ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง (ฝรั่งเศส)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง หรือ Mouvement des Gilets jaunes คือ กลุ่มผู้ชุมนุมในฝรั่งเศส ที่ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวและออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องและค่าครองชีพที่สูงขึ้นภาษี โดยเฉพาะการต่อต้านนโยบายขึ้นภาษีน้ำมันหรือที่เรียกว่า Carbon Tax โดยเก็บภาษีจากผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซล ทำให้ผู้ใช้รถยนต์และเกษตรกรต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันสูงขึ้นซึ่งถือเป็นราคาที่แพงที่สุดนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยรัฐบาลตั้งใจจะใช้มาตรการนี้เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล และระดมทุนเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดที่จะทำให้นโยบายห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลในฝรั่งเศสภายใน ปี ค.ศ. 2040 โดยจะอนุญาตให้ขายได้แต่เฉพาะรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เท่านั้น ตลอดจนมีแผนปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์และจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกที่ก่อน ปี ค.ศ. 2035 รวมทั้งจัดทำแผนให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศปลอดคาร์บอนภายใน ปี ค.ศ. 2050[1] ทั้งนี้ ถือได้ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นจุดยืนของประธานาธิบดีมาครงมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง แต่ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวกลับส่งผลให้ประชาชนเป็นจำนวนมากไม่พอใจอย่างรุนแรง

          ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้เกิดจากผู้นำแรงงานหรือฝ่ายค้าน แต่เกิดจากประเด็นถกเถียง การสื่อสารและนัดรวมตัวกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เริ่มจาก อิริค ดูเอ (Éric Drouet) และ เพรสซิลา ลูดอสกี้ (Priscillia Ludosky) ได้ยื่นคำร้องบน เว็บไซต์ change.org ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018 ต่อกรณีการขึ้นราคาน้ำมันที่สูงเกินไป ซึ่งมีผู้ลงนามเห็นด้วยต่อปัญหาดังกล่าวเกือบถึง 1 ล้านคน ในหนึ่งเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่ได้มีผู้เปิดตัวกิจกรรมบนเฟสบุ๊คเพื่อ “ปิดถนนทุกสาย” ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งหนึ่งในผู้ใช้เฟสบุ๊คในกลุ่มนี้ได้เสนอแนวคิดให้ใช้เสื้อกั๊กสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เพื่อนัดหมายกันปฏิบัติการบนท้องถนน

          กล่าวได้ว่า “เสื้อกั๊กสีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสื่อถึงคนขับรถที่เป็นผู้ประท้วงแรกเริ่ม รวมทั้งให้ความหมายต่อภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งเสื้อสะท้อนแสงสีเหลืองนี้เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่รถทุกคันในฝรั่งเศสต้องมีไว้ในรถของตน ตามกฎหมายของประเทศ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ ปี ค.ศ. 2008 ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น รถเสียกลางทางผู้ขับขี่ก็จะต้องสวมเสื้อกั๊กนี้ให้ผู้ขับขี่รถยนต์คันอื่น ๆ เห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่รถคันใดไม่มีเสื้อกั๊กสีเหลืองก็จะถูกปรับเป็นเงิน 135 ยูโร หรือ ประมาณ 5,200 บาท[2] และเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงสามารถนำเสื้อกั๊กสีเหลืองที่มีอยู่ภายในรถออกมาสวมใส่ในการเคลื่อนไหว ซึ่งการชุมนุมในช่วงแรกเป็นแบบป่าล้อมเมืองที่ผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ออกมาปิดถนนในพื้นที่ของตัวเอง โดยได้รับแรงหนุนจากมวลชนในเขตชนบทและเมืองเล็ก ๆ ของฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ไม่พอใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง ที่ถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของคนจนและชนชั้นกลาง

 

ภาพ : การชุมนุมประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส [3]

Mouvement des Gilets jaunes (1).jpg
Mouvement des Gilets jaunes (1).jpg
Mouvement des Gilets jaunes (2).jpg
Mouvement des Gilets jaunes (2).jpg

 

          มาก็ได้มีการนัดให้ปิดถนนใหญ่พร้อมกันใน วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประท้วงกว่า 300,000 คน ในการร่วมปิดถนน 200 จุดทั่วประเทศซึ่งบรรยากาศส่วนใหญ่ดำเนินไปอย่างเงียบสงบ ต่อมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 และต่อเนื่องใน วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองใช้พื้นที่ใจกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นศูนย์กลางของการชุมนุม ปิดถนนบริเวณฌองป์-เซลีเซ ปิดกั้นถนนสำคัญหลายเส้นทางทั่วประเทศ สกัดการเข้าถึงโรงกลั่นและโกดังเก็บน้ำมัน และทำให้เกิดการจราจรติดขัดในหลายเมืองใหญ่ เช่นเมืองมาร์เซย์ทางเหนือ และเมืองลีลล์ทางใต้ของประเทศ ถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี[4] มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระบองในการสลายการชุมนุม นอกจากนี้การชุมนุมยังขยายไปในเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น เมืองมาร์แซลล์และเมืองปองต์เดอโบวัวแซง ซึ่งในนอกจากม็อบเสื้อกั๊กเหลืองปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลแล้ว ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองยังต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยตำรวจปราบจลาจลได้เข้าระงับการประท้วงที่มีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นและบานปลาย กลายเป็นการจลาจลในหลายจุดโดยเฉพาะใจกลางกรุงปารีส[5] ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและมีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาคารทรัพย์สินต่าง ๆ ได้รับความเสียหายหลายแห่ง[6] โดยมีผู้เข้าร่วมประท้วงมากกว่า 136,000 คน และมีตัวเลขผู้จับกุมกลับสูงถึง 1,220 คน ในขณะที่ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงนั้นไม่ใช่แค่ต้องการต่อต้านภาษีน้ำมัน แต่ยังขยายไปที่การยกเลิกนโยบายลดภาษีสำหรับภาคธุรกิจ การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาคร็องลาออกและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น[7]

          ผลของการประท้วง นำไปสู่การที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศชะลอการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงเป็นเวลา 6 เดือน การเสนอมาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 100 ยูโรต่อเดือน หรือ ประมาณ 3,000 บาท โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนผู้ประกอบการ รวมทั้งยกเว้นภาษีในกลุ่มผู้รับเงินบำนาญและผู้มีรายได้ต่ำ ตลอดจนผลักดันให้แรงงานได้เงินที่พิเศษหรือโบนัส โดยไม่เก็บภาษีจากโบนัสและเงินที่ได้จากการทำงานล่วงเวลาด้วย โดยเฉพาะท่าทีของประธานาธิปดีที่พร้อมจะเจรจาพูดคุยให้ทุกภาคส่วนพอใจอย่างเร่งด่วน

          อย่างไรก็ดีขบวนการเสื่อกั๊กสีเหลืองในฐานะขบวนการชุมนุมประท้วง ได้กลายเป็นปรากฏการณ์แพร่ไปหลายประเทศ เช่น เบลเยียมเริ่มมีคนใส่เสื้อกั๊กเหลืองออกมาเดินบนท้องถนนประท้วงมาตรการภาษี ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีการใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองเพื่อประท้วงค่าครองชีพ[8] และที่ประเทศอิหร่านมีการก็ใส่เสื้อกั๊กเหลืองเพื่อประท้วงปัญหาการว่างงาน โดยที่รัฐบาลอียิปต์ดำเนินการเร่งเก็บเสื้อกั๊กเหลืองตามท้องตลาด เนื่องจากกังวลว่าประชาชนจะนำมาเลียนแบบเพื่อใช้ในการประท้วง เป็นต้น

 

อ้างอิง

[1] “เริ่มต้นอย่างไร รุนแรงขนาดไหน บทสรุปเสื้อกั๊กเหลืองประท้วงผู้นำฝรั่งเศส”, สืบค้นจาก https://workpointtoday. com/เริ่มต้นอย่างไร-รุนแรงข/(25 กรกฎาคม 2564).

[2] “เสื้อกั๊กเหลือง”ปรากฏการณ์ม็อบสะเทือนยุโรป”, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/55569(24 กรกฎาคม 2564) และ “Who Are France's Yellow Vest Protesters, And What Do They Want?”, Retrieved from URL https://www.npr.org/2018/12/03/672862353/ who-are-frances-yellow-vest-protesters-and-what-do-they-want (25 July 2021).

[3] "Gilets jaunes" : ce qu’il faut retenir de "l'acte 14" de la mobilisation”, Retrieved from URL https://www.europe1.fr/ societe/gilets-jaunes-ce-quil-faut-retenir-de-lacte-14-de-la-mobilisation-3859079(25 July 2021).

[4] วิเคราะห์ทิศทางการประท้วง 'เสื้อกั๊กเหลือง' กับการตัดสินใจของผู้นำฝรั่งเศส”, สืบค้นจาก https://www.voathai.com/a/france-yellow-vest-protest-analysis/4686870.html(24 กรกฎาคม 2564)

[5] “การประท้วงรัฐบาลโดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (Gilets Jaunes) ในฝรั่งเศส”, สืบค้นจาก https://www.ocsc.go.th/blog/ /2018/12/การประท้วงรัฐบาลโดยกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง-gilets-jaunes-ในฝรั่งเศส(25 กรกฎาคม 2564).

[6] “เสื้อกั๊กเหลือง”ปรากฏการณ์ม็อบสะเทือนยุโรป”, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/55569(25 กรกฎาคม 2564).

[7] “วิเคราะห์ทิศทางการประท้วง 'เสื้อกั๊กเหลือง' กับการตัดสินใจของผู้นำฝรั่งเศส”, สืบค้นจาก https://www.voathai.com/a/france-yellow-vest-protest-analysis/4686870.html(25 กรกฎาคม 2564).

[8] “เสื้อกั๊กเหลือง”ปรากฏการณ์ม็อบสะเทือนยุโรป”, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/55569(25 กรกฎาคม 2564).