พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2523
ผู้เรียบเรียง อลิศรา พรหมโชติชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 เป็นกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2501 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขข้อห้ามและบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยแต่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวมีโอกาสได้รับสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น รวมทั้งยังได้แก้ไขผู้ต้องห้ามไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มเติม การลงคะแนนเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง และการแก้ไขระยะเวลาการรักษาบัตรเลือกตั้งและหีบบัตรเลือกตั้ง ซึ่งสามารถพิจารณาการแก้ไขดังกล่าวได้ดังนี้
การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาหาเสียงการเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา การหาเสียงหรือกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความโปร่งใส ดังจะกล่าวได้ดังนี้[1]
(1) กฎหมายใหม่ยกเลิกวิธีการโฆษณาบางประการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2503 กล่าวคือ กฎหมายฉบับใหม่ยกเลิกการห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาแก่ประชาชนด้วยการปิดแผ่นประกาศ หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความหรือภาพลง ณ ที่ใดๆ ในที่สาธารณะ หรือที่รั้วกำแพง ผนังอาคาร หรือต้นไม้ด้านที่ติดกันที่สาธารณะ หรือด้วยการทิ้งหรือโปรยแผ่นประกาศใดๆ หรือกล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับใหม่ได้เปิดช่องให้บุคคลใดสามารถโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์แก่ประชาชนสิ่งพิมพ์ได้ ไม่ว่าจะด้วยการปิดแผ่นประกาศหรือภาพใดๆ ในที่สาธารณะ และให้
(2) การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งจะต้องไม่กระทำโดยวิธีการทา พ่น หรือระบายสีภาพหรือข้อความใดๆ บนรั้ว กำแพง ผนังอาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการหรือในบริเวณที่มีป้ายห้ามปิดประกาศบอกไว้ และในกรณีที่มีการฝ่าฝืนตามข้อบังคับข้างต้น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถลบ หรือล้างข้อความ ภาพ หรือรูปรอยดังกล่าวได้
(3) ในกรณีที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีอำนาจดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำร้องขอจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้น นอกจากนี้ยังได้ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำสิ่งพิมพ์มาโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของผู้สมัครภายในที่เลือกตั้งด้วย
(4) ห้ามมีการโฆษณาไม่ว่าโดยวิธีใดที่จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือทำการใด ๆ ที่จะเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การเลือกตั้งนับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
(5)ห้ามมีกิจกรรมที่จัดให้มีการเล่นการพนันว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดแพ้หรือชนะ หรือได้คะแนนเท่าใดและได้รับเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร
การแก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 ได้เพิ่มและแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางประการ[2] ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง
(3) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์วันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งยังบังคับใช้เหมือนกฎหมายฉบับก่อนหน้า
(4) กรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว จะต้องมีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- (4.1) สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งขณะนั้นการศึกษาจะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 6[3] ซึ่งนับว่าเป็นการลดระดับคุณสมบัติทางการศึกษาหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการขยายสิทธิให้แก่ประชาชนที่มีวุฒิการศึกษาไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับก่อนหน้ากำหนดไว้ว่าให้บุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวนั้นจำเป็นต้องมีระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือความรู้เทียบเท่า[4]
- (4.2) รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ซึ่งยังคงใช้บังคับเหมือนฉบับก่อนหน้า
- (4.3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการสภาตำบล กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ตัดสิทธิของบุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเป็นหรือเคยเป็นแพทย์ประจำตำบลออกไป ขณะเดียวกันก็ให้สิทธิแก่บุคคลที่มีบิดาเป็นต่างด้าวซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
- (4.4) บุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือคู่สมรส ได้เสียภาษีหรือเคยเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีโรงเรือน และที่ดินหรือบำรุงท้องที่ตามกฎหมาย
- (4.5) มีภูมิลำเนาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยยังคงใช้บังคับเหมือนฉบับก่อนหน้า
(5) กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ขยายคำจำกัดความของบุคคลต้องห้ามซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยสำหรับบุคคลที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลนั้นต้องห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงบุคคลที่ต้องคุมขังอยู่โดยคำสั่งอื่นๆ ที่ชอบโดยกฎหมายด้วย
การแก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 ได้แก้ไขมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ซึ่งสามารถพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับใหม่ได้ดังนี้[5]
(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมได้กำหนดอายุของผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(3) ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือตามกฎหมายว่าด้วยบำรุงท้องที่ให้กับเทศบาลนั้นในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัคร 1 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติให้แคบลง กล่าวคือ ฉบับก่อนหน้าได้บังคับให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจะต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันนับตั้งแต่ได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี[6] แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดให้ต้องมีภูมิลำเนาเฉพาะในเขตเทศบาลนั้นๆ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
นอกจากนั้น กฎหมายฉบับใหม่ยังได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในกรณีบุคคลที่มีสัญญาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว โดยยกเลิกมาตรา 20 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดได้ดังนี้[7]
(4) ผู้ที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว จะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับบุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้แก่ [8]
- (4.1) สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งขณะนั้นการศึกษาจะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
- (4.2) รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ซึ่งยังคงใช้บังคับเหมือนฉบับก่อนหน้า
- (4.3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการสภาตำบล กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน
- (4.4) บุคคลที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือคู่สมรส ได้เสียภาษีหรือเคยเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีโรงเรือน และที่ดินหรือบำรุงท้องที่ตามกฎหมาย
- (4.5) มีภูมิลำเนาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี
นอกเหนือจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ผู้มีสัญชาติไทยที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว ยังต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย
- เป็นผู้ที่ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนตามเวลากำหนด และสอบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้เทียบเท่าไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศตามหลักสูตร จนเป็นผู้สอบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
การแก้ไขลักษณะของบุคคลต้องห้ามซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 ได้แก้ไขคุณสมบัติของบุคคลต้องห้ามที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งสามารถพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ได้ใช้บังคับก่อนหน้า ดังนี้
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517 | พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 |
---|---|
1.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ | -ยังคงบังคับใช้- |
2.ไม่เป็นผู้ตาบอดทั้งสองข้าง | -ยังคงบังคับใช้- |
3.ไม่เป็นบุคคลโดยล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นคดี | -ยังคงบังคับใช้- |
4.ไม่เป็นวัณโรควัณโรคระยะอันตราย หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง | -ยังคงบังคับใช้- |
5.ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดอันกระทำโดยประมาท | 5.ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท |
6.ไม่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออก ซึ่งเกิดจากการทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยมิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งถูกไล่ออก หรือปลดออก หรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันที่ถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างแล้วแต่กรณี ถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 7 ปี | 6.ไม่เคยเป็นข้าราชการซึ่งถูกไล่ออก หรือปลดออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเคยเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งถูกไล่ออก หรือปลดออกหรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ยังไม่ครบ 7 ปี นับแต่วันที่ถูกไล่ ปลดออก หรือเลิกจ้าง แล้วแต่กรณี จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง |
7.ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาจังหวัด หรือกรรมการสุขาภิบาล | 7.ไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด กรรมการสุขาภิบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล |
-ไม่มี- | 8.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช และไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง[9] |
-ไม่มี- | 9.ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งนั้น[10] |
การแก้ไขจำนวนกรรมการตรวจลงคะแนน
กฎหมายฉบับเดิมมีบทบัญญัติให้แต่งตั้งกรรมการตรวจคะแนนประจำหน่วยลงคะแนนได้แห่งละ 3 คน กรรมการสำรองไม่เกิน 3 คน และพนักงานคะแนนได้ไม่น้อยกว่า 1 คน[11] ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดไว้ว่า ให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง 1 คน กรรมการตรวจลงคะแนน 7 คน และเจ้าหน้าที่คะแนนอย่างน้อย 1 คนประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งยังได้มีบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนและเจ้าหน้าที่คะแนนการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
นอกจากนั้น กฎหมายฉบับใหม่ได้บังคับให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งจากข้าราชการหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้[12] ซึ่งกฎหมายฉบับก่อนหน้าไม่ได้ระบุไว้ แต่กำหนดไว้เพียงว่าให้กรรมการตรวจคะแนน และเจ้าหน้าที่คะแนนแต่งตั้งจากผู้เลือกมีสิทธิเลือกตั้งที่มีความประพฤติดี และสามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยได้ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ก็ยังคงกำหนดไว้เช่นเดิม นอกจากนั้นกฎหมายฉบับใหม่ยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ไม่สามารถเป็นกรรมการตรวจคะแนนได้ เพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเดิม กล่าวคือ กฎหมายฉบับใหม่ห้ามไม่ให้แต่งตั้งข้าราชการ นายกเทศมนตรี เจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้สมัคร ตัวแทนผู้สมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตร กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการตรวจคะแนน[13]
สำหรับการตรวจคะแนนนั้น ก่อนเวลาเปิดการลงคะแนน 30 นาที กฎหมายฉบับเดิมได้กำหนดไว้ว่าหากกรรมการตรวจลงคะแนนยังไม่ได้ไปถึงที่ลงคะแนนหรือมีเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้กรรมการสำรองทำหน้าที่แทนกรรมการตรวจลงคะแนน[14] ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขโดยกำหนดให้กรรมการตรวจคะแนนเลือกกรรมการตรวจคะแนนคนอื่นเป็นประธานไปพลางก่อน จนกว่าประธานที่ได้เลือกไว้แล้วจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
การแก้ไขการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2523 ได้แก้ไขการจัดทำประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง โดยกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ เมื่อเทศบาลใดประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเลือกตั้งใดแล้ว ให้เทศบาลจัดทำประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งไว้ ณ สำนักงานเทศบาล ในที่สาธารณะที่เห็นได้ง่าย และในที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน[15] อีกทั้ง กฎหมายใหม่ยังได้ยกเลิกการบังคับว่าจะต้องทำประกาศไม่น้อยกว่า 4 แห่งในหน่วยลงคะแนนนั้น และไม่บังคับให้เทศบาลต้องมอบบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แก่พนักงานคะแนนก่อนการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการตรวจคะแนน[16] นอกจากนั้นยังได้แก้ไขการคัดรายชื่อจากเดิมที่ให้คัดรายชื่อจากทะเบียนผู้เลือกตั้งที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้านั้นและได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยเทศบาลหรือนายอำเภอแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขให้คัดรายชื่อผู้เลือกตั้งจากทะเบียนบ้าน โดยให้การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเป็นหน้าที่ของเทศบาล
สำหรับกระบวนการจัดทำบัญชีรายชื่อจากทะเบียนบ้าน หากพบว่ามีผู้ที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของเทศบาลทำการตรวจสอบว่าบุคคลนั้นเป็นผู้เลือกตั้งหรือไม่ ถ้าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และคัดชื่อลงในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง อีกทั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง จึงกำหนดให้เทศบาลจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีเลือกตั้งไว้เป็นประจำ และแก้ไขให้ถูกต้องทุกปี และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิตรวจดูและขอยื่นคำร้องแก้ไขให้ถูกต้องได้ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องไปสอบถามบุคคลดังกล่าวเพื่อความถูกต้อง ก็ให้เทศบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามบุคคลนั้น ณ บ้านที่ปรากฎตามทะเบียนบ้าน[17]
การลงคะแนนเลือกตั้ง
กฎหมายฉบับก่อนหน้าได้กำหนดเวลาในวันเลือกตั้ง โดยให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.[18] ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดเวลาการลงคะแนนในวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น.[19]
นอกจากนั้น กฎหมายฉบับใหม่ยังได้กำหนดให้ผู้เลือกตั้งที่จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนโดยแสดงบัตรประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องแสดงบัตรประชาชน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้เลือกตั้งคนใดเป็นบุคคลไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายต้องแสดงหลักฐานอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงต่อกรรมการตรวจคะแนน ซึ่งกฎกระทรวงได้กำหนดให้ผู้เลือกตั้งที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย ให้แสดงหลักฐานดังต่อไปนี้[20]
1.บัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาล
2.บัตรสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือกรรมการสุขาภิบาล
3.บัตรประจำตัวทหารกองประจำการ หรือตำรวจกองประจำการ
4.บัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐ
5.บัตรประจำตัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
6.บัตรประจำตัวกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
7.เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้เลือกตั้งได้ที่ไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายและไม่มีบัตรตามรายละเอียดข้างต้น จะต้องใช้หลักฐานอื่นที่ราชการออกให้เพื่อการเลือกตั้ง ทั้งนี้ การแสดงบัตรประชาชนหรือแสดงหลักฐานอื่น ตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง และเมื่อกรรมการตรวจคะแนนตรวจสอบถูกต้องแล้ว ก็ให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดังๆ ถ้าไม่มีผู้เลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือตัวแทนผู้สมัครทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง โดยให้จดหมายเลขของบัตรประชาชนและสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชน แต่ในกรณีผู้เลือกตั้งใช้ใบรับคำขอมีบัตรหรือเปลี่ยนบัตรใหม่และกรณีที่ผู้เลือกตั้งที่เป็นบุคคลไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้วได้แสดงหลักฐานอื่นๆ ให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลงในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเป็นหลักฐานเพิ่มขึ้น แล้วให้กรรมการตรวจคะแนนมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นไปลงคะแนน อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ทักท้วง หรือกรรมการตรวจคะแนนสงสัยว่าผู้เลือกตั้งที่มาแสดงตนนั้นไม่ได้มีชื่อในบัญชีผู้เลือกตั้ง ให้คณะกรรมการตรวจคะแนนสามารถสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยว่าไม่มีสิทธิลงคะแนน ให้คณะกรรมการตรวจคะแนนทำบันทึกคำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อไว้ด้วย อีกทั้ง กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า บัตรประจำตัวในที่นี้ หมายความรวมถึงบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุแล้วด้วย[21]
การแก้ไขระยะเวลาการเก็บรักษาหีบเลือกตั้ง
เดิมในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 ได้กำหนดให้เทศบาลรักษาหีบบัตรเลือกตั้งไว้เป็นเวลา 1 ปี นับจากวันเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งและยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ให้เก็บไว้ต่อไปจนกว่าจะมีการพิจารณาเสร็จสิ้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วก็ให้เปิดหีบบัตรและทำลายเอกสารนั้นๆ เสีย เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่น[22] แต่ในกฎหมายใหม่ได้แก้ไขระยะเวลาและเงื่อนไขการเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งและหีบบัตรเลือกตั้งไว้ว่า เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เทศบาลจะทำลายบัตรเลือกตั้งและเอกสารที่เก็บอยู่ในหีบเลือกตั้งนั้นได้พ้นระยะเวลาคัดค้านการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่นี้แล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน และในกรณีที่มีการคัดค้านในเขตเลือกตั้งใด ให้เทศบาลเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าคดีจะถึงที่สุด[23]
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อห้ามและบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
กฎหมายเดิมได้มีข้อห้ามว่ากรณีที่ผู้สมัครหรือผู้ใดให้หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเจตนาจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครเลือกตั้งคนอื่น หรือเจตนาจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดก็ตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 8 ปี [24] ในกฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขข้อห้ามและบทกำหนดโทษใหม่ให้มีความชัดเจนและเพิ่มบทกำหนดโทษมากขึ้น กล่าวคือ เมื่อมีประกาศให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเลือกใดจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้ใดที่จูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครคนใด ซึ่งกระทำการดังต่อไปนี้ ให้มีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 8 ปี การกระทำดังกล่าว ได้แก่
(1) จัดทำให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดก็ตาม
(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรืออ้อมแก่สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา หรือสถานสงเคราะห์อื่นใด
(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่างๆ
(4) ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคล ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา หรือสถาบันอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ก็ตาม
(5) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใดก็ตามที่มีเจตนาจูงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดก็ตาม
อีกทั้งยังได้ยกเลิกการกระทำความผิดที่กฎหมายฉบับเดิมได้กำหนดไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาใดๆ ภายในปริมณฑล 30 เมตรจากที่ลงคะแนน และห้ามไม่ให้ใช้เครื่องเปล่งเสียงหรือทำเสียงอื่นใดที่จะรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การเลือกตั้ง อันมีบทกำหนดโทษไว้ว่าให้ปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น[25] กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดต่อไปนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำความผิดดังกล่าว ได้แก่
(1)การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่กระทำโดยการทา พ่น ระบายสีข้อความ ภาพ หรือรูปรอยต่างๆ ที่รั้ว กำแพง ผนังอาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ หรือทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นของทางราชการ หรือในที่ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ ทำป้ายประกาศไว้ว่าห้ามปิดประกาศ
(2)การปิดประกาศโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งในสถานที่ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้กำหนดไว้เพื่อการปิดประกาศโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไว้
(3)การนำสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นมาโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของผู้สมัครภายในที่เลือกตั้ง
(4)การโฆษณาหรือขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งนับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
(5)การเล่น พนันขันต่อว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดแพ้หรือชนะ หรือได้คะแนนเท่าใดและจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523 ยังได้ยกเลิกมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511 กล่าวคือ การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเทศบาลที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่5) พุทธศักราช 2511 นั้นให้ยกเลิกการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายฉบับก่อนหน้านั้นทั้งหมด รวมไปถึงให้ยกเลิกมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511 ที่กำหนดว่าให้บรรดาสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งก่อนหน้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511นั้น เป็นสมาชิกจนกว่าจะต้นจากสมาชิกภาพ[26]
ที่มา
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 94, ตอนที่ 70, วันที่ 2 สิงหาคม 2520.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2501, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 19 วันที่ 4 มีนาคม 2501
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 57, ตอนที่ 33, วันที่ 2 มีนาคม 2523
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56, วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 57, ตอนที่ 33, วันที่ 2 มีนาคม 2523, มาตรา 6
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 8, หน้า 23-24.
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 94, ตอนที่ 70, วันที่ 2 สิงหาคม 2520.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517, มาตรา 5
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 57, ตอนที่ 33, วันที่ 2 มีนาคม 2523, หน้า 25-26, มาตรา 13
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517, หน้า 426, มาตรา 5
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, มาตรา 14
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 26-27, มาตรา 8
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, หน้า 27-28, มาตรา 16
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 19 วันที่ 4 มีนาคม 2501,หน้า 66-67, มาตรา 11.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง,หน้า 29, มาตรา 18.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56, วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482, หน้า1650, มาตรา 32.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, หน้า30-31, มาตรา 20.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, เพิ่งอ้าง, หน้า 1651, มาตรา 35-36.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, หน้า 30,มาตรา 20
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, เพิ่งอ้าง, หน้า 1655, มาตรา 43
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, หน้า32, มาตรา 22
- ↑ กฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ออกตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 96, ตอนที่ 21, หน้า 11-12, ข้อ 12
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง, หน้า 32, มาตรา 47
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, เพิ่งอ้าง, หน้า 1661, มาตรา 56.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง,หน้า 33-34, มาตรา 24.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, เพิ่งอ้าง, หน้า 1665, มาตรา 64
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482, เพิ่งอ้าง, หน้า 1669, มาตรา 76
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 8) พุทธศักราช 2523, เพิ่งอ้าง,มาตรา 16-17.