ผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน (delegation)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : เอกวีร์ มีสุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน (delegation) หมายถึง ผู้แทนทางการเมืองที่ต้องทำหน้าที่และปฏิบัติตนตามความต้องการของผู้เลือกตั้งหรือพลเมืองในเขตเลือกตั้งที่ตนเป็นผู้แทน แนวคิดนี้มองว่าผู้แทนแบบตัวแทนไม่มีหรือไม่ควรมีการใช้วิจารณญาณและความคิดของตนเองเพื่อตัดสินทั้งว่าอะไรคือผลประโยชน์หรือสิ่งที่ดีที่สุดของประชาชนหรือของเขตเลือกตั้งที่ตนอยู่ ผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนต้องทำหน้าที่เพียงสะท้อนความต้องการและผลประโยชน์ของพลเมืองในเขตเลือกตั้งเท่านั้น[1] ทั้งนี้ ซูซานนา โดวี (Suzanne Dovi) เสนอว่าผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนต้องทำตามลำดับความชอบที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้แสดงออกมา[2] ในการทำความเข้าใจแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนสามารถพิจารณาผ่านพัฒนาการทางแนวคิดและองค์ประกอบของแนวคิดดังกล่าว

 

พัฒนาการและฐานคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน

          การพิจารณาความหมายของผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนต้องย้อนพินิจไปในยุคโบราณที่แนวความคิดความเป็นผู้แทนปรากฎขึ้นมาจากมิติทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางความคิดของโลกตะวันตกและมรดกทางวัฒนธรรมของยุโรปพวกว่าแนวคิดผู้แทนทางการเมืองมีจุดเริ่มต้นจากธรรมเนียมทางกฎหมายของโรมันที่พิจาณาถึงความเป็นตัวแทนและข้อจำกัดทางอำนาจของผู้แทนที่ทำหน้าที่แทนคนอื่นในกระบวนการยุติธรรมเพื่อตัดสินคดีความ ต่อมาแนวคิดความเป็นผู้แทนดังกล่าวได้แผ่ขยายไปถึงภาคส่วนอื่นในทางการเมืองที่นำมาสู่ความคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองและมีการพัฒนาลักษณะและบทบาทของความเป็นผู้แทนในหลายแวดวงการเมืองและตำแหน่งทางการเมือง/การบริหารงานภาครัฐต่าง ๆ ทั้งในทางการทูตและการปกครองในระดับรัฐกับท้องถิ่น ฯลฯ[3] ที่ทำให้พัฒนาการของระบบกฎหมายและการปกครองของยุโรปในชั้นหลังได้นำเสนอแนวคิดและวิธีปฏิบัติของความเป็นผู้แทนทางการเมืองในสองลักษณะที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน คือ ผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน (delegation) และ ผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย (trustee)[4]

          จากพัฒนาการของระบบกฎหมายของแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนสามารถพิจารณาจากมิติการให้คำสั่ง (instructions) ที่ผู้แทนจะได้รับจากผู้ที่ถูกแทนหรือสิ่งที่ถูกแทน (the represented) เพื่อนำคำสั่งเหล่านี้ไปเตรียมตัวสำหรับการเข้าร่วมที่ประชุมในฐานะผู้แทน ในธรรมเนียมทางกฎหมายของยุคกลางก็เช่นกันที่ผู้มีอำนาจทางฆารวาส (secular) และทางศาสนจักร (religious) ก็มองว่าผู้ที่ถูกแทน/สื่งที่ถูกแทนควรทำหน้าที่ให้ข้อแนะนำต่อผู้แทน (delegate) ของพวกเขาให้ไปส่งเสียงเรียกร้องความต้องการและปกป้องเสรีภาพและผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าประสบการณ์ความเป็นตัวแทนจะมีข้อจำกัดเป็นอย่างมากเนื่องจากระดับการพัฒนาให้เป็นสถาบันของผู้แทนมักมีข้อบกพร่องและมิติที่ให้ความสำคัญกับการสั่งการแบบบนลงล่าง (อันหมายถึงการที่เจ้าผู้ปกครองและคำสั่งของพวกเขามีความสำคัญต่อชีวิตคนเบื้องล่าง) ที่มีมากกว่าการให้ความสำคัญกับมิติจากล่างขึ้นบน (อันหมายถึงการให้คนเบื้องล่างสามารถเลือกหรือกำหนดผู้แทนเองได้) แต่แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองก็ยังมีร่องรอยและรักษาความสืบเนื่องทางความคิดและวิถีปฏิบัติมาจนถึงยุคสมัยใหม่ที่การปกครองของประเทศทางยุโรปเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นผู้แทนมากยิ่งขึ้นสะท้อนได้จากการถกเถียงความคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้แทนทางการเมืองที่พบในนักคิดในโลกภาษาอังกฤษอย่าง โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) และเอ็ดมันส์ เบิร์ก (Edmund Burke) หรือนักคิดชาวฝรั่งเศสอย่างมองเตสกิเออ (Montesquieu) หรือนักคิดและนักการเมืองชาวอเมริกันอย่าง เจมส์ เมดิสัน (James Madison)[5]

          มองเตสกิเออเป็นนักคิดนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีผู้แทนทางการเมือง เขาได้พยายามพัฒนาการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบถึงรูปแบบการปกครองผ่านการใช้ธรรมนูญของอังกฤษเป็นต้นแบบของการมีรัฐบาลหรือการปกครองที่เสรี ควบคู่กับการพัฒนาแนวคิดการปกครองแบบตัวแทน (representative government) ให้ซับซ้อนขึ้นจนส่งผลต่อกรอบมโนทัศน์ทางความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ มองเตสกิเออเสนอว่าการมีสภาของเหล่าผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจในการตรากฎหมายและสามารถส่งผ่านมุมมองของประชาชนถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐขนาดใหญ่ที่การอาศัยการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้อเสนอของมองเตสกิเออได้นำเสนอมุมมองใหม่ที่สำคัญสองประการ คือ มุมมองใหม่ที่มีต่อสังคมและการเชื่อมร้อยภายในสังคม และ มุมมองต่อปัญหาการจำกัดอำนาจ (power limitation) จนนำมาสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นตัวแทน (representation) และรูปแบบสถาบันของความเป็นตัวแทนว่าจะต้องให้ความสำคัญต่อมุมมองทั้งสองด้านนี้ควบคู่กันในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการทำให้ผลประโยน์ที่มีอยู่หลากหลายในสังคมสามารถมีที่ทางและส่งเสียงออกมาได้ (ผ่านสถาบันความเป็นตัวแทน) และการจำกัดอำนาจอันสมบูรณ์ของผู้ปกครอง (โดยการมีสถาบันที่มีผู้แทนจำนวนมากทำหน้าที่ใช้อำนาจและตรากฎหมาย) ท้ายสุดแล้วปัญหาแกนกลางสำคัญของสองมุมมองคือจะทำอย่างไรในการแปลงคะแนนเสียงข้างมาก (plurality) มาเป็นการตัดสินใจที่เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม[6] นอกจากนี้ เจมส์ เมดิสัน ยังเสนออีกว่าการปกครองแบบผู้แทนคือการมีรัฐบาลของตัวแทนที่มากจากจำนวนประชาชนจำนวนน้อยที่ได้รับเลือกจากประชาชนที่เหลือ และการมีรัฐบุรุษอันทรงภูมิจะต้องไม่ทำตัวเป็นคนถือหางเสืออยู่ตลอดไป เมดิสันยังเสนออีกว่าการมีจำนวนประชากรที่มากและหลากหลายจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ลดปัญหาการมีผู้ความเป็นผู้แทนที่เลว (bad representation) กล่าวคือความชื่นชอบของผู้ที่ถูกแทนจะถูกป้องกันปัญหาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย (faction)[7]

          นอกจากนี้ หากพิจารณาจากพัฒนาการทางสถาบันทางการเมืองของผู้แทนอย่างรัฐสภาในบางประเทศพบว่าการก่อตัวของแนวคิดผู้แทนที่ให้น้ำหนักไปทางการเป็นผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน การพัฒนาและเปลี่ยนผ่านของสถาบันรัฐสภาในอังกฤษเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้ภาพดังกล่าว เนื่องจากแนวคิดความชอบธรรมของสถาบันรัฐสภาของอังกฤษมีความเก่าแก่ยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ที่อิงกับแนวคิดความเป็นผู้แทนกับชุมชน (community) ว่าผู้แทน (representatives) จะได้รับอำนาจอย่างเต็มรูปแบบจากชุมชนในการไปเข้าร่วมประชุมสภาและสภาสามัญ (the House of Commons) ถูกทำความเข้าใจว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ขณะที่สถาบันกษัตริย์ไม่ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นตัวแทนประชาชนเหมือนกับสภา แม้ว่าจะมีข้อสงสัยว่าสภาของอังกฤษในยุคโบราณจะสะท้อนเสียงและเป็นตัวแทนของประชาชนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งหรือได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภาไม่ได้อิงกับประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐในขณะนั้น เพราะตำแหน่งในสภาสามารถซื้อขายได้ การจัดสรรตำแหน่งในสภาให้กับผู้มีอำนาจทางการบริหารและการมีจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนที่มีน้อยมากในเขตเลือกตั้งแต่ละแห่ง จนทำให้สมาชิกสภาสามัญไม่ได้มีความจำเป็นในการตอบสนองต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และขาดการเปิดเผยสู่สาธารณะของสภา (parliamentary publicity) ก็ทำให้สาธารณชนยากที่จะควบคุมการทำงานของเหล่าผู้แทนในสภา อย่างไรก็ตามสภาสามัญของอังกฤษก็ได้ช่วยบ่มเพาะแนวคิดความเป็นผู้แทนแบบตัวแทน เนื่องความเป็นผู้แทนทางการเมืองต้องเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นของชุมชนต่อสถาบันกษัตริย์หรือสภาด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นคุณแก่ชุมชน นอกจากนี้ความเป็นผู้แทนทางการเมืองต้องยืนยันในกระบวนการของการเลือกตั้งผู้แทนที่สะท้อนมุมมองของชุมชน ทั้งนี้สภาของอังกฤษถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของ “การไต่สวนอันยิ่งใหญ่ของชาติ สภาจะต้องเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอความคับข้องใจของประชาชนต่อกษัตริย์ และประชาชนจะต้องเลือกผู้แทนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ (the grand Inquest of the Nation, they are to represent the grievances of the People to their Sovereign; and the People are always to choose proper representatives for that Purpose.)”[8]

 

องค์ประกอบของผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน

          แนวคิดว่าด้วยผู้แทนทางการเมือบแบบตัวแทนโดยทั่วไปควรทำหน้าที่นำเสนอความคิดของประชาชนที่อยู่ในเขตเลือกตั้งไปยังพื้นที่หรือสถาบันทางการเมืองซึ่งทำหน้าที่ในการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะอย่างรัฐสภา โดยแนวคิดนี้มีลักษณะเฉพาะ 2 ประการ คือ

          1) ผู้แทนทางการเมืองทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่เลือกตนขึ้นมา แม้ว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่งจะมีประชาชนที่มีลักษณะ อัตลักษณ์ และความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่ตราบเท่าที่พื้นที่ของประเทศมีขนาดใหญ่เพียงพอและผลประโยชน์ส่วนตนของแต่ละคนที่ขัดกันนั้นมิได้ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศเสียหาย พลเมืองสามารถย้ายถิ่นฐานและเปลี่ยนที่อยู่ของตนไปยังเขตเลือกตั้งอื่นได้ หากพวกเขาเผชิญกับการละเมิดเสรีภาพหรือไม่พอใจในตัวผู้แทนของเขตเลือกตั้งตน

          2) การควบคุมโดยพลเมืองในเขตเลือกตั้งและความรับผิดชอบของผู้แทนทางการเมือง แนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนให้ความสำคัญต่อการควบคุมผู้แทนทางการเมืองในเขตเลือกตั้งโดยพลเมือง เพื่อให้ผู้แทนที่ตนเลือกตั้งมาสามารถนำเสนอความเห็นความต้องการและผลประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในเขตเลือกตั้ง หากผู้แทนคนใดไม่สามารถปฏิบัติตนดังกล่าวได้ประชาชนก็สามารถเลือกผู้แทนคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป กล่าวคือการทำหน้าที่เสนอความเห็น ความต้องการ และผลประโยชน์ของประชาชนในเขตเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[9]

 

          ทั้งนี้ แฮนนาห์ พิทกิน (Hanna Pitkin) นักรัฐศาสตร์และนักปรัชญาขาวอเมริกันยังเสนอว่าแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน จะช่วยสร้างความเป็นอิสระให้กับผู้ที่ถูกแทน (the autonomy of those being represented) ที่เลือกผู้แทนเข้ามา (the preferences of the represented) เพื่อนำไปใช้ในการประเมินตัวผู้แทนทางการเมือง (ประเมินว่าผู้แทนได้กระทำการใด ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่) กล่าวคือผู้แทนต้องกระทำการต่าง ๆ ในทางที่จะต้องปกปักรักษาความสามารถของผู้ที่เข้ามาแทนให้สามารถมอบอำนาจและรักษาไว้ซึ่งความพร้อมรับผิดของผู้แทนทางการเมืองให้ได้ (ความพร้อมรับผิดชอบของผู้แทนขึ้นอยู่กับว่าผู้แทนสามารถทำในสิ่งที่ตรงกับความคิดและความต้องการของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีความสามารถที่จะเรียกร้องให้ผู้แทนต้องทำแบบนั้นด้วย) อย่างไรก็ตาม พิทคินมองว่าแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนแม้จะมีความต่างจากแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย แต่ทั้งสองแนวคิดควรมีและใช้ควบคู่กันในการนิยามความหมายผู้แทนทางการเมือง ทำให้แนวคิดความเป็นผู้แทนมีลักษณะและธรรมชาติที่ย้อนแย้งกัน

          นอกจากนี้ พิทกินยังได้พัฒนาแนวคิดผู้แทนทางการเมืองให้มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดมากขึ้นด้วย ในแนวคิดความเป็นผู้แทนแบบทางการ (Formalistic Representation) ของพิทกินที่ให้ความสำคัญกับการจัดการเชิงสถาบันที่จะเป็นแบบอย่างและริเริ่มความเป็นผู้แทนทางการเมืองจะประกอบไปด้วย 2 มิติ คือ มิติการได้รับมอบอำนาจ (authorization) และ มิติความพร้อมรับผิด (accountability) ในมิติความพร้อมรับผิดนี้สะท้อนถึงแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนได้อย่างชั้นเจน มิติความพร้อมรับผิดจะให้ความสำคัญกับความสามารถของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในการลงโทษผู้แทน หากผู้แทนล้มเหลวในการกระทำการใด ๆ ที่สอดคล้องกับความปรารถนาของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง โดยทั่วไปแล้วความสามารถดังกล่าวจะทำได้โดยอาศัยการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผู้แทนที่ล้มเหลวเหล่านี้ให้ออกจากตำแหน่งหรือการทำให้เกิดการตอบสนอง (responsiveness) ของผู้แทนต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้มิติการพร้อมรับผิดยังช่วยในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของผู้แทนทางการเมืองโดยให้ความสำคัญกับ 2 โจทย์การวิจัย คือ หนึ่ง อะไรคือกลไกการลงโทษที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งสามารถใช้ในการให้ผู้แทนพร้อมรับผิดต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง และ สอง ผู้แทนได้ตอบสนองต่อความพึงใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไรก็ตามการประเมินผู้แทนด้วยเกณฑ์ตามมิติความพร้อมรับผิดยังขาดมาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อบ่งชี้ว่าผู้แทนควรประพฤติปฏิบัติตนให้ดีมากน้อยเพียงใดถึงจะเรียกได้ว่ามีความพร้อมรับผิดต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง[10]

          การให้ความสำคัญต่อการตอบสนองและความพร้อมรับผิดของแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนที่ผู้แทนต้องสะท้อนผลประโยชน์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ สอดรับกับการพัฒนาเชิงสถาบันและการออกแบบระบบเลือกตั้ง/เขตพื้นที่การเลือกตั้ง ทำให้เกิดงานศึกษาเกี่ยวกับผลประโยชน์เชิงพื้นที่ (territorial interests) ได้ส่งผลต่อกระบวนการนิติบัญญัติ โดยให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อความพึงพอใจทางนโยบายของผู้ออกเสียงเลือกตั้งและวิธีการที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะทำให้ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีความพร้อมรับผิดต่อตน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตความเป็นผู้แทนเชิงพื้นที่ (territorial representation) ส่งผลต่อความพร้อมรับผิดของผู้แทนที่มีต่อประชาชน แม้ในทางทฤษฎีการมีขนาดพื้นที่ของความเป็นผู้แทนที่เหมาะสมจะช่วยทำให้เกิดการแบ่งแยกพื้นที่ของการสร้างการตัดสินใจให้ผู้แทนมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นทางนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการให้กับบุคคล อาทิ การสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการสังคม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วยังขาดหลักฐานที่ประจักษ์ชัดอันสามารถพิสูจได้ว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ จะช่วยทำให้เกิดช่องทางที่มีประสิทธิผลของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้แทน[11] ขณะเดียวกันแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทน ก็ส่งผลต่อการออกแบบและการกำหนดคุณลักษณะของสภานิติบัญญัติที่มองว่าควรทำหน้าที่เป็น ไมโครโซม หรือ ภาพจำลองสังคมขนาดใหญ่ (microcosm of society at large) โดยให้ผู้แทนในสภาควรสะท้อนถึงคุณลักษณะของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในเชิงสังคมและประชากร อาทิ ชนชั้น เพศสภาพ อายุ การศึกษา ศาสนา ชาติพันธุ์ ฯลฯ (โดยอิงบนความเข้าใจว่าการมีผู้แทนที่มีคุณลักษณะบางอย่างร่วมกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็จะช่วยให้ผู้แทนสะท้อนความต้องการของผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้) แม้ว่าจะมีข้อท้าทายในเชิงสถิติในการกำหนดสัดส่วนและสุ่มตัวอย่างของความเป็นผู้แทนให้สะท้อนคุณลักษณะดังกล่าวจากจำนวนประชากรโดยรวม อย่างไรก็ตามการให้สภามีผู้แทนที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เป็นวิธีการที่ช่วยแก้ไขปัญหาของการใช้ประชาธิปไตยทางตรง_(direct_democracy) ที่แม้จะให้ประชาชนทุกคนสามารถลงมือปฏิบัติและตัดสินใจตามความต้องการของตนเองโดยตรง แต่ก็เป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ[12]

 

บรรณานุกรม

Denters, Bas. "Chapter 15: Local Jurisdiction Size and Political Representation." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

Dovi, Suzanne. "Political Representation." The Stanford Encyclopedia of Philosophy 2018. Accessed 5 March, 2021. https://plato.stanford.edu/entries/freedom-speech/.

Ihalainen, Pasi, and Zachris Haaparinne. "Chapter 7: From Estate Representation to the Representation of the People and the Nation in the Age of Revolutions." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

Russo, Federico, and Maurizio Cotta. "Chapter 1: Political Representation: Concepts, Theories and Practices in Historical Perspective." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

Thorlaksons, Lori. "Chapter 14: Territorial and Multilevel Representation." In Research Handbook on Political Representation. Edited by Maurizio Cotta and Federico Russo. Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020.

วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข. แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองและการปรับใช้ในการเมืองไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2566.

 

อ้างอิง

[1] วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข, แนวคิดความเป็นผู้แทนทางการเมืองและการปรับใช้ในการเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า, 2566), 16.

[2] Suzanne Dovi, "Political Representation," The Stanford Encyclopedia of Philosophy 2018, accessed 5 March, 2021, https://plato.stanford.edu/entries/freedom-speech/.

[3] Federico Russo, and Maurizio Cotta, "Chapter 1: Political Representation: Concepts, Theories and Practices in Historical Perspective," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 4.

[4] ดูในคำอธิบายผู้แทนทางการเมืองแบบได้รับมอบหมาย (trustee) หรือดูข้อถกเถียงของแนวคิดผู้แทนทางการเมืองแบบตัวแทนและแบบได้รับมอบหมายใน Dovi

[5] Russo, and Cotta,  in Research Handbook on Political Representation, 4.

[6] Russo, and Cotta,  in Research Handbook on Political Representation, 4-5.

[7] Dovi

[8] Pasi Ihalainen, and Zachris Haaparinne, "Chapter 7: From Estate Representation to the Representation of the People and the Nation in the Age of Revolutions," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 86.

[9] วนัส ปิยะกุลชัยเดช, และ เอกวีร์ มีสุข, น. 49-50.

[10] Dovi

[11] Lori Thorlaksons, "Chapter 14: Territorial and Multilevel Representation," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 177.

[12] Bas Denters, "Chapter 15: Local Jurisdiction Size and Political Representation," in Research Handbook on Political Representation, ed. Maurizio Cotta and Federico Russo (Cheltenham, UK: Edward Elgar Publishing, 2020), 184.