค่ประเด็นทางด้านกฎหมายแต่ครอบคลุมทัศนคติและพฤติกรรมการแสดงออกด้วย ทั้งนี้เพราะสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายนั้นมีความสัมพันธ์กับสิทธิพลเมือง (civil rights) และสิทธิทางการเมือง (political rights) ของพลเมืองในรัฐนั้น ๆ อาทิ การเข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ ของรัฐ การได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยรัฐ การมีส่วนร่วมแสดงความเห็น มอบข้อเสนอแนะต่อรัฐ การเลือกผู้แทนติดตามตรวจสอบและถอดถอนเปลี่ยนแปลงผู้แทน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมยกร่างกฎหมายบางเรื่องที่สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของตน เป็นต้น นอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐที่พึงมีต่อพลเมืองในรัฐด้วย อาทิ การจัดสรรสวัสดิการแห่งรัฐ การปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและศักยภาพของพลเมือง กระบวนการยุติธรรม อันเป็นไปเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงแห่งรัฐและดำรงไว้ซึ่งหลักสิทธิเสรีภาพแห่งพลเมือง
ปัจจุบันสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายนั้นสามารถได้มาด้วยหลายวิธี ประกอบด้วย
สถานะความเป็นพลเมืองโดยสายเลือด (Descent-based Citizenship) เป็นการมอบสัญชาติโดยยึดหลักสายโลหิต (jus sanguinis) กล่าวคือเป็นการมอบสัญชาติให้แก่พลเมืองโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางครอบครัว หรือพิจารณาจากสัญชาติหรือความเป็นพลเมืองของบิดา มารดา คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเป็นปัจจัยกำหนดในการได้รับสัญชาติ ตามหลักการนี้บุคคลจะสามารถมีสัญชาติได้โดยการสืบเชื้อสายแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เกิดในประเทศนั้นก็ตาม เช่น ในประเทศไทย เด็กที่เกิดในต่างประเทศโดยมีผู้ปกครองชาวไทยอย่างน้อยหนึ่งคนอาจมีสิทธิ์ได้รับสัญชาติไทยโดยกรลงทะเบียนที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแต่ละประเทศอาจมีนโยบายผ่อนปรนหรือเข้มงวดแตกต่างกันออกไปอันเป็นผลมาจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อเฉพาะของประเทศเหล่านั้น
สถานะความเป็นพลเมืองโดยการเกิด (Citizenship by Birth) นับเป็นหลักการหนึ่งของกฎหมายสัญชาติที่มอบสถานะความเป็นพลเมืองแก่บุคคลจากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์หรือยึดหลักดินแดน (jus soli) สถานที่เกิดของแต่ละบุคคล ตามแนวคิดนี้หากบุคคลใดเกิดภายในเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง บุคคลนั้นจะถือเป็นพลเมืองของประเทศนั้นโดยอัตโนมัติโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของผู้ปกครอง
สถานะความเป็นพลเมืองโดยการแปลงสัญชาติ (Naturalization) เป็นกระบวนการทางกฎหมายเพื่อมอบสถานะความเป็นพลเมืองให้แก่ชาวต่างชาติได้กลายเป็นพลเมืองของประเทศที่พวกเขาไม่ได้เกิด หรือก็คือเป็นการได้มาซึ่งสถานะความเป็นพลเมืองแห่งรัฐหลังการเกิด เพื่อให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลที่เป็นพลเมืองโดยกำเนิดของรัฐนั้น ๆ สำหรับข้อกำหนดทั่วไปในการขอแปลงสัญชาติ มีอาทิ ระยะเวลาขั้นต่ำในการพำนักอยู่ในประเทศนั้น หลายประเทศมีข้อกำหนดด้านถิ่นที่อยู่เฉพาะซึ่งผู้สมัครจะต้องปฏิบัติตามก่อนที่จะมีสิทธิได้รับการแปลงสัญชาติ ขณะที่บางประเทศอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น การอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องหรือการปรากฏตัวทางกายภาพ บางประเทศกำหนดให้ผู้สมัครใจขอแปลงสัญชาติต้องแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในภาษาราชการของประเทศและความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการผ่านการทดสอบความสามารถทางภาษาหรือการสอบวิชาพลเมืองนั้น ๆ ก่อน โดยทั่วไปรัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบภูมิหลังเกี่ยวกับผู้สมัครแปลงสัญชาติเพื่อประเมินประวัติอาชญากรรมของผู้ขอแปลงสัญชาติเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการเป็นพลเมืองแห่งรัฐ บางประเทศอาจมีการสัมภาษณ์ภูมิหลังของผู้สมัครถึงเหตุผลในการขอแปลงสัญชาติและความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ ด้วย
กรณีของประเทศไทย พระราชบัญญัติการแปลงสัญชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พ.ร.บ. แปลงชาติ ร.ศ.130 (พ.ศ. 2454) โดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ผู้ที่จะร้องขอแปลงสัญชาติได้จะต้องอยู่ ณ กรุงสยาม ณ เวลาร้องขอ โดยต้องพำนักอยู่ที่สยามไม่ต่ำกว่า 5 ปี มีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด มีความประพฤติดี มีสมบัติพอที่จะเลี้ยงตนเองได้ โดยเมื่อผู้นั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจะต้อง “ถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุสัตย์” จึงสามารถประกาศให้เป็นคนในบังคับสยามได้ ปัจจุบันการแปลงสัญชาติของไทยอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตราที่ 10 ระบุว่า คนต่างด้าวซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนดังต่อไปนี้อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ มีความประพฤติดีไม่มีประวัติอาชญากรรม มีอาชีพเป็นหลักฐานโดยต้องมีอัตรารายได้ต่อเดือนที่แน่นอนตามกฎหมายกำหนด มีหลักฐานการเสียภาษี มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่หากผู้นั้นกระทำความดีเป็นพิเศษต่อไทย ทางราชการซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร อาจได้รับการงดเว้นข้อ (4) และ (5) ตามมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้
กรณีของประเทศไทยการขอแปลงสัญชาติไม่มีการสอบวัดความรู้ (Civic/Citizenship test) แตกต่างออกไปจากบางประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น โดยผู้ประสงค์ขอแปลงสัญชาติสามารถยื่นคำขอไปยังผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และยื่นไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจภูธร กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด คำร้องจะได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะทำงานคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจะต้องเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย จากนั้นจึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
การเป็นพลเมืองโดยการแต่งงาน (Citizenship by Marriage) เป็นแนวคิดทางกฎหมายที่อนุญาตให้บุคคลได้รับสัญชาติของประเทศหนึ่ง ๆ ได้โดยอิงจากความสัมพันธ์ด้านการสมรสกับพลเมืองของประเทศนั้น อย่างไรก็ตาม กฎและขั้นตอนในการเป็นพลเมืองโดยการแต่งงานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศอาจมีข้อกำหนดด้านถิ่นที่อยู่ประกอบกันด้วย หมายความว่าคู่สมรสชาวต่างชาติอาจต้องพำนักอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับสัญชาติ ระยะเวลาการอยู่ร่วมกับคู่สมรสที่แสดงออกถึงความมั่นคงในความสัมพันธ์ บางประเทศอาจพิจารณาการวางแผนการอยู่อาศัยร่วมกัน ในบางประเทศคู่สมรสชาวต่างชาติต้องมีความสามารถทางด้านภาษาราชการและมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประจำชาติ ขณะที่บางประเทศอาจมอบให้แต่สิทธิในการทำงานในรัฐนั้นได้โดยไม่มีกำหนด แต่มิได้มอบสิทธิเช่นเดียวกับการเป็นพลเมือง และไม่ใช่ทุกประเทศที่อนุญาตให้มีการมอบสัญชาติผ่านการสมรส
ในประเทศไทยการแปลงสัญชาติโดยการสมรสนั้นสามารถกระทำได้ตาม มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแนวทางปฏิบัตินั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน ระบุว่าหญิงต่างด้าวทั่วไปที่สามารถถือสัญชาติไทยได้ตามสามีนั้นจะต้องจดทะเบียนสมรสกับชายไทยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามีของผู้ยื่นคำร้องต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน ส่วนหญิงต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยนั้นสามารถยื่นขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้เช่นกัน โดยระเบียบปฏิบัตินั้นแตกต่างออกไปเล็กน้อยตามที่กฎหมายกำหนด
ปัจจุบัน มีแนวคิดเรื่องการขยายหลักการและวิธีการขอสถานะความเป็นพลเมืองออกไปครอบคลุมการทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศนั้น ๆ ด้วย กรณีของประเทศไทยคนต่างด้าวทั่วไปซึ่งกระทำความดีเป็นพิเศษต่อไทย ทางราชการซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร อาจได้รับมอบสัญชาติไทยโดยงดเว้นเงื่อนบางประการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ได้ นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดเรื่องการขอสถานะความเป็นพลเมืองผ่านการลงทุนได้ (Citizenship by Investment) เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่บุคคลสามารถรับสิทธิการเป็นพลเมืองหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศได้โดยการลงทุนจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น ปัจจุบันนี้แนวคิดดังกล่าวมีการประยุกต์ใช้ในหลายประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเป็นพลเมืองโดยการลงทุนก็มีความแตกต่างในแง่ของเกณฑ์คุณสมบัติข้อกำหนดในการลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แต่ละบุคคล เช่น นักลงทุนจะได้รับสัญชาติควบคู่ไปกับสัญชาติบ้านเกิดของตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงได้รับโอกาสทางธุรกิจ และอาจมีโอกาสในการส่งต่อสัญชาติของตนไปยังรุ่นต่อไปได้ในบางประเทศ
คุณลักษณะพลเมือง
นอกจากสถานะความเป็นพลเมืองตามกฎหมายแล้ว ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการเป็นพลเมืองโดยพฤติกรรมก็ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น เนื่องจากสถานะตามกฎหมายไม่อาจรับประกันได้ว่าผู้นั้นจะมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ดีเป็นประโยชน์มากพอและเหมาะสมกับระบอบการเมืองการปกครองของรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพลเมืองได้รับการรับรองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าพลเมืองในระบอบอื่น ในแง่นี้พลเมืองจึงเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากพลเมืองสามารถดึงศักยภาพของตนออกมาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศได้ ชาติบ้านเมืองก็จะมีความเจริญรุดหน้าอย่างมาก
งานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงผู้ที่มุ่งใช้สิทธิเสรีภาพโดยเน้นไปเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตนเท่านั้นแต่พึงต้องแสดงออกอย่างสมดุลระหว่างการแสดงออกตามสิทธิหน้าที่กับการแสดงออกอย่างไม่ละเมิด ด้วยเหตุนี้ คุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มักได้รับการกล่าวถึงจึงเป็นเรื่องของการเคารพ (respect) และความรับผิดชอบ (responsibility) เช่น ในงานเรื่อง Civitas : A framework of civic education (1991) ได้กำหนดให้การเคารพซึ่งกันและกัน การมีวินัย (Self-discipline) รับผิดชอบต่อตนเอง (Individual responsibility) และมีจิตสาธารณะ (Civic-mindedness) นับเป็นคุณลักษณะของพลเมืองที่พึงปรารถนาในประเด็นแรก ๆ ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นกลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในข้อท้าย ๆ
ด้าน Joel Westheimer and Joseph Kahne (2004) ได้แบ่งประเภทของพลเมืองไว้ 3 แบบ ตามระดับการแสดงออกของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยระดับแรกนั้นเป็นคุณลักษณะที่แสดงออกได้ง่ายที่สุดและพึงแสดงออกในฐานะพื้นฐานของการเป็นพลเมือง ก็คือการเป็นผู้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมก่อนที่จะเป็นพลเมืองที่มีการแสดงออกและมีส่วนร่วมในระดับที่สูงขึ้นไป Galson William (1991) ชี้ให้เห็นว่าพลเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้นการมีจริยธรรมของพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเขาแบ่งจริยธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ 4 ประการ ประกอบด้วย
1. จริยธรรมทั่วไป ในการมีความกล้าหาญ ปฏิบัติตามกฎหมายและมีความภักดีต่อชุมชนของตน
2. จริยธรรมทางสังคมในการเป็นผู้มีอิสระและใจกว้าง
3. จริยธรรมทางเศรษฐกิจในการทำงาน สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และ
4. จริยธรรมทางการเมืองในการเคารพสิทธิผู้อื่น เรียกร้องตามความเหมาะสม มีการติดตามตรวจสอบสามารถประเมินผลการดำเนินงานของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยคุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาก็เป็นไปในทิศทางที่พยายามผสมผสานระหว่างความมีวินัย ความรับผิดชอบ และจิตสาธารณะ ดังปรากฎในเกณฑ์การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ระบุคุณลักษณะของพลเมืองไทยอันพึงปรารถนาไว้ 8 ประการ ประกอบด้วย
1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต
3. มีวินัย
4. ใฝ่เรียนรู้
5. อยู่อย่างพอเพียง
6. มุ่งมั่นในการทำงาน
7. รักความเป็นไทย
8. มีจิตสาธารณะ
ขณะที่ในยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ. 2553-2561 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดคุณสมบัติความเป็นพลเมืองของเยาวชนไว้ 6 ประการ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน คือ เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการแสดงออกตามสิทธิและการแสดงออกต่อกันด้วยความเคารพไม่ละเมิด คือ
1. พลเมืองต้องสามารถพึ่งตนเองและรับผิดชอบตนเองได้
2. พลเมืองต้องเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพองบุคคลอื่น
3. เคารพความแตกต่างหลากหลาย มีทักษะในการฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง
4. เคารพหลักความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และเห็นคนเท่าเทียมกัน
5. เคารพกฎหมายและกติกา ไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาและยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งระบุถึงพื้นฐานความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตยไว้ในคู่มือพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย (2558) ดังนี้
1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มองว่าทุกคนเกิดมามีคุณค่าเท่าเทียมกัน มิอาจล่วงละเมิดได้ จึงพึงยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกันของผู้คน
2. เคารพสิทธิ เสรีภาพ กฎหมายและกติกาของสังคม ดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมและหลักนิติรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมิให้เกิดการละเมิด
ขณะที่ สถาบันพระปกเกล้า ได้ทำงานวิจัยเพื่อค้นหาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของพลเมืองไทย ซึ่งสรุปได้ว่าพลเมืองไทยที่พึงปรารถนาควรมีคุณลักษณะอย่างน้อย ๆ 5 ประการประกอบกัน (ศรัณยุ หมั้นทรัพย์, 2556) ประกอบด้วย
1. มีเหตุผล พลเมืองจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักการประชาธิปไตย ยึดมั่นหลักประชาธิปไตย พิจารณาเรื่องราวต่างๆที่ได้รับบนฐานข้อมูลข้อเท็จจริง ยอมรับให้เกียรติต่อความแตกต่าง และสามารถแสดงออกมาได้อย่างมีวุฒิภาวะ
2. มีวินัย ในที่นี้คือพลเมืองจะต้องเป็นผู้ที่สามารถควบคุมความคิดและพฤติกรรมของตนให้ปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมชุมชนที่อยู่อาศัยร่วมกัน ไม่เลือกปฏิบัติกฎระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนหรือผู้ใด เชื่อมั่นและรักษากฎระเบียบ เพื่อให้กลไกของสังคมเดินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. มีความซื่อสัตย์ ในที่นี้คือพลเมืองจะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความไม่จริงใจแก่กัน และผลกระทบจากการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนและกลุ่มตน จนกระทั่งละเมิดจริยธรรมกติกาและข้อตกลงที่ผู้คนในสังคมมีร่วมกัน
4. มีความรับผิดชอบ ในที่นี้คือพลเมืองจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติบทบาทหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายจนสำเร็จด้วยความกระตือรือร้น ไม่ละทิ้งงาน คาดหวังผลลัพธ์ที่ได้ในเชิงบวก และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์จากการกระทำที่เกิดขึ้น
5. มีจิตสาธารณะ ในที่นี้คือพลเมืองจะต้องเป็นผู้ที่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวมจากทุกการกระทำของตน พร้อมที่จะสละประโยชน์บางส่วนเพื่อสาธารณะประโยชน์ ตลอดจน กระตือรือร้น มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
นักวิชาการโดยมากมองไปในทิศทางเดียวกันว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่ประกอบไปด้วย สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบ อาทิ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2559) ระบุว่า พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมีคุณลักษณะอย่างน้อย 6 ประการ คือ รับผิดชอบและพึ่งตนเองได้ เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพหลักความเสมอภาค เคารพกฎกติกา และรับผิดชอบต่อสังคม ด้าน ทิพพาพร ตันติสุนทร (2557) ระบุว่า พลเมืองวิถีประชาธิปไตย จะต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นพลเมืองที่พร้อมจะเสียสละเพื่อส่วนรวม มีชีวิตที่เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ และมีทักษะในการการแก้ไขปัญหาของชุมชน ขณะที่ กิตติศักดิ์ ปรกติ (2555) ชี้ให้เห็นว่า คุณค่าของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การอ้างอิงเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียวแต่ต้องประกอบกับการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายหรือหลักนิติธรรมด้วยเพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการต่าง ๆ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีเหตุผลชอบธรรมและรัฐมีอำนาจอย่างจำกัด ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่ต้องพร้อมปรับปรุงตัวอยู่เสมอ ในแง่นี้พลเมืองที่มีความใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง และยินดีที่จะเจรจาต่อรองประนีประนอมกันอย่างมีเหตุผลบนหลักของความเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่การเน้นใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุดโต่งแต่เป็นการผสมผสานระหว่างการตระหนักและแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมอย่างสมดุลโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ด้วยเหุตนี้ พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องเป็นผู้ที่พึงถึงพร้อมด้วยทัศนคติที่มีความเคารพและยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน พร้อมๆกับมีการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นไว้อย่างเหมาะสมไม่ละเมิดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งอยู่บนหลักฐาน หลักการ อย่างมีวิจารณญาณ ด้วยเหตุกนี้ การศึกษาสำหรับพลเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อดึงศักยภาพของตนออกมาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ ให้สมกับนิยามของพลเมือง ผู้ที่เป็นพละกำลังของประเทศชาติอย่างแท้จริง
การศึกษาสำหรับพลเมือง
อย่างไรก็ตาม การเป็นพลเมือง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พละกำลัง” ให้แก่บ้านเมืองได้อย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการบ่มเพาะให้การศึกษาอย่างเหมาะสม ส่งผลให้แนวคิดเรื่องการศึกษาสำหรับพลเมือง (civic education) เป็นแนวคิดที่ได้รับการกล่าวถึงมานานแล้วนับแต่สมัยกรีกโบราณกว่า 2,000 ปีที่แล้ว เพลโต (Plato) นักปรัชญาการเมืองชาวกรีกชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับพลเมืองไว้ในงานที่ชื่อว่า Laws โดยชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่มเพาะสำนึกภายในให้รู้จักกับความจริง ความดี ความงาม และความเป็นธรรม บ้านเมืองจะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่อย่างยิ่งกับผู้คนที่อยู่ในนครรัฐ ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาที่ดีสู่พลเมือง จึงมีส่วนส่งเสริมต่อการอยู่รอดของนครรัฐและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในนครรัฐได้ (Meyer S.S., 2015) ขณะที่อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวในงานที่ชื่อว่า Politics โดยเขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีได้จะต้องอยู่ภายใต้นครรัฐและร่วมกันทำการเมืองให้ดี พลเมืองไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำกิจการสาธารณะได้ ในแง่นี้พลเมืองจึงพึงได้รับการศึกษาเพื่อฝึกฝนการอยู่ร่วมกันและในการรับมือกับความยากลำบากเพื่อร่วมกันสร้างชีวิตที่ดี (Ernest Barker, 2013) จากข้างต้น แม้คุณลักษณะของพลเมืองที่เพลโตและอริสโตเติลกล่าวถึงนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “ความเป็นพลเมือง” เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นผ่านการศึกษา ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2551; วีระ สมบูรณ์, 2561; ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, 2559)
ทว่าการจัดการศึกษาสำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อสร้างให้ผู้เรียนเกิดสำนึกรับผิดชอบเคารพสิทธิเสรีภาพความหลากหลายและสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองได้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่อาจกระทำได้ผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) นักวิชาการด้านการศึกษาเสนอว่าการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีวิจารณญาณในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ทว่าการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะคุณลักษณะดังกล่าวสู่ผู้เรียนไม่อาจกระทำได้จากการบรรยายในชั้นเรียนแต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยเผชิญหน้ากับความห่วงกังวลอย่างมีสติและรับมือกับปัญหาเหล่านั้น โดยใช้ทักษะข้อมูลและคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล (John Dewey, 1944)
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2555) กล่าวว่าการศึกษาสำหรับพลเมืองนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทัศนคติทักษะและการแสดงออกของผู้คนในสังคมให้มีความพร้อมต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่รองรับเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพื่อสร้างสำนึกพลเมืองประชาธิปไตยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนวิเคราะห์ประสบการณ์ตลอดจนปัญหาต่างๆที่พวกเขาพบเจอในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง โดยนำความรู้และทักษะต่างๆของการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาปรับใช้ในการวิเคราะห์แสวงหาแนวทางหรือข้อเสนอแนะเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาฝึกฝนตนเองในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ด้านทิพย์พาพร ตันติสุนทร (2557) กล่าวในทำนองดียวกันว่าการศึกษาเพื่อสร้างสำนึกพลเมืองเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านการ “พัฒนาคน” ในแง่นี้พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้ที่ยึดหลักประชาธิปไตยสากลในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ เป็นผู้ที่เคารพต่อกฎหมาย สิทธิของทั้งตนเองและผู้อื่น ตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมชุมชนไม่นิ่งดูดายและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสาธารณะประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญการศึกษาสำหรับพลเมืองนั้นไม่ได้จำกัดไว้เพียงในชั้นเรียนหรือเฉพาะนักเรียนเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาตลอดชีวิต (ทิพพาพร ตันติสุนทร, 2556)
จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาสำหรับพลเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตย เพราะมนุษย์คือทรัพยากรสำคัญที่จะร่วมกันประคับประคองให้ประเทศชาติเดินไปในทิศทางที่รุ่งเรืองได้ หากพลเมืองมีความรู้ที่เหมาะสมเป็นความรู้ที่มีประโยชน์และมากพอ ตลอดจนมีสำนึกความห่วงใยบ้านเมือง และยินดีที่จะมีพฤติกรรมในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในรูปแบบต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง เรื่อยไปจนถึงเป็นหูเป็นตาแก่กันและกันในเรื่องต่าง ๆ สามารถที่จะเสียสละประโยชน์บางประการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าและเพื่อความเป็นธรรมได้ ประชาชนและประเทศชาติย่อมรอดพ้นจากภยันตรายต่าง ๆ และมีความรุ่งเรืองได้ ทว่าสำนึกความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้รับการบ่มเพาะผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่เหมาะสม ไม่กดทับ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายและเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดทัศนคติและพฤติกรรม กระทั่งนำไปสู่การมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่อไป
กล่าวโดยสรุป พลเมือง เป็นทั้งสถานะทางกฎหมายและเป็นคำที่มีแนวคิดทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ที่นำมาซึ่งความคาดหวังและบทบาทบางประการของพลเมืองในอันที่จะสนับสนุนต่อระบอบการปกครองของรัฐ ในทางกฎหมาย พลเมือง เป็นสถานะที่รัฐมอบให้แก่คนในสังคมเพื่อรับรองว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกแห่งรัฐและสังคม ซึ่งจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์บางประการที่รัฐจะมอบให้ อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นพลเมืองนั้นก็มาพร้อมกับหน้าที่บางประการที่พลเมืองพึงมีต่อรัฐด้วย โดยพื้นฐานของทุกระบอบการปกครองพลเมืองพึงมีบทบาทในการเคารพปฏิบัติตามกฎหมาย เสียภาษี บำรุงบ้านเมืองด้วยกำลังแรงและกำลังทรัพย์ของตน รวมไปถึงช่วยกันธำรงความยุติธรรม
ทว่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต่างออกไป เนื่องจากพลเมืองในระบอบนี้จะได้รับการรับรองสิทธิเสรีภาพให้สามารถแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงพึงมีคุณลักษณะบางประการที่เพิ่มขึ้นมาในเรื่องของการตระหนักในศักยภาพของตนในการแสดงออกทางการเมืองและร่วมกันกับรัฐปกครองบ้านเมืองผ่านการเลือกตั้ง มอบข้อเสนอแนะทางนโยบายและติดตามตรวจสอบการบริหารงานของผู้แทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่ พร้อมกันนี้ในการแสดงออกของพลเมืองเองก็พึงระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพราะมิฉะนั้นอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งบาดหมางกระทั่งนำไปสู่ความวุ่นวายรุนแรงได้ในเวลาต่อมา พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนกับการเคารพและยอมรับกติกาและความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมไปพร้อมๆกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติไปพร้อมๆกับส่งเสริมคุณภาพชีวิตและระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว
อ้างอิง
กรมการปกครอง, สำนักบริหารการทะเบียน. (ม.ป.ป.) “การได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”. [ออนไลน์] [เข้าถึงเมื่อ 7.11.2566] จากเว็บไซต์ https://www.bora.dopa.go.th/nationclinic/NewHTML/Section10.htm
กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2555) ความสำคัญของพลเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 เรื่องความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย (Citizenship and the Future of Democracy) ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม พ.ศ.2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำนเนินอก กรุงเทพมหานคร
ถวิลวดี บุรีกุล, รัชวดี แสงมหะหมัด และ เออเจนี เมริโอ. (2562). พลเมืองไทย : การสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร. (2557) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง: Civic Education for Thai Society. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา.
ปริญญา เทวนฤมิตรกุล. (2555) “การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) แก้ปัญหาการเมืองไทยโดยสร้างประชาธิปไตยที่คน” ใน เอกสารสรุปการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 13 เรื่อง ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555. หน้า473-496.
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล. (2559) การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 (ปรับปรุงฉบับที่ 5) พ.ศ.2555. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129/ตอนที่ 28 ก/หน้า 1/21 มีนาคม 2555.
มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย. [ออนไลน์] [เข้าถึงเมื่อ 7.11.2566] จากเว็บไซต์ http://www.thaiciviceducation.org/index.php/aboutus/common-principle#p5
รสลิน คัคณางค์,ม.ร.ว. (2530). พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโลภิกขุ.
วิชช์ จีระแพทย์. (2551). “กระแสโลกาพิวัฒน์แทรกซึมการให้สัญชาติ” ใน วารสารรัฐธรรมนูญ. ปีที่ 10 เล่มที่ 30 กันยายน - ธันวาคม พ.ศ. 2551.
สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (2554). “100 ปีแห่งสัญชาติไทย”. ใน วิภาษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 หน้า 16-44. [ออนไลน์] เข้าถึงจาก https://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1478238851.pdf
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2558). คู่มือพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.
ศรัณยุ หมั้นทรัพย์. (2556) การวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรรากฐานประชาธิปไตยในบริบทไทย. กรุงเทพฯ : สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า.
Alexandra R. Harrington. (2010) “Citizens of the World”. In Proceedings of the ASIL Annual Meeting. 2010;104:55-57. doi:10.5305/procannmeetasil.104.0055
Barker R. Citizens. (2001). “Citizens”. In Legitimating Identities: The Self-Presentations of Rulers and Subjects. Cambridge: Cambridge University Press; 2001:106-135.
Center for Civic Education. (1991). Civitas: A framework of civic education. California : Calabasas, p.13.
Douglass R. and Olsthoorn J. (Ed.). (2019). Hobbes's On the Citizen. Cambridge University Press. https://doi.org/10.1017/9781108379892
Ernest Barker. (c1958). The politics of Aristotle. New York, Oxford University Press.
Galson William. (1991). Liberal Purposes: Goods, Virtues, and Diversity in the Liberal State. New York: Cambridge University Press, pp.221-224.
James H. Kuklinski. (2011) Citizens and politics: Perspectives from political psychology. Cambridge University Press.
Joel Westheimer and Joseph Kahne. (2004). “What Kind of Citizen? The Politics of Educating for Democracy”. in American Educational Research Journal Summer 2004, Vol. 41, No. 2, pp. 237–269.
John Dewey. (1944) Democracy and education: An introduction to the philosophy of education. New York : Macmillan.
Klingemann, Hans-Dieter and Fuchs, Dieter (Ed.). (1998). Citizens and the state. Oxford: Oxford University Press.
Kymlicka, W., & Norman, W. (1994). “Return of the Citizen: A Survey of Recent Work on Citizenship Theory”. in Ethics, 104(2), 352–381. http://www.jstor.org/stable/2381582
Meyer S.S. (2015) Plato : Laws 1 and 2. Translated with an Introduction and Commentary by Susan Meyer. Oxford : Oxford University Press.
Passports. “BOI Company” (Business Visa) [Online] [Access 7.11.2023] from website https://passports.io/citizenship/thailand/entrepreneurship/th10
Quinn J. (2019). The Nation, History, and the Making of National Citizens. in Barr R. A., Buckley S-A, O'Cinneide M, eds. Literacy, Language and Reading in Nineteenth-Century Ireland. Liverpool University Press; 2019:53-65.
Sterling P. Lamprecht (Ed.). (1949). De cive : or the citizen by Thomas Hobbes. New York : Appleton-Century-Crofs. Incorporated, (pp.xv.-xxxi).
Tanner RG. (1962). “Ancient History and the Modern Citizen”. in Greece and Rome. Vol. 9, No. 1 (Mar., 1962), pp. 62-66. doi:10.1017/S0017383500021975
index.php?title=หมวดหมู่:การเมืองภาคพลเมือง index.php?title=หมวดหมู่:ว่าด้วยการเมืองภาคพลเมือง index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ