ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          หลายทศวรรษที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะหาแนวทางที่ลงตัวในการสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของและเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะโดยตรงมากขึ้น และคำตอบที่ได้รับความสนใจมากที่สุดแนวทางหนึ่ง คือ การทำให้ประชาธิปไตยก่อผลเป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการที่นำเอาผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งแต่นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมประชุม พูดคุย ปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกจากปัญหาหรือประเด็นสาธารณะร่วมกัน ที่เรียกว่า “deliberative democracy"[1] หรือที่มีการใช้คำภาษาไทยว่า “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ”

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ คือ อะไร

          ในความหมายทั่วไปและพื้นฐานที่สุด ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคือวิธีการทางการเมืองสมัยใหม่ที่มุ่งให้ประชาชนโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักการเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเข้มข้น ผ่านกระบวนการสนทนา พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น ๆ ในสังคมซึ่งอาจจะเป็นประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย[2] และด้วยเหตุที่ผลประโยชน์และมุมมองของประชาชนมีความสำคัญต่อการตัดสินใจสาธารณะดังที่กล่าวมาข้างต้น การจัดกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (public deliberation) ภายใต้บรรยากาศที่เปิดกว้างและให้ความสนใจกับทุก ๆ ผลประโยชน์และทุก ๆ มุมมองอย่างเท่าเทียมกันนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในความหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น จึงถูกนิยามให้ครอบคลุมถึง “รูปแบบของการปกครองที่เปิดกว้างให้ประชาชนผู้มีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจในเชิงนโยบายร่วมกับตัวแทนผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยเหตุผลที่ทุกฝ่ายยอมรับและคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมในสถานการณ์ปัจจุบันและไม่ปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต"[3]

          ภายใต้นิยามดังกล่าว ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมีคุณลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ[4] ได้แก่

          ประการแรก ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นกระบวนการของการตกลงร่วมกันด้วยเหตุผล (reason-giving requirement) ระหว่างพลเมืองและตัวแทนผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายแสดงต่อกันนั้นมิได้เป็นไปเพื่อมุ่งพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของตัวเองหรือมุ่งหักล้างเหตุผลของฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นเหตุผลที่ใช้ภายใต้ค่านิยมที่ยอมรับและเคารพในหลักการเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของบุคคล และมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน

          ประการที่สอง เหตุผลที่ใช้ในกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะต้องเป็นเหตุผลที่พลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (accessible) หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นเหตุผลที่เป็น “สาธารณะ” และเป็นสาธารณะในอย่างน้อยสองความหมาย กล่าวคือ

               (1) ในความหมายที่ว่ากระบวนการปรึกษาหารือโดยตัวของมันเองจะต้องเป็นกระบวนการที่กระทำอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะมิใช่ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ภายในจิตใจของใครคนใดคนหนึ่ง

               (2) เหตุผลที่ใช้ในกระบวนการปรึกษาหารือจะต้องเป็นเรื่องที่สังคมมีความห่วงใยและคนทั่วไปสามารถเข้าใจในเนื้อหาสาระได้ นั่นหมายความว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการใด ๆ ได้เลยหากสาธารณชนยังไม่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนในเนื้อหาของเหตุผลหรือประเด็นที่สังคมหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน

          ประการที่สาม ผลผลิตที่การจัดกระบวนการตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมุ่งหมายคือการตัดสินใจที่เป็นข้อผูกมัด (binding) ให้เกิดการปฏิบัติตาม (อย่างน้อยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง) ในความหมายนี้ ผู้เข้าร่วมกระบวนการปรึกษาหารือจึงมิได้เข้าสู่กระบวนการเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัว หากแต่การอภิปรายถกเถียงซึ่งเป็นวิธีการสำคัญของกระบวนการปรึกษาหารือของผู้เข้าร่วมกระบวนการนั้นเป็นไปเพื่อทำให้เกิดข้อสรุปร่วมกัน และข้อสรุปดังกล่าวจะต้องมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ (หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ) ของตัวแทนการใช้อำนาจรัฐในอันที่จะกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับอนาคตของสังคมและผู้คนในวงกว้าง

          ประการสุดท้าย กระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต (dynamic) คือเป็นกระบวนการที่ไม่ยึดติดตายตัวกับข้อสรุปหรือการตัดสินใจอันเป็นผลจากกระบวนการปรึกษาหารือครั้งหนึ่งครั้งใดจนไม่อาจยอมรับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย การเปิดกว้างให้มีกระบวนการสานเสวนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ ไม่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อท้วงติงหรือข้อเสนอแนะถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของแนวคิดในอันที่จะทำให้กระบวนการปรึกษาหารือนำไปสู่ข้อตกลงที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

          คุณลักษณะของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือทั้งสี่ประการ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่มุ่งทำให้คำจำกัดความอย่างง่ายของประชาธิปไตยที่ว่า “คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” มีความหมายและปฏิบัติได้จริงมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะที่เป็น “ของประชาชน” คือ เป็นกระบวนการที่สมาชิกในสังคมมาร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออกผ่านการร่วมกันพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม “โดยประชาชน” ที่มีตระหนักถึงความสามารถทางการเมืองของตนเอง และมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเมืองต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น ๆ และ “เพื่อประชาชน” คือ ผลที่ได้จากกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะนั้น มุ่งตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนโดยภาพรวม[5]

คุณประโยชน์ของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

          นักวิชาการที่สนับสนุนการนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไปประยุกต์ใช้เชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่มีค่านิยม ความเชื่อ และแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เมื่อนำสมาชิกของสังคมการเมืองเหล่านี้เข้ามาสู่กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ การให้เหตุผลต่อทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ ของสมาชิกแต่ละคนมักจะมิใช่เหตุผลที่วางอยู่บนผลประโยชน์และมุมมองของสมาชิกคนนั้นเองเท่านั้น แต่มักจะมีเหตุผลที่วางอยู่บนผลประโยชน์และมุมมองของสมาชิกคนอื่น ๆ ปะปนอยู่ด้วย[6] ภายใต้สภาวะอันเป็นธรรมชาติของการนำสมาชิกในสังคมเดียวกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเช่นนี้เอง ทำให้กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะอาจก่อคุณประโยชน์ในขอบเขตที่กว้างขวาง ตั้งแต่การสร้างความเคารพนับถือซึ่งกันและกันระหว่างผู้เข้าร่วมกระบวนการ[7] การได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากฉันทามติของผู้เข้าร่วมกระบวนการ[8] ไปจนถึงการสร้างความสมดุลกันระหว่างความเชื่อหรือผลประโยชน์ของบุคคลกับผลลัพธ์ซึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมที่ปฏิบัติใช้ได้จริงอย่างมีคุณภาพ[9] กล่าวอีกนัยหนึ่ง การนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไปประยุกต์ใช้อาจก่อคุณประโยชน์ในหลายระดับตั้งแต่ประชาชนผู้เข้าร่วมกระบวนการ ผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนประเด็นปัญหาหรือนโยบายสาธารณะที่นำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ  

          ในส่วนของประชาชนผู้เข้าร่วมกระบวนการ การนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไปประยุกต์ใช้จะช่วยเสริมสร้างให้พลเมืองและกระบวนการทางการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้นในอย่างน้อยที่สุด 4 ประการด้วยกัน[10] นั่นคือ

          ประการแรก ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือช่วยส่งเสริมให้การตัดสินใจร่วมกันของผู้คนในสังคมการเมืองมีความชอบธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่มีทางออกที่ชัดเจนและยากต่อการหาคำตอบที่น่าพึงพอใจให้แก่คนทุกฝ่าย ด้วยเหตุที่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นแนวคิดที่เชื่อในเรื่องการโต้แย้งกันด้วยหลักเหตุผล และเหตุผลที่ใช้ก็มุ่งแสวงหาความร่วมมือที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากกว่ามุ่งเอาชนะคะคานกัน การตัดสินใจร่วมกันผ่านกระบวนการปรึกษาหารือจึงเป็นกระบวนการที่พิจารณาทางเลือกและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านผ่านการรับฟังเสียงสะท้อนของสมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

          ประการต่อมา ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือช่วยปลุกจิตวิญญาณสาธารณะ (public spirited perspectives) ของผู้คนในสังคมโดยการกระตุ้นให้มีการถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาพิจารณาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพียงอย่างเดียวมิได้ทำให้พลเมืองมีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพิ่มมากขึ้นในทุกกรณี การออกแบบกระบวนการปรึกษาหารือที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยในทัศนะของ กัตแมนและธอมป์สัน กระบวนการปรึกษาหารือที่ดีนั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่

               (1) ให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว (หรือเฉพาะกลุ่ม)

               (2) รวมเอาผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายจากทุกกลุ่มในสังคมมาพูดคุยกัน

               (3) มุ่งรักษาความดีงามในสังคมมากกว่าอำนาจต่อรองทางการเมือง

          ประการที่สาม ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือช่วยส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าการทำให้คนที่มีค่านิยมหรือความเชื่อ (โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความถูกผิดทางศีลธรรม) ที่แตกต่างกันสามารถตกลงกันได้เป็นเรื่องยาก แต่การได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นด้วยเหตุและผลในฐานะพลเมืองที่มีจิตเป็นสาธารณะผ่านกระบวนการปรึกษาหารือจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการทั้งในส่วนที่เป็นประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐมีโอกาสรับรู้และเข้าใจถึงแง่มุมที่ดีของข้อมูล ความคิดเห็น หรือความรู้สึกของผู้อื่นซึ่งแตกต่างไปจากของตัวเอง การเรียนรู้ที่จะเปิดใจ (อดทน) รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและแบ่งปันความรู้สึกกับคนอื่นนี้เองที่กัตแมนและธอมป์สันเชื่อว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงหรือการตัดสินใจที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ในที่สุด

          ประการสุดท้าย ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการดำเนินนโยบายสาธารณะได้ เนื่องจากประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นแนวคิดที่มองการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัตร การเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงผลจากการนำข้อตกลงหรือการตัดสินใจร่วมกันไปสู่การปฏิบัติภายใต้กระบวนการที่เอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้งและให้ความสำคัญกับการเคารพซึ่งกันและกันจะช่วยให้คนในสังคมมีโอกาสมองเห็นข้อผิดพลาดต่างๆ ได้ง่ายขึ้นและเข้าร่วมแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ

          ในส่วนของผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย การนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไปประยุกต์ใช้ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้มีหน้าที่ในกระบวนการนโยบายสาธารณะจะได้ทบทวนเกี่ยวกับบทบาทและแนวทางการทำงานที่ผ่านๆ มาเพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่า[11] เมื่อนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไปสู่การปฏิบัติ ผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายมีโอกาสในการเรียนรู้และทดลองเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่นับวันมีแต่จะซับซ้อนยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของประชาชนได้อย่างเหมาะสมทันการณ์[12] เนื่องจากแนวนโยบายที่ได้จากกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะเป็นแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดและเป็นมิตรกับความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม เป็นแนวทางที่วางบนหลักเหตุผลมากกว่าความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง และเป็นการตัดสินใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลเชิงลึกว่าประชาชนมีความวิตกห่วงใยเรื่องใดบ้าง และต้องการให้มีการดำเนินการเพื่อจัดการกับความวิตกห่วงใยเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งการเลือกตั้ง (ประชาธิปไตยแบบตัวแทน) ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการปรึกษาหารือโดยตรงกับประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาและการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม[13]

          การนำแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาประยุกต์ใช้นอกจากจะมีคุณประโยชน์ต่อประชาชนผู้เข้าร่วมกระบวนการและผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้ประเด็นปัญหาหรือนโยบายสาธารณะที่นำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะนั้นมีความชอบธรรม และสามารถแก้ไขข้อจำกัดที่กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำได้ด้วย[14] กล่าวคือ ประการแรก เนื่องจากประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมีแนวคิดพื้นฐานที่เชื่อว่าการตัดสินใจทางการเมืองที่ดีที่สุด คือ การตัดสินใจที่กระทำผ่านกระบวนการที่รวบรวมเอาผลประโยชน์และมุมมองของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาพินิจพิจารณาอย่างครบถ้วน กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะจึงเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับให้แก่นโยบายสาธารณะซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของกระบวนการดังกล่าวได้ดีกว่าวิธีการตัดสินใจสาธารณะแบบอื่น ๆ เช่น การเลือกตั้ง การต่อสู้แข่งขันผ่านการเมืองเรื่องผลประโยชน์ การชุมนุมเรียกร้อง ฯลฯ  ประการที่สอง กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะสามารถก่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาและนโยบายสาธารณะที่พึงปรารถนาของสังคม เนื่องจากเป็นแนวทางหรือแนวนโยบายที่ได้จากการนำเอาตัวแทนของประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมกันพิจารณาไต่ตรองข้อเท็จจริงและคุณประโยชน์ของทางเลือกสาธารณะที่นำเสนอผ่านมุมมองที่หลากหลาย รับฟังซึ่งกันและกันเพื่อพินิจพิเคราะห์เกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ทั้งข้อดี ข้อจำกัด และความเป็นไปได้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งโดยความเห็นพ้องต้องกันบนเหตุผลที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พร้อมกันไปกับการมีข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุผลตามแนวทางที่ได้ตัดสินใจเลือกนั้น

นัยยะต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและความท้าทายในการประยุกต์ใช้

          ทุกวันนี้ การจัดกระบวนการภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่เรียกว่า “กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (public deliberation)” เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบโดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเด่นของแต่ละกระบวนการ อาทิ สภาพลเมือง (citizens’ assemblies)[15] การประชุมสุดยอดพลเมือง (citizens’ summits)[16] การเสวนาหาฉันทามติ (Consensus Conference)[17] หน่วยการวางแผน (planning cells)[18] กระบวนการเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในยุคกรีกโบราณ และการประชุมเมือง (town meetings) ของสหรัฐอเมริกา ความแพร่หลายของการประยุกต์ใช้ทำให้กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับตรงกันว่ากระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะที่อาศัยวิธีการคัดเลือกตัวแทนประชาชนเข้าสู่เวทีการพูดคุยที่จัดขึ้นในบรรยากาศที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับทุก ๆ ผลประโยชน์และทุกๆ มุมมองอย่างเท่าเทียมกัน สามารถนำมาใช้ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนทำได้อย่างมีประสิทธิผลค่อนข้างจำกัด[19]

          ความสำเร็จในการประยุกต์ใช้หลายต่อหลายกรณีทำให้กระบวนการภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือกลายเป็นแนวทางที่นักวิชาการและนักพัฒนาประชาธิปไตยในระยะหลัง ๆ เห็นตรงกันว่าต้องมีการส่งเสริมและนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชุมชนในลักษณะการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาภายในพื้นที่ด้วยตนเองของประชาชน[20] และยังรวมถึงพื้นที่ในลักษณะที่เป็นการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ด้วย อาทิ กลุ่ม สมาคม ขบวนการทางสังคม[21] จนทุกวันนี้ เวทีสาธารณะ (civic forum) รูปแบบใหม่ ๆ ที่พยายามนำประชาชนที่มีความเป็นตัวแทนของผลประโยชน์อันหลากหลายมาพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกันทั้งแบบพบหน้าค่าตา (face-to-face) หรือผ่านช่องทางออนไลน์ (online) นับว่าได้มีส่วนช่วยให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีชีวิตชีวาขึ้นมาเป็นอย่างมาก[22]

          อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณค่าและประสิทธิผลของการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ ซึ่งกลายเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการออกแบบและประยุกต์ใช้แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือพึงระลึกอยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นมาไม่ว่าจะในรูปแบบใดนั้น สามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่[23] ทำอย่างไรให้ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่าสามารถแสดงออกซึ่งมุมมองและความต้องการในเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นได้อย่างเสมอภาคกับประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า[24] และทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่ได้จากการจัดเวทีสาธารณะและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปเป็นส่วนสำคัญหรือ (อย่างน้อย) เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีสถาบันการเมืองหลัก ๆ เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วได้อย่างลงตัว[25]

อ้างอิง

[1] John S. Dryzek, Deliberative Democracy and Beyond: Liberals, Critics, Contestations (Oxford: Oxford University Press, 2000); John S. Dryzek, Deliberative Global Politics (Cambridge, England: Polity Press, 2006), 154-157; Robert Goodin, Reflective Democracy (Oxford: Oxford University Press, 2003); Robert Goodin, Innovative Democracy: Democratic Theory and Practice after the Deliberative Turn (Oxford: Oxford University Press, 2012).

[2] Martin Carcasson and Leah Sprain, “Key Aspects of the Deliberative Democracy Movement,” Public Sector Digest (July, 2010), 1-2; Matt Chick, “Deliberation and Civic Studies,” The Good Society 22, no. 2 (2013): 187-200.

[3] Amy Gutmann and Denis Thompson, Why Deliberative Democracy? (Princeton, NJ: Princeton University Press, 2004), 7.

[4] Ibid., pp. 4-7.

[5] Joshua Cohen, “Deliberation and Democratic Legitimacy,” in Deliberative Democracy: Essays on Reason and Politics, eds. James Bohman and William Rehg (Cambridge, MA: The MIT Press, 1997), 67-91; James S. Fishkin, When the People Speak: Deliberative Democracy and Public Consultation (New York: University Press, 2009), 80-84.

[6] Jorge M. Valadez, “Deliberation, Cultural Difference, and Indigenous Self-Governance,” The Good Society 19, no. 2 (2010): 60-65.

[7] Amy Gutmann and Denis Thompson, Democracy and Disagreement, (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1996); Erik Schneiderhan and Shamus Khan, “Reasons and Inclusion: The Foundation of Deliberation,” Sociological Theory 26, no. 1 (2008): 1–24.

[8] John S. Dryzek and Simon J. Niemeyer, “Reconciling Pluralism and Consensus as Political Ideals,” American Journal of Political Science 50, no. 3 (2006): 634–649.

[9] Carcasson et al. 2010, op.cit.; John Gastil and James P. Dillard Dillard, “Increasing Political Sophistication through Public Deliberation,” Political Communication 16, no. 1 (1999): 3–23.

[10] Gutmann and Thompson, 2004, op.cit., pp. 10-13.

[11] Carcasson et al. 2010, op.cit., p.4.

[12] Nancy Robert, “Public Deliberation in an Age of Direct Citizen Participation,” The American Review of Public Administration 34, no. 4 (2004): 315-353; Mark E. Warren, “What Should We Expect From More Democracy? Radically Democratic Responses to Politics,” Political Theory 24, no. 2 (1996): 241-270.

[13] Fishkin, 2009, op.cit., pp. 13-15.

[14] Carcasson and Sprain, 2010, op.cit., p. 4.

[15] ดู ตัวอย่างกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะรูปแบบนี้ได้ใน British Columbia Citizens’ Assembly on Electoral Reform. 2004. Making Every Vote Count: the Case for Electoral Reform in British Columbia. British Columbia, Vancouver: British Columbia Citizens’ Assembly on Electoral Reform.

[16] ดูเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดพลเมือง (citizens’ summits) ใน Fung, A. (2003) ‘Survey Article: Recipes for Public Spheres: Eight Institutional Design Choices and their Consequences’, The Journal of Political Philosophy, 11 (3), 338–367.

[17] โปรดศึกษาเพิ่มเติมจาก Hendriks,C. M. (2005) ‘Consensus Conferences and Planning Cells: Lay Citizen Deliberations’, in J. Gastil and P. Levine (eds), The Deliberative Democracy Handbook. San Francisco CA: Jossey-Bass, pp. 80–110.

[18] ดู Davies, G. and Burgess, J. (2004) ‘Challenging the “View from Nowhere”: Citizen Reflections on Specialist Expertise in a Deliberative Process’, Health & Place, 10 (4), 349–361.

[19] Altman, David. (2011). Direct Democracy Worldwide. New York: Cambridge University Press;  

[20] Selin, C, Campbell, RK, de Ridder-Vignone, K, Sadowski, J, Altamirano Allende, C, Gano, G, et al. (2017) Experiments in engagement: Designing public engagement with science and technology for capacity building. Public Understanding of Science 26: 634–649.

[21] Rucht, Dieter. (2015). “Type and patterns of Intragroup Controversies,” In Donatella della Porta and Dieter Rucht (eds), Meeting Democracy: Power and Deliberation in Global Justice Movements. Cambridge: Cambridge University Press.

[22] Friess, D., & Eilders, C. (2015). A systematic review of online deliberation research. Policy & Internet, 7(3): 319–339; Karpowitz, Christopher F. and Chad Raphael. (2014). Deliberation, Democracy, and Civic Forums: Improving Equality and Publicity. New York: Cambridge University Press.

[23] Ott, Mary A. & Amelia S. Knopf. (๒๐๑๙). Avoiding a Tyranny of the Majority: Public Deliberation as Citizen Science, Sensitive Issues, and Vulnerable Populations, The American Journal of Bioethics ๑๙(๘): ๒๘-๓๑.

[24] Hoppe, R. (2011). Institutional constraints and practical problems in deliberative and participatory policy making. Policy & Politics, 39(2): 163–186.

[25] Setälä, M. (2017). Connecting deliberative mini publics to representative decision making. European Journal of Political Research, 56(4): 1–18.