พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2498
ผู้เรียบเรียง อลงกรณ์ อรรคแสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 และ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2498
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498[1] เป็นกฎหมายที่ทำให้สภาจังหวัดเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 นี้ มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 เป็นอันมาก แต่เดิมมาสภาจังหวัดมีอำนาจหน้าที่แต่เพียงเป็นองค์การที่ปรึกษาของจังหวัด การเสนอความคิดเห็นก็กระทำได้แต่เฉพาะเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอร้อง นอกจากนั้นมติของสภาจังหวัดก็ไม่ได้มีผลผูกพันให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องดำเนินการตามมตินั้น สภาจังหวัดคงปฏิบัติหน้าที่แต่เพียงเท่าที่ได้รับมอบหมาย เช่น การแบ่งสรรเงินอุดหนุนให้แก่เทศบาล ฉะนั้น สภาจังหวัดในระยะแรกนี้จึงมิได้มีฐานะเป็นองค์การบริหารของท้องถิ่นอย่างแท้จริง เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 จึงได้มีการวางหลักการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่เป็นองค์การปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีทรัพย์สินส่วนจังหวัดที่หาได้จากรายได้ภายในจังหวัด มีฝ่ายสภา มีฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่ที่จัดเจนมากขึ้น มีองค์กรและบุคลากรของตนเอง[2]
โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยสภาและฝ่ายบริหาร (Council-Executive Form)
สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท ได้แก่
สมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้น มีจำนวนอย่างน้อย 12 คน ซึ่งราษฎรในอำเภอเลือกตั้งขึ้นอำเภอละหนึ่งคน ถ้าอำเภอใดมีราษฎรเกินกว่าสามหมื่นคน ให้อำเภอนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกสามหมื่นเศษของสามหมื่นถ้าถึงครึ่งให้นับเป็นสามหมื่น
สมาชิกประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ประกอบด้วยผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยเลือกจากนายกเทศมนตรี ประธานกรรมการสุขาภิบาล และผู้ที่มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด[3]
สมาชิกสภาจังหวัดมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี [4]
ฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด กฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติของสภาจังหวัด [5]
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่นอกเขตพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ [6]
- 1. การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
- 2. การประถมศึกษา การอาชีวศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา และการส่งเสริมวัฒนธรรม
- 3. การสังคมสงเคราะห์ อันรวมทั้งการสาธารณูปการและการประกันสังคมด้วย
- 4. การป้องกันโรค การบำบัดโรค และการจัดตั้งและบำรุงสถานพยาบาล
- 5. การจัดให้มีและบำรุงทางน้ำ ทางบก และการชลประทานราษฎร์
- 6. การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
- 7. การจัดให้มีน้ำสะอาดและการประปา
- 8. การจัดให้มีตลาด และท่าเทียบเรือ
- 9. การจัดให้มีและบำรุงการไฟฟ้า หรือแสงสว่าง โดยวิธีอื่น
- 10. การจัดให้มีฌาปนสถาน
- 11. การจัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมราษฎร
- 12. การบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
- 13. แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้เทศบาลและสุขาภิบาล
- 14. การจัดการคุ้มครอง ดูแล และหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนจังหวัด
- 15. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ
- 16. กิจการอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์ของราษฎรและท้องถิ่น หรือหน้าที่อื่นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่กิจการส่วนจังหวัด
การประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498
ในวันเดียวกันกับที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ในราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498[7] ด้วย โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับก่อนหน้านั้น โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- 1. การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่
- 1.1 เดิมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่บิดาเป็นคนต่างประเทศ (กฎหมายใหม่เรียกว่าคนต่างด้าว) ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้รับประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3[8] กฎหมายใหม่กำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่เรียนภาษาไทยจนได้รับประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6[9]
- 1.2 การเปลี่ยนลักษณะผู้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากเดิม บุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้[10] แก้ไขเป็น บุคคลหูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือบุคคลซึ่งตาบอดทั้งสองข้าง[11] นั่นหมายความว่า ผู้ที่หนวกหรือเป็นใบ้แต่อ่านและเขียนหนังสือได้ และคนที่ตาบอดทั้งสองข้าง จากเดิมที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ก็จะถูกตัดสิทธิไม่สามารถไปใช้สิทธิเลิกตั้งได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้
- 2. การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498 ได้ยกเลิกมาตรา 19, 20, และ 21 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และได้บัญญัติมาตรา 19, 20, และ 21 เสียใหม่ โดยมีสาระสำคัญ สามารถเปรียบเทียบได้ดังนี้ [12]
ลำดับ | พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 | พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498 |
---|---|---|
1. | ต้องมิใช่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาให้กักกันหรือจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง | ยกเลิก |
2. | มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ | เป็นผู้ที่เรียนภาษาไทยจนได้รับประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ |
3. | มีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ หรือมีความรู้ที่กระทรวงธรรมการรับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่านั้น | มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ หรือ มีความรู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่านั้น หรือเป็นข้าราชการประจำ หรือพนังกานเทศบาลประจำตั้งแต่ชั้นตรีขึ้นไป หรือมีชื่ออย่างอื่นซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาลแล้วแต่กรณี รับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่าชั้นตรีขึ้นไป หรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานเทศบาลดังกล่าวข้างต้น และมิได้ถูกไล่ออก หรือปลดออก โดยมิได้รับบำเหน็จบำนาญ |
4. | -ไม่มี- | บิดามีสัญชาติไทย |
5. | ไม่เป็นผู้อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ | ยกเลิก |
6. | ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ | ไม่เป็นบุคคลหูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือบุคคลซึ่งตาบอดทั้งสองข้าง |
7. | -ไม่มี- | ไม่เป็นผู้รับโทษหรือเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท |
8. | การห้ามพนักงานเทศบาล ครูประชาบาลเป็นสมาชิกสภาจังหวัด |
8.1 ได้ยกเลิกการห้ามครูประชาบาลเป็นสมาชิกสภาจังหวัด 8.2 การห้ามพนักงานเทศบาลเป็นสมาชิกสภาจังหวัดยังคงไว้ 8.3 ได้เพิ่มการห้ามพนักงานสุขาภิบาล ลูกจ้างหรือคนของรัฐบาลซึ่งมีเงินเดือนและประจำจังหวัดสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด 8.4 นอกจากนี้เดิมในกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2485 ได้กำหนดให้ข้าราชการการเมืองเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งที่ตนเองดำรง แต่ในกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2498 นี้ได้ตัดข้อความดังกล่าวออกไป |
ที่มา
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482, น.1604-1636.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉะบับที่ 2) พุทธศักราช 2485, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤษภาคม 2485 เล่มที่ 59 ตอนที่ 32 น.1041-1043.
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์, น.200-207.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์, น.196-199.
สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์, น.196-199.
- ↑ ประยุทธ ปรีชาภรณ์, “การพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยระหว่าง พ.ศ.2475 – 2500” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2522 หน้า 76. อ้างใน สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476 – 2500.” วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.น.144.
- ↑ เพิ่งอ้าง, น.179-180. ม.7.
- ↑ เพิ่งอ้าง, น180. ม.8.
- ↑ เพิ่งอ้าง, น187. ม.29.
- ↑ เพิ่งอ้าง, น189-191. ม.31.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 11 วันที่ 8 กุมภาพันธ์, น.200-207.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482, น.1609. มาตรา 16(1).
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498 (อ้างแล้ว) , น.202 มาตรา 4.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482 (อ้างแล้ว) , น.1610 มาตรา 17(2).
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498 (อ้างแล้ว) , น.203 มาตรา 5.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พุทธศักราช 2482, อ้างแล้ว, น.1610-1612. มาตรา 19, 20 และ 21. , พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉะบับที่ ๒) พุทธศักราช 2485, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤษภาคม 2485 เล่มที่ 59 ตอนที่ 32 น.1042-1043. ม.3. และ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2498 (อ้างแล้ว) ,น.203 มาตรา 7, 8 และ 9.