ข้ามเขต (เลือกตั้ง) คนละเบอร์
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2562 ที่คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้เรียกเป็นชื่อทั่วไปว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นเครื่องมือของการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน โดยรูปแบบการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นจะได้รับหมายเลขประจำตัวแตกต่างกันไปในแต่ละเขต ซึ่งทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ “ข้ามเขต (เลือกตั้ง) คนละเบอร์” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
สนธิ เตชานันท์[1] ได้อธิบายว่า สิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการเมืองอีกประการหนึ่งก็คือ “เขตเลือกตั้ง” โดยทั่วไปเขตเลือกตั้งแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ เขตเลือกตั้งแบบที่มีผู้แทนราษฎรได้คนเดียว (single-member districts) หรือที่วงการเมืองไทยเรียกว่าแบบ “แบ่งเขต” กับแบบที่เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หลายคน (multi-member districts) ซึ่งวงการเมืองไทยเราเรียกว่าแบบ “รวมเขต” นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า เขตเลือกตั้งแบบที่มีผู้แทนราษฎรได้คนเดียวนั้นมีความโน้มเอียงที่จะก่อให้เกิดหรือธำรงไว้ซึ่งระบบสองพรรค (two-party system) ในขณะเดียวกันแบบที่เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หลายคนจะก่อให้เกิดระบบหลายพรรค (multi-party system) ข้อสรุปนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะมีปัจจัยในกระบวนการเมืองมากมายหลายประการที่มีส่วนกำหนดจำนวนของพรรคการเมือง
สำหรับประเทศที่ใช้เขตเลือกตั้งแบบ “แบ่งเขต” นั้นตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ใช้การเลือกตั้งแบบนี้ในการเลือกผู้แทนหลายประเภท เป็นต้นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาเมือง ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า วอร์ด (ward) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเคาน์ตี (county council) ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า council-seat district ในระดับมลรัฐก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เขตเลือกตั้งจะเป็นแบบแบ่งเขต ซึ่งแต่ละเขตเลือกตั้งจะตเลือกผู้แทนได้ 1 คน และนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา ผู้แทนจนถึงระดับชาติซึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการรัฐ และประธานาธิบดีต่างก็ได้รับการเลือกตั้งตามครรลองของตน โดยใช้วิธีการแบบแบ่งเขต
ส่วนการเลือกตั้งแบบ “รวมเขต” นั้น ใช้กันในประเทศยุโรปตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ข้อน่าสังเกตก็คือการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมักใช้ควบคู่กับระบบการคิดคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา กล่าวคือผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งก็คือผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครอื่นๆ
สำหรับการเลือกตั้งของไทยภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน
และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส.เขต ขณะเดียวกันคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบในเขตเลือกตั้งนั้น (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) คะแนนเหล่านั้นจะถูกนำไปให้พรรคการเมืองของผู้ที่สมัครรายนั้นสังกัดอยู่เพื่อนำไปคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. สังกัดแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหลักการเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และการแบ่งเขตการเลือกตั้งไว้ดังนี้[2]
1. การกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดควรมี (มาตรา 26)
1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดคือ 350 คน จะได้เป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน โดยในการเลือกตั้งปี 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ใช้จำนวนประชากรตามฐานทะเบียนราษฎรในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จำนวน 66,188,503 คน มาคำนวณและเมื่อนำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวน ส.ส. 350 เขต ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนประชากรโดยเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
2) จังหวัดใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่ง
3) หากจังหวัดไหนมีจำนวนประชากรเกินจำนวนประชากรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วนจำนวนประชากร และแบ่งเขตเท่าจำนวนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันและจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน
2. เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 27)
1) ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง
2) คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน
3) ความสะดวกในการเดินทาง
4) การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
อย่างไรก็ตามหากรวมอำเภอตามที่ระบุแล้วได้จำนวนประชากรมากหรือน้อยเกินไปสามารถแบ่งตำบลออกมาได้ แต่จะแยกหมู่บ้านออกจากตำบลไม่ได้ โดยให้แบ่งตามสภาพของชุมชนที่ประชากรมีการติดต่อกันเป็นประจำมีลักษณะเป็นชุมชนเดียวกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้สะดวก แต่ต้องมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันมากที่สุด
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการระบุหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหลักการไว้มาตรา 46 ซึ่งกำหนดว่า ให้เป็นหน้าที่ของผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบ การสมัครของผู้สมัครว่าได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา 45 ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเห็นว่า ไม่ถูกต้องครบถ้วนให้คืนเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สมัครนั้น ในกรณีที่ผู้สมัครได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา 45 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อํานวยการ การเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนั้นเรียงตามลําดับ การยื่นสมัคร และให้ทําสําเนาคู่ฉบับไว้เป็นหลักฐานและให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่ วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่น ที่เห็นสมควร ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล และรูปถ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมือง ที่สังกัด และหมายเลขประจําตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน
ดังนั้นจากความในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งในมาตรา 46 จึงทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่สังกัดพรรคเดียวกันในเขตเลือกตั้งแตกต่างกันจะมีเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแตกต่างกันไปตามแต่ลำดับการยื่นสมัครรับเลือกตั้งและการตรวจสอบหลักฐานการรับสมัครของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้นนั้นแล้วและประกาศให้เป็นหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่สมัครนั้นๆ
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อไว้อย่างชัดเจน โดยได้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้งระบบใหม่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “แบบจัดสรรปันส่วนผสม” ตามแบบอย่างของประเทศเยอรมนี ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้นำมาปรับใช้ในการเลือกตั้งของไทย
จากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นจากการระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่นำไปสู่ระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีเพียงบางพรรคได้รับความนิยมจากประชาชน จนกล่าวกันว่าระบบการเลือกตั้งทำให้การเมืองไทยสร้างเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองขึ้น คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 จึงต้องการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ลดความรุนแรงและการแข่งขันในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองจากการเลือกตั้งลง ทำให้มีการกระจายหรือมีตัวแทนครอบคลุมอย่างทั่วถึงในกลุ่มผลประโยชน์ ในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ให้สามารถเข้ามามีส่วนในระบบการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่เป็นระบบ “one person one vote” คนที่ชนะในเขตเลือกตั้งหนึ่งอาจชนะกันเพียงแค่คะแนนเสียงเดียว ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบเพราะนำคะแนนมาตัดสินผลชนะเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีการแข่งขันกัน 4 คน ผู้ที่ชนะคะแนนในเขตเลือกตั้งนี้ได้คะแนนร้อยละ 40 ของคะแนนที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ขณะที่อีก 3 คนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในเขตนี้แต่รวมผลคะแนนที่ได้มีถึงร้อยละ 60 ของคะแนนที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งมากกว่าผู้ชนะการเลือกตั้ง และที่สำคัญคะแนนรวมกว่าร้อยละ 60 ดังกล่าวในเขตเลือกตั้งนั้นถูกทิ้งไป หรือเรียกว่า “คะแนนตกน้ำ” ไม่ได้นำมาคำนวณแต่อย่างไรเท่ากับว่าคะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่มีความหมายใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คะแนนนิยมของผู้สมัครบางคนของบางพรรคการเมืองมีลักษณะผูกขาดฐานเสียงในเขตเลือกตั้งนั้น สามารถรักษาฐานเสียงด้วยวิธีการต่าง ๆ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่คิดต่างจาก ส.ส. ที่ผูกขาดฐานเสียงในพื้นที่ดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสมีผู้แทนของตนเอง ทำให้ช่องว่างดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขบคิดของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบ่งออกเป็น 2 แบบที่มีลักษณะเกื้อหนุนกันซึ่งบรรจุไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560[3]
ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มีหลักการที่วางไว้คือ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคะแนนของ
ผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถูกนำไปนับเป็นคะแนนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำให้เกิดการจัดสรรปันส่วนของที่นั่ง ส.ส. อย่างเป็นธรรมและเปลี่ยนสภาพการเมืองจากการแข่งดีแข่งเด่นให้หันมาปรึกษาหารือร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการใหม่ของระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือ การกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอีกจำนวน 150 คน โดยใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตครบทั้ง 350 เขตแล้ว จึงนำคะแนนจากเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนำมาเป็นคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองเพื่อคิดคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
จากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มีหลักการที่วางไว้คือ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถูกนำไปนับเป็นคะแนนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นจะได้รับหมายเลขประจำตัวแตกต่างกันไปในแต่ละเขต ซึ่งทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ “ข้ามเขต (เลือกตั้ง) คนละเบอร์” ซึ่งจากความเห็นของคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ได้สรุปหลักการสำคัญการเลือกตั้งแบบใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคเดียวกัน ข้ามเขตคนละเบอร์ ไว้ล่วงหน้าซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาที่มีผลกระทบต่อหลักการต่างๆ อย่างน่าสนใจดังนี้[4]
1) ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 2 ประเภท แต่กลับให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้เพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน พูดกันให้ง่ายขึ้นก็คือเป็นพฤติกรรมแบบ “มัดมือชก”
2) การทำให้เกิดการริดรอนสิทธิทางการเมืองหรือบังคับจิตใจของประชาชนมิให้ “เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบ” จึงทำให้ประชาชนมีสภาพเหมือนถูก “ขโมย” สิทธิที่จะลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไป หรือทำให้การเลือก “พรรคที่ชอบ” อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเลือก “คนที่รัก”เสมอไป
3) การทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็ลดน้อยลงเท่าน้น ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่พรรคการเมืองได้คะแนนเสียงหรือที่นั่ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตมากควรมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้มากกว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า
4) การทำให้ยากขึ้นที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐฐาลที่มีเสถียรภาพและผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ให้บรรลุผลสำเร็จได้
5) การทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนมากที่สุดอาจถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน โดยพรรคการเมืองในลำดับที่สองและพรรคขนาดกลาง
และขนาดเล็กที่เหลืออื่นๆ รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการปกครองโยเสียงข้างมาก (Majority rule)
6) การเป็นช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกและรัฐบาลผสมที่พรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ตลอดจนความไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล
7) การทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอและตกอยู่ในวงวนของการแย่งชิง กดดัน ต่อรองตำแหน่ง
และผลประโยชน์ทางการเมืองจนผู้นำรัฐบาลทนแรงเสียดทานไม่ไหว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกยิ่งต้องโดนกดดันอย่างหนักจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
8) การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและแตกแยกจากปัจจัยที่นอกจากจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ถึงสามคนแล้ว และแย่งกันอยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองลำดับต้นๆ และยังทำให้ขาดแรงจูงใจและเกี่ยงงอนกันหาคะแนนนิยมให้กับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคอีกด้วย
9) ขัดแย้งกับการโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมการร่างรัฐธรมนูญที่ว่า รัฐธรรมนญฉบับนี้ส่งเสริม
ให้คนดีเข้าสู่สภา เพราะโอกาสของคนดีที่จะเข้าสู่สภาโดยผ่านทางบัญชีรายชื่อแทบจะเป็นศูนย์
10) การเปิดช่องให้พรรคขนาดกลางเนื้อหอมจนบรรดานายทุนแย่งกันประมูลซื้อพรรคและเป็นนายทุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคนำเงินดังกล่าวไปซื้อเสียงเพิ่มมากขึ้น
4. สรุป
การเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม
พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวกำหนดให้มีใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส.เขต ขณะเดียวกันคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบในเขตเลือกตั้งนั้น (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) คะแนนเหล่านั้นจะถูกนำไปให้พรรคการเมืองของผู้ที่สมัครรายนั้นสังกัดอยู่เพื่อนำไปคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. สังกัดแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ทำให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นๆ จะได้รับหมายเลขประจำตัวแตกต่างกันไปในแต่ละเขต ซึ่งทำให้การจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ “ข้ามเขต (เลือกตั้ง) คนละเบอร์”
5. บรรณานุกรม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก
http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563
สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สำนักวิชาการและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2562). การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-038.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563
[1] สนธิ เตชานันท์. (2543). พื้นฐานรัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
[3] รุจิระ บุนนาค. (2561). บัตรเลือกตั้งแบบไฮบริด. สืบค้นจาก http://www.marutbunnag.com/article/614/, เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563
[4] อ้างถึงใน สำนักวิชาการและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2562). การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-038.pdf, เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563