ประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำ (elitist democracy)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำ (elitist democracy) คือ รูปแบบการปกครองที่ชนชั้นนำมีอำนาจและบทบาททางการเมืองการปกครองสูงโดยเลือกที่จะดำรงอยู่และมีการสืบทอดอำนาจผ่านการลงแข่งขันในการเลือกตั้ง[1] และเข้าต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้กติกาของระบอบประชาธิปไตยมากกว่าการดำรงอยู่ โดยการยึดเอาอำนาจมาไว้กับตนเองทั้งหมด เนื่องจากการรักษาอำนาจของชนชั้นนำภายใต้ระบอบเผด็จการหรือโดยใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีต้นสูง ในขณะที่ชนชั้นนำซึ่งมีความได้เปรียบทั้งในด้านเศรษฐกิจ (ความร่ำรวย) สังคม (ระดับการศึกษาที่สูง) และวัฒนธรรม (การเกิดในวงศ์ตระกูลที่เก่าแก่) มากกว่าคนทั่ว ๆ ไป[2] จะเสนอตัวขึ้นมาเป็นตัวเลือกในกระบวนการเลือกตั้ง และด้วยความได้เปรียบในทุก ๆ ด้านดังกล่าว ทำให้ชนชั้นนำสามารถเข้าไปกำกับและควบคุมกลไกการคัดสรรผู้แทนประชาชน อันได้แก่ นักการเมือง พรรคการเมือง รวมถึงระบบราชการ[3] นักรัฐศาสตร์บางกลุ่มเรียกชนชั้นนำเหล่านี้ว่า "ชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตย (democratic elite)"[4] และเรียกประชาธิปไตยที่การแข่งขันเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งถูกผูกขาดความได้เปรียบไว้ในมือของชนชั้นว่า "ประชาธิปไตยที่แข่งขันกันเองในหมู่ชนชั้นนำ (competitive elitist democracy)"[5]

 

ชนชั้นนำกับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

          ถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วประชาธิปไตยจะเป็นการปกครอง “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าการริเริ่มกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและขับเคลื่อนให้ประชาธิปไตยที่ถูกสถาปนาขึ้นอยู่รอดปลอดภัยได้นั้นต้องอาศัยบทบาทและการสนับสนุนของชนชั้นนำ กล่าวคือ เมื่อย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการที่ชนชั้นนำสามารถกำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้ตามที่พวกตนปรารถนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีพลังในการเข้าไปกดดันเพื่อให้ได้แนวนโยบายที่พวกตนต้องการมากกว่า จะพบว่าประชาธิปไตยในแทบจะทุกประเทศทั่วโลก ล้วนถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของชนชั้นนำแทบทั้งสิ้น[6]

          ทำไมชนชั้นนำจึงยอมลดทอนอำนาจสิทธิขาดของตนลงและยินยอมแบ่งปันอำนาจนั้นให้แก่ประชาชนผ่านกระบวนการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย? นักรัฐศาสตร์สำนักชนชั้นนำนิยม (elitism) อธิบายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นเมื่อประชาชนจำนวนมากเริ่มอึดอัดคับข้องใจกับความสับสนอลหม่านของสังคมภายใต้ระบอบเผด็จการ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลากหลายกรณี เช่น สภาวะสงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความล้มเหลวของรัฐในการจัดการกับปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนที่อดรนทนไม่ได้จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลโดยเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การนัดหยุดงาน การเดินขบวน การก่อจลาจล ไปจนถึงขั้นการปฏิวัติในบางกรณี การเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเหล่านี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการเนื่องจากมันจะไปเพิ่มต้นทุน (cost) ให้กับชนชั้นนำซึ่งโดยธรรมชาติย่อมต้องการรักษาอำนาจของตนไว้ให้ยาวนานที่สุด โดยเฉพาะต้นทุนในการปราบปราม (repression) ซึ่งถือว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ชนชั้นนำปรารถนาและพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนของการดำรงอยู่ในอำนาจ ชนชั้นนำจะค่อย ๆ โอนอ่อนผ่อนปรนให้กับข้อเรียกร้องต่าง ๆ โดยการออกนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองสินทรัพย์และการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม (กลุ่มชนชั้นนำกับกลุ่มประชาชน) อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้มีผลเพียงแค่บรรเทาสถานการณ์ที่ตึงเครียดมิให้ลุกลามออกไปในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งอยู่ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำและกลุ่มประชาชนซึ่งมีเพียงการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง (political institutions reform) ให้เอื้อต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ชนชั้นนำจึงเลือกที่จะยอมถ่ายโอนอำนาจผูกขาด (บางส่วน) ของตนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการการพัฒนาประชาธิปไตย (democratization) เพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคมเอาไว้[7]

 

สถานะและการดำรงอยู่ของชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตย

          รูปแบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำนั้นเกิดขึ้นจากฐานความเชื่อของชนชั้นนำในการเป็นผู้ปกปักษ์รักษาแบบแผนของประชาธิปไตยจากความไร้เดียงสาและความไม่อดทนของประชาชน เนื่องจากชนชั้นนำเชื่อว่าตัวเองมีความยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยมากกว่าชนชั้นอื่น ๆ มีระบบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าและมีความอดทนต่อความไม่ลงรอยกันในสังคมสูงกว่าประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ชนชั้นนำยังเชื่อว่าตนเองมีความพร้อมที่จะกระทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถกระทำได้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย[8] ในความหมายนี้ ชนชั้นนำได้ถูกอธิบายให้กลายเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นและขาดมิได้สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในฐานะ “ผู้พิทักษ์ (guardian)” มิให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นความยุ่งเหยิง จนทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ราบรื่น[9] ลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยที่แข่งขันกันเองในหมู่ชนชั้นนำในเชิงโครงสร้างและสถาบันการเมือง จึงปรากฏในรูปแบบของการปกครองระบบรัฐสภาที่ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง ผู้นำทางการเมืองเป็นศูนย์กลางของการใช้อำนาจ รัฐสภาถูกควบคุมครอบงำโดยพรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการแข่งขันกันเองระหว่างพรรคการเมืองของชนชั้นนำ ระบบราชการที่เป็นมืออาชีพและอิสระจากการตรวจสอบควบคุมของประชาชน และกลไกรัฐธรรมนูญและแนวปฏิบัติในเรื่องการตัดสินใจสาธารณะที่จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน[10]

          ปรากฏการณ์ที่นับเป็นหลักฐานยืนยันการดำรงอยู่อย่างผูกขาดและมีอิทธิพลสูงของชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตยคือการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่นในวงศ์ตระกูลผู้นำทางการเมืองหรือที่เรียกว่า “ตระกูลนักการเมือง (political dynasty)” โดยผ่านการเลือกตั้งอันเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นแทบจะเป็นเรื่องปกติในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าและเป็นแม่แบบอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส[11] ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ได้รับการเลือกตั้ง 8 ปี หลังจากพ่อของเขาคือ นายจอร์จ ดับเบิลยูเอช บุช (George W.H. Bush) ลงจากตำแหน่ง นับเป็นประธานาธิบดีที่มีความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูกคู่ที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ต่อจากคู่พ่อ-ลูกตระกูลแอดัมส์ (Adams) ในประเทศแถบทวีปเอเชียที่ประชาธิปไตยยังมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงอยู่ การสืบทอดอำนาจในตำแหน่งผู้นำประเทศของวงศ์ตระกูลนักการเมืองมีตัวอย่างให้เห็นในแทบจะทุกประเทศ ตั้งแต่ตระกูลเนรู (Nehru) และคานที (Gandhi) ในอินเดีย ตระกูลบุตโต (Bhutto) ในปากีสถาน ตระกูลบันดาราไนเก (Bandaranaike) ในศรีลังกา ตระกูลราซัค (Razak) ในมาเลเซีย ตระกูลลี (Lee) ในสิงคโปร์ ตระกูลซูกาโน (Soekarno) ในอินโดนีเซีย ตระกูลอาร์โรโย (Arroyo) ในฟิลิปปินส์ รวมถึงตระกูลชินวัตรในประเทศไทยด้วย[12]

          นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่การสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งในวงศ์ตระกูลของผู้นำประเทศเท่านั้น ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการศึกษาของนักรัฐศาสตร์จำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าตระกูลนักการเมืองเป็นปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่ควบคู่กับการเมืองเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนของหลายประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาช้านาน จากการสำรวจข้อมูลสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1774 ถึงกลางทศวรรษที่ 1960 พบว่า มีตระกูลการเมืองราว 700 ตระกูล ที่มีสมาชิกในตระกูลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเคยดำรงตำแหน่งในสภาคองเกรส (Congress) นับรวมจำนวนได้เกือบ 1,700 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 10,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 17[13] ถึงแม้ว่าสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะตระกูลการเมืองดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลง[14] ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และจากผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ได้ค้นพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ของสหรัฐอเมริกาที่สามารถถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองมีมากกว่า ร้อยละ 7[15] สัดส่วนนี้มีความใกล้เคียงกับข้อค้นพบในประเทศอาร์เจนติน่า ที่พบว่าสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความสัมพันธ์กันในแบบตระกูลการเมืองมีประมาณ ร้อยละ 10[16]

          นอกจากนี้ บทบาทของตระกูลการเมืองดูเหมือนว่าจะปรากฏเด่นชัดมากในบางประเทศ เช่น จากการสำรวจข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1970-2000 พบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะตระกูลการเมืองมีถึงประมาณหนึ่งในสามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด[17] ในเม็กซิโก สัดส่วนของนักการเมืองประเภทนี้มีประมาณ ร้อยละ 20-40[18] ใกล้เคียงกับสัดส่วนของนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองในรัฐสภาของประเทศอินเดีย[19] ฟิลิปปินส์[20] และไทย[21] ในขณะที่ในการเมืองของประเทศอิตาลีก็ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่ามีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติกับนักธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่และนักการเมืองคนอื่น ๆ[22]

          ในแง่มุมหนึ่ง การดำรงอยู่ของชนชั้นนำอย่างกลมกลืนภายใต้กติกาประชาธิปไตยอาจทำให้ภาพลักษณ์ในเชิงลบในฐานะอภิสิทธิ์ชนหรือกลุ่มคนที่ครองความได้เปรียบในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในสังคม แปรเปลี่ยนเป็นภาพในเชิงบวกในฐานะผู้นำทางการเมือง (political leader) ในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็นผู้นำพาสังคม สร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงการภาครัฐผ่านการระดมเอาประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในภาพกว้างเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบาย ผ่านการเข้าไปเป็นผู้นำในพรรคการเมืองและมีอิทธิพลครอบงำการเลือกตั้ง[23] ในอีกแง่มุมหนึ่ง การดำรงอยู่อย่างผูกขาดและมีการสืบทอดอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำแม้โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งอาจส่งผลในทางลบต่อคุณภาพของประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังที่การศึกษาในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ พบว่า ความสัมพันธ์และอิทธิพลของชนชั้นนำทำให้การเมืองของฟิลิปปินส์พัฒนาไปสู่ระบบการเมืองที่ยึดถือตัวบุคคลซึ่งมีผลเป็นการบั่นทอนการสร้างรัฐที่เข้มแข็ง และเป็นอุปสรรคต่อการคิดริเริ่มนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ มักจะถูกปิดกั้นขัดขวางโดยสมาชิกของตระกูลการเมืองผู้ได้ประโยชน์จากสถานะความได้เปรียบของตน แน่นอนว่าการปิดกั้นขัดขวางดังกล่าว ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการกำเนิดและก่อตั้งอย่างยั่งยืนของบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย
ถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนในเขตเลือกตั้งเข้าสู่กระบวนการนโยบายสาธารณะและการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย[24]

 

อ้างอิง

[1] Robert D. Putnam, The Comparative Study of Political Elites (Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall, 1976).

[2] จากการศึกษาเรื่อง “The Power Elite” ของ ซี ไรท์ มิล (C. Wright Mills) ในปี 1956 ซึ่งถือเป็นการศึกษาวิจัยต้นแบบเรื่องหนึ่งของการศึกษาภายใต้แนวคิดชนชั้นนำนิยม พบว่า ในสังคมอเมริกันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยแม่แบบแห่งหนึ่งของโลกก็ยังถูกครอบงำและมีการผูกขาดการใช้อำนาจในการเมืองระดับชาติโดยชนชั้นนำซึ่งมีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยนักธุรกิจที่ร่ำรวยมหาศาล นายทหารระดับสูงในกองทัพ และนักการเมืองอาชีพที่ได้รับการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถควบคุมผู้ปกครองที่ตนเองเลือกให้ไปทำหน้าที่แทนได้อย่างแท้จริง (Mills 1956, Op. cit.)

[3] Max Weber, Economy and Society, edited by Guenther Roth and Claus Wittich (Berkeley: University of California Press, 1978).

[4] เช่น Peter Bachrach, The Theory of Democratic Elitism: A Critique (Boston: Little Brown, 1967); Heinrich Best and John Higley, “Introduction: Democratic Elitism Reappraised,” in Heinrich Best and John Higley (eds.), Democratic Elitism: New Theoretical and Comparative Perspectives (Boston: Brill, 2010), 1-22; Mark Peffley and Robert Rohrschneider, “Elite Beliefs and the Theory of Democratic Elitism,” in The Oxford Handbook of Political Behavior, edited by Russell Dalton and Hans Dieter Klingemann (Oxford: Oxford University Press, 2007), 65–79. เป็นต้น

[5] David Held, Democracy and the Global Order (Stamford, California: Stamford University Press, 1995).

[6] Daron Acemoglu and James A. Robinson, Economic Origins of Dictatorship and Democracy (New York: Cambridge University Press, 2005).

[7] Ibid.

[8] Peffley and Rohrschneider, op.cit., p.65.

[9] Fredrik Engelstad, “Introduction: Social and Political Elites in Modern Democracy,” in Comparative Studies of Social and Political Elites (Comparative Social Research, Volume 23) edited by Fredrik Engelstad and Trygve Gulbrandsen (Bingley, UK: Emerald Group Publishing Limited, 2010), 35-54.

[10] Held. 2006. Op. cit. p. 157.

[11] Mattei Dogan, “Is There a Ruling Class in France?,” in Elite Configurations at the Apex of Power edited by Mattei Dogan (Amsterdam: Brill, 2003); Thomas R. Dye and Harmon Zeigler, The Irony of Democracy: An Uncommon Introduction to American Politics, 13th edition (Belmont, CA: Thomson/Wadsworth, 2006), 17–90.

[12] Stithorn Thananithichot and Wichuda Satidporn, “Political Dynasties in Thailand: The Recent Picture after the 2011 General Election,” Asian Studies Review 40, no. 3 (2016): 340-359.

[13] Stephen Hess, America's Political Dynasties from Adams to Kennedy (Garden City, New York: Doubleday, 1966).

[14] Alfred B. Clubok, Norman M. Wilensky and Forrest J. Berghorn, “Family Relationships, Congressional Recruitment, and Political Modernization,” Journal of Politics 31, no. 4 (1969): 1035-1062.

[15] Ernesto Dal Bo, Pedro Dal Bo and Jason Snyder. “Political Dynasties,” Review of Economic Studies 76, no. 1 (2009): 115-142.

[16] Martín A. Rossi, Political Dynasties: Evidence from a Natural Experiment in Argentina, Working Paper Series, Universidad de San Andres, Argentina, 2009.

[17] Yasushi Asako, Takeshi Iida, and Tetsuya Matsubayashi, Michiko Ueda, Dynastic Politicians: Theory and Evidence from Japan. Working Paper No.201201, Waseda University Organization for Japan-US Studies, 2012; Michihiro Ishibashi and Steven R Reed, “Second-Generation Diet Members and Democracy in Japan: Hereditary Seats,” Asian Survey 32, no. 4 (1992): 366-379; Naoko Taniguchi, “Diet Members and Seat Inheritance,” in Democratic Reform in Japan: Assessing the Impact, ed. Sherry Martin and Gill Steel (Boulder, CO: Lynne Reinner, 2008).

[18] Roderic A. Camp, “Family Relationships in Mexican Politics: A Preliminary View,” Journal of Politics 44, no. 3 (1982): 848-862.

Roderic Ai Camp, Political Recruitment across Two Centuries: Mexico, 1884-1991 (Austin: University of Texas Press, 1995).

[19] การศึกษาของแพทริค เฟรนช์ (Patric French) พบว่า ในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 15 ของอินเดีย จำนวน 545 คน มีนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองได้รับการเลือกตั้งเข้ามาร้อยละ 28.6 (Patrick French, India: A Portrait (New York: Knopf., 2011).

[20] ข้อมูลของเมนโดซ่าและคณะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลสมาชิกรัฐสภาชุดที่ 15 ของฟิลิปปินส์ โดยการนับจำนวนนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองในรัฐสภาชุดดังกล่าวทำการพิจารณาข้อมูลย้อนไปในรัฐสภาชุดก่อนหน้าเพียงสามสมัย กล่าวอีกนัยหนึ่ง สัดส่วนของนักการเมืองฟิลิปปินส์ที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลการเมืองที่เมนโดซ่าและคณะพบว่ามีประมาณร้อยละ 37 นั้น คำนวณจากจำนวนนักการเมืองที่มีคนในตระกูลเดียวกันอย่างน้อยหนึ่งคนเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาชุดใดชุดหนึ่งตั้งแต่ชุดที่ 12 เป็นต้นมาเท่านั้นมิใช่การนับย้อนไปถึงรัฐสภาชุดแรก (Ronald Mendoza, Edsel L. Beja Jr., Victor Soriano Venida, and David Yap, An Empirical Analysis of Political Dynasties in the 15th Philippine Congress, Working Paper 12-001, Asian Institute of Management, 2012.

[21] สติธร ธนานิธิโชติ, “ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า 11, ฉ. 2 (2556.): 5-13.

[22] Raffaele Asquer and Federico Calderoni, “Family Matters: Testing the Effect of Political Connections in Italy,” Symposium: Democracy and Its Development 2005-2011, Center for the Study of Democracy, University of California, Irvine, 2011.

[23] Jean Blondel, “The Links between Western European Parties and Their Supporters: The Role of Personalization,” Occasional Paper 16, Center for the Study of Political Change, University of Siena, 2005; Ian McAllister, “Prime Ministers, Opposition leaders and Government Popularity in Australia,” Australian Journal of Political Science 38, no. 2 (2003): 259–77.

[24] Sheila Coronel, Yvonne T. Chua, Luz Rimban, and Booma B. Cruz. The Rulemakers: How the Wealthy and the Well-born Dominate Congress (Quezon City: Philippine Center for Investigative Journalism, 2007); Eva Hedman and John Sidel, Philippine Politics and Society in the Twentieth Century: Colonial Legacies, Post-colonial Trajectories (London: Routledge, 2000).