ผิน ชุณหะวัณ : หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผิน ชุณหะวัณ : หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญครั้งหนึ่งในอดีต คือการรัฐประหาร 2490 ที่หัวหน้าคณะชื่อ พลโท ผิน ชุณหะวัน หรือหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ หลายท่านอาจรู้จักชื่อผิน ชุณหะวัณ แต่น้อยคนนักที่จะทราบบรรดาศักดิ์ของท่าน เพราะท่านไม่ได้ใช้บรรดาศักดิ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีการยกเลิกการมีบรรดาศักดิ์ ทั้งๆ ที่ท่านเองก็มิได้เป็นผู้ก่อการฯแต่อย่างใด และท่านก็ใช้นามสกุลเดิมของท่านโดยมิได้เปลี่ยนเอาบรรดาศักดิ์มาเป็นนามสกุลด้วย
ผิน ชุณหะวัณ เป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่บางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2434 มีบิดาเป็นหมอแผนโบราณ ชื่อไข่ และแม่ชื่อพลับ การศึกษาของท่านนั้นก็เริ่มใกล้บ้าน อยากเป็นทหารจึงเข้าโรงเรียนนายสิบที่ราชบุรี ด้วยความที่เป็นคนหัวดีเรียนเก่ง สอบได้คะแนนดีมากของรุ่น จึงได้รับเลือกไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ศึกษาจบรุ่นเดียวกับนักปฏิวัติที่ชื่อ แปลก ขีตะสังคะ หรือหลวงพิบูลสงคราม ทว่ามิได้อยู่ในกลุ่มเพื่อนทหารที่หลวงพิบูลฯชวนเข้าร่วมงานเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย และวันที่มีการยึดอำนาจ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ผิน ชุณหะวัณ เป็นนายร้อยทหารบกอยู่ที่ปราจีนบุรี ผู้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้านาย ยังได้ส่งให้มาสืบข่าวเหตุการณในเมืองหลวง
ท่านมีบทบาทและได้ทำงานร่วมกับหลวงพิบูลฯก็เมื่อคราวเกิดกบฏบวรเดช เพราะในครั้งนั้นท่านได้เป็นเสนาธิการกองผสมของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเพื่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายกบฏบวรเดช กองผสมนี้มีเพื่อนร่วมรุ่นของท่านคือนายพันโท หลวงพิบูลฯเป็นผู้บังคับการกองกำลังผสม และกองกำลังผสมนี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏบวรเดช ดังนั้นหลังปี 2476 ปราบกบฏเรียบร้อยแล้ว การทำงานในกองทัพของผินจึงก้าวหน้าเป็นอย่างดี ได้เลื่อนตำแหน่งจากเสนาธิการมณฑลทหารบก ที่ 3 เป็นรองผู้บังคับการ และต่อมาเป็นผู้บังคับการมณฑล ได้ใน ปี 2480 ทั้งยังได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก เท่ากับเพื่อนคือหลวงพิบูลฯที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย
อีก 3 ปีถัดมาก็ได้ออกไปเป็นรองแม่ทัพอีสาน ถึงปี 2484 ปีที่มีสงครามอินโดจีน พันเอก ผิน ก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และอีกปีต่อมาก็ได้ตำแหน่งไปประจำที่สหรัฐไทยใหญ่ ณ เมืองเชียงตุง ตอนนั้นอยู่ในยุคผู้นำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีคำขวัญว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" และไทยมีบทบาทสำคัญในอินโดจีน ครั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2487 หลวงพิบูลฯพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พลโทผิน ได้ลาออกจากราชการ ไปทำนาทำสวนอยู่ที่เมืองแปดริ้ว เพียงสองปีต่อมาเมื่อนักการเมืองเล่นการเมืองขัดแย้งกันมาก พลโทผิน นายทหารนอกราชการ ที่มีบุตรเขยและบุตรชายที่ยังเป็นนายทหารประจำการ คือพันโท เผ่า ศรียานนท์ พันตรี ประมาณ อดิเรกสาร และร้อยเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงนำกำลังทหารบก เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.
2490
พลโทผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเคยให้สัมภาษณ์ ดังที่ สุชิน ตันสกุล ได้เล่าเอาไว้ว่า
“บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ อยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จึงไม่สามารถทนดูได้....ตั้งองค์การสรรพาหาร เอาเงินมาแบ่งกัน กินกำไรกัน พูดถึงชาวนา มันเหลือทน ไปทำนาอยู่หนึ่งปี มันเหนื่อยยากแสนสาหัส ต่างประเทศส่งจอบมาช่วยชาวนา แต่ผู้แทนกลับเซ็งลี้เอาไปขายพ่อค้าเสีย แล้วพ่อค้าก็ไปเอากำไรกับชาวนาอีกต่อหนึ่ง เป็นการทำนาบนหลังคน จึงพร้อมใจกันเริ่มก่อการรัฐประหารทันที”
เขาเล่ากันว่าในการให้สัมภาษณ์ของพลโท ผิน หลังการรัฐประหารครั้งนั้นถึงกับน้ำตาไหล จนมีผู้ตั้งฉายาท่านภายหลังว่าเป็น “จอมพลเจ้าน้ำตา” อยู่บ้าง ยังมีคำให้สัมภาษณ์ของท่านที่น่าสนใจอีกว่า
“ผมทนดูเขาโกงกันไม่ไหว ดูซิคุณ เขารวยกันเป็นล้านๆ ผมเป็นนายพลนุ่งกางเกงปะก้น เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นเงินหมื่น”
พลโท ผิน เปลี่ยนรัฐบาลเอาหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ออกไปแล้ว ก็ไปเอานายควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลและจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ตอนต้นปี 2491 เลือกตั้งกันเสร็จนายควง อภัยวงศ์ ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่บริหารงานไปยังไม่ทันไร คณะรัฐประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้ส่งนายทหารสี่นาย มี พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท พ.อ.ศิลป ศิลปศรชัย พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ และ พ.ท.ละม้าย อุทยานนท์ ไปยื่นคำขาดให้นายควง ลาออกจากตำแน่งนายกรัฐมนตรี นายควงได้ตรวจสอบและแน่ใจว่าเป็นเจตจำนงของคณะรัฐประหาร จึงได้ยอมลาออกในวันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกัน ต่อมาภายหลัง จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้เขียนเล่าอย่างตรงไปตรงมาให้อ่านดังนี้
“ครั้นรัฐบาลของ นายควง อภัยวงศ์ บริหารราชการแผ่นดินไปได้ 5 เดือนเศษ คณะรัฐประหารได้ประชุมกันพิจารณาว่ากิจการต่างๆไม่ก้าวหน้า ข้าราชการพลเรือนขาดวินัย ไปทำงานตามกระทรวง มีแต่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงตัวเดียว ตลอดจนผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกาง'เกง'ขายาวและสวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชายเสื้ออยู่ข้างนอกกางเกง เข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้ นายควง อภัยวงศ์ออกจากนายกรัฐมนตรี”
ปี 2491นี่เองที่ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบกมียศเป็นพลเอก แต่ก็ยังไม่ได้ร่วมรัฐบาล คงอยู่นอกรัฐบาลและให้ความคุ้มครองรัฐบาล เพราะในช่วงเวลานั้นรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเขามาแทนที่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็ไม่มีความมั่นคง มีผู้พยายามจะล้มรัฐบาลอยู่หลายครั้ง จนเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดจี้จับตัวนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน
ตอนกลางปี 2494 ได้เกิด “กบฏแมนแฮตตัน” ที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่งทำการใหญ่ บุกเข้าจี้จับตัวหลวงพิบูลฯนายกรัฐมนตรีไปกักตัวไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา จนรัฐบาลสั่งโจมตีเรือรบศรีอยุธยาจมลง รัฐบาลปราบกบฏได้ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน คณะรัฐประหารที่นำโดย พลเอก ผิน ชุณหะวัณ ประกอบด้วยนายทหารระดับสูงจากกองทัพทั้งสาม กองทัพละสามนาย ได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้ง มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ล้มรัฐสภา และต่อมาได้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มาแก้ไขปรับใช้ เรียกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 หลวงพิบูลฯได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังการยึดอำนาจและตั้งรัฐบาลใหม่ ถึงตอนนี้รัฐบาลของหลวงพิบูลฯก็มีความมั่นคง
รัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากการยึดอำนาจ ปี 2494 ของหลวงพิบูลฯนั้น มีพลเอก ผิน เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก ที่จริงพลเอก ผิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากในขณะนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองก็ได้ มีเรื่องเล่ากันว่ามีคนเคยถามท่าน และท่านบอกว่าท่านไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะท่านไม่ถนัดในการติดต่อกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตามท่านก็เป็นรองนายกฯที่มีอำนาจมากในระยะเวลา 3 ปีแรกขณะที่ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ด้วย
ในปี 2495 พลเอก ผิน ได้ตำแหน่งสูงสุดของทหารคือเป็นจอมพล นับเป็นจอมพลคนที่สองที่มีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คนแรกคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นหลังไทยชนะสงครามอินโดจีน หลังจากท่าน (จอมพล ผิน) ได้เป็นจอมพลแล้ว ต่อมาจึงมีจอมพลตามมาอีก 3 นาย ได้แก่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล และ จอมพล อากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี จอมพล ผินได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อมาจนถึงวัน ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2497 จึงได้พ้นตำแหน่ง เปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ ตอนนั้นจอมพลผินอายุประมาณ 63 ปีแล้ว
เมื่อเข้ามาในคณะรัฐมนตรีโดยเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีอำนาจมาก ถึงวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2496 จึงได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเพิ่มขึ้น ไปดูแลกระทรวงเกษตร และท่านก็เป็นรัฐมนตรีดูแลกระทรวงนี้อย่างยาวนานสืบต่อกันมาจนถึงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 อันเป็นวันที่ จอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ส่วนการเป็นรองนายกฯนั้นท่านเป็นอยู่เพียงวันที่ 19 เมษายน ปี 2499 เท่านั้น
จอมพล ผิน นั้นในแวดวงการเมืองสมัยที่ท่านเรืองอำนาจ เขาเรียกท่านว่า “ป๋าผิน” เพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจสูงวัย และที่สำคัญมีลูกเขยและลูกอยู่ในวงการเมืองและกองทัพในตำแหน่งสำคัญมาก คือลูกเขยคนโต สามีคุณหญิงอุดมลักษญ์ ผู้เป็นธิดาคนโตของท่านคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคที่เขาว่ากันว่า "ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และท่านยังเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลตอนนั้น ธิดาคนที่สองของท่านชื่อ พร้อม มีสามีชื่อ อรุณ ทัพพะรังสี เคยเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางสมัยนั้น ธิดาคนที่สามชื่อเจริญ ต่อมาเป็นคุณหญิง เป็นภริยาของ พลตรีประมาณ อดิเรกสาน ที่เป็นรัฐมนตรีร่วมในรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ธิดาคนต่อมาชื่อ พรสม เป็นภริยา นายเฉลิม เชี่ยวสกุล ผู้เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนบุตรชายของท่าน คือชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายพลทหารม้ายานเกราะ บุตรและธิดาของท่านนี้เกิดจาก ท่านผู้หญิงวิบุลย์ลักษณ์ ชุณหะวัณ
ตำแหน่งสำคัญที่ไม่เป็นทางการของจอมพล ผิน ก็คือประมุขของ “บ้านราชครู” หรือกลุ่มราชครู การเรียกชื่อกลุ่มนี้มาจากชื่อซอยอันเป็นที่ตั้งของบ้านพักจอมพลผินและบุตรธิดาที่กระจายติดต่อกันในบริเวณซอยราชครู ถนนพหลโยธิน กลุ่มราชครูนี้เป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เคยมีบทบาททางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2490 มากกว่าพรรคการเมืองเสียอีก และได้มีบทบาทมากและน้อยในวงการเมืองไทยต่อมาประมาณกึ่งศตวรรษเลยทีเดียว
เมื่อพลเอก ผินได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้ว หัวหน้ากลุ่มราชครูก็มีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองมาก และได้ขยายไปยังวงการธุรกิจ ดังจะเห็นได้ว่าสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ท่านได้ตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดังมากในสมัยนั้นและต่อมาก็มีบริษัททางด้านผลผลิตทางเกษตรอีกหลายบริษัทได้รับการตั้งขึ้นโดยจอมพล ผิน ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญ จึงเป็นที่รู้กันว่าท่านได้มีบทบาททางการค้ามากขึ้นหลังจากลดบทบาททางทหารลงไป
ในช่วงเดียวกันเมื่อบทบาททางทหารลดลง ทางกลุ่มราชครูก็ได้รุกเข้าไปทางการเมือง ด้วยการสนับสนุนให้นายกฯตั้งพรรคการเมือง คือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่นายกฯรับเป็นหัวหน้าพรรค และจอมพล ผินเข้าไปเป็นรองหัวหน้าพรรค ที่สำคัญ พล.ต.อ.เผ่า ลูกเขยจอมพล ผิน เป็นเลขาธิการพรรค เป็นผู้บริหารพรรคอย่างแท้จริง พร้อมเล่นการเมืองในสนามเลือกตั้ง หากแต่ว่าเข้าสนามเลือกตั้งครั้งแรกก็เกิดปัญหาใหญ่ จนนำมาสู่การรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 อันเป็นวันที่จอมพล ผินหมดอำนาจทางการเมืองและทางทหารไปด้วย พล.ต.อ.เผ่า ผู้เป็นบุตรเขยถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศไปที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และบุตรชายที่เป็นนายทหารก็ถูกส่งตัวไปเป็นทูตไกลถึงประเทศอาร์เยนตินา แต่ในปี 2502 เมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วยนั้น จอมพล สฤษดิ์ก็ยังเสนอชื่อจอมพล ผินเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ มีอายุยืนจนได้เห็นบุตรชายกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในปี 2515 ท่านถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2516