ชาวไทย (พ.ศ. 2542)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคชาวไทย

พรรคชาวไทย มีอักษรย่อภาษาไทยว่า “พชท” ใช้ภาษาอังกฤษว่า “THAI PEOPLE PARTY” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 12/2542 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542 มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคชาวไทย ตั้งอยู่เลขที่ 211/17 ซอยชัยเกียรติ 2 ม.6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 [1] ต่อมาได้เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานใหม่ไปตั้งอยู่เลขที่ 90/3 ถนน สุขาภิบาล 1 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10260 [2]


เครื่องหมายพรรคชาวไทยมีดังนี้ [3]

1. พื้นของเครื่องหมายเป็นสีขาว

2. เส้นโค้งสีแดงไขว้ตัดกันอยู่รอบนอก ปลายเส้นโค้งมีสีแดงมีลูกศรชี้ออก

3. ด้านในมีเส้นโค้งสีน้ำเงิน ไขว้สลับกันทั้งสีน้ำเงินและสีแดง ปลายเส้นโค้งมีลูกศรชี้ออกเหมือนกับเส้นโค้งสีแดง

4. ด้านในของเส้นโค้งทั้งสองสี มีวงกลมสีน้ำเงินทึบทั้งวง

5. มีอักษรว่า “พรรคชาวไทย” อยู่ด้านล่างของภาพเครื่องหมาย

มีความหมายดังนี้คือ พรรคชาวไทยจะเทิดทูนชาติ ศาสนาและจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ พรรคชาวไทยจะสร้างปวงชนชาวไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและให้ “รู้รักสามัคคี” พรรคชาวไทยจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและการพลังงาน ให้ชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับชาวไทยทุกคน

ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรคชาวไทยเป็นเครื่องหมายพรรคในลักษณะเดียวกัน แต่ย่อให้เล็กลงและมีสีเดียว [4]


นโยบายของพรรคชาวไทย พ.ศ. 2542 [5]

สมาชิกพรรคชาวไทยจะยึดมั่นในอุดมการณ์ของชาติ จะดำรงรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของชาติ สร้างสังคมชาติไทยให้ไปสู่สังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีจุดมุ่งต่อประชาชนชาวไทยเพื่อความเป็นไทย เพื่อชาติไทยให้มีความเจริญมั่นคงรุ่งเรืองด้วยเสรีภาพ สมภาพ และภราดรภาพยังความผาสุกแก่ปวงชนชาวไทย

พรรคชาวไทยมุ่งหวังจะสรรสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นอู่ข้าวสมกับได้ชื่อว่าเป็น “แหลมทอง” และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากประชาชนเพิ่มขึ้นมากมายจนเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร


จุดมุ่งหมายของพรรคชาวไทยมีดังนี้

ในด้านสังคมจะปฏิรูปเพื่อสมภาพ ภราดรภาพ และอุดมภาพแก่ชนชาวไทย ปรับปรุงการบริหารทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพ

ในด้านเศรษฐกิจจะปฏิรูป สถาปนาโครงสร้างเศรษฐกิจขึ้นใหม่ เพื่อความเป็นธรรมและจริงจัง และพัฒนาให้เกิดความยุติธรรมทางด้านความเป็นอยู่ของชนบทและเมือง

ในด้านการเมืองจะระดมพลังทรัพยากรทั้งหมดในสังคมไทยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของชาติ และจะสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย

พรรคชาวไทย เป็นของชาวไทย โดยชาวไทย เพื่อชาวไทยรวมพลังกันสร้างระบอบประชาธิปไตยด้วยความบริสุทธิ์ใจให้มีความสมบูรณ์และมั่นคงสถาพร เพราะคนไทยมีความเป็นตัวของตัวเองรักความเป็นไท มีเมตตาธรรมและภราดรธรรมเป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจโดยถ้วนหน้าเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ประเทศไทยได้พยายามจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้ประเทศชาติประสบปัญหาเรื้อรังและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

พรรคชาวไทย เห็นว่าการแก้ปัญหาของชาติให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น จะต้องปฏิบัติการด้วยความบริสุทธิ์ใจให้ถูกต้องและจริงจังโดยดำเนินตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยระบบพรรคการเมืองที่มีอุดมคติและนโยบายที่สอดคล้องตรงกันกับความต้องการของชาติและประชาชน ดังนั้นพรรคชาวไทย จึงขอเสนออุดมคติของพรรคและนโยบาย เพื่อให้พี่น้องชาวไทยได้พิจารณา

การแก้ปัญหาเร่งด่วนของชาติ พรรคชาวไทยมุ่งจะสร้างฐานทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนให้อยู่ดีกินดีเสริมความสามัคคีในชาติ รักษาความสงบเรียบร้อยและมีระเบียบโดยทั่วไป เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำต้องมีการพัฒนาเกษตรกรรม เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการประมง การพัฒนาสาขาอื่นๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร การพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมและขอให้การพัฒนาทุกสาขาเป็นไปอย่างมีเป้าหมายและแน่ชัดให้สอดคล้องกัน สามารถระดมทรัพยากรของชาติให้มีประสิทธิภาพไม่ล่าช้า–ซ้ำซ้อนและสูญเปล่าเพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะได้ใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายให้แน่นอนและชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 พรรคชาวไทยเคยลงสมัครเลือกตั้งโดยได้หมายเลข 2 ซึ่งได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 2 คน ได้แก่ 1. ว่าที่ร้อยตรีณัฐ ศรีเฟื่องฟุ้ง 2. นายเล็ก ช้างเผือก และผู้สมัครแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ที่จังหวัดสมุทรปราการเขต 5 จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสุชาติ สวงไท แต่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง [6]ต่อมาพรรคชาวไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 8/2547 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2547 ให้ยุบพรรคชาวไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนของสาขาพรรคการเมือง และสมาชิก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในคราวประชุมใหญ่วิสามัญพรรคชาวไทย ครั้งที่ 2/2545 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2545 มีมติให้เปลี่ยนข้อบังคับพรรคชาวไทยบางข้อ ซึ่งไม่มีผู้แทนสาขาพรรคการเมือง และสมาชิกครบองค์ประชุม รวมถึงบัญชีรายชื่อไม่ได้เป็นสมาชิกและไม่ได้เข้าร่วมประชุม ดังนั้นจึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 26 ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) และศาลพิจารณาข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของหัวหน้าพรรคชาวไทยแล้วเห็นว่าเป็นจริง จึงตัดสินให้ยุบพรรคชาวไทย [7]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83 ง, วันที่ 18 ตุลาคม 2542, หน้า 76, 92-94.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 121 ง, วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543, หน้า 32.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83 ง, วันที่ 18 ตุลาคม 2542, หน้า 93
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83 ง, วันที่ 18 ตุลาคม 2542, หน้า 94.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83 ง, วันที่ 18 ตุลาคม 2542, หน้า 76-92.
  6. ไทยโพสต์ 11 ธันวาคม 2543 และ สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 25 ฉบับที่ 49 (30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2543), หน้า 1353.
  7. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 130 ง, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2547, หน้า 110. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 40 ก, วันที่ 19 พฤษภาคม 2548, หน้า 165-176.