พระราชพิธีฉัตรมงคล (ชาติชาย มุกสง และปริญญา ขุนทอง)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : ดร.ชาติชาย มุกสง และ นายปริญญา ขุนทอง 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชพิธีฉัตรมงคล
       พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมโดยพระปรีชาสามารถได้นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประเทศและประชาชน ในสภาวการณ์เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองประเทศโดยสมบูรณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเครื่องหมายแสดงว่าการดำรงฐานะเป็นกษัตริย์เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ซึ่งฉัตรเป็นราชูปโภคที่สำคัญที่แสดงความเป็นกษัตริย์ และพระราชพิธีฉัตรมงคลก็เป็นการรำลึกถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์จอมกษัตริย์นั่นเอง


“ ฉัตร ” เครื่องแสดงความเป็นกษัตริย์
       พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์  แต่เดิมไม่มีพระราชพิธีเนื่องในโอกาสนี้ มีแต่เพียงพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคในเดือน ๖ พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์  และพระแสงสำคัญประจำรัชกาล ในวาระคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ เศวตฉัตรเป็นสิ่งสำคัญอันสูงสุด เป็นที่เคารพจึงต้องมีการฉลองสมโภชกันเป็นประเพณี ธรรมเนียมก่อนนั้น เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ ถึงเดือน๖ พนักงานข้างหน้าข้างในที่รักษาเครื่องราชูปโภค ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภค ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓  ทรงมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ถือเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และตรงกับวันที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรจะได้มีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลซึ่งพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล


ขนบประเพณี พระราชพิธีฉัตรมงคลในพระราชพิธีสิบสองเดือน
       เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จประทับภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญ เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ จึงมีพระราชพิธีฉัตรมงคลตามแบบโบราณราชประเพณี ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคลไว้ว่า แต่เดิมเมื่อถึงเดือนอันเป็นเวลาหลังจากเปลี่ยนขึ้นปีใหม่ตามคติกาลโบราณ พนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภค รักษาตำแหน่งหน้าที่ พอถึงสมัยรัชกาลที่_๔ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งปวงซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมถือวันนั้นเป็นนักขัตฤกษ์มงคลกาล และโดยเป็นวันบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่๔ เฉพาะตรงกับสมัยเจ้าพนักงานสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงได้ทำการพระราชกุศล และสมโภชเป็นพิธีหลวง เรียกว่า ฉัตรมงคล พอมาถึงสมัยรัชกาลที่๕ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือน ๑๒ ในระยะแรกยังคงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและสมโภชเครื่องราชูปโภชในเดือน ๖ ตามที่เคยมีมาในรัชกาลก่อน เพราะว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ยังเข้าใจว่าการพระราชกุศลดังกล่าวเป็นการสมโภชพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อรัชกาลที่๕ทรงสร้างตราจุลจอมเกล้าแล้ว จึงได้เปลี่ยนการประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลไปในเดือน๑๒ และทรงกระทำตามตามแบบอย่างในแผ่นดินรัชกาลที่๔ คือ มีพระราชพิธี๓วัน มีพิธีสงฆ์สมโภช เวียนเทียนเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงประจำรัชกาล ทรงเพิ่มเติมให้อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ทหารบกและเรือยิงสลุต และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ พอถึงสมัยรัชกาลที่๖ พระราชพิธีเหมือนเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่๕ แต่เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุปทานแด่พระบูรพมหากษัตริยาธิราชขึ้นทำให้ต่อมาพระราชพิธีฉัตรมงคลในสมัยรัชกาลต่อๆมา ก็ได้อาศัยแนวทางดังกล่าว และทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกตลอดจนมาถึงปัจจุบัน


พระมหากษัตริย์ประมุขของสังคม
       พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นวันที่ระลึกถึงวันบรมราชาภิเษก เพราะเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยเป็นพิธีการแสดงถึงการยอมรับนับถือต่อประมุขของสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชาติ ไทยเคยมีพิธีรับรองฐานะหรือต้อนรับ ความเป็นประมุขของสังคมอย่างเป็นกิจจะลักษณะมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัยที่ปรากฏในหลักฐานศิลาจารึกสมัยสุโขทัย จนสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงตั้งกรรมการประกอบด้วยผู้รู้แบบราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยามีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ฐานะกษัตริย์ซึ่งเดิมยึดถือเป็นพ่อเมืองผู้ปกครองประชาชนประดุจพ่อปกครองลูก ต่อมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญจากอาณาจักรทวารวดีพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม เป็นธรรมิกราชเหมือนพระเจ้าสมมติราชแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เมื่อเอาลัทธิเทวราชของเขมรมาใช้ กษัตริย์นั้นเป็นอวตารของพระผู้เป็นเจ้า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเริ่มด้วยการที่พราหมณ์จะสาธยายมนต์ เชิญพระผู้เป็นเจ้ามาสู่กษัตริย์ให้กษัตริย์แต่งตัวเหมือนกับชุดพระอิศวร ลัทธิเทวราชของเขมรนั้นติดอยู่เพียงแค่เปลือกนอกโดยจิตใจของคนไทยยอมรับแต่เรื่องเหล่านี้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศเท่านั้น คือกษัตริย์ที่ยังไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกจะไม่ใช้คำว่า พระบาท นำหน้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า พระบรมราชโองการ และที่สำคัญไม่มีการใช้นพปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว ๙ ชั้น ต่อมารัชกาลที่๔ ทรงดำริว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลองจึงทรงเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นเนื่องจากธรรมเนียมใหม่นี้อธิบายให้ใครฟังก็ไม่มีใครเข้าใจ เผอิญวันนั้นตรงกับวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัยอะไร


ฉัตรมงคล
   พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชการที่ 9 กำหนดเป็น๓วันคือวันที่๓พฤษภาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ซึ่งกระทำทุกครั้งก่อนเริ่มพระราชพิธี แสดงถึงความเคารพนับถือและรำลึกถึงบรรพบุรุษอันเป็นวัฒนธรรมอันดีงานของชาติไทย เชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพกษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสีทุกพระองค์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารของทุกพระองค์ขึ้นในพระที่นั่งบุษบกมาลา ผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีนี้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ รุ่งขึ้นวันที่๔ พฤษภาคมเริ่มพระราชพธีฉัตรมงคลเจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องราชกกุธัณฑ์ขึ้นพระแท่นใต้พระมหานพปฎลเศวตฉัตร พระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีคล้ายวันที่ทรงรับนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระมหามงกุฎในการบรมราชาภิเษก ตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตอนเย็นมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแล้วทรงเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและถวายพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ปราสาทเทพบิดรเป็นการเสร็จพระราชพิธี
พลังแห่งแผ่นดิน
       พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมโดยพระปรีชาสามารถได้นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประเทศและประชาชน ขจัดปัดเป่าทุกข์ยากและความเดือดร้อน ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เมื่อประเทศเกิดภาวะคับขันเนื่องจากความผันผวนทางการเมืองพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพได้แผ่ปกคุ้มครองขจัดภัยให้ประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติ ในพระราชพิธีฉัตรมงคลนี้เป็นการสำคัญคล้ายวันถือน้ำพิพัฒน์สัจจาอีกด้วยแสดงถึงความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์สร้างความยำเกรงให้เหล่าขุนนางและข้าราชการ
      ดังนั้น เมื่อถึงพระราชพิธีฉัตรมงคล เฉลิมสิริราชสมบัติจึงเป็นศุภวารอันควรที่ประชาชนชาวไทยทั่วหน้าได้พร้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประชาชนถวายพระพรชัยมงคลเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้าของชาวไทย ให้ทรงพระเกษมสำราญ ยั่งยืนในราชสมบัติ พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล และเป็นฉัตรที่เป็นมงคลคุ้มครองประชาชนทั่วทุกแห่งเหมือนเป็นฉัตรเกล้าของประชาชนตลอดชั่วกาลนาน


บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ.  (๒๕๑๖).  พระราชพิธีสิบสองเดือน.  พิมพ์ครั้งที่๑๔.      
       กรุงเทพฯ:รุ่งวัฒนา
วรพร ภู่พงศ์พันธ์.  (๒๕๕๕).  สถาบันกษัตริย์ในกฎมณเทียรบาล.  พิมพ์ครั้งที่๑.  นครปฐม: 
       มหาวิทยาลัยศิลปากร.
นิพนธ์  สุขสวัสดิ์.  (๒๕๒๙).  วรรณคดีเกี่ยวกับขนบประเพณีไทย.  พิมพ์ครั้งที่๒.  กรุงเทพมหานคร:
       เนติกุล.
เบญจมาศ  พลอินทร์.  (๒๕๒๓).  วรรณคดีขนบประเพณี พระราชพิธีสิบสองเดือน.  พิมพ์ครั้งแรก.  
       กรุงเทพมหานคร:โอเดียนสโตร์.
โดม ไกรปกรณ์.  (๒๕๔๒).  ตำราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๕๓.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ศศ.ม,) (ประวัติศาสตร์).  คณะศิลปะศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.