ผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา (advocated)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา (advocated) หมายถึง ผู้แทนที่อาสาตนต่อพลเมืองในเขตเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รวบรวมและประมวลความเห็น/เจตนารมณ์ที่แตกต่างหลากหลายในเขตเลือกตั้ง และนำข้อเสนอมาสู่การตัดสินสาธารณะโดยที่ผู้แทนยังมีความสามารถในการไตร่ตรองและตัดสินใจด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาต้องมีความเหมือนหรือมีลักษณะร่วมกับพลเมืองในเขตเลือกตั้งของตน[1] แนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาพยายามเข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องจากการถกเถียงระหว่างแนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองเดิมทั้งแบบตัวแทน (delegation) และแบบที่ได้รับมอบหมาย (trustee) ดังที่ ซูซาน โดวี (Suzanne Dovi) ได้เสนอว่าทั้งสองความคิดมีความแตกต่างกันทั้งในการพิจารณาปัญหาและข้อเรียกร้องต่อบทบาทของผู้แทน โดยกรอบคิดแบบตัวแทนมองว่าผู้แทนควรยึดเอาความพึงพอใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ขณะที่กรอบคิดแบบที่ได้รับมอบหมายมองว่าผู้แทนควรยึดถือการใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจเพื่อให้เกิดชุดของการกระทำที่เหมาะสม[2] ในการทำความเข้าใจแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาควรพิจารณาจากปัญหาแนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนและแบบที่ได้รับมอบหมายที่มีอยู่รวมถึงอธิบายแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา

 

ปัญหาแนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนและแบบที่ได้รับมอบหมาย

          จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของยุโรปยุคโบราณตั้งแต่ยุโรมันโบราณ ยุคลาง จนมาถึงยุคสมัยใหม่ ได้ส่งผลต่อแนวคิดและการวางแนวปฏิบัติของผู้แทนที่สามารถแบ่งออกเป็นสองแนวคิดหลัก คือ ผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน_(delegation) และผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย_(trustee)[3] อย่างไรก็ตามแนวคิดผู้แทนทางการเมืองที่มีอยู่ก็ยังมีข้อถกเถียงในเชิงความคิด วนัส ปิยะกุลชัยเดช และเอกวีร์ มีสุข (2566) เสนอว่าในเชิงความคิดมีข้อถกเถียงสามด้าน คือ

          1) ปัญหาในความเป็นผู้แทน เนื่องจากประชาชนในเขตเลือกตั้งมีความแตกต่างกันทางเพศ วัย ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา การรวมกลุ่ม ฯลฯ ผู้แทนทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะแทนความแตกต่างหลากหลายในเรื่องใดและเป็นตัวแทนสิ่งใดให้กับผู้เลือกตั้งในเขต

          2) การเป็นผู้แทนทางการเมืองเป็นสิ่งที่สมควรมีหรือไม่ เนื่องจากมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันอย่างมากต่อการมีผู้แทนระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการมีอยู่และความจำเป็นของผู้แทนกับฝ่ายที่มองว่าการมีผู้แทนทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีเพราะผู้แทนทางการเมืองที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายว่าแทนประชาชนเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยและทำให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลายเป็นทาสของผู้แทน

          3) บทบาทผู้แทนทางการเมือง ที่มีความแตกต่างกันระหว่างแนวคิดผู้แทนแบบเป็นตัวแทน (delegate) แนวคิดผู้แทนแบบได้รับมอบหมาย (trustee) และแนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา (advocated)[4]

         

          ผู้แทนแบบเป็นตัวแทน (delegate) มองบทบาทของผู้แทนควรทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของคนในเขตเลือกตั้งของตนอย่างตรงไปตรงมา แตกต่างจากผู้แทนแบบได้รับมอบหมาย (trustee) มองว่าผู้แทนควรใช้วิจารณญาณและการไตร่ตรองของตนเองเพื่อตัดสินใจในประเด็นสาธารณะเพื่อประโยชน์ในกิจการบ้านเมือง ผู้เขียนเห็นว่าการแยกสองแนวคิดนี้ทำให้เกิดความแตกต่างกันในความคาดหวังของคนที่มีต่อบทบาทของผู้แทนและในวิธีการประเมินค่าบทบาทของผู้แทน โดยด้านบทบาทของผู้แทนจะพบว่าผู้แทนแบบตัวแทนก็มีข้อกังขาว่าความคิดหรือความเห็นของผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ผู้แทนนำเสนอมาจะเป็นประโยชน์สาธาณรณะจริงหรือไม่ และผู้แทนที่แม้จะมาจากเขตเลือกตั้งหนึ่งแต่ต้องเข้ามาตัดสินใจในประเด็นสาธารณะที่กระทบต่อคนโดยรวมทั้งประเทศจะเหมาะสมหรือไม่หากเขาเอาผลประโยชน์เฉพาะเขตเลือกตั้งตนมาใช้ตัดสินนโยบายในภาพรวม ขณะที่ผู้แทนแบบได้รับมอบหมายก็ถูกตั้งคำถามว่าการที่เขาสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระและแยกขาดจากความต้องการของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง จะก่อให้เกิดปัญหาการควบคุมและความรับผิดชอบของผู้แทนที่มีต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนด้านการประเมินค่าจะพบว่าผู้แทนแบบเป็นตัวแทนจะมีข้อจำกัดว่าจะประเมินว่าผู้แทนได้แทนความคิดและผลประโยชน์ใดของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ขณะที่ผู้แทนแบบได้รับมอบหมายก็มีข้อจำกัดว่าจะประเมินได้อย่างไรว่าสิ่งที่พวกเขาไตร่ตรองและตัดสินใจเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นเป็นประโยชน์จริง ๆ

          นอกจากนี้ผู้แทนทางการเมืองในทางปฏิบัติก็มีข้อถกเถียงถึงการทำหน้าที่ของพวกเขาเนื่องจากในการวิเคราะห์บทบาทของผู้แทนจะพบว่าได้รับอิทธิพลจากสองปัจจัย คือ หนึ่ง อิทธิพลจากบทบาทหลัก (core roles) ที่ถูกกำหนดโดยบทบาททางสังคม และ สอง อิทธิพลจากบทบาทเชิงพฤติกรรม (behavioural roles) ที่มาจากการทำงานในแต่ละวันของผู้แทนแต่ละคน อิทธิพลทั้งสองด้านนี้ได้ส่งผลซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องในการหล่อหลอมตัวผู้แทนทางการเมืองและส่งผลต่อบริบททางการเมือง จนในท้ายที่สุดจะเป็นตัวกำหนดในการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของผู้แทนทางการเมืองที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจผู้แทนทางการเมืองเชิงปฏิบัติสามารถเชื่อมโยงกับการเข้าใจแนวคิดผู้แทนทางการเมืองในเชิงทฤษฎีที่แบ่งตามประเภทบทบาทผู้แทนโดยแท้ (purely representational roles) ทั้งแบบตัวแทนและแบบได้รับมอบหมาย และประเภทตัวแบบเชิงการเมือง (politico model) ที่เข้าใจผ่านแบบแผนที่ประนีประนอมที่ผสานเอาบทบาททั้งแบบตัวแทนและแบบได้รับมอบหมายเข้าด้วยกัน ในการศึกษาต่าง ๆ ที่นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงถึงความต่อเนื่องและกลยุทธ์ของการเปลี่ยนจุดยืนของผู้แทนแต่ละคน ผู้แทนทางการเมืองที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติมีแบบแผนการเปลี่ยนบทบาทที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเชิงบริบทและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถปรับเปลี่ยน "ชุดของบทบาท" (set of roles) ที่ขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง[5] นอกจากนี้การแบ่งประเภทของบทบาททางนิติบัญญัติสามารถพิจารณาผ่านแนวทางเชิงกลยุทธ์ (strategic approach) ที่ผู้แทนสามารถกำหนดชุดของกลยุทธ์ที่ปรับประยุกต์ใช้ตามกรอบเชิงสถาบันและปรับใช้ตามความพึงพอใจเชิงบุคคล แนวคิดนี้สามารถใช้ประสานการวิเคราะห์เกี่ยวกับความคาดหวังที่ปัจเจกบุคคลมีต่อผู้แทนภายใต้กฎและข้อจำกัดเชิงสถาบันที่แตกต่างกัน แนวทางวิเคราะห์นี้ใช้ศึกษากลยุทธ์เชิงนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นในบริบทสถาบันที่แตกต่างกัน และพิจารณารวมถึงความขาดแคลนของสินค้าเชิงสถาบันที่ผู้แทนที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติต้องการ (the goods that parliamentarians seek) เช่น โอกาสที่ได้รับเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง โอกาสที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง การเลื่อนตำแหน่งของตนในพรรคการเมืองหรือการมีตำแหน่งใหม่ ๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น[6]

          จากการพิจารณาถึงผู้แทนทางการเมืองในทางปฏิบัติทำให้เห็นถึงปัจจัยทางการเมืองและสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาบทบาทของผู้แทน ในงานของ Magnus Blomgren และ Olivier Rozenberg (2012) ชื่อ Bringing Parliamentary Roles back เสนอว่ามีตัวแปรทางการเมืองและสังคมที่ส่งผลแตกต่างกันต่อผู้แทนแบบตัวแทนและผู้แทนแบบได้รับมอบหมายตามตารางที่ 1 

 

ตารางที่ 1 : ตัวแปรทางการเมืองและสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาบทบาทผู้แทนทางการเมือง

 

ผู้แทนแบบตัวแทนจากพรรคการเมือง

(Party delegate)

ผู้แทนแบบตัวแทนจากท้องถิ่น

(Local delegate)

ผู้แทนแบบได้รับมอบหมาย

(Trustee)

ตัวแปรทางการเมือง

การสนับสนุนเงินของพรรคการเมือง

การตกต่ำของความเป็นพรรค

การตกต่ำของความเป็นพรรค

ความผันผวนของการเลือกตั้ง

ความผันผวนของการเลือกตั้ง

ความยาวนานของอาชีพทางนิติบัญญัติ

การสร้างความเป็นมืออาชีพในทางการเมือง

การตกต่ำของความไว้วางใจต่อผู้แทน

การเกิดขึ้นของพรรคใหม่

 

การโอนอำนาจ

 

ตัวแปรทางสังคม

 

รัฐสวัสดิการ (แบบจำกัด)

การให้ความสำคัญกับค่านิยมในยุคหลังวัตถุนิยมและหลังปัจเจกชนนิยม

 

การศึกษาที่สูงขึ้น

การเติบโตของสังคมที่มีความหลากหลาย

 

เทคโนโลยีของการสื่อสารรูปแบบใหม่

 

ที่มา : Verzichelli,  in Research Handbook on Political Representation, 243.

หมาเหตุ : ผู้แทนแบบตัวแทนจากพรรคการเมือง (Party delegate) จะมาจากการระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน แต่ผู้แทนแบบตัวแทนจากท้องถิ่น (Local delegate) จะมาจากการเลือกตั้งแบบเขต

 

ความหมายของผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา

          จากข้อจำกัดของผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน (delegation) และผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย (trustee) ทางแนวคิดและทางปฏิบัติ การเสนอแนวคิดใหม่ของผู้แทนทางการเมืองจึงเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งของนักทฤษฎีและนักปฏิบัติ ทั้งนี้ นาเดีย อูร์บินาติ (Nadia Urbinati) ได้เสนอแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบอาสา (advocated) เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้แทนทางการเมืองกับประชาชนในเขตเลือกตั้ง โดยเริ่มทำความเข้าใจใหม่ว่ากระบวนการทางการเมืองของสองฝ่ายมีความต่อเนื่องและไม่สิ้นสุดเพียงการจบการเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันส่งผ่านและเสนอ กลั่นกรอง ผสาน หรือแม้แต่วิพากษ์ความต้องการและความเห็นระหว่างกันอเพื่อให้การถ่ายทอดเจตจำนงของประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หลุดหายไปเนื่องจากกระบวนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว[7] แนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบอาสามีลักษณะอยู่ 2 ประการ ได้แก่

          1) กระบวนการในทางแทนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่แทน (the representation) และสิ่งที่ถูกแทน (the represented) โดยมองว่ากระบวนการแทนของสองสิ่งนี้ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการเลือกตั้งแต่เป็นการเริ่มกระบวนการแทนในขั้นตอนต่อไปที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนและผู้ถูกแทนอย่างต่อเนื่อง แนวคิดของผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาได้เปลี่ยนวิธีการมองประเด็นปัญหาของผู้แทนทางการเมืองจากเดิมที่มุ่งเน้นว่าจะรับผิดชอบต่อเสียงของผู้ใด (ที่เป็นข้อจำกัดของแนวคิดผู้แทนแบบตัวแทน) ให้มองที่ภารกิจของพลเมืองผู้เลือกตั้งแทน การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงแต่กระบวนการสร้างตัวเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ประชาสังคมและสังคมการเมือง ความเป็นผู้แทนทางการเมืองจึงทำหน้าที่ทั้งการส่งผ่านความคิดและความเห็น และเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่างกันที่จะมามีอิทธิพลต่อผู้แทนการเมือง นอกจากนี้การให้พลเมืองผู้ออกเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีภารกิจย่อมหมายความว่าพวกเขาควรมีเครื่องมืออื่นที่หลากหลายในการกำกับผู้แทนทางการเมืองของตน เช่น การใช้กระบวนการถอดถอนและการแสดงประชามติ เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์และกระบวนการที่ต่อเนื่องของการเป็นตัวแทนและทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเพียงแต่การแต่งตั้งผู้มีอำนาจทางการเมืองและสร้างการเป็นทาส

          2) ความรับผิดชอบและบทบาทของผู้แทนทางการเมือง ผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาสามารถไตร่ตรองโดยอาศัยเหตุผลได้ แต่การไตร่ตรองและให้เหตุผลของผู้แทนไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแบบเดียวกับผู้พิพากษาที่สามารถวินิจฉัยชี้ขาดโดยสมบูรณ์ แต่เป็นการให้เหตุผลตามสิ่งที่พยายามนำเสนอโดยพลเมืองในเขตเลือกตั้ง แต่เนื่องจากผู้แทนตามแนวคิดแบบอาสายังคงเชื่อมโยงกับพลเมืองในเขตเลือกตั้งตามความพยายามในการสร้างอิทธิพลของพลเมืองในเขตเลือกตั้ง ผู้แทนทางการเมืองจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ของกลุ่มต่าง ๆ
ที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อตนด้วย[8] ความรับผิดชอบและบทบาทของผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาจึงเป็นการประนีประนอมเชิงความคิดระหว่างผู้แทนแบบตัวแทนและแบบได้รับมอบหมาย

 

          อย่างไรก็ตามแม้แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองแบบอาสาจะพยายามหนึ่งเพื่อแก้ไขปมปัญหาเชิงแนวคิดและเชิงปฏิบัติของผู้แทนทางการเมือง แต่ปัญหาของผู้แทนทางการเมืองก็ยังคงอยู่และเป็นโจทย์การศึกษาที่สามารถพัฒนาและถูกศึกษาในอนาคตอยู่สามด้าน คือ หนึ่ง ปัญหาการออกแบบสถาบันแบบผู้แทนที่เหมาะสมภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้นักรัฐศาสตร์มีข้อเสนอการพัฒนากลไกและโครงสร้างสถาบันแบบตัวแทนในหลายรูปแบบรวมถึงข้อกังวลต่อระบอบการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตยหรือระบอบผสม (Hybridge regime) ที่ปรับประยุกต์เอาสถาบันแบบตัวแทนเพื่อกระชับอำนาจเหนือประชาชน สอง ปัญหาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำให้กลายเป็นชายขอบอันเนื่องจากสถาบันแบบตัวแทน เนื่องจากสถาบันแบบตัวแทนต้องรวบรวมเอาความเห็น มุมมอง และผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้การปฏิรูปสถาบันแบบตัวแทนจึงมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่ได้สัดส่วนของการเป็นตัวแทนที่เกิดขึ้นในอดีต และการศึกษาปัญหาการลดทอนความรับผิดชอบของผู้แทนทางการเมืองรวมถึงการศึกษาว่าสถาบันแบบผู้แทนได้ทำให้ผลประโยชน์ ความคิดเห็น และมุมมองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยถูกทำให้กลายเป็นชายขอบอย่างไร และ สาม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นผู้แทนและประชาธิปไตย เนื่องจากเมื่อพิจารณาทางประวัติศาสตร์จะเห็นว่าความเป็นผู้แทนทางการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเป็นประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรง_(direct_democracy) ที่ประชาชนเข้ามาตัดสินใจและปกครองโดยตรงดังที่เกิดในการปกครองยุคโปราณ และการกระทำของผู้แทนในการปกครองแบบประชาธิปไตยตัวแทนไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับการเป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยเสมอไป การถกเถียงถึงความหมายและวิธีการของการมีความเป็นตัวแทนแบบประชาธิปไตย (democratic representation) ที่ทำให้สถาบันแบบตัวแทนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันประชาธิปไตยจึงสำคัญ[9] ซึ่งโจทย์ทั้งสามด้านข้างต้นยังเป็นประเด็นที่ต้องใช้คำนึงในการพัฒนาแนวคิดและวิถีปฏิบัติของผู้แทนทางการเมืองที่ไปไกลกว่าแนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองเดิมทั้งแบบตัวแทนและแบบที่ได้รับมอบหมาย

 

บรรณานุกรม

Dovi, Suzanne. "Political Representation." The Stanford Encyclopedia of Philosophy 2018. Accessed 5 March, 2021. https://plato.stanford.edu/entries/political-representation/.

Russo, Federico, and Maurizio Cotta. "Chapter 1: Political Representation: Concepts, Theories and Practices in Historical Perspective." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

Urbinati, Nadia. "Representative Democracy and Its Critics." In The Future of Representative Democracy. Edited by John Keane, Sonia Alonso, and Wolfgang Merkel. Cambridge: Cambridge University Press, 2011.

Verzichelli, Luca. "Chapter 19: Types of Democratic Representative." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข. แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองและการปรับใช้ในการเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2566.

 

อ้างอิง

[1] วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข, แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองและการปรับใช้ในการเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2566), 16.

[2] Suzanne Dovi, "Political Representation," The Stanford Encyclopedia of Philosophy 2018, accessed 5 March, 2021, https://plato.stanford.edu/entries/political-representation/.

[3] Federico Russo, and Maurizio Cotta, "Chapter 1: Political Representation: Concepts, Theories and Practices in Historical Perspective," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 3. และดูในคำอธิบายผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย (trustee) หรือดูข้อถกเถียงของแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนและแบบได้รับมอบหมายใน Dovi

[4] วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข, 28-29.

[5] Luca Verzichelli, "Chapter 19: Types of Democratic Representative," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 241-42.

[6] Verzichelli,  in Research Handbook on Political Representation, 242.

[7] Nadia Urbinati, "Representative Democracy and Its Critics," in The Future of Representative Democracy, ed. John Keane, Sonia Alonso, and Wolfgang Merkel (Cambridge: Cambridge University Press, 2011), 120.

[8] วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข, น. 56-57.

[9] Dovi