ประชาธิปไตยผ่านตัวแทน (representative democracy)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ประชาธิปไตยผ่านตัวแทน (representative democracy) เป็นรูปแบบของการปกครองที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกใช้โดยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งและมอบหมายให้ทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้เลือกตั้ง[1] ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนเป็นรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ในปัจจุบันโดยมีการแบ่งตัวแบบในเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจออกเป็น 3 ระบบใหญ่ ๆ คือ ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (parliamentary democracy) ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี (presidential system) และประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential system)
ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (parliamentary democracy)
ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา คือ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลได้รับการเลือกจากความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร โดยประมุขแห่งรัฐอาจเป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีก็ได้ แต่ประมุขฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรแต่ใช้พระราชบัญญัติและกฎหมายจารีตประเพณีในการปกครองประเทศ รัฐสภาของสหราชอาณาจักรทำหน้าที่นิติบัญญัติ และในทางปฏิบัติเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ประกอบด้วย
(1) สภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 650 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตด้วยระบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (simple majority system) สมาชิกสภาสามัญมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การตรากฎหมาย การตรวจสอบและควบคุมฝ่ายบริหาร และการพิจารณากฎหมาด้านการเงินของประเทศ เช่น ร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี ร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินและภาษีต่าง ๆ เป็นต้น
(2) สภาขุนนาง (House of Lords) ประกอบด้วยสมาชิกในจำนวนที่มิได้มีการกำหนดไว้แน่นอน (ข้อมูล ณ เดือนธันวามคม พ.ศ.2565 มีจำนวนประมาณ 800 คน) ได้แก่ ขุนนางตลอดชีพ (Life Peers) มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์โดยการแนะนำของนายกรัฐมนตรีตัวแทนของบิชอป (bishops) และอาร์ชบิชอป (archbishops) จากคริสตจักรแห่งอังกฤษ และสมาชิกที่มาจากการเลือกกันเองของขุนนางสืบตระกูล (Elected hereditary members) มีอำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ คือการพิจารณากลั่นกรองและแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากสภาสามัญ การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ผ่านการตั้งกระทู้ถามและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ไม่มีสิทธิลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล[2]
สถาบันการเมืองในฝ่ายบริหารของสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย รัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) หน่วยงานทางราชการ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ และหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของรัฐมนตรี รัฐบาลใช้อำนาจบริหาร ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่าง ๆ รับผิดชอบดูแลกิจการของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาสามัญที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด) และทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีไม่เกิน 21 คน ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี[3] ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มาจากวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาขุนนาง ศาลมีหน้าที่ตีความพระราชบัญญัติที่รัฐสภาเป็นผู้ออก แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติฉบับใดมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลของสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ศาลสูงสุดของประเทศ ศาลยุติธรรมชั้นสูง และศาลชั้นต้น[4]
สำหรับประเทศที่ใช้การปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขนั้นมีหลายประเทศ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์หรือสาธารณรัฐฟินแลนด์ (Republic of Finland) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะเก่าแก่และมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1906[5] โดยในด้านโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของฟินแลนด์นั้น ประธานาธิบดีผู้เป็นประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (absolute majority) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะต้องเป็นชาวฟินแลนด์โดยกำเนิดเท่านั้น ในส่วนของการจัดโครงสร้างของสถาบันการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ ฟินแลนด์ใช้ระบบสภาเดี่ยว โดยสภาผู้แทนราษฎรของฟินแลนด์ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่วนฝ่ายบริหารนั้นมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลโดยการคัดเลือกบุคคลให้ประธานาธิบดีในฐานะประมุขแห่งรัฐให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี[6]
ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี (presidential system)
ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี คือ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารแยกออกจากกัน โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยตรงจากประชาชนสหรัฐอเมริกา[7]เป็นประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เป็นประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย สถาบันการเมืองหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตยของสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบให้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และมีการแบ่งแยกการใช้อำนาจระหว่างกันอย่างเชื่อมโยงและตรวจสอบถ่วงดุลกัน กล่าวคือ ในสถาบันการเมืองฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น เสนอร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ตลอดจนแต่งตั้งผู้พิพากษา เอกอัครราชทูต และตำแหน่งระดับสูงของฝ่ายบริหาร
ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติมีสภาคองเกรส (Congress) ซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่ วุฒิสภา (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละมลรัฐ มลรัฐละ 2 คน รวมเป็น 100 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี (ทุก ๆ 2 ปี จะมีสมาชิกจำนวน 1 ใน 3 ครบวาระ) รองประธานาธิบดีซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาพร้อมกับประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกามีอำนาจให้สัตยาบันสนธิสัญญา และให้ความเห็นชอบบุคคลที่ประธานาธิบดีแต่งตั้ง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีด้วย ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก 435 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละมลรัฐตามสัดส่วนของประชากรในมลรัฐนั้น ๆ (ประชากร 575,000 คน ต่อ สมาชิก 1 คน) ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี
สถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจตุลาการในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ศาลยุติธรรม โดยระบบศาลในสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นระบบ Dual-Court System คือ ศาลระดับสหพันธรัฐ (Federal Court) และศาลระดับมลรัฐ (State Court) ศาลระดับสหพันธรัฐ มีการจัดโครงสร้างการพิจารณาคดีเป็น 3 ชั้น เริ่มจากศาลชั้นต้น (District Court) ศาลอุทธรณ์ (Circuit Courts of Appeal) และศาลฎีกา (Supreme Court)[8] ส่วนศาลในระดับมลรัฐแบ่งเป็น 3 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น (Trial Court หรือ Lower Court) ศาลอุทธรณ์ (The Court of Appeals) และศาลสูงสุดแห่งรัฐ (The State Supreme Court) โดยผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในระดับมลรัฐจะเข้าสู่ตำแหน่งโดยผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน นอกจากนี้ ในระบบของสหรัฐอเมริกานั้นมิได้มีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญแยกออกมาโดยเฉพาะ แต่จะให้ศาลฎีกาเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารและกฎหมายต่าง ๆ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้พิพากษาศาลฎีกา มีจำนวน 9 คน มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาเป็นผู้ให้การรับรอง และดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีการกำหนดวาระ
ประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential system)
ประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดี คือ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการผสมผสานระหว่างระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยตรงจากประชาชน และมีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจบริหาร ฝรั่งเศสเป็นประเทศแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยระบบกึ่งประธานาธิบดี โดยระบบกึ่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระ 5 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ[9] การเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสใช้ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority system) โดยผู้สมัคร (ที่ผ่านคุณสมบัติที่กำหนดไว้) ลงแข่งขันกันในการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่หากไม่มีได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง จะต้องมีการลงคะแนนรอบที่สองโดยนำผู้สมัครที่มีคะแนน อันดับ 1 และ 2 มาแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง[10]
ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ส่วนรัฐสภาของฝรั่งเศสนั้น ประกอบด้วย 2 สภา คือ
(1) สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée Nationale) เป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 577 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และ
(2) วุฒิสภา (Sénat) มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วย สมาชิกสภาท้องถิ่น (local councilors) และผู้แทนของประชาชนที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ (representatives of French citizens living abroad) วุฒิสภาฝรั่งเศสมีสมาชิกจำนวน 348 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกครึ่งหนึ่งทุก ๆ 3 ปี[11]
ความส่งท้ายและประชาธิปไตยผ่านตัวแทนระบบอื่น ๆ
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนนั้นเป็นรูปแบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกใช้โดยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งและมอบหมายให้ทำหน้าที่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้เลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยผ่านตัวแทน ประเด็นสำคัญจึงมุ่งไปที่การออกแบบเชิงสถาบัน (institutional design) เพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ โดยมีการประยุกต์ใช้แนวคิดและรูปแบบของการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบการเลือกตั้ง (ระบบเสียงข้างมาก vs ระบบสัดส่วน) หลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) vs หลักการเชื่อมโยงอำนาจ (fusion of powers) การตรวจสอบถ่วงดุลภายในระหว่างสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน vs การตรวจสอบถ่วงดุลจากภายนอกโดยสถาบันการเมืองและตัวแสดงอื่น ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่ามีประเทศประชาธิปไตยบางประเทศที่มีการจัดวางโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองหลักต่าง ๆ ที่แตกต่างออกไปจากระบบที่กล่าวมาในส่วนก่อนหน้านี้ จนไม่สามารถจัดประเภทไว้ในระบบใดระบบหนึ่งได้ เช่น เกาหลีใต้หรือสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) โดยเกาหลีใต้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่าเป็นระบอบ “ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีที่มีนายกรัฐมนตรี (presidential systems with a prime minister)” ภายใต้ระบบนี้ ประธานาธิบดีซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีสถานะเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้แต่ไม่มีอำนาจยุบสภา คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วยสภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย[12]
รัฐสภาแห่งชาติ (National Assembly) เป็นองค์กรหลักด้านนิติบัญญัติใช้รูปแบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คน โดยสมาชิก 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี[13]
ศาลทำหน้าที่ทางตุลาการประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิ ขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ และศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมายของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย[14]
ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนในปัจจุบันของประเทศไทย
ประเทศไทยใช้ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนระบบรัฐสภามาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ออกแบบโครงสร้างและกระบวนการการใช้อำนาจทางการปกครองไว้ โดยกำหนดให้รัฐสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย ให้ความเห็นชอบตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ประกอบด้วย
(1) สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง 100 คน[15]
(2) วุฒิสภา จำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคย ทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม[16]
รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในฝ่ายบริหาร มาจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี[17] มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน โดยคณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ[18]
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันของไทยกำหนดให้ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย
(1) ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
(2) ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง
(3) ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และ
(4) ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายรวมถึงพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
อ้างอิง
[1] Nadia Urbinati, Representative Democracy: Principles and Genealogy (Chicago: University of Chicago Press, 2006), 30.
[2] F. N. Forman and N. D. J. Baldwin, Mastering British Politics (London: Macmillan Press, 1999): Chapter 10-11.
[3] Dennis Kavanagh, British Politics: Continuities and Change, Third Edition (Oxford: Oxford University Press, 1996), 7; Richard Rose, “Politics in England,” in Gabriel Almond, Russell Dalton and G. Bingham Powell, eds., European Politics Today, Second Edition (New York: Longman, 2002), 97.
[4] Forman and Baldwin, 1999, op.cit., p. 434.
[5] Laine, Jarmo. 2015. Parliamentarianism in Finland. Retrieved August 1, 2022, from < https://finland.fi/life-society/parliamentarism-in-finland/>
[6] CIA World Factbook, 2022a. Finland. Retrieved August 1, 2022, from < https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/finland/#government>
[7] สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) แบ่งการปกครองออกเป็น 50 มลรัฐและ 1 เขตปกครอง (district) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงคือกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยในแต่ละมลรัฐมีการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐโดยตรง อำนาจนิติบัญญัติและการคลังในระดับมลรัฐ มีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรของตนเอง (ยกเว้นมลรัฐเนแบรสกา ซึ่งมีสภาเดียว) และมีอำนาจเก็บภาษีผู้มีภูมิลำเนาในมลรัฐ
[8] โปรดศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงสร้าง สถาบัน และกระบวนการทางการเมืองการเมืองของสหรัฐอเมริกา ใน แกรี่ วาสเซอร์แมน (Gary Wasserman), การเมืองอเมริกัน: โครงสร้าง สถาบัน กระบวนการ (The Basics of American Politics), ปราณี ทิพย์รัตน์ และสิริพรรณ นกสวน สวัสดี, แปล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557).
[9] Anne Stevens, Government and Politics of France, 3rd edition (New York: Palgrave Macmillan, 2003), 63-71.
[10] Ibid., p. 92.
[11] Ibid., pp.163-168.
[12] CIA World Factbook, 2022b. Korea, South. Retrieved August 1, 2022, from <https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/korea-south/#government>
[13] Ibid.
[14] Ibid
[15] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 มาตรา 3
[16] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107 ทั้งนี้ ในวาระเริ่มแรก (๕ ปี หลังจากที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง) ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 269)
[17] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158
[18] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 162