พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย : นอร์เวย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          ประเทศนอร์เวย์ ตั้งอยู่บนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปบนคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย มีพรมแดนทางตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือ และทางตะวันออกติดกับสวีเดน ฟินแลนด์และรัสเซีย นอร์เวย์ครอบคลุมพื้นที่ 150,000 ตารางไมล์ รวมถึงหมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) และยานไมเอน (Jan Mayen) ด้วยภูมิประเทศแบบฟาร์มและทุ่งนาไปจนถึงป่า ทะเลสาบ ที่ราบสูง ธารน้ำแข็ง และยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรปเหนือ แนวชายฝั่งที่ขรุขระทอดยาว 1,625 ไมล์ เมื่อวัดเป็นเส้นตรงและกว้างไกลถึง 13,125 ไมล์ รวมทั้งส่วนที่ลึกที่สุดของฟยอร์ด แม้ว่านอร์เวย์จะมีประชากรน้อยแต่นอร์เวย์ก็เป็นประเทศในยุโรปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแง่ของพื้นที่ (Country Reports, 2023)

          ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีรายได้สูง กำลังแรงงานสูงอายุ มีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ของรัฐ มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติด้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุด อุตสาหกรรมหลักได้แก่การปิโตรเลียม อุตสาหกรรมประมง การป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ แร่เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ไททาเนียม ไพไรต์ นิกเกิล ปลา ไม้ซุง ไฟฟ้าพลังน้ำ และมีระบบรัฐสวัสดิการขนาดใหญ่ (CIA.gov, 2023)

          ประเทศนอร์เวย์ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

ประวัติศาสตร์

          แม้ว่านอร์เวย์ยุคใหม่จะมีอายุเพียง 200 ปี แต่เรื่องราวของชนชาตินอร์ดิกนั้นมีมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานว่ามีผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกในดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้ตั้งแต่ 6,600 ปี ก่อนคริสตกาล (Nikel, 2018) แต่ช่วงเวลาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ คือ ยุคไวกิ้ง (ค.ศ. 800-1050) ซึ่งเป็นยุคที่ชาวสแกนดิเนเวียเดินทางออกทางเรือไปปล้นสะดมชาวต่างประเทศ (Norway profile - Timeline, 2022) แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวไวกิ้งเป็นคนป่าเถื่อน พวกเขาได้สร้างสถาบันทางสังคมที่ซับซ้อน สร้างผลกระทบสำคัญต่อประวัติศาสตร์ยุโรปผ่านการค้า การล่าอาณานิคม และการสำรวจที่กว้างไกล (Nikel, 2018)

          ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวไวกิ้งเป็นเผ่านักรบที่มีชื่อเสียง เป็นเพราะพวกเขาสู้รบในแต่ละยุทธการอย่างกล้าหาญ พวกเขาได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี พร้อมกับชุดเกราะที่แข็งแกร่ง และมีความเชื่อว่าหลังจากการตายในสนามรบ พวกเขาจะไปรวมกันอยู่ในสวรรค์ที่ชื่อว่า วัลฮัลลา เพื่อรอคอยวันที่จะมารบกับพวกศัตรูอีกครั้งหนึ่ง (Nikel, 2018) สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสู้แบบถวายหัวในสนามรบ เพราะเชื่อว่าการตายในสนามรบนั้น ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต

          ประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการของนอร์เวย์เริ่มจากการที่ พระเจ้าฮาราล แฟร์แฮร์ (Harald Fairhair ค.ศ. 865-933) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มรวมชนชาตินอร์เวย์ แต่การรับศาสนาคริสต์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นอร์เวย์สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ดียิ่งขึ้น โดยในสมัยของ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 (Olav II Haraldsson ค.ศ. 995-1030) ทรงกำหนดให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกกฎหมายเพียงศาสนาเดียว (The Royal House of Norway, 2020) แม้ว่าพระเจ้าโอลาฟทรงสิ้นพระชนม์ในสนามรบ แต่เครือข่ายทางศาสนาที่พระองค์สร้างไว้ตอนมีพระชนม์ชีพ ก็ได้สานต่อความพยายามของพระองค์ โดยการช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้กับราชอาณาจักรสืบต่อมา และการที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในศาสนาก็ยิ่งเป็นการทำให้สถานภาพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สืบต่อมาได้รับการยอมรับในรูปแบบของสถาบันมากขึ้น (The Royal House of Norway, 2020)

          ในช่วงตลอดศตวรรษที่ 11 และ 12 ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะความก้าวหน้าทางการเกษตร โดยเจ้าของที่ดินจำนวนมากมอบที่ดินบางส่วนให้กับกษัตริย์หรือคริสตจักร (Nikel, 2018) และในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 และต้นศตวรรษที่ 14 กล่าวได้ว่าเป็นยุคทองช่วงหนึ่งของนอร์เวย์ (อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการค้นพบน้ำมันครั้งล่าสุด) เป็นช่วงเวลาแห่งสันติภาพและการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในนอร์เวย์ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาแห่งความมั่งคั่งนี้สิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในปี 1349 เมื่อกาฬโรคมาถึงนอร์เวย์และคร่าชีวิตประชากรไปหนึ่งในสามภายในหนึ่งปี ชุมชนหลายแห่งถูกกำจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง และการลดรายได้ภาษีที่ตามมาทำให้ตำแหน่งของกษัตริย์อ่อนแอลง เป็นผลให้คริสตจักรมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ (Nikel, 2018)

          หลังจากนั้นได้เกิดสหภาพคาลมาร์ (Kalmar Union ค.ศ 1397-1523) ก่อตั้งขึ้นระหว่างนอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพันธมิตรทางการเมืองและสงครามอันยาวนานระหว่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย การรวมตัวกันครั้งนี้สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1814 หลังสงครามนโปเลียน ในปีนั้นนอร์เวย์และเดนมาร์กถูกปกครองภายใต้ พระมหากษัตริย์เฟรเดริกที่ 6 

          ก่อนหน้านี้นอร์เวย์และเดนมาร์กปกครองร่วมกันภายใต้พระมหากษัตริย์องค์เดียวกันเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี เดนมาร์กจึงเป็นประเทศที่เคยมีอิทธิพลทางการเมืองต่อประเทศนอร์เวย์เป็นอย่างมาก การแยกตัวออกมาจากเดนมาร์กถือว่าเป็นการได้รับเอกราชของนอร์เวย์ เป็นวันเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ของนอร์เวย์

          ใน ค.ศ. 1814 เจ้าชายคริสเตียน เฟเดอริก (Christian Frederik) เจ้าชายรัชทายาทของเดนมาร์กได้รับมอบหมายให้ประสานความสัมพันธ์กับนอร์เวย์ เพื่อที่จะหยุดยั้งความต้องการของ เจ้าชายคาร์ล โยฮัน แห่งสวีเดน ที่ต้องการนอร์เวย์ไปครอบครอง พระองค์จึงเดินทางมาที่นอร์เวย์และตั้งใจที่จะตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์บนพื้นฐานของตำแหน่งรัชทายาท อย่างไรก็ตามในการประชุมของชาวนอร์เวย์ในเมือง Eidsvoll เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์ Georg Sverderup ได้เกลี้ยกล่อมให้เขาเปลี่ยนใจ โดยโต้แย้งว่าการที่กษัตริย์เฟเดอริกแห่งเดนมาร์ก ทรงสละบัลลังก์นอร์เวย์ อำนาจอธิปไตยได้ตกทอดไปยังชาวนอร์เวย์แล้ว ดังนั้นกษัตริย์นอร์เวย์จะต้องได้รับเลือกจากประชาชนเอง

          เจ้าชายคริสเตียน เฟเดอริก จึงทรงเรียกประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดขึ้นที่ Eidsvoll เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 1814 ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 นอร์เวย์จึงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยยึดหลักเสรีนิยมและประชาธิปไตย ที่ประชุมยังตัดสินใจว่านอร์เวย์ควรเป็นระบอบราชาธิปไตยต่อไป และในวันที่ 17 พฤษภาคม เจ้าชายคริสเตียน เฟรเดริก ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์อย่างเป็นเอกฉันท์

          เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการลงนามในรัฐธรรมนูญ กษัตริย์คาร์ล โยฮัน แห่งสวีเดนได้รุกรานนอร์เวย์ และเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจนอร์เวย์จึงยอมรับการปกครองของสวีเดน พระเจ้าคริสเตียน เฟเดอริก ต้องยอมสละพระราชอำนาจและทรงยอมออกจากประเทศ (The Royal House of Norway, 2007) เกิดเป็นสหภาพระหว่างนอร์เวย์และสวีเดน เป็นสหภาพระหว่างสองรัฐอิสระ แต่ละรัฐมีสภาแห่งชาติและรัฐธรรมนูญของตนเอง สหภาพประกอบด้วยรัฐที่มีกษัตริย์ร่วมกันและนโยบายต่างประเทศร่วมกัน ประเด็นนโยบายต่างประเทศทั้งหมดได้รับการจัดการในสตอกโฮล์ม (The Royal House of Norway, 13.02.2011) นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่านอร์เวย์ไม่มีอำนาจอธิปไตยในทางการต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงการมีบทบาทที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสวีเดนและนอร์เวย์ โดยที่นอร์เวย์อยู่ในสถานภาพรอง แม้ว่าจะมีการเจรจาในเรื่องดังกล่าวในช่วง ค.ศ. 1904-1905 โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนมีสิทธิไล่นักการทูตชาวนอร์เวย์ออกได้

          ในช่วงการแพร่กระจายของชาตินิยมในศตวรรษที่ 19 ได้ทำให้เกิดการลงประชามติแยกตัวออกจากสวีเดนใน ค.ศ. 1905 (CIA.gov, 2023) และนอร์เวย์เลือกพระมหากษัตริย์ของพระองค์เอง คือ พระมหากษัตริย์ฮาคอน (Haakon) แห่งนอร์เวย์ ซึ่งเป็นต้นพระราชวงศ์กลักเบิร์ก (Glücksburg) ในปัจจุบัน

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ในนอร์เวย์

          พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของนอร์เวย์ คือ พระเจ้าฮาร์ราล์ด แฟร์แฮร์ (ค.ศ. 850-932) สามารถรวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จใน ค.ศ. 885 นับจนถึงปัจจุบัน นอร์เวย์มีพระมหากษัตริย์มากกว่า 60 พระองค์ พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันอยู่ในราชวงศ์กลักเบิร์ก (Glücksburg) ซึ่งทรงปกครองนอร์เวย์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1905

          ใน ค.ศ. 1905 เจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์ก (Carl of Denmark) ได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์ฮาคอน (Haakon) แห่งนอร์เวย์ ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเลือกตั้งของเขาคือพระราชินี เจ้าหญิงม็อดแห่งเวลส์ (Maud of Wales) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระราชินีอเล็กซานดราแห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้เจ้าชายและเจ้าหญิงมีพระโอรสอยู่แล้ว จึงรับประกันการสืบราชสันตติวงศ์ หลังจากการลงประชามติ เจ้าชายคาร์ลยอมรับข้อเสนอที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ โดยประกาศว่าพระองค์จะใช้พระนามว่า Haakon และพระราชทานพระนามว่า Olav แก่พระโอรส คือ Alexander (The Royal House of Norway, 2023) ซึ่งมกุฎราชกุมาร Olav ทรงขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1957 หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าฮาร์คอน

          ใน ค.ศ. 1940 กองทหารเยอรมันบุกนอร์เวย์ โดยวางแผนที่จะจับกษัตริย์และรัฐบาลเพื่อบังคับให้ประเทศยอมจำนน อย่างไรก็ตามราชวงศ์ รัฐบาล และสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภาสามารถหลบหนีได้ก่อนที่กองกำลังทหารเยอรมันจะมาถึงออสโล

 

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

          พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ของนอร์เวย์ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ เป็นผู้แทนและราชพิธี เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์” จะหมายความว่าอำนาจเป็นของรัฐบาล

          พระมหากษัตริย์เป็นผู้เปิดรัฐสภานอร์เวย์ (Storting) อย่างเป็นทางการในทุก ๆ ปี (มาตรา 74 ของรัฐธรรมนูญ) โดยทรงมีพระราชดำรัสซึ่งร่างโดยตัวแทนจากรัฐสภา หลังจากนั้นจะเป็นรายงานจากรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ประสบความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมา โดยพระราชพิธีกำหนดไว้ในมาตรา 74 ของรัฐธรรมนูญ: ทันทีที่มีรัฐสภา พระมหากษัตริย์หรือผู้ที่ได้รับการมอบหมายมาให้ทำการนี้ จะเปิดสมัยประชุมด้วยการพระราชทานพระราชดำรัส (The Royal House of Norway, 2021)

          พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานองคมนตรี (The Council of State) (The Royal House of Norway, 2021)

          พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นทางการของรัฐบาล โดยขั้นตอนอย่างเป็นทางการสำหรับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ว่า รัฐบาลจะลงจากตำแหน่งและนายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นพระองค์จะทรงปรึกษากับนายกรัฐมนตรีว่าใครควรจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยทรงอาจขอความเห็นจากประธานรัฐสภาหรือผู้นำรัฐสภาของฝ่ายต่าง ๆ ด้วย แต่ถ้าสถานการณ์ในรัฐสภาไม่ชัดเจน พระองค์อาจใช้ดุลพินิจ เช่นใน ค.ศ. 1928 กษัตริย์ Haakon ทรงเลือก นายคริสโตเฟอร์ ฮอร์สตรัด (Christopher Hornsrud) เป็นนายกรัฐมนตรีโดยขัดกับคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีที่ลาออก การลาออกของรัฐบาลเก่าและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมืองพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา โดยขั้นตอนกำหนดไว้ใน มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ (The Constitution of the Kingdom of Norway, 2023)

          พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศ มียศนายพลในกองทัพบกและกองทัพอากาศ และพลเรือเอกในกองทัพเรือและได้รับการระบุไว้ใน มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า: พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพแห่งแผ่นดินและทัพเรือของอาณาจักร กองกำลังเหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มหรือลดได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา กองทัพจะไม่ถูกถ่ายโอนไปยังบริการของมหาอำนาจต่างชาติและห้ามนำกองกำลังทหารของมหาอำนาจต่างประเทศใด ๆ ยกเว้นกองกำลังเสริมที่ช่วยในการต่อต้านการโจมตีที่ไม่เป็นมิตรเข้ามาในอาณาจักรโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา (The Royal House of Norway, 2015)

          พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จเยือนประเทศอื่น ๆ และเป็นเจ้าภาพต้อนรับประมุขแห่งรัฐต่างประเทศที่มาเยือนนอร์เวย์ เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จากประเทศอื่น ๆ จะต้องถวายพระราชสาส์นหรืออักษรสาส์นต่อพระมหากษัตริย์ในระหว่างการเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการที่พระราชวัง นอกจากการเข้าเฝ้าฯ แล้ว พระราชกรณียกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์ยังรวมถึงการที่ทรงพระราชทานวโรกาสพบปะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้แทนจากสถาบันกลาโหม กษัตริย์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปยังส่วนต่าง ๆ ของนอร์เวย์ รวมทั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมสถาบันของรัฐและเอกชนด้วย (The Royal House of Norway, 2023)

 

อ้างอิง

CIA.gov. (2023). Norway Country Summary. Retrieved March 18, 2023, from The World Factbook: https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/norway/summaries

Country Reports. (2023). Norway Geography. Retrieved March 20, 2023, from Country Reports: https://www.countryreports.org/country/Norway/geography.htm

Nikel, D. (2018, April 11). A Brief History of Norway. Retrieved March 20, 2023, from Life in Norway: https://www.lifeinnorway.net/history-of-norway/

Norway profile - Timeline. (2022, December 7). Retrieved March 20, 2023, from BBC: https://www.bbc.com/news/world-europe-17746861

The Royal House of Norway. (13.02.2011, february 13). Withdrawal from the union. Retrieved March 20, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30095&sek=28568

The Royal House of Norway. (2007, Febuary 13). King Christian Frederik (1786-1848). Retrieved March 20, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30101&sek=27320

The Royal House of Norway. (2015, August 12). Change of government. Retrieved March 22, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30067&sek=30055

The Royal House of Norway. (2015, December 8). The Armed Forces. Retrieved March 20, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30075&sek=30054

The Royal House of Norway. (2020, March 24). The unification of Norway. Retrieved March 22, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=28693&sek=27321

The Royal House of Norway. (2021, October 20). The Council of State. Retrieved March 20, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30068&sek=30057

The Royal House of Norway. (2023, January 13). Formal audiences. Retrieved March 22, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/artikkel.html?tid=30078&sek=30053

The Royal House of Norway. (2023). History. Retrieved March 22, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/seksjon.html?tid=27680&sek=27269

The Royal House of Norway. (2023). King Haakon and Queen Maud. Retrieved March 20, 2023, from The Royal House of Norway: https://www.royalcourt.no/seksjon.html?tid=102868&sek=102865