พจน์ สารสิน : นายกรัฐมนตรี 90 วัน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พจน์ สารสิน : นายกรัฐมนตรี 90 วัน

             เมืองไทยนั้นคณะทหารได้เคยมีบทบาทเข้ามาเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอยู่หลายครั้ง เมื่อจัดการเปลี่ยนรัฐบาล ให้สมาชิกรัฐสภาพ้นตำแหน่งไปแล้ว จะยกเลิกรัฐธรรมนูญหรือไม่ยกเลิกรัฐธรรมนูญก็ตาม สิ่งที่จำเป็นก็คือหารัฐบาลใหม่มาทำหน้าที่บริหารราชการ ซึ่งมักทำหน้าที่ชั่วคราว และครั้งหนึ่งเมื่อคณะทหารที่นำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 เสร็จแล้วคณะทหารก็ต้องการบุคคลนอกวงการเมืองในเวลานั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อมาบริหารราชการและรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ครั้งนั้นคณะทหารได้ตัวนักการทูตคนสำคัญคนหนึ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้คือนาย พจน์ สารสิน

             พจน์ สารสิน เป็นคนกรุงเทพฯ ท่านเป็นบุตรขุนนางที่เป็นแพทย์เชื้อชาติจีนไหหลำที่มีชื่อเสียงมาก คือพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้) มารดาคือคุณหญิงสุ่น นายพจน์เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2448 ที่บ้านถนนสุรศักดิ์ อำเภอบางรัก ชีวิตครอบครัวของท่านนั้นมีคุณหญิง สิริ เป็นภรรยา ท่านได้เรียนหนังสือเบื้องต้นที่โรงเรียนในกรุงเทพซึ่งน่าจะเป็นโรงเรียนฝรั่ง อายุประมาณ 16 ปีจึงได้ไปศึกษาที่โรงเรียนในรัฐแมซซาจูเซส สหรัฐอเมริกา และกลับมาเรียนวิชากฎหมายในเมืองไทย ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย เมื่อพ.ศ.2472 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่อังกฤษ จนได้เป็นเนติอังกฤษ และกลับมาเมืองไทย

             ท่านเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกหลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เพราะได้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา และนายพจน์ก็ได้รับการแต่งตั้งด้วย แต่ไม่ใช่การแต่งตั้งในตอนต้น เพราะไม่ปรากฏชื่อในการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีคนกล่าวกันว่าท่านมีความใกล้ชิดกับหลวงพิบูลสงคราม และเอื้อเฟื้อต่อหลวงพิบูลฯยามที่หลวงพิบูลฯตกอับ ภายหลังสงคราม ต่อมาในปี 2491หลวงพิบูลฯได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายพจน์ได้เข้าร่วมรัฐบาลครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มี ม.จ.ปรีดิเทพพงษ์ เทวกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ โดยต่อมาหลวงพิบูลฯก็มารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอง ถึงวันที่ 13 ตุลาคม ปี 2492 นายพจน์ก็ได้ขยับจากรัฐมนตรีช่วย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่นายพจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศต่อมาได้ไม่นาน ถึงวันที่ 1 มีนาคม ปี 2493 นายพจน์ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกับคณะรัฐมนตรีในเรื่องการให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ของเวียดนามในเวลานั้น ดังความที่ นายบุณชนะ อัตถากร ได้เขียนเล่าว่า

             “ครั้งนั้นคุณพจน์ได้แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะรับรองรัฐบาลเบาได๋ แต่แพ้คะแนน คุณพจน์รีบกลับกระทรวงที่วังสราญรมย์ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง แล้วก็ยื่นใบลาออกต่อจอมพล ป.”

แต่ก็คงไม่ได้โกรธเคืองอะไรกันกับรัฐบาลหรือนายกฯ ดังจะเห็นได้ว่า ต่อมารัฐบาลจอมพล ป.ฯเองที่เสนอให้คุณพจน์ สารสิน ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ที่สมัยนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งทูตอันดับหนึ่งของไทยที่นักการเมืองมักได้ไป คุณพจน์เป็นทั้งทูตและผู้แทนไทยประจำองค์การสหประชาชาติอยู่ 5 ปี จึงย้ายกลับบ้านมาเป็นเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ สปอ.ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2500 ตอนนั้นการเมืองไทยกำลังร้อนแรง รัฐบาลหลวงพิบูลฯเจอการประท้วงมาก คุณพจน์กลับมาบ้านคราวนี้จึงกลายเป็นเวลาที่เหมาะสม ท่านเป็นเลขาธิการ สปอ.ได้ไม่ถึงสามเดือน ก็ต้องลาพักงานจากองค์การระหว่างประเทศมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวของไทยในวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกัน

เมื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพจน์ ได้แถลงต่อสภาถึงความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งให้"สุจริตเที่ยงธรรม"ว่า

“รัฐบาลนี้จะจัดให้การเลือกตั้งที่จะต้องกระทำภายใน '90 วันตามประกาศพระบรมราชโองการเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2500 เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริตเที่ยงธรรม จึงขอแถลงยืนยันถึงเจตจำนงข้อนี้ให้ปรากฏ เสมือนเป็นคำสัตย์ปฏิญาณให้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย”

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 นั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้ง “สกปรก”  และเป็นเหตุที่ทำให้คณะทหารได้รับความสนับสนุนจากประชาชนในกรุงเทพฯให้ยึดอำนาจ ฉะนั้นการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้ปรากฏว่าไม่สกปรก และก็เป็นผลสำเร็จเพราะประชาชนดูจะพอใจ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิ ที่เป็นพรรคตั้งใหม่ได้คะแนนมาเป็นที่ 1 จำนวน 44 เสียง แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯเพราะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีจอมพล สฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค มีเสียงสนับสนุนในสภาฯมากกว่า2 ใน 3 ได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีพลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ โดยคุณพจน์กลับไปเป็นเลขาธิการ สปอ.ดังเดิม

คุณพจน์พ้นจากวงการเมืองไทยไปกว่าทศวรรษ ท่านกลับมาอีกทีในพ.ศ.2512 โดยเข้าร่วมรัฐบาลจอมพลถนอม ในตำแหน่งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญยิ่ง และเมื่อจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี 2517 คุณพจน์ก็พ้นจากวงการเมืองไป

นายพจน์ สารสิน มีชีวิตอยู่นอกวงการเมืองจนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2553 ท่านจึงได้ถึงแก่อสัญกรรม