พระประจนปัจจนึก : ประธานสภาฯ คู่ใจจอมพล ป.
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระประจนปัจจนึก : ประธานสภาฯ คู่ใจจอมพล ป.
ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายคน และจอมพล ป.พิบูลสงครามเองท่านก็มีบุญวาสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นานถึงสองช่วงเวลา ประมาณได้ถึง 17 ปี ดังนั้นในสภาฯจึงมีประธานสภาหรือประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศที่ทำงานกับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อหลวงพิบูลสงครามอยู่หลายคน แต่ในจำนวนนี้ดูแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นนายทหาร ที่ชื่อ พระประจนปัจจนึก ที่มาเป็นประธานสภาผู้แทนฯในตอนที่นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสุดท้าย น่าจะเป็นประธานสภาฯคู่ใจของนายกฯผู้เป็นนายทหารเหมือนกันมากกว่าใคร และแม้คุณพระประจนปัจจนึกจะมาเป็นประธานสภาฯในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. ก็จริง แต่พระประจนปัจจนึกก็เป็นผู้นำอำนาจนิติบัญญัติอยู่ได้นานพอสมควร คือหลังการยึดอำนาจเงียบของคณะ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494แล้ว วันรุ่งขึ้นพระประจนฯก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 พอวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกันสภาชุดนี้ก็เลือกท่านเป็นประธานสภาฯเป็นครั้งแรก และสภาฯก็ยืนยันให้จอมพล ป.เป็นนายกฯสืบต่อมา เรามารู้จักท่านนายพล ผู้ที่เข้ามาเป็นท่าน “ประธานที่เคารพ” ของอำนาจนิติบัญญัติ ท่านนี้กันดีกว่า
พระประจนปัจจนึกเป็นคนเมืองหลวง เกิดที่ตำบลวัดมกุฎกษัตริยาราม อำเภอป้อมปราบ จังหวัดพระนคร ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 เป็นบุตรของนายเจิม และนางจวน ด้านการศึกษานั้นเชื่อกันว่าท่านคงได้ศึกษาเบื้องต้นในพระนครแล้วจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นนักเรียนนายร้อย ปี 2447 จบการศึกษาเข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรี ในปี 2453 ชีวิตราชการทหารของท่านก็เจริญดี อีก 10 ปีต่อมาในปี 2463 ท่านจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประจนปัจจนึก จากนั้นอีก 8 ปี ต่อปี 2471 ท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ในชื่อเดิมเป็น พระประจนปัจจนึก และหนึ่งปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ท่านก็ได้ยศทหารเป็นนายพันโท แต่ท่านก็มิได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น ชีวิตครอบครัวของท่านนั้นท่านได้แต่งงานกับคุณพุ่ม ที่ต่อมาคือคุณหญิงพุ่ม ประจนปัจจนึก
เวลาผ่านมาปีกว่าหลังกบฏบวรเดชแล้ว พระประจนปัจจนึกก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2476 ในสมัยนายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา นับเป็นการเข้ารับตำแหน่งการเมืองครั้งแรกของท่าน แสดงว่าท่านเป็นนายทหารที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลที่สู้ฝ่ายกบฏในครั้งนั้น และอีกปีต่อมาในวันที่ 17 ธันวาคม ปี2477 สมัยที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาฯ พระประจนปัจจนึก ซึ่งขณะนั้นมียศทางทหารเป็นนายพันเอก ตำแหน่งทางทหารเป็นผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 1 ก็ได้รับเลือกจากสภาฯให้เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2479 สภาฯได้เลือกพระยามานวราชเสวีเป็นประธาน และเลือกท่านเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 อีก
ที่น่าสังเกตก็คือตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัตินั้น คุณพระประจนฯได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1บ้าง รองประธานสภาคนที่ 2 บ้าง รวมแล้วถึง 8 ครั้ง หลังจากได้เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2479 แล้ว ท่านก็ได้เป็นอีกในปี 2480 ปี 2481 ปี 2482 ปี 2483 ปี 2485 และ ปี 2486 จึงเห็นได้ว่าท่านได้เป็นผู้นำหมายเลข 2 ของอำนาจนิติบัญญัติ ตลอดเวลาทั้งในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาและรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม ต่อกันมาจนรัฐบาลหลวงพิบูลฯเจอมรสุมการเมืองที่สภาฯไม่ย่อมผ่านร่างกฎหมาย 2 ฉบับติดต่อกัน ทำให้หลวงพิบูลฯต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในเดือนกรกฎาคม ปี 2487 และพระประจนปัจจนึกจึงต้องหมดบทบาททางการเมืองไปด้วย แต่ตอนนั้นท่านก็มียศทหารเป็นนายพลโท ที่เคยเป็นทั้งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 2 และปลัดกระทรวงกลาโหมมาแล้ว
พระประจนปัจจนึกกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมามีอำนาจทางการเมือง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เคยเขียนเล่าว่าตอนที่จอมพล ป.ออกจากงาน พระประจนฯยังได้มาชวนให้ไปลงทุนทำเหมืองแร่วูลแฟรม ได้เงินมาแบ่งกันใช้ว่า
“พลเอกพระประจนปัจจนึกเป็นกัลยาณมิตรแท้คนหนึ่งของจอมพล ป.”
ในปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2494 พระประจนฯได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และอีก 2วัน ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร จนต่อมามีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2495แล้ว สภาฯที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งก็ยังเลือกพระประจนฯเป็นประธานสภาฯสืบต่อมา จนมามีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ผู้นำในรัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรีคือหลวงพิบูลฯก็นำรัฐมนตรีหลายนายลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวง ผลของการเลือกตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชนะได้จำนวนผู้แทนเข้าสภาฯได้เป็นลำดับหนึ่ง และแม้พระประจนฯจะไม่ได้ลงเลือกตั้ง ท่านก็ยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯและสภาฯก็ยังเลือกท่านให้เป็นประธานสภาฯ ที่ต่อมาสภาฯก็ได้เลือกจอมพล ป.หัวหน้าพรรครัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในสภาฯให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จอมพล ป.จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็แพ้การเมืองเพราะนิสิตนักศึกษาและประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นสกปรกจึงประท้วงรัฐบาล ทำให้ต่อมาทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 อันมีผลให้พระประจนฯพ้นตำแหน่งไปด้วย
ครั้นถึงต้นปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ก็ได้ตั้งพระประจนฯให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ท่านได้มีชีวิตอยู่ต่อมาจนครบวาระสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมาถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2513