พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2523
ผู้เรียบเรียง อลงกรณ์ อรรคแสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2523
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523 มีสาระสำคัญส่วนใหญ่อยู่ที่วิธีปฏิบัติหรือดำเนินการในการจัดการเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยสรุป มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ [1]
ลำดับ | พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดฉบับก่อนหน้า | พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523 |
---|---|---|
1 | -ไม่มี- | การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งต้องไม่กระทำโดยวิธีการทา พ่น หรือระบายสีซึ่งมีข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ณ ที่รั้ว กำแพง ผนังอาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ บรรดาซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ หรือ ณ บริเวณที่เจ้าของหรือผู้ครองครองทรัพย์สินทำป้ายห้ามปิดประกาศ และต้องไม่กระทำโดยวิธีปิดประกาศ ณ ทรัพย์สินดังกล่าวของทางราชการที่อยู่ในเขตเทศบาลหรือสุขาภิบาล หรือบริเวณที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินทำป้ายห้ามปิดประกาศไว้ [2] |
2 | -ไม่มี- | การห้ามมาให้มีสิ่งพิมพ์ แผ่นประกาศ หรือสิ่งโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งในที่เลือกตั้ง [3] (หน่วยเลือกตั้ง) |
3 | -ไม่มี- | นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนการเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาไม่ว่าวิธีใดอันเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือทำด้วยประการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การเลือกตั้ง[4] |
4 | -ไม่มี- | นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนการเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจกหรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง [5] |
5 | -ไม่มี- | ห้ามมิให้ผู้ใดเล่น หรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อ ว่าผู้สมัครแพ้หรือชนะหรือได้คะแนนเท่าใด และได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งจำนวนเท่าใด [6] |
6 | บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด ได้แก่ ต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันนับแต่ได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1.สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชันมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวง ศึกษาธิการหรือความรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า 2. รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร 3. เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 4. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการตำบล หรือผู้ใหญ่บ้าน [7] |
กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ โดยกฎหมายแก้ไขมาให้สิทธิเลือกตั้งแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว โดยบุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ผู้นั้นพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ 2. รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร 3. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการสภาตำบล กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 4. ตนเองหรือคู่สมรสเสียหรือเคยเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีโรงเรือนแลที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมาย 5. มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันไม่น้อยกว่าสิบปี [8] |
7 | ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีถิ่นที่อยู่ในเขตจังหวัดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนการวันเลือกตั้ง [9] | ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง[10] |
8 | บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง[11] | บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด [12] |
9 | ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง[13] | ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง [14] |
10 | ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท [15] | ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท [16] |
11 | สมาชิกสภาจังหวัดต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาเทศบาล หรือ กรรมการสุขาภิบาล [17] | สมาชิกสภาจังหวัดต้องไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล [18] |
12 | โดยปกติให้ใช้เขตตำบลหนึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง ถ้าตำบลใดมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าสามพันคน ให้กำหนดหน่วยเลือกตั้งในตำบลเพิ่มขึ้นโดยถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละไม่เกินสามพันคน [19] | โดยปกติให้ใช้เขตตำบลหนึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้เลือกตั้งหน่วยละหนึ่งพันคนเป็นประมาณ [20] (เป็นการเพิ่มจำนวนหน่วยเลือกตั้งให้มากขึ้น ประชาชนสะดวกขึ้น) |
13 | ห้ามมิให้แต่งตั้งข้าราชการประจำการหรือพนักงานเทศบาล หรือผู้สมัคร หรือผู้แทนผู้สมัคร เป็นกรรมการตรวจคะแนนหรือกรรมการสำรอง[21] | ห้ามมิให้แต่งตั้งข้าราชการ นายกเทศมนตรี เจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้สมัคร ตัวแทนผู้สมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการตรวจคะแนน[22] |
14 | -ไม่มี- | ให้มีการจัดทำประกาศบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่สาธารณะที่เห็นได้ง่าย และที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน [23] |
15 | เปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 16.00 น. [24] | เปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 15.00 น.[25] (ลดลง 1 ชั่วโมง) |
16 | ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนน เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง[26] | ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนพร้อมบัตรประชาชนหรือหลักฐานอื่น เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง และให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือลงในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเป็นหลักฐาน [27] |
17 | ผู้สมัครหรือผู้ใดให้ หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้อื่นก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี[28] | เมื่อมีการประกาศให้เลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในเขตเลือกตั้งใดจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้ใด เพื่อจูงใจให้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้ง หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด กระทำการดังต่อไปนี้
1. จัดทำ ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก้ผู้ใด 2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม แก่สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา หรือสถานสงเคราะห์อื่นใด 3. ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพและการรื่นเริงต่างๆ 4. ทำสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งอื่นใดเพื่อประโยชน์ของบุคคล ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานการศึกษา หรือสถาบันอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ก็ตาม 5. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี [29] |
ที่มา
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482, น.1604-1636.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498, น.200-207.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 215 วันที่ 17 ธันวาคม 2517, ฉบับพิเศษ น.32-40.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 33 วันที่ 2 มีนาคม 2523, ฉบับพิเศษ น.1-18.
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 33 ฉบับพิเศษ หน้า 1-18. ม.9
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 5.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 7.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ เรื่องเดียวกัน.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 215 วันที่ 17 ธันวาคม 2517, น.34, มาตรา 6.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 10.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498, น.203, มาตรา 16.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 9.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517, อ้างแล้ว, มาตรา 8.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 9.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517, อ้างแล้ว, มาตรา 7.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 12.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517, อ้างแล้ว, มาตรา 9
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 15.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517, อ้างแล้ว, มาตรา 7.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 15.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517, อ้างแล้ว, มาตรา 10.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 17.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482, น.1616, มาตรา 29.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 19.
- ↑ เพิ่งอ้าง, มาตรา 21
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482, อ้างแล้ว, มาตรา 42.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 23.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482, อ้างแล้ว, มาตรา 46.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 24.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482, อ้างแล้ว, มาตรา 63.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2523, อ้างแล้ว, มาตรา 26.