พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง อลิศรา พรหมโชติชัย


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511[1] เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับที่ประกาศใช้ก่อนหน้า อันได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2496 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 ซึ่งมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ สำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือเป็นผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขคุณสมบัติโดยละเอียดเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะมีสิทธิเลือกตั้งได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(1) เดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้ขยายการศึกษาขั้นต่ำในการที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ โดยจะต้องสอบไล่ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3

(2) จะต้องรับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ซึ่งกฎหมายฉบับก่อนหน้ากำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะต้องได้รับราชการทหารเท่านั้น

(3) ต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการเมืองดังเช่นกฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้ และเพิ่มเติมตำแหน่งที่อาจเคยรับราชการการเมืองจากเดิมไว้ ดังนี้ สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

(4) กฎหมายฉบับนี้ได้ให้สิทธิแก่คนตาบอดให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้

การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ดังนี้

(1) กรณีผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย เดิมกฎหมายฉบับก่อนหน้าได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง[2] ในกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดว่าผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง[3]

(2) กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือประโยคประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งในกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ในกรณีผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด แต่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ในเฉพาะกรณีผู้มีสัญชาติไทยที่บิดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น[4]

(3) กฎหมายฉบับเดิมได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้เสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีเงินได้ หรือภาษีบำรุงท้องที่หรือเป็นเจ้าบ้านในเขตเทศบาลตามประมวลรัษฎากร แต่ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้กำหนดเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเป็นผู้เสียภาษีตามที่กฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้แล้วในปีที่สมัครหรือปีก่อนที่สมัคร 1 ปี แต่ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล อาจมีภูมิลำเนาในเขตเทศบาลเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 6 เดือนด้วย[5]

(4) เฉพาะในกรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว และบุคคลผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะเป็นผู้สมัครได้จะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 นับเป็นการขยายสิทธิให้แก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวที่มีความรู้ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งกฎหมายเดิมได้กำหนดให้เฉพาะว่าต้องเป็นที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น และจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ด้วย[6]

• รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
• เคยเป็นข้าราชการหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นโทขึ้นไป
• เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล

(5) สำหรับลักษณะต้องห้ามซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 สามารถพิจารณาได้จากตารางเปรียบเทียบ ดังนี้

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4)

พ.ศ.2501

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5)

พ.ศ.2511 [7]

1.ไม่เป็นบุคคลที่วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ -ยกเลิก-
2.ไม่เป็นบุคคลหูหนวกทั้งสองข้างและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยหรือตาบอดทั้งสองข้าง 2.ไม่เป็นบุคคลตาบอดทั้งสองข้าง
3.ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช หรือผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง -ยกเลิก-
4.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ 4.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
5.ไม่เป็นบุคคลผู้ล้มละลายที่ศาลยังไม่สั่งให้พ้นคดี 5.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
6.ไม่เป็นบุคคลซึ่งเป็นโรคเรื้อนและวัณโรคระยะอันตราย หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง 6.ไม่เป็นโรคเรื้อน วัณโรคระยะอันตราย หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
7.ไม่เป็นผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และพ้นโทษไปถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 10 ปี หรือผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ทั้งนี้ยกเว้นกรณีความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท 7.ไม่เป็นบุคคลเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
8.ไม่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออกจากตำแหน่งเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยมิได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันที่ออกจากตำแหน่งถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 5 ปี 8.ไม่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออก เพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยมิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างแล้วแต่กรณี ถึงวันที่สมัครรับเลือกตั้งนั้นยังไม่ครบ 5 ปี
9.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาล ยกเว้นจะเคยเป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกเทศมนตรี หรือเทศมนตรี หรือออกจากตำแหน่งข้าราชการนานเกินกว่า 6 เดือนนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง -ยกเลิก-
10.ไม่เป็นข้าราชการทหารหรือตำรวจที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร -ยกเลิก-

การรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้เปลี่ยนแปลงใบสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล โดยไม่ต้องมีคำรับรองว่า “ผู้สมัครมีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ” ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 และกำหนดให้ยื่นใบสมัครพร้อมด้วยเงินประกันค่าสมัคร 3,000 บาทสำหรับเทศบาลนคร เงินประกันค่าสมัคร 2,000 บาทสำหรับเทศบาลเมือง และเงินประกันค่าสมัคร 1,000 บาทสำหรับเทศบาลตำบล และเมื่อเสร็จการเลือกตั้งแล้ว ให้เทศบาลคืนเงินประกันให้แก่ผู้สมัคร เว้นแต่ผู้สมัครไม่ได้รับการเลือกตั้งและไม่ได้คะแนนเลือกตั้งถึงร้อยละสิบของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือถ้าผู้สมัครถอนการสมัครเสียเอง ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นได้ยินยอมให้เงินประกันตกเป็นของเทศบาล [8]

การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

เดิมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2582 ได้กำหนดให้กรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 1,500 คน ให้จัดแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นออกเป็นหน่วยลงคะแนน โดยให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยไม่เกิน 1,500 คน พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511 ได้เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยกำหนดให้หน่วยเลือกตั้งหนึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินกว่า 1,000 คน แต่หากการแยกเป็นอีกหน่วยลงคะแนนหนึ่ง จะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง แม้ว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเกิดกว่า 1,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000 คน ก็ให้รวมเป็นหน่วยลงคะแนนเดียวกันได้[9]

บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้ยกเลิกการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิมที่เคยจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 ได้กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในขณะนั้นได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2499 ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้ยกเลิกการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 และกำหนดให้เทศบาลจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยอนุโลมตามทะเบียนผู้เลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน[10] ซึ่งในระหว่างนั้นได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ.2511

นอกจากนั้น ในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ยังได้กำหนดไว้ว่า หากเทศบาลใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลก่อนวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับนี้ ให้ใช้พระราชบัญญัติการเลือกสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับก่อนหน้า ซึ่งประกอบด้วย พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2500 ในการใช้บังคับดำเนินการเลือกตั้งดังกล่าว อีกทั้งในมาตรา 17 ยังให้บรรดาสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับการเลือกตั้งก่อนวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับนี้ เป็นสมาชิกสภาเทศบาลจนกว่าจะออกตามวาระ หรือพ้นจากสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่น[11]

ส่วนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้ดำเนินการเลือกตั้งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้กฎหมายที่ประกาศใช้ก่อนหน้า ได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลผู้แทนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ.2499 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2500[12]

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 85 ตอนที่ 108 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2511, หน้า 833 – 845.
  2. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2499, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 73 ตอนที่ 21, วันที่ 13 มีนาคม 2499
  3. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511, อ้างแล้ว, หน้า 838, มาตรา 9.
  4. เพิ่งอ้าง.
  5. เพิ่งอ้าง.
  6. เพิ่งอ้าง.
  7. เพิ่งอ้าง, หน้า 840, มาตรา 12
  8. เพิ่งอ้าง, หน้า 841-842, มาตรา 13
  9. เพิ่งอ้าง, หน้า 842-843, มาตรา 14
  10. เพิ่งอ้าง, หน้า 843, มาตรา 15
  11. เพิ่งอ้าง,หน้า 843-844, มาตรา 16-17
  12. เพิ่งอ้าง, หน้า 844 – 845, มาตรา 18