คึกฤทธิ์ ปราโมช : นายกฯ ในจอและนอกจอ
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
คึกฤทธิ์ ปราโมช : นายกฯ ในจอและนอกจอ
เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีมาได้หลายคนแล้ว นับจำนวนได้เป็นสิบสิบ มีด้วยกันหลายแบบทั้งพลเรือนและทหาร มีทั้งบุรุษและสตรี แต่มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ได้เป็นทั้งในจอและนอกจอ คือเคยแสดงได้บทเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนในภาพยนตร์ ก่อนที่ต่อมาอีก 12 ปี จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลในชีวิตการเมืองจริงได้ด้วย นายกรัฐมนตรีเจ้าบทบาทท่านนี้ก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีพี่ชายแท้ๆเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้าแล้ว
ขอนำประวัติชีวิตเบื้องแรกของท่านมานำเสนอกันสักนิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นท่านเป็นน้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดังนั้นท่านจึงเป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบและหม่อมแดง โดยท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง ตามประวัติของท่านนั้นระบุว่าที่เกิดของท่านไว้ว่า ท่านเกิดในเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2454
ทางด้านการศึกษานั้น หลังจากที่ท่านได้เรียนหนังสือที่บ้านจนอ่านเขียนได้ ท่านก็ได้เข้าเรียนขั้นแรกที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และไปต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนที่ทางครอบครัวจะส่งไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนเทรนต์ จากนั้นจึงได้เข้าไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัย ควีนส์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐกิจ(PPE) กลับมาสยามประเทศ ด้านชีวิตครอบครัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แต่งงานกับ ม.ร.ว.หญิง พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ศึกษาจบมาจากอังกฤษแล้ว ท่านได้กลับมาทำงานที่กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาก็ได้ไปทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์
แม้แต่เป็นทหารได้ยศสิบตรีไปสงครามอินโดจีน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เคยเป็นมาแล้ว ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้และทำงานหลายด้าน แต่อาชีพการงานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงนั้น นอกจากการเมืองที่จะได้เห็นกันต่อไปก็คือการเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน นักพูด ที่ฝีมือและฝีปากดีมาก ผู้คนติดใจในรสบทประพันธ์ของท่านที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ของท่านเอง กับติดรายการวิทยุ “เพื่อนนอน” ของท่านกันมากอีกเช่นกันในยุคหนึ่งมาแล้ว
ส่วนการเป็นดาราภาพยนตร์ของฮอลลีวูดส รับบทเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2506 ในภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง "อักลี่อเมริกัน" อันเป็นเรื่องราวของการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศของประเทศสมมุติที่ชื่อ “สารขัณฑ์” เรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้องแสดงประชันบทกับดาราอย่างนายมารอน แบรนโด ผู้รับบทเป็นเอกอัครราชทูตอเมริกัน ประจำประเทศสารขัณฑ์ การเมืองในประเทศนั้นสับสนวุ่นวาย มีการประท้วงของประชาชน ครั้งนั้นเขาว่ากันว่าท่านแสดงเป็นนายกรัฐมนตรีได้สมบทบาทจริงๆ แต่ก็ไม่ทราบแน่นอนว่ามีคนไทยลุ้นให้ท่านเป็นนายกฯนอกจอมากน้อยอย่างไร ชีวิตที่เข้ามาสู่การเมืองโดยแจ้งชัดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เริ่มขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยท่านได้ร่วมกับมิตรร่วมแนวคิด ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ร่วมกันตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคก้าวหน้าขึ้นใน ปี 2488 เหมือนกับรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในเร็ววัน บุคคลเหล่านี้มี นายสอ เสถบุตร นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายเลียง ไชยกาล และนายสุวิช พันธุเศรษฐ เป็นต้น ปี 2488 นี้ ในเดือนกันยายน พี่ชายของท่าน อดีตทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันซึ่งเป็นหัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐอเมิกา ได้รับการยอมรับให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาฯประเภทที่ 2 ในวันที่ 27สิงหาคม ปีเดียวกัน และนายกฯผู้เป็นพี่ชายของท่านนี่เองที่เสนอออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา ในเดือนตุลาคม ปี2488 อันเป็นผลให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489
ครั้งนี้เองที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกที่จังหวัดพระนคร และท่านก็ชนะเลือกตั้งด้วยพร้อมกับเพื่อนร่วมพรรคก้าวหน้าอีกหลายคน เข้าสภาครั้งแรกนี้ พอดีกับได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ทางสภาฯได้เลือกท่านเป็นกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคนหนึ่งด้วย ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2489 ที่สำคัญท่านได้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน และต่อมาเมื่อนายปรีดี พ้นตำแหน่งประธานไปเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ยังเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489
วันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 มีการเปลี่ยนรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยการรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหวัณ และนายควง อภัยวงค์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี รับจัดการเลือกตั้งใหม่ให้คณะรัฐประหาร ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ได้ลงเลือกตั้งซ้ำในครั้งนี้ด้วยที่จังหวัดพระนครและก็ชนะเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเลือกตั้งในตอนต้นปี 2491 สภาก็สนับสนุนให้นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล คราวนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เข้าร่วมรัฐบาลครั้งแรกเป็นรัฐมนตรีลอย สั่งราชการกระทรวงการคลัง แต่รัฐบาลของนายกฯควงชุดนี้อายุสั้น รัฐบาลแพ้มติในสภาและนายกฯลาออก รัฐบาลใหม่ที่ตามมามีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จึงออกมาเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญที่มีนายควงเป็นหัวหน้า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ออกมาเป็นฝ่ายค้านด้วย และวันหนึ่งท่านก็ค้านทั้งรัฐบาลและพรรคของท่านเอง เมื่อรัฐบาลเสนอขึ้นเงินเพิ่มพิเศษให้สมาชิกสภาที่ทางนายควงและพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย ท่านจึงลาออกจากสภาฯ ดังที่มีผู้บันทึกเอาไว้ว่า
“ตามที่สภาผู้แทนได้ลงมติให้จ่ายเงินเพิ่มให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนเดือนละ '1,000 บาทนั้น ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้วางใจของประชาชนได้ต่อไปอีก จึงขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือหลวงพิบูลสงคราม ก็ชวนเชิญท่านให้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ตำแหน่งเสนาบดีครั้งแรกของท่านก็มิได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีแรงต้านจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก พากันเล่นงานท่านว่าท่านประท้วงสภาด้วยการลาออกไปแล้วจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร แรงต่อต้านคราวนั้นแรงทีเดียว แรงมากจนทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถอนตัวจากการเข้าร่วมรัฐบาล แม้จะพ้นจากสภาฯและรัฐบาล ท่านก็ไม่ได้ห่างจากประชาชน เพราะท่านได้มีบทบาทเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และเป็นเจ้าของออกหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ใช้เป็นเวทีสำคัญในการติดต่อสื่อสารทางการบ้านการเมืองกับมหาชน จนเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองกว้างขวางมากไปกว่ากรุงเทพฯ ท่านมาเข้าสภาอีกทีก็เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจและมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาในปี 2502 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เวลาผ่านมาจนถึงปี 2516 หลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ และครั้งนั้นท่านก็ได้ตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม ปี 2516 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม ปีถัดมาด้วย เวลานั้นการเมืองกำลังสับสน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้ซึ่งเป็นคนนอกวงการเมืองต้องเข้ามารับภาระเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เผชิญปัญหามากถึงขนาดลาออกก่อนที่จะทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ ครั้งนั้นผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะเข้ามาเป็นนายกฯ แต่ท่านก็ไม่ยอมรับ และให้สภาฯมีมติเชิญ นายสัญญา กลับเข้ามาเป็นนายกฯต่อไปจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517
เมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้รวบรวมพรรคพวกตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคกิจสังคม ขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2517 โดยมีตัวท่านเองเป็นหัวหน้าพรรค และมีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเลขาธิการ นับเป็นครั้งสุดท้ายของท่านที่ตั้งพรรคการเมือง และท่านก็นำพรรคกิจสังคมเข้าแข่งขันในสนามเลือกตั้งปี 2518 การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองดูจะมีโอกาสแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน เพราะไม่มีพรรคการเมืองที่เรียกว่าพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงแข่งขันแต่อย่างใด และก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าคู่แข่งขันสำคัญของท่านก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคเก่าแก่ของท่าน ที่สำคัญคือมีพี่ชายแท้ๆของท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่ต่างไปกว่าที่ใครต่อใครคาดหมายก็คือ พรรคกิจสังคมของท่านมีสมาชิกได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรน้อยมาก ได้เพียง 18 คน เป็นพรรคลำดับที่ห้า โดยพรรคประชาธิปัตย์ชนะเป็นที่หนึ่ง
ที่เกินความคาดหมายของคนที่เฝ้าดูการเมืองทั้งประเทศก็คือ แม้พรรคกิจสังคมของท่านจะได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ห้า มีเสียงเพียง 18 เสียง พรรคกลับสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลชุดที่ 2 ได้หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีพี่ชายของท่านเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ ในวาระแรกที่แถลงนโยบายและขอความไว้วางใจ เป็นอันว่า ม.ร.ว.
คึกฤทธิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศจริงๆ มิใช่ได้แสดงบทเป็นเพียงนายกฯในจอภาพยนตร์เท่านั้น
แต่การเป็นนายกฯของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็แสนยาก ดูจะยากกว่าที่เป็นในภาพยนตร์ แต่ก็น่าสนใจว่าในภาวะที่การเมืองวุ่นวาย และมีการประท้วงต่างๆ กิจการด้านต่างประเทศได้เป็นงานสำคัญที่นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งเป็นพลเรือนท่านนี้ทำได้ดี นำพาประเทศไทยผ่านวิกฤตจากแรงรุกของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอาณาบริเวณแหลมทองได้เป็นอย่างดี ตอนที่ท่านเข้ามาเป็นนายกฯนั้นก็คือตอนปลายเดือนมีนาคม ปี 2518 เข้าทำงานยังไม่ทันครบเดือน ในวันที่ 17 เมษายน ที่ตามมา คนทั้งโลกก็ตกใจ เพราะกองทัพเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญ ของเขมรได้ ครั้นถึงวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน กองทัพของคอมมิวนิสต์เวียตนามเหนือก็ยึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ได้ และเดือนถัดมาฝ่ายคอมมิวนิสต์ในรัฐบาลผสมของลาวก็มีอำนาจมากขึ้นในรัฐบาล แรงรุกจากคอมมิวนิสต์ทำให้นายกฯกล้าดำเนินนโยบายต่างประเทศ หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนคอมมิวนิสต์ ทำให้แรงบีบของคอมมิวนิสต์ในไทยลดลง แต่ในประเทศรัฐบาลของท่านก็ต้องเจอกับการประท้วงทั้งจากนักศึกษาแลตำรวจ ถึงขนาดตำรวจบุกพังบ้านท่าน
ครั้นเวลาผ่านมาได้ 9 เดือน รัฐบาลผสมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เริ่มมีความขัดแย้งภายใน จนนายกฯต้องปรับคณะรัฐมนตรีและตามด้วยการยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม ปี2519 พร้อมกับจัดการเลือกตั้งใหม่ ที่กลายเป็นการเลือกตั้งที่พรรคกิจสังคมได้ที่นั่งในสภามากขึ้น แต่หัวหน้าพรรคคือนายกฯแพ้เลือกตั้งที่เขตดุสิต
หลังเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และมีการเลือกตั้งในปี 2522 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกิจสังคมก็ยังนำพรรคกิจสังคมลงแข่งขันเลือกตั้งอีก และแม้จะไม่ได้เข้าไปร่วมรัฐบาลอีก แต่ท่านก็ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูง เพราะพรรคกิจสังคมของท่านยังได้เข้าร่วมรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในเวลาต่อมา ท่านได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในปี 2528 เพื่อยุติบทบาททางการเมืองท่าน
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุติบทบาททางการเมือง แต่ก็ไม่ได้หยุดการให้ความเห็นหรือแสดงความคิดทางการเมือง ท่านยังดูความลุ่มๆดอนๆของการเมืองไทยต่อมาอีก10ปี จนถึงอสัญกรรมในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2538