พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย : ลักเซมเบิร์ก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          ลักเซมเบิร์ก เป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป มีเนื้อที่ 2,586 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 660,809 คน (ค.ศ. 2023) มีพรมแดนติดกับเบลเยี่ยมทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ พรมแดนทางตะวันออกติดเยอรมนี และพรมแดนทางตอนใต้ติดกับประเทศฝรั่งเศส และเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ในช่วงสงครามนโปเลียนหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1794-1795) ลักเซมเบิร์กได้ถูกปิดล้อมจากฝรั่งเศสอยู่ 7 เดือน โดยที่ฝรั่งเศสไม่อาจจะทำลายกำแพงเมืองลักเซมเบิร์กได้ การที่ลักเซมเบิร์กสามารถป้องกันตนเองได้อย่างยาวนานเช่นนี้ ซึ่งทำให้ลักเซมเบิร์กถูกเรียกว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการที่ดีที่สุดในโลกรองจากยิบรอลตาร์ ทำให้เมืองนี้ได้รับการขนานนามว่า "ยิบรอลตาร์แห่งทิศเหนือ"

          ลักเซมเบิร์กมีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) ได้มีสถานะเป็นแกรนด์ดัชชีใน ค.ศ. 1815 และได้เป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์อย่างเต็มตัวใน ค.ศ. 1890 ปัจจุบันมีแกรนด์ดยุกอองรีเป็นประมุขของรัฐ และถือว่าเป็นแกรนด์ดัชชีที่เดียวในโลกที่มีอำนาจอธิปไตย ปัจจุบัน แกรนด์ดยุค อองรี (Grand Duke Henri) เป็นประมุขแห่งรัฐลำดับที่ 6 ในราชวงศ์นัสซอ-วิลเบิร์ก (Nassau Weilbourg)

          ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงที่สุดในโลก เมืองลักเซมเบิร์กได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 เนื่องจากมีการอนุรักษ์ป้อมปราการขนาดใหญ่และย่านประวัติศาสตร์ ปัจจุบันลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากภาคบริการทางการเงิน การมีเสถียรภาพทางการเมือง และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของสหภาพยุโรป

 

ประวัติศาสตร์

          ประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ในลักเซมเบิร์กสามารถย้อนไปได้ไกลถึง ค.ศ. 963 เมื่อ ซีกฟรีด (Siegfried) แห่งอาร์เดนเนส ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์คาโรลิงเจียน (Carolingian) แลกเปลี่ยนที่ดินบางส่วนของเขากับอารามเซนต์แม็กซิมิน ซึ่งเป็นอารามเบแนดิกตินในไรน์แลนด์-พาลาทิเนต (Rhineland-Palatinate) ซึ่งเป็นหนึ่งในอารามที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ผลก็คือเขาได้ที่ดินที่ตั้งอยู่ในชุมชน Feulen ใกล้กับเมือง Ettelbruck อันเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีมาก ณ ที่แห่งนั้น เขาได้ซื้อปราสาทที่ตั้งอยู่บนแหลมหินบนแม่น้ำอัลเซตต์ (Alzette River) ปราสาทแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของลักเซมเบิร์กในเวลาต่อมา โดยชื่อลักเซมเบิร์กมาจากชื่อของปราสาทที่ชื่อว่าลูซิลินเบอร์ฮัค (Lucilinburhuc - ปราสาทน้อย) ลักเซมเบิร์กจึงกลายเป็นเมืองป้อมปราการและกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบหลายชั้น (Luxembourg City Tourist Office, 2023)

          แม้ว่าซีกฟรีดจะมาจากตระกูลขุนนาง แต่เขาก็ยังไม่ได้รับตำแหน่งเค้าท์แห่งลักเซมเบิร์ก จนกระทั่งรุ่นเหลนของเขาที่ชื่อ คอนราดที่ 1 (Conrad I) ถึงจะได้ตำแหน่งเค้าท์แห่งลักเซมเบิร์กใน ค.ศ. 1083 รวมตำแหน่งเค้าท์ทั้งหมดในราชวงศ์นี้มีทั้งหมด 8 พระองค์ หลังจากนั้นราชวงศ์ใหม่ได้ถือกำเนิดมาโดยใช้ชื่อว่า ลักเซมเบิร์ก-นามูร์ ซึ่งลักเซมเบิร์กตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรมในราชวงศ์นี้ เค้าท์เตสเออร์เมสอินเด (Ermesinde) พระราชธิดาของเฮนรีที่ 7 อภิเษกสมรสกับเทียวบอลที่ 1 เค้าท์แห่งบาร์ (TheobaldI, Count of Bar) ดยุกแห่งลิมเบิร์ก (Duke of Limburg) หลังจากที่เค้าท์แห่งบาร์สวรรคต เค้าท์เตสเออร์เมสอินเดได้ปกครองในช่วง ค.ศ. 1226-1247 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสันติภาพและมีความสามัคคีทางศาสนา หลังจากนั้นพระราชโอรสของพระนางคือ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 หรือ เฮรี่ผมทอง (Henry the Blond) ได้ขึ้นครองราชย์และได้ให้กำเนิดราชวงศ์ลักเซมเบิร์ก-ลิมเบริ์ก (Cour grand-ducale, 2023)

          ตั้งแต่นั้นจนถึงราวศตวรรษที่ 15 ลักเซมเบิร์กมีความรุ่งเรืองมาก กษัตริย์หลายพระองค์ในยุโรปสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี โบฮีเมีย และฮังการี กษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงของลักเซมเบิร์กในยุคนั้นได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิไฮน์ริช หรือ เฮนรีที่ 7 (Henry VII ค.ศ. 1273-1313) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. 1273-1313) และพระเจ้าจอห์นแห่งโบฮีเมีย (ค.ศ. 1296-1346) แต่หลังจาก ค.ศ. 1467 ลักเซมเบิร์กได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจเบอร์กันดีเมื่อดัชเชสเอลิซาเบธที่ 2 (ค.ศ. 1409-1442) ได้สละสิทธิของพระนางในพระราชบัลลังค์ให้กับพระโอรสของฟิลลิปเดอะกูด (ค.ศ. 1396-1467) ดยุกแห่งเบอร์กันดี คือ ชาร์ลส์เดอะโบลด์ (ค.ศ. 1433-1477) (Cour grand-ducale, 2023)

          ในการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ได้มีการยกฐานะของลักเซมเบิร์กจากดัชชี (Duchy) เป็นแกรนด์ดัชชี (Grand Duchy) และมอบให้เป็นพระราชสมบัติส่วนพระองค์ของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 กษัตริย์เนเธอร์แลนด์ แม้กระนั้นลักเซมเบริ์กก็ไม่ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐเยอรมัน (Cour grand-ducale, 2023)

          หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1868 สนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London -1867) ได้มีการรับรองบูรณภาพแห่งดินแดนและสิทธิในการปกครองตนเองให้กับลักเซมเบิร์ก และใน ค.ศ. 1890 พระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์สวรรคต ราชบัลลังก์ได้ตกทอดไปยังเชื้อสายของราชวงศ์นัสเซา-ไวล์บวร์ก (Nassau-Weilburg) คือ แกรนด์ดยุกอดอฟ์ (Adolphe ค.ศ. 1817-1905) เป็นแกรนด์ดยุคแห่งลักเซมเบิร์กตั้งแต่ ค.ศ. 1890-1905 (Cour grand-ducale, 2023) ในช่วงนั้นแกรนด์ดยุกอดอฟเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมอบเสรีภาพให้กับประชาชน ทรงรับประกันเสรีภาพสื่อ กองทัพของประชาชน และระบบราชการเสรีนิยม  (Cour grand-ducale, 2023)

          ต่อมา แกรนด์ดยุกวิลเล็มที่ 4 แห่งลักเซมเบิร์ก (ค.ศ. 1852-1912) ผู้เป็นโอรสองค์เดียวของแกรนด์ดยุคอดอฟแห่งลักเซมเบิร์กได้ให้สิทธิอันชอบธรรมแก่พระธิดาองค์โต คือ เจ้าหญิงมารี อเดเลด (Grand Duchess Marie-Adélaïde ค.ศ. 1894-1924) จึงทรงเป็นแกรนด์ดัสเชสพระองค์แรกผู้ปกครองแกรนด์ดัชชีแห่งลักเซมเบิร์กใน ค.ศ. 1912 (Cour grand-ducale, 2023) หลังจากนั้นทรงสละราชสมบัติใน ค.ศ. 1919 พระขนิษฐาจึงทรงครองราชย์สืบต่อมา คือ แกรนด์ดัชเชสชาร์ลอต (Charlotte, Grand Duchess of Luxembourg ค.ศ. 1896-1985) ในรัชสมัยของพระนาง ลักเซมเบิร์กกลายเป็นประเทศที่รุ่งเรืองมีการพัฒนาทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาดังกล่าวต้องหยุดชะงักไปเมื่อเยอรมนีได้เข้ามายึดครองลักเซมเบิร์กแม้ว่าลักเซมเบิร์กจะประกาศตัวเป็นกลางแล้วก็ตาม ต่อมาใน ค.ศ. 1964 แกรนด์ดัชเชสชาร์ลอตทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสแกรนด์ดยุคฌองแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Jean) หลังจากที่ทรงครองราชย์มา 45 ปี ปัจจุบันกษัตริย์ของลักเซมเบิร์ก คือ แกรนด์ดยุกอองรีที่ 1 แห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Henri) ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 2000 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 ของราชวงศ์นัสเซา-เวลเบิร์ก ผู้ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์คือแกรนด์ดยุคฌองที่ครองราชย์เป็นระยะเวลา 36 ปี (Cour grand-ducale, 2023)

 

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

          ลักเซมเบิร์กได้รับสถานภาพเป็นแกรนด์ดัชชีใน ค.ศ. 1815 ในการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) และมอบให้เป็นพระราชสมบัติส่วนพระองค์ของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 กษัตริย์เนเธอร์แลนด์ โดยอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐเยอรมัน

          ตั้งแต่ ค.ศ. 1815-1868 ลักเซมเบิร์กมีรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ และในการรับรองเอกราชของประเทศใน ค.ศ. 1868 ได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1856 ซึ่งพระเจ้าวิลเล็มที่ 3 ได้ทรงเห็นด้วยที่จะให้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ยืนยันหลักการของระบอบรัฐธรรมนูญและสถานะระหว่างประเทศของลักเซมเบิร์ก โดยประกาศว่าเป็นรัฐ "อิสระ แบ่งแยกไม่ได้ แบ่งแยกไม่ได้ และเป็นกลางชั่วนิรันดร์” (Cour grand-ducale, 2023)

          ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ใน มาตราที่ 1 ว่า แกรนด์ดยุกอยู่ในตำแหน่งพิเศษนอกกฎหมายทั่วไป ตัวบุคคลของแกรนด์ดยุกนั้นละเมิดไม่ได้ เขาไม่สามารถถูกไต่สวนโดยศาลใด ๆ ไม่สามารถถูกขอให้รับผิดชอบต่อการกระทำของเขาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางอาญาหรือทางการเมือง การล่วงละเมิดไม่ได้ ความรับผิดชอบไม่ได้ และความเป็นกลางทางการเมืองของแกรนด์ดยุก ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในลักเซมเบริร์กมีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในการเมือง

          แกรนด์ดยุคเป็นประมุขแห่งรัฐตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งภายในและภายนอกพรมแดนของลักเซมเบิร์ก ทรงเป็นตัวแทนของเอกลักษณ์ของประเทศ เป็นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ ความเป็นเอกภาพของดินแดนและความคงอยู่ของรัฐ ตามมาตรา 51 กำหนดให้แกรนด์ดัชชีแห่งนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยแกรนด์ดยุกทรงสาบานก่อนที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์ว่า พระองค์จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของแกรนด์ดัชชีแห่งลักเซมเบิร์ก เพื่อรักษาเอกราชของชาติและความสมบูรณ์ของดินแดนตลอดจนสาธารณะและเสรีภาพส่วนบุคคล มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ (Cour grand-ducale, 2023)

          แกรนด์ดยุคมีบทบาทสำคัญในลักเซมบิร์ก ซึ่งเคารพในหลักการที่ว่า "ทรงปกเกล้าแต่มิได้ปกครอง" สิ่งนี้ทำให้พระองค์อยู่เหนือการเมืองและทรงเป็นกลางทางการเมือง พระองค์ไม่มีอำนาจอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเฉพาะที่จัดสรรให้เขาอย่างเป็นทางการ รัฐธรรมนูญแห่งลักเซมเบิร์กได้กำหนดให้แกรนด์ดยุกเป็นประมุขแห่งรัฐ เป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพและผู้ค้ำประกันเอกราชของชาติ ทรงใช้อำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ (Cour grand-ducale, 2023)

          การล่วงละเมิดไม่ได้ของแกรนด์ดยุกใน มาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญนั้น หมายความว่าพระองค์ไม่สามารถถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องโดยใครก็ได้ ไม่ต้องรับผิดต่อเขตอำนาจศาลใด ๆ ซึ่งการล่วงละเมิดไม่ได้นี้แสดงถึงความไม่รับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ของแกรนด์ดยุกซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปและเด็ดขาด ทั้งจากมุมมองทั้งทางอาญาและทางการเมือง ความไม่รับผิดชอบทางการเมืองของพระองค์นั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบในระดับรัฐมนตรี โดยมาตรการใด ๆ ที่แกรนด์ดยุกนำมาใช้ในบริบทของอำนาจทางการเมืองของพระองค์จะต้องได้รับการลงนามรับรองโดยสมาชิกของรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับมาตรการดังกล่าว (Cour grand-ducale, 2023)

 

อ้างอิง

Cour grand-ducale. (2023). H.R.H. Grand Duchess Marie-Adélaïde . Retrieved March 10, 2023, from Cour grand-ducale: https://monarchie.lu/en/monarchy/former-sovereigns/hrh-grand-duchess-marie-adelaide

Cour grand-ducale. (2023). H.R.H. Grand Duke Adolphe. Retrieved March 10, 2023, from Cour grand-ducale: https://monarchie.lu/en/monarchy/former-sovereigns/hrh-grand-duke-adolphe

Cour grand-ducale. (2023). The constitutional monarchy. Retrieved March 10, 2023, from Cour grand-ducale: https://monarchie.lu/en/head-state/constitutional-monarchy

Cour grand-ducale. (2023). The Former Sovereigns. Retrieved March 10, 2023, from Cour grand-ducale: https://monarchie.lu/en/monarchy/former-sovereigns

Cour grand-ducale. (2023). The history of Luxembourg and its dynasties. Retrieved March 10, 2023, from Cour grand-ducale: https://monarchie.lu/en/monarchy/history-luxembourg-and-its-dynasties

Luxembourg City Tourist Office. (2023). Luxembourg-city. Retrieved March 10, 2023, from History of Luxembourg-city: https://www.luxembourg-city.com/en/about-luxembourg-city/presentation/history