ประชาชาติไทย (พ.ศ. 2548)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคประชาชาติไทย

พรรคประชาชาติไทยได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โดยมีนายอภิวัฒน์ บุญชาติ เป็นหัวหน้าพรรค มีนโยบายพรรคดังนี้

1.นโยบายด้านการเมืองการปกครอง ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคประชาชาติไทยมีนโยบายที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นที่สุจริต จัดให้มีแผนพัฒนาการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลเรื่องการเงินการคลังของตน ในส่วนของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ พรรคประชาชาติไทยส่งเสริมให้มีการปฏิรูประบบราชการ ปรับกลไกการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการอย่างสะดวก และดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฏหมายเพื่อมิให้สามารถรังแกประชาชนได้

ส่งเสริมอำนาจ สิทธิ เสรีภาพตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองทุกระดับ รักษาเอกราชผลประโยชน์ของชาติและประชาชน พิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์ ขจัดทุจริตการฉ้อราษฎ์บังหลวง และให้อำนาจบริหารมีอิสระจากอำนาจนิติบัญญัติมากขึ้น

2.นโยบายเศรษฐกิจ ในส่วนของการเงินการคลัง ให้รักษาวินัยในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง ควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และระดมเงินออมภายในประเทศ ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ด้านการเกษตร ปฏิรูปที่ดิน,การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน จัดหาแหล่งน้ำและเมล็ดพืชให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งเสริมกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และพัฒนาระบบสหกรณ์ ประกันราคาผลผลิตและยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรให้มีราคาสูงและเป็นธรรมต่อเกษตรกร รวมทั้งจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการผลิตและจัดหาวัตถุดิบสำคัญเช่น ปุ๋ยให้มีราคาถูกเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร

ส่งเสริมให้มีการลงทุน ส่งเสริมระบบการเงินและการค้าเสรีเพื่อให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค ขจัดความยากจน ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง กระจายความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจสู่ชนบท สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเมืองและท้องถิ่น และประหยัดพลังงาน

3.นโยบายด้านสังคม นโยบายทางการศึกษา จัดให้มีการศึกษาในระบบโรงเรียนโดยรัฐในลักษณะให้เปล่าจนถึงระดับอุดมศึกษา จัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาอาชีพเป็นหลัก และจัดสถานศึกษาเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น ปรับปรุงสถานศึกษาทั้งในท้องถิ่นและในเมืองให้มีคุณภาพมาตรฐานและทันสมัย เร่งแก้ไขปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบสถานศึกษามิให้มีแหล่งอบายมุขและยาเสพติด

นโยบายด้านสาธารณสุข ส่งเสริมการสร้างสุขภาพอนามัย ปรับปรุงสถานพยาบาล จัดระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน ให้ทุกคนได้รับการรักษาฟรี และรักษาสภาพแวดล้อมในสถานที่สาธารณะทุกแห่ง

ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทย การกีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ขจัดความแตกต่างระหว่างชนชั้น คุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม ให้เด็กและเยาวชนรู้จักศีลธรรม คุณธรรม เคารพสิทธิส่วนบุคคล สงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการให้มีสวัสดิการเงินเดือนและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ

4.นโยบายด้านความมั่นคง รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พัฒนากองทัพให้มีความพร้อมทั้งด้านยุทโธปกรณ์และกำลังพล ส่งเสริมให้ทหารมีหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านเยาวชนและการกีฬา ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติดและการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบทางสังคม ส่งเสริมให้ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่หลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้านและชุมชนเมือง

5.นโยบายต่างประเทศ จะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยอิสระและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ยุโรปและอเมริกา คุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยในต่างแดน ส่งเสริมให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานและดูแลแรงงานที่ทำงานต่างแดน

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยสรุปให้ยุบพรรคประชาชาติไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 เนื่องจากพรรคประชาชาติไทยไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 29 ซึ่งบัญญัติให้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา เมื่อครบกำหนด 180 วัน พรรคประชาชาติไทยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาชาติไทย

พรรคประชาชาติไทยได้จดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดิมอีกครั้งโดยมีนายอภิวัฒน์ บุญชาติ เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550


พรรคประชาชาติไทยได้กำหนดนโยบายพรรคที่สำคัญ ดังนี้

1.นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกป้องคุ้มครองและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมและสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรักชาติบ้านเมืองและจิตสำนึกต่อหน้าที่ของตน สนับสนุนให้ข้าราชการประจำและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง เผยแพร่ความรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น กระจายการพัฒนาสู่ชนบท

2.นโยบายด้านเศรษฐกิจ

พัฒนาแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง พัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจโดยกำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในกรณีรัฐวิสาหกิจหลัก และอาจเป็นผู้ถือหุ้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งในรัฐวิสาหกิจรอง ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีและกำหนดราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคให้ถูกต้องและเป็นธรรม ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ แก้ไขปัญหาการเงิน การคลังให้สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงการผูกขาดและควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ป้องกันการเกิดภาวะเงินเฟ้อ ให้ความสำคัญในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินอย่างเหมาะสม ตั้งองค์กรเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อให้ความคุ้มครองด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและผลผลิตอื่นๆที่ผลิตภายในประเทศ ร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการลงทุนภายใต้หลักของความเป็นอิสระและพึ่งตนเอง กระจายความเจริญและเพิ่มงานในชนบท ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง กำหนดมาตรฐานผลผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่มีคุณภาพ สนับสนุนให้ประชาชนดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งตนเอง และพัฒนาการวางผังเมืองทุกจังหวัด

3.นโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรม

ป้องกันและแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคม จัดให้มีแผนประกันสังคมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลูกฝังจิตสำนึกและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และปลูกฝังความเป็นชาตินิยมแก่เยาวชนประชาชน

4.นโยบายด้านการเกษตรและสหกรณ์

ส่งเสริมระบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มอาชีพต่างๆ ประกันการผลิตและราคาผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ พัฒนาเกษตรกรรมแบบผสมผสานและปลอดสารพิษ พัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงระบบชลประทาน ปรับปรุงระบบการปฏิรูปที่ดินเพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนและที่สาธารณะ หยุดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้และฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และสนับสนุนการทำการประมง

5.นโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม

สนับสนุนและคุ้มครองอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ที่เป็นของคนไทย ให้การคุ้มครองผลผลิตที่สามารถผลิตได้ในประเทศ พัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมและผลผลิตด้านอุตสาหกรรมโดยส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ ควบคุมมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และออกมาตรการให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานร่วมเป็นเจ้าของโดยการถือหุ้นร่วมกับบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

6.นโยบายการศึกษา

ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนรักการเรียนรู้ ให้เด็กที่ผู้ปกครองมีฐานะยากจนสามารถเข้าเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทุกระดับการศึกษา ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาของโลก สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่างๆมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรม เป็นต้น สนับสนุนให้ผู้ที่ด้อยโอกาสและผู้พิการมีโอกาสในการศึกษาและฝึกอบรมอาชีพ และสนับสนุนให้มีการแปลและเรียบเรียงตำราเรียน

7.นโยบายด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง

กำหนดแผนและมาตรการความมั่นคงของชาติให้เป็นรูปธรรม ให้กองทัพมีบทบาทในการพัฒนาและร่วมมือสร้างความมั่นคงของชาติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพให้มีขีดความสามารถและศักยภาพ สร้างและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เอง ประสานความร่วมมือกับมิตรประเทศในการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทางการทหารในการร่วมฝึกซ้อมรบและแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพกำลังทหารบริเวณชายแดน เข้มงวดกับระบบการตรวจสอบคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ผู้ลี้ภัย ฯลฯ

8.นโยบายด้านการต่างประเทศ

ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระและคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศและให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นประโยชนต่อประเทศชาติ ทบทวนและปรับปรุงสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้น้อยที่สุดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงเป็นหลัก กำชับให้สถานทูตและเจ้าหน้าที่ทางการทูตให้ความช่วยเหลือและบริการคนไทยที่อาศัยและดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆอย่างเป็นรูปธรรม ให้สถานทูตเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย การค้าขายและการส่งออก สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนวิชาการทางทหารผ่านผู้ช่วยทูตทหารและสนับสนุนให้มีการจัดองค์การระหว่างประเทศเพื่อประสานงานกับตำรวจสากลในกรณีผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ

และในวันที่ 4 มีนาคม 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พรรคการเมืองทั้งหมด 26 พรรค รวมทั้งพรรคประชาชาติไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เนื่องจากมีสมาชิกต่ำกว่า 5,000 คนหรือไม่ได้ดำเนินการให้มีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคประชาชาติไทย เล่มที่ 123 ตอน 6 ง หน้า 41 ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549

ราชกิจจานุเบกษา คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 18 /2549 เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองของให้ศาสรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาชาติไทย เล่มที่ 123 ตอน ตอน 107 ก หน้า 1 ประกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมืองเรื่องรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคประชาชาติไทย เล่มที่ 124 พิเศษ 146 ง หน้า 28 ประกาศเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550

http://www.thainewsland.com/?l=th&a=389593