ประชาธิปไตยแบบพหุนิยม (pluralist democracy)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          ประชาธิปไตยแบบพหุนิยม (pluralist democracy) คือ รูปแบบการปกครองที่ปัจเจกชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันหรือตรงกัน สามารถรวมกลุ่มเพื่อใช้อิทธิพลกดดันหรือเรียกร้องต่อผู้แทนทางการเมืองและการตัดสินใจของผู้แทนทางการเมือง อำนาจทางการเมืองเกิดขึ้นจากการแข่งขันของกลุ่มที่เกิดขึ้นเองโดยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับโดยรัฐหรือถูกชักนำด้วยสินจ้างรางวัลของคนที่หวังผลประโยชน์บางอย่าง (หรือเสียผลประโยชน์บางเวลา) การใช้อำนาจผ่านกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจของการเมืองระบบตัวแทนเป็นไปในรูปแบบการโน้มน้าวหรือการกดดัน โดยกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจตามวิถีทางของประชาธิปไตยซึ่งเน้นไปในรูปแบบของการเจรจา การต่อรอง การประนีประนอม และการประสานผลประโยชน์ เพื่อให้ได้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่หลากหลายมิใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจเจกชนในสังคมโดยธรรมชาติมีความต้องการ (ผลประโยชน์) ที่หลากหลายจึงมักจะเข้าไปร่วมกับกลุ่มมากกว่าหนึ่งกลุ่มอยู่เสมอ สถานะของกลุ่มจึงมีความไม่แน่นอน บางช่วงเวลาอาจมีอำนาจมาก แต่บางช่วงเวลากลุ่มที่เคยมีอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมืองมากนั้นอาจสูญเสียสถานภาพที่เคยมีไป เนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มีอยู่ตลอดเวลา กลุ่มที่เคยมีอำนาจน้อยหลาย ๆ กลุ่มอาจจะรวมตัวกันและกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจและมีสถานะที่ได้เปรียบมากขึ้น เช่น โดยการเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และสามารถผลักดันผลประโยชน์ของกลุ่มจนกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ได้[1]

ความเป็นพหุสังคมของระบอบประชาธิปไตย

          หากถามว่า “อำนาจการปกครองเป็นของใคร ใช้โดยใคร และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร” คำตอบที่ได้จากนักรัฐศาสตร์สำนักพหุนิยมจะแตกต่างจากนักรัฐศาสตร์สำนักชนชั้นนำนิยมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากนักรัฐศาสตร์สำนักพหุนิยมมีความเชื่อพื้นฐานว่าอำนาจในการปกครองโดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยนั้นมิได้เป็นของหรือถูกใช้โดยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ความเป็นเจ้าของและการใช้อำนาจการปกครองจะมีการแบ่งปันและกระจายออกไปยังกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอย่างหลากหลายทั้งที่เป็นกลุ่มทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง กลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น สมาคมธุรกิจ สหภาพแรงงาน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ และกลุ่มทางสังคมวัฒนธรรม เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้อาจมีผลประโยชน์ที่ตรงกันหรือร่วมกันบางอย่าง และอาจมีความขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์ ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกสถาปนาขึ้นและขับเคลื่อนบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มเหล่านี้ จึงเป็นการปกครองที่มีลักษณะของการแข่งขันเพื่อบรรลุความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ โดยที่จะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวสามารถครอบงำกลุ่มอื่นหรือครอบครองผลประโยชน์ไว้ได้ทั้งหมด[2]

          การจัดโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการออกแบบสถาบันประชาธิปไตยสำหรับนักรัฐศาสตร์สำนักพหุนิยมเป็นเรื่องที่เป็นพลวัตไม่ตายตัวและมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ภายใต้มุมมองเช่นนี้ แม้ว่าชนชั้นนำจะยังมีความสำคัญต่อการเมืองการปกครอง (โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย) อยู่ แต่เป็นการมีอยู่ในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) หรือกลุ่มอิทธิพลที่อาจเรียกว่าเป็น “ชนชั้นนำทางการเมือง (political elite)” ที่ต้องต่อสู้ แข่งขัน และต่อรองผลประโยชน์ทั้งภายในกลุ่ม (หรือชนชั้น) เดียวกันและกับกลุ่ม (หรือชนชั้น) อื่น ๆ ในสังคมมากกว่าการเป็นชนชั้นนำที่มีอภิสิทธิ์ผูกขาดและสามารถใช้อำนาจหรืออิทธิพลของตนได้อย่างเป็นอิสระ[3] ชนชั้นนำต้องทำงานร่วมกับชนชั้นนำกลุ่มอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการเข้าสู่อำนาจภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยกระบวนการเลือกตั้ง การใช้อำนาจของชนชั้นนำรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบทบาทของประชาชน (ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคล) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการตอบสนองและแสดงความรับผิดชอบของตัวแทนทางการเมือง (political representatives) ที่มีต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[4] การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) และการเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมสาธารณะของประชาชน (civic engagement) จึงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ จำเป็นและคอยรองรับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยภายใต้แนวคิดแบบพหุนิยม

ประชาธิปไตยแบบพหุนิยมกับสถาบันทางการเมือง

          ความเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ได้มีส่วนทำให้วิถีชีวิตของผู้คนค่อย ๆ เหินห่างออกจากการเมืองมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าและเป็นสังคมที่เชื่อในความเป็นพหุสภาวะอย่างสหรัฐอเมริกา ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาจากผลการวิจัยของ โรเบิร์ต พัตนั่ม แสดงให้เห็นแนวโน้มของการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะที่ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย และสัดส่วนของการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่ตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง[5] ส่งผลให้ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนของสหรัฐอเมริกาเริ่มถูกตั้งคำถาม

          ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสัดส่วนของผู้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีแนวโน้มลดลงและตกต่ำอย่างมากในกลุ่มคนหนุ่มคนสาว กล่าวคือตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1972 (พ.ศ. 2515) เป็นต้นมา ปรากฏว่าไม่มีการเลือกตั้งครั้งใดเลยที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเกินกว่า ร้อยละ 60 ในขณะที่สัดส่วนผู้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Congress) ก็ลดต่ำลงจากที่เคยมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 44 และ ร้อยละ 48 ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ตามลำดับมาอยู่ที่สัดส่วนโดยเฉลี่ยเกินกว่า ร้อยละ 40 เพียงเล็กน้อยในทศวรรษที่ 1990 ยิ่งไปกว่านั้น ความสนใจและการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของคนสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก็อยู่ในระดับต่ำกว่าคนรุ่นก่อน ๆ อยู่มาก ทั้งที่นักรัฐศาสตร์เคยค้นพบและเชื่อตรงกันว่าระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติกับระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวคือในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาคนที่มีการศึกษาสูงกว่ามีฐานะทางการเงินดีกว่า มีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าคนที่มีการศึกษาน้อยและยากจน ทว่าแม้โดยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน คนสหรัฐอเมริการุ่นใหม่จะมีระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นอย่างมากแต่ความสนใจที่มีต่อการเมือง การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและความเอาใจใส่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองกลับไม่เพิ่มขึ้น ซ้ำร้ายยังมีแนวโน้มลดต่ำลงอีกด้วย[6]

          สภาพปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมสาธารณะของประชาชนในสหรัฐอเมริกาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันมิใช่ระบอบการปกครองที่มุ่งออกแบบระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการปกครองที่ต้องการให้ประชาชนมีความสนใจและเต็มใจในการรวมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในสัดส่วนที่สูง มีกิจกรรมและกระบวนการทางการเมืองที่เปิดกว้าง กระจายโอกาสการเข้ามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้นจนรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับระบอบการเมืองการปกครองและสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมทางการเมืองที่มีคุณภาพได้ด้วยศักยภาพของตนเองและกลุ่มพหุนิยมประชาธิปไตยจึงเป็นตัวแบบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันประชาธิปไตยระดับกลางและระดับรากฐาน (middle-level and grassroots democratic institutions) ได้แก่ พรรคการเมือง องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และองค์กรภาคประชาสังคม มากกว่าการมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันระดับชาติ เช่น รัฐสภา ศาล สื่อมวลชน ฯลฯ เพียงอย่างเดียว เนื่องจากสถาบันประชาธิปไตยระดับกลางและระดับรากฐานเป็นสถาบันทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการผลักดันข้อเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ และความต้องการในชีวิตประจำวันของประชาชนเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้สถาบันประชาธิปไตยระดับกลางและระดับรากฐานยังมีความสำคัญในฐานะช่องทางในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างสำนึกรับผิดชอบ (accountability) ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง[7]

ประชาธิปไตยแบบพหุนิยมกับคุณภาพประชาธิปไตย

          นิยามที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครอง “ของประชาชน” นั้นแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ และในความเป็นเจ้าของนั้นหากประชาชนจำเป็นต้องมอบหมายให้ใครหรือสถาบันใดใช้อำนาจแทนตน บุคคลหรือสถาบันเหล่านั้นย่อมจะต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนก่อน[8]  อย่างไรก็ตาม ความเป็นเจ้าของอำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนนั้น มิใช่ความเป็นเจ้าของในฐานะปัจเจกบุคคล แต่เป็นความเป็นเจ้าของที่ประชาชนทุกคนมีร่วมกัน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาต่อไปว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครอง “โดยประชาชน” ซึ่งหมายความว่าประชาชนย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองการปกครองได้ทุกขั้นตอน[9] การพิจารณาเกี่ยวกับโอกาส ช่องทาง รูปแบบ และวิธีการที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจของตนโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะและกิจกรรมทางการเมืองไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับนิยามที่ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่เป็นไป “เพื่อประชาชน” ด้วยแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจุดหมายปลายทางของการปกครองระบอบระชาธิปไตยที่มุ่งคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของประชาชนเป็นเป้าหมายที่รัฐประชาธิปไตยต้องยึดถือ[10] กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้น การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยพื้นฐานที่สุดนั้นต้องเป็นการปกครองที่ประชาชนให้การยอมรับ ยินดีและสมัครใจเข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการปกครองที่รับผิดชอบและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน[11]

          การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในรัฐที่ประชาชนทุกคนมีความเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากของการใช้อำนาจ และได้รับผลจากการใช้อำนาจนับว่ามีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย งานวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาจึงได้ให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพประชาธิปไตย (assess the quality of democracy) มากขึ้น กล่าวคือ แทนที่จะให้น้ำหนักกับการแสวงหาคำตอบว่าทำไมกระบวนการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจึงสำเร็จ (ในบางประเทศ) หรือล้มเหลว (ในบางประเทศ) นักวิชาการจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ พยายามอธิบายเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่ถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการสละ/ผ่อนคลายอำนาจของรัฐบาลเผด็จการว่ามีลักษณะสำคัญอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ระบอบการปกครองที่ถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่นั้นมีคุณภาพ “ดี” หรือมีการพัฒนา “ดีขึ้น” อย่างสอดคล้องกับหลักการพื้นฐาน (ในอุดมคติ) ของประชาธิปไตย[12]

          งานวิจัยภายใต้กรอบคิดดังกล่าว มองว่าหลักการสำคัญที่นักประชาธิปไตยทุกยุคทุกสมัยและทุกหนแห่งต่อสู้เรียกร้อง คือ การควบคุมโดยประชาชน (popular control) และ ความเท่าเทียมกันทางการเมือง (political equality) เพื่อให้การตัดสินใจสาธารณะต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและหลอมรวมเอาความต้องการอันหลากหลายของประชาชนเข้าด้วยกัน ไม่ให้ความคิดอันผูกขาดของชนชั้นนำเข้าครอบงำกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและครอบครองผลประโยชน์จากกระบวนการดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงเพื่อมิให้เหตุผลเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา และสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมใด ๆ กลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ดังนั้น นอกจากการยอมรับในหลักการเสียงข้างมากและเคารพในเสียงข้างน้อยภายใต้การเลือกตั้งที่มีเสรีภาพในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมแล้ว การยึดหลักนิติธรรม (rule of law) ในการบริหารจัดการบ้านเมือง[13] การสร้างกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ (accountability) ที่มีประสิทธิภาพ[14] และการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพ (freedom)[15] และความเท่าเทียมกัน (equality) ของพลเมือง[16] ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของประชาธิปไตย โดยที่วิธีการยกระดับคุณภาพประชาธิปไตยตามแนวทางของงานวิชาการกลุ่มนี้ มิได้มีความหมายเพียงการสร้างเครื่องมือตรวจวัดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงการทำงานของสถาบันทางการเมืองและการเสริมสร้างพลังให้แก่ประชาชนและกลุ่มพลังทางสังคมต่าง ๆ ด้วยในขณะเดียวกัน[17]

อ้างอิง

[1] ดู Leon Baradat, Political Ideologies: Their Origins and Impact. Upper Saddle River (NJ:Pearson Prentice Hall, 2006), 110-113.

[2] Polsby, Nelson W. (1960). How to Study Community Power: The Pluralist Alternative. The Journal of Politics, (22) 3: 474-484; Key, V. 0., Jr. (1964). Politics, Parties and Pressure Groups, 5th  edition. New York: Cromwell.

[3] Dahl, Robert A., and Charles E. Lindblom. (1953). Politics, Economics and Welfare. New York: Harper & Row; Downs, Anthony. (1957). An Economic Theory of Democracy. New York: Harper & Row; Etzioni-Halévy, Eva. (1993). The Elite Connection. Cambridge: Polity Press; Putnam, Robert D. (1976). The Comparative Study of Political Elites. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall; Sartori, Giovanni. (1962). Democratic Theory. Detroit: Wayne State Press.

[4] Schumpeter, Joseph. 1942. Capitalism, Socialism, and Democracy. New York: Harper & Row.

[5] Putnam, Robert D. 2000. Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community, New York: Simon and Schuster.

[6] Macedo, Stephen et al. 2005. Democracy at Risk: How Political Choices Undermine Citizen Participation, and What We Can Do About It. Washington, D.C.: Brookings Institution Press.

[7] Krishna, Anirudh. 2008. Poverty, Participation, and Democracy: A Global Perspective. New York: Cambridge University Press.

[8] Lijphart, Arend. 1984. Democracies: Patterns of Majoritarian and Consensus Government in Twenty-One Countries. New York: Yale University Press, p. 2.

[9] Ibid., p. 2.

[10] Ibid., p. 2.

[11] Dickson, Del. 2014. The People's Government: An Introduction to Democracy. New York: Cambridge University Press, p. 9.

[12] งานวิชาการในกลุ่มนี้ เช่น Diamond, Larry, and Leonardo Morlino. 2005. Assessing the Quality of Democracy. Baltimore: Johns Hopkins University Press, Institute for Democracy and Electoral Assistance. 2008. Assessing the Quality of Democracy: A Practical Guide. Stockholm: Institute for Democracy and Electoral Assistance, O’Donnell, Guillermo. 2004a. “Human Development, Human Rights, and Democracy,” pp. 9-92. In The quality of democracy: theory and applications, Guillermo O'Donnell, Jorge Vargas Cullell, and Osvaldo M. Iazzetta (Eds.). Notre Dame, Indiana: University of Notre Dame Press,  Plattner, Marc F. A Skeptical Afterword. Journal of Democracy 15 (4): 106-110, Powell, G. Bingham. 2004. The Chain of Responsiveness. Journal of Democracy 15 (4): 91-105,  Roberts, Andrew. 2009. The quality of democracy in Eastern Europe: Public preferences and policy reforms. New York: Cambridge University Press. 

[13] ดู O'Donnell, Guillermo A. 2004b. Why the Rule of Law Matters. Journal of Democracy 15 (4): 32-46.

[14] ดู Schmitter, Philippe C. 2004. The Ambiguous Virtues of Accountability. Journal of Democracy 15 (4): 47-60.

[15] ดู Beetham, David. Freedom as the Foundation. Journal of Democracy 15 (4): 61-75.

[16] ดู Rueschemeyer, Dietrich. 2004. Addressing Inequality. Journal of Democracy 15 (4): 76-90.

[17] ดู Diamond and Morlino, op. cit.; O'Donnell, 2004a, op. cit.