ช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และนพพร มาลารักษ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

ความหมาย

          ช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) หมายถึง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง (access) การประยุกต์ใช้ (adapt) และการสร้าง (create) ความรู้และเครื่องมือดิจิทัลในการสร้างโอกาสและทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยสามารถเกิดขึ้นในหลากหลายระดับและหลากหลายมิติ ได้แก่ ด้านเทคนิค ด้านเทคโนโลยี ด้านดิจิทัล (ข้อมูล เนื้อหา และภาษา) ด้านเศรษฐกิจ ด้านชุมชน ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสถาบัน ด้านองค์กร ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านการศึกษา ด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านจิตวิทยา ด้านอำนาจ ด้านเสรีภาพ (autonomy) ด้านการเมือง และด้านนโยบาย[1] มีตัวอย่างดังนี้  

          1. ช่องว่างทางดิจิทัลในมิติด้านเทคโนโลยี เมื่อบริการออนไลน์สมัยใหม่มีการเรียกใช้อัตราการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (Bandwidth) ที่มากยิ่งขึ้น แต่จากสถิติของ world bank ใน world development report: Digital Dividends ปี 2016 อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Broadband) ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่อนุญาตให้ผู้สามารถรับส่งข้อมูลในเวลาอันสั้น รับส่งข้อมูลได้หลายช่องคลื่นอินเทอร์เน็ต (multiple channel) และรับส่งข้อมูลได้จำนวนมาก[2]  มีประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงและจ่ายเงินเพื่อใช้บริการได้เพียง ร้อยละ 15[3] จึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่สามารถเข้าถึงและจ่ายเงินเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงและอาจจะเข้าถึงได้ตลอดเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือ ย่อมได้รับโอกาสในโลกออนไลน์ที่มากกว่าผู้ที่เข้าถึงได้เพียงอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำ ที่อาจจะร่วมด้วยกับการมีช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จำกัด[4]

          2. ช่องว่างทางดิจิทัลในมิติด้านทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์ คนกลุ่มต่าง ๆ มีทักษะและความรู้ที่ไม่เท่ากัน แม้จะโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่าเทียมกัน แต่ความเลื่อมล้ำในทักษะและความรู้จะนำไปสู่ความเลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต เช่น ประชาชนที่มีการศึกษาจะสามารถใช้ประโยชน์จากบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐได้มากกว่า[5]

          3. ช่องว่างทางดิจิทัลในมิติด้านข้อมูลสารสนเทศในรายงานของ world bank ฉบับเดียวกัน กล่าวถึงและยกตัวอย่างความเลื่อมล้ำดิจิทัลที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางข้อมูลสารสนเทศ (information) ไว้ว่า การผลิตเนื้อหาเผยแพร่บนวิกิพีเดีย (Wikipedia) มีที่มาจากเกาะฮ่องกงมากกว่าประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมดรวมกัน ทั้งที่ในข้อเท็จจริง ทวีปแอฟริกามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าฮ่องกงถึง 50 เท่า รายงานบอกอีกว่า ข้อมูลสารสนเทศที่ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ใน “โลกออนไลน์” กับแหล่งที่ผลิต มักจะสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ใน “โลกออฟไลน์” เช่นกัน ตัวอย่าง ดรรชนีที่จัดทำโดย Google ระบุว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อหาที่ผลิตโดยผู้ใช้ (user-generated content) มาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับส่วนแบ่งของวารสารทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็มีการจัดทำจากประเทศดังกล่าวด้วยเช่นกัน[6] แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลสารสนเทศเกือบทั้งหมดที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตถูกจัดทำขึ้นจากผู้ใช้งานในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประชากรมีคุณภาพและมีความพร้อมในหลาย ๆ ปัจจัยให้สามารถผลิต บริโภค และผลิตซ้ำหรือต่อยอดข้อมูลสารสนเทศได้ โดยความสามารถในการผลิตและบริโภคนี้มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีจำนวนข้อมูลสารสนเทศมากตามไปด้วยดังกรณีของเกาะฮ่องกงกับทวีปแอฟริกา

          4. ช่องว่างทางดิจิทัลในมิติด้านสังคมในรายงาน “ความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสรุปข้อมูลสำคัญในประเด็นเรื่องเพศ ปี 2022 (Progress on the Sustainable Development Goals: The gender snapshot 2022)” ได้กล่าวถึงบรรทัดฐานการเลือกปฏิบัติและการกีดกันอย่างรุนแรงต่อผู้หญิงในการเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัวเอาไว้ว่า ช่องว่างระหว่างเพศขนาดใหญ่ยังคงมีอยู่ในภาคส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรม แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงขึ้นมาเป็นตัวแทนในภาคอุตสาหกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีได้ไม่มาก ทั่วโลกในงานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากผู้ดำรงตำแหน่งทุก ๆ 10 คน จะมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งเพียง 2 คน ในปี ค.ศ. 2022 บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก 20 บริษัท มีผู้หญิงคิดเป็น ร้อยละ 33 ของแรงงานทั้งหมด แต่ดำรงตำแหน่งในระดับผู้นำเพียง 1 ใน 4 นักประดิษฐ์หญิงคิดเป็นเพียง ร้อยละ 16.5 ของนักประดิษฐ์ที่มีรายชื่ออยู่ในคำขอรับสิทธิบัตรระดับนานาชาติทั่วโลก

          การนำผู้หญิงและกลุ่มชายขอบอื่น ๆ เข้าสู่โลกเทคโนโลยีจะส่งผลให้เกิดวิธีการที่สร้างสรรค์และมีศักยภาพมากขึ้นในนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิงและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ในทางตรงกันข้ามการจำกัดผู้หญิงให้ออกจากโลกดิจิทัลทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากไม่มีการดำเนินการ ความสูญเสียนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ในด้านการล่วงละเมิดและความรุนแรง มีการสำรวจใน โคลอมเบีย กานา และยูกันดา พบว่าผู้หญิงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลบ่อยกว่าผู้ชาย จากการศึกษาใน 51 ประเทศ พบว่าผู้หญิง ร้อยละ 38 เคยประสบความรุนแรงทางออนไลน์ด้วยตนเอง โดยมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกว่า 9 ใน 10 เลือกที่จะจำกัดกิจกรรมออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องว่างทางดิจิทัลในประเด็นเรื่องเพศ โลกออนไลน์และการส่งเสริมทางด้าน ICT มีความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามการใช้เวลาที่มากขึ้นในโลกออนไลน์ของผู้หญิง[7]

          จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ช่องว่างทางดิจิทัลจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการแบ่งแยกระหว่างการมี (haves) กับไม่มี (have-nots) หรือ การเข้าถึง กับ ไม่เข้าถึง ความซับซ้อนของช่องว่างทางดิจิทัล คือ ความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลซ้อนทับกับปัญหาความเลื่อมล้ำเดิมที่มีอยู่ในสังคม และยิ่งมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลหรือการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับบริการของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ก็จะยิ่งเจอช่องว่างทางดิจิทัลในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเท่านั้น

          สำหรับประเทศไทย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติได้เสนอว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้สามารถสรุปได้ 4 ประการ คือ

          1. ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ คือ การมีไฟฟ้า โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และการสื่อสารและโทรคมนาคม มีความสัมพันธ์การเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ 

          2. ปัจจัยด้านคุณลักษณะของประชากร คือ ผู้ที่มีรายได้สูง มีการศึกษาสูง เป็นวัยรุ่นและวัยกลางคน มีที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญ เป็นครอบครัวขนาดเล็ก สมาชิกในครอบครัวอยู่ในวัยเรียน และผู้ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดี เป็นผู้มีโอกาสเข้าถึงสารสนเทศและความรู้มากกว่า

          3. ปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐที่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ นโยบายการเปิดเสรีเทคโนโลยีสารสนเทศ นโยบายภาษีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และนโยบายด้านอื่น ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการด้านสารสนเทศเพิ่มขึ้น

          4. ปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น องค์กรขนาดใหญ่ องค์การที่ต้องใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลในการแข่งขัน และองค์กรที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีความเจริญ มีโอกาสใช้ ICT มากกว่าองค์การประเภทอื่น ดังนั้นโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ของคนในองค์กรย่อมมีมากกว่าคนกลุ่มอื่น
เป็นต้น[8]

 

ความเป็นมา

          ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ 20 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่า มีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies - ICT) อย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของข้อมูลดิจิทัลอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ความก้าวหน้าใด ๆ มักจะมาพร้อมกับผลข้างเคียงด้านลบเสมอ สำหรับกรณีนี้ ควบคู่กันไปกับการก้าวข้ามพรมแดนทางเวลา (temporal) พรมแดนทางพื้นที่ (spatial) และพรมแดนทางสังคม (social) ที่มีอยู่ในขณะที่มีการใช้ข้อมูล สังคมก็ได้รับปัญหาใหม่ที่เรียกว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล”[9]

          ประชาคมโลกเริ่มมีการพูดถึงปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 แต่ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก[10] Oxford English Dictionary Online (2004)[11] ได้มีการพิจารณาว่า มีการใช้นิยามของช่องว่างทางดิจิทัลครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 ในบทความในหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐโอไฮโอชื่อ “Columbus Dispatch” และตามมาด้วยคำอธิบายในนิยามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “ช่องว่างทางระหว่างผู้ที่พร้อมเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน (โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต) กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือการศึกษาที่ได้รับจากกเทคโนโลยีนี้ด้วย” ในช่วงเวลานั้น หลายคนไม่ยอมรับที่จะมองเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ยากซึ่งส่งเสริมเพิ่มเติมคุณค่าให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ก็ได้มีการปรากฏขึ้นของมโนทัศน์ที่แน่นอนของช่องว่างทางดิจิทัลในฐานะปัญหาที่ได้รับการยอมรับและมีความร้ายแรงซึ่งมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีการอภิปรายเป็นระยะ ๆ โดยทุกฝ่ายทั่วโลก

          ขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1999 การสำรวจครั้งที่ 3 ใน “Falling Through the net: Defining the Digital Divide” โดยองค์การโทรคมนาคมและสารสนเทศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NTIA) ระบุว่าช่องว่างทางดิจิทัลกลายเป็น "เรื่องหนึ่งที่นำไปสู่ประเด็นทางเศรษฐกิจและสิทธิพลเมืองของอเมริกา (one of America’s leading economic and civil rights issues)"

          เมื่อเวลาผ่านไป องค์กรและหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สหประชาชาติ สหภาพยุโรป ธนาคารโลก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้เริ่มมีการแสดงความกังวลอย่างเร่งด่วนว่า ปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลที่ลึกขึ้นอาจทำให้หลายประเทศถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สร้างความแตกต่างเพิ่มมากขึ้นระหว่างสังคมอุตสาหกรรมขั้นสูงและสังคมกำลังพัฒนา ดังนั้นองค์กรและหน่วยงานเหล่านี้ จึงให้ความสนใจทุ่มสรรพกำลังและงบประมาณ เพื่อศึกษาและตัดสินใจกับปัญหานี้ ประชาคมระหว่างประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินการจัดประชุมระหว่างประเทศและการประชุมสุดยอด (Summit) เช่น Digital Divide Summit: United States Department of Commerce ปี ค.ศ. 1999  World Summit on the Information Society (WSIS): Geneva 2003 - Tunis 2005 จัดเวทีสาธารณะ (forum) ต่าง ๆ  และสร้างเว็บไซต์เฉพาะสำหรับปัญหาช่องว่างทางดิจิทัล และออกหลากหลายโครงการและความคิดริเริ่มต่าง ๆ พวกเขาทำการศึกษาประสบการณ์การเอาชนะปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ นั่นหมายถึง จากที่อยู่ในระดับของการอภิปรายได้พัฒนายกระดับเป็นข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติบนการเชื่อม “ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัล (digital inequality)” ทั้งในขอบเขตระหว่างประเทศและภายในรัฐแต่ละรัฐ[12]

          เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เริ่มมีนักวิชาการเสนอให้เปลี่ยนขอบเขตและแนวคิดในการมองช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กว้างขึ้น ไม่ผูกติดอยู่กับการเข้าถึง (access) คอมพิวเตอร์ (computer) และการเชื่อมต่อ (connectivity) แต่ให้รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ที่ช่วยให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี เช่น เนื้อหา (content) ภาษา (language) ความรู้และการศึกษา (literacy and education) โครงสร้างของชุมชนและสถาบัน (community and institutional structures) และเสนอให้เปลี่ยนการประเมินช่องว่างทางดิจิทัลไปสู่มิติของความไม่เท่าเทียมกันด้านดิจิทัล (digital inequality) ที่มีความซับซ้อนและหลายระดับชั้น (multi-layered) ทั้งด้านกายภาพ (physical) ด้านดิจิทัล (digital) ด้านมนุษย์ (human) ด้านทรัพยากรและความสัมพันธ์ทางสังคม (social resources and relationships) [13]

 

สถานการณ์ช่องว่างทางดิจิทัลในประเทศไทย

          ช่องว่างทางดิจิทัลในสังคมไทยค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นประมาณต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแพร่กระจายจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาสู่ศูนย์กลางของประเทศไทยและขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ ความตื่นตัวและความเชื่อในสมรรถนะของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการยกระดับ (leverage) เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายและวาระแห่งชาติ (nation agenda) ในการพัฒนาด้าน ICT สร้างช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดการซึมซับและนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หมู่บ้าน ครัวเรือน และประชาชนทุกคน

          การลดช่องว่างทางดิจิทัลในประเทศไทย อาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง ตามลักษณะของเทคโนโลยีการสื่อสาร คือ ช่วงแรก ก่อนปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เน้นการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย โดยใช้หน่วยงานของรัฐเป็นกลไกในการสร้างช่องทางในการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และ ช่วงที่สอง หลังปี พ.ศ. 2554 เป็นการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย โดยรัฐบาลระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

          ความพยายามลดช่องว่างทางดิจิทัลในระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน เริ่มปรากฏให้เห็นความสำเร็จในปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) จากโครงการเน็ตประชารัฐและโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการลดช่องว่างทางดิจิทัลในเชิงเทคนิค แม้ว่ารัฐบาลมีความพยายามในการสร้างเนื้อหารวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตทั้งในและนอกระบบการศึกษา แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการสำรวจหรือเฝ้าติดตามระบบและต่อเนื่องของรัฐบาลในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ต แม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังมีช่องว่างอีกไม่น้อยโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเมือง (กรุงเทพฯ และเทศบาล) รวมถึงในพื้นที่ระดับภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย[14]

 

บรรณานุกรม

ตำรา

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง. คู่มือพลเมืองดิจิทัล. กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อสังคม, 2561. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. https://thaidigizen.com/wp-content/uploads/2018/06/DigitalCitizenship-Book-ok.pdf

C. Gaindric, G. Magariu, L. Burtseva, S. Cojocaru and T. Verlan. “Digital divide: introduction to the problem.” in Information Communication Technologies: Concepts, Methodologies, Tools, and Applications. Vol. 1. New York: Yurchak Printing , 2008.  Accessed July 29, 2023. https://www.researchgate.net/publication/344924171_Digital_Divide      

บทความ

เรวัต แสงสุริยงค์. “ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในสังคมไทย.” Veridian E–Journal. ปีที่ 11. ฉ.3 (กันยายน-ธันวาคม, 2561). สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/155002

รายงาน

International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank. World Development Report 2016: Digital Dividends. Washington, DC: International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank, 2016. Accessed July 29, 2023.https://www.worldbank.org/en/publication/wdr2016

UN Women and United Nations Department of Economic and Social Affairs, Statistics Division. Progress on the Sustainable Development Goals: The gender snapshot  2022. New York: UN Women and United Nations Department of Economic and Social Affairs, 2022. Accessed July 29, 2023. https://www.unwomen.org/en/digital-library/publications/2022/09/progress-on-the-sustainable-development-goals-the-gender-snapshot-2022

เว็บไซต์

Broadbandsearch. “Broadband Definition, Variations and How they Work.” broadbandsearch.net. Accessed July 29, 2023. https://www.broadbandsearch.net/definitions/broadband

 

เชิงอรรถ

[1] เรียบเรียงจาก วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, คู่มือพลเมืองดิจิทัล, (กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อสังคม, 2561), 172, https://thaidigizen.com/wp-content/uploads/2018/06/DigitalCitizenship-Book-ok.pdf , เรวัต แสงสุริยงค์, “ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในสังคมไทย,” Veridian E–Journal, 11, ฉ. 3 (กันยายน-ธันวาคม, 2561): 1059-1060, https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/155002

[2] แปลและเรียบเรียงจาก Broadbandsearch, “Broadband Definition, Variations and How they Work.” broadbandsearch.net, Accessed July 29, 2023, https://www.broadbandsearch.net/definitions/broadband

[3] International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank, World Development Report 2016: Digital Dividends, (Washington, DC: International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank, 2016), 6, https://www.worldbank.org/en/publication/wdr2016

[4] วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, คู่มือพลเมืองดิจิทัล, 173.

[5] วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, คู่มือพลเมืองดิจิทัล, 174.

[6] แปลและเรียบเรียงจาก International Bank for Reconstruction and Development / The World Bank, World Development Report 2016: Digital Dividends, 8.

[7] แปลและเรียบเรียงจาก UN Women and United Nations Department of Economic and Social Affairs, Statistics Division, Progress on the Sustainable Development Goals: The gender snapshot  2022. (New York: UN Women and United Nations Department of Economic and Social Affairs, 2022), 15, https://www.unwomen.org/en/digital-library/publications/2022/09/progress-on-the-sustainable-development-goals-the-gender-snapshot-2022

[8] เรวัต แสงสุริยงค์, “ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในสังคมไทย,” Veridian E–Journal, 11, ฉ. 3 (กันยายน-ธันวาคม, 2561): 1061, https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/155002

[9] C. Gaindric et al., “Digital divide: introduction to the problem.” in Information Communication Technologies: Concepts, Methodologies, Tools, and Applications. (New York: Yurchak Printing , 2008), Vol. 1, 76,  https://www.researchgate.net/publication/344924171_Digital_Divide      

[10] เรวัต แสงสุริยงค์, “ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในสังคมไทย,” Veridian E–Journal, 1059. 

[11] ปัจจุบัน หน้าเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว แต่มีเอกสารอย่างน้อย 2 ชิ้นที่อ้างเหมือนกัน คือ Digital divide: introduction to the problem ซึ่งอ้างในบทความนี้ และในบททบทวนวรรณกรรมของ Cyberspace's Ethical and Social Challenges in Knowledge Society จากสำนักพิมพ์เดียวกัน สืบค้นได้จาก https://www.igi-global.com/chapter/cyberspace-ethical-social-challenges-knowledge/13350

[12] แปลและเรียบเรียงจาก C. Gaindric et al., “Digital divide: introduction to the problem.” in Information Communication Technologies: Concepts, Methodologies, Tools, and Applications. 77.

[13] เรวัต แสงสุริยงค์, “ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในสังคมไทย,” Veridian E–Journal, 1059. 

[14] เรื่องเดียวกัน, 1072.