ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่)
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความนำ
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement: NDM) เป็นเครือข่ายที่ขับเคลื่อนโดยนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน ภาคประชาสังคม และประชาชน จากองค์กรหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านการรัฐประหาร และผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมด ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2558 โดยการประกาศตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” อย่างเป็นทางการ มีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่เข้าสลายกิจกรรมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชน จากเครือข่ายภาคส่วนต่างๆและการจับกุมนักศึกษากลุ่มดาวดินที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ได้มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมา จนสร้างผลสะเทือนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลเป็นระยะๆ
การก่อกำเนิด “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถือได้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งในสังคมไทย ที่มีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะเครือข่ายและมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ตลอดถึงมีความพยายามในการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ การใช้สื่อออนไลน์ การแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ฯลฯ ทั้งนี้องค์ประกอบของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะต้องมีความต่อเนื่อง[1] สำหรับขบวนการประชาธิปไตยใหม่นับได้ว่ามีความต่อเนื่องระดับหนึ่ง ทว่าระยะเวลาที่ก่อตัวขึ้นมานั้นยังไม่ยาวนานนัก ภายหลังที่มีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรากฏการต่อต้านจากกลุ่มคนต่างๆ ที่มีขึ้นเป็นระยะ อาทิ การอดอาหารประท้วงของเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร หรือการใช้เครือข่ายในสังคมออนไลน์ เป็นต้น แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องและไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่ชัดเจน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการกระทำในนามปัจเจกบุคคล แม้บางกรณีจะมีการแสดงพฤติกรรมรวมหมู่ ดังเช่นการใช้ข้อความร่วม (hashtag) ในสื่อออนไลน์ แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่มีการจัดการโดยองค์กรหรือขบวนการที่เป็นทางการแต่อย่างใด
ขบวนการนักศึกษาที่ขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ หรือการต่อต้านการรัฐประหาร ก็ยังไม่ปรากฏการรวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว กลุ่มที่มีความชัดเจนในการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารที่ชัดเจนที่สุดในช่วงแรก คือ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)”[2] แต่เมื่อผ่านไปนานวันบทบาทจึงเลือนหายไป ขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเริ่มมีการพูดคุยกันเป็นระยะระหว่างเครือข่ายต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและแนวทางการจัดกิจกรรม กระทั่งถึงกลางปี 2558 อันถือเป็นช่วงเวลาที่ครบรอบ 1 ปี ของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 จึงมีการจัดกิจกรรม 2 ส่วน คือ ส่วนแรกกิจกรรม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น อีกส่วนคือกิจกรรม ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับกิจกรรม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ดำเนินกิจกรรมโดยนักศึกษากลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชนและประชาธิปไตย ต่อมานักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนได้ถูกจับกุมในเวลา 14.00 นาฬิกา โดยถูกจับจากการทำกิจกรรมอย่างสงบผ่านการชูป้ายต่อต้านรัฐประหารและถูกนำไปยังค่ายศรีพัชรินทร์ (มทบ. 23) ก่อนที่จะถูกพาไปที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น เพื่อดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน ซึ่งเป็นการออกกฎหมายโดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันรุ่งขึ้นทั้งหมดได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 7,500 บาท ต่อคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดให้กลุ่มดาวดินไปรายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน 2558[3] ในขณะเดียวกันนั้น นักศึกษากลุ่มดาวดินได้ออกมาปฏิเสธการเข้ารายงานตัว พร้อมทั้งได้มีการรวมตัวและประกาศจุดยืนจัดตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น[4]
ในอีกด้านหนึ่ง การจัดกิจกรรม ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้นักศึกษา 38 คนถูกจับกุมโดยตำรวจและทหารขณะที่ทั้งหมดกำลังชุมนุมอย่างสงบเพื่อรำลึกถึง 1 ปีรัฐประหาร แต่กลับถูกใช้กำลังจับกุมและนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ระหว่างที่นักศึกษาและเจ้าหน้าที่กำลังชุลมุนกันมีนักศึกษาบางส่วนถูกทำร้ายที่ใบหน้าและหน้าอก ต่อมาจึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลหัวเฉียว นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกประมาณ 60 คนรวมตัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 38 คน จนกระทั่งเวลาประมาณ 3.00 นาฬิกา ของวันที่ 23พฤษภาคม 2558 ทั้งหมดได้ถูกปล่อยตัวโดนไม่แจ้งข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเรียกให้นักศึกษา 9 คนไปรายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา แต่นักศึกษาประกาศต่อสาธารณะว่าจะไปในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 [5]
ครั้น เมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ปรากฏการรวมตัวกันในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ณ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อแจ้งความกลับต่อเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมนักศึกษาไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 หลังจากนั้นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็ได้เข้าร่วมกันเพื่อจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าว ณ สวนเงินมีมา เรื่องการไม่ยอมรับกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ถือว่ามาตรา 44 เป็นกฎหมาย ซึ่งการทำรัฐประหารเป็นความผิดฐานกบฏมีโทษประหาร การปฏิเสธว่ากฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ใช่กฎหมาย การเรียกรายงานตัวจึงถือว่าไม่มีค่าให้สนใจ การเดินทางไปอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศจุดยืนไม่ยอมรับรัฐประหาร และประกาศ “หลักการ 5 ประการ” จนกระทั่งวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ได้มีการจัดกิจกรรมที่สวนเงินมีมาอีกครั้งอันส่งผลให้นักศึกษาถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 14 คน[6]
การจับกุมนักศึกษากลุ่มนี้นำไปสู่การรวมตัวแสดงพลังและเรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษา ในช่วงเวลานี้ได้เริ่มมีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อาทิเช่น การใช้ข้อความร่วม (hashtag) ว่า #ปล่อยนักศึกษา#เราคือเพื่อนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ รวมถึงจัดกิจกรรมข้อความบนกำแพงเพื่อเรียกร้องให้ปล่อย 14 นักศึกษา กิจกรรมเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของผู้คนในวงกว้าง มีนักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน และภาคประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ศาลทหารได้มีคำสั่งให้ปล่อยนักศึกษาทั้ง 14 คน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558[7] หลังจากนั้นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้มีการปรับปรุงแนวทางการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าเพื่อเป็น “ฝ่ายค้านของ คสช.” อย่างเปิดเผย [8]
ข้อเรียกร้องของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”
ลักษณะร่วมประการหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม นั่นคือ การต้องมี “ข้อเรียกร้อง” เพื่อให้เป็นเป้าหมายในการผลักดันประเด็น และเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องยังเป็นการแสดงถึงจุดยืนในทางการเมืองของขบวนการต่างๆ อีกด้วย โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็มีข้อเรียกร้องและจุดยืนที่เด่นชัด นับตั้งแต่วันที่มีการก่อตั้งคือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและไม่ยอมรับกระบวนการทั้งหลายของคณะรัฐประหาร นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นข้อเรียกร้องสำคัญ 5 ประการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักการ 5 ประการ” ประกอบด้วย
1) หลักประชาธิปไตยที่จะทำให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้าอย่างเท่าเทียมกัน
2) หลักความยุติธรรมที่จะช่วยลดความขัดแย้งของคนในสังคม
3) หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดชีวิตของตนเอง
4) หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคนต้องเคารพและไม่กระทำการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิดังกล่าว
5) หลักสันติวิธี
ภายใต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น ได้กลายเป็นกระแสสังคมและสามารถสร้างเครือข่ายที่มีจุดยืนร่วมกันขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยังมีข้อเสนอต่อสังคมต่างประเทศด้วย โดยมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ คือ 1) ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2) ยุติการดำเนินคดีนักศึกษาและผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ 3) ยุติการคุกคามและการเคารพการทำหน้าที่ของทนายความ และ 4) องค์กรระหว่างประเทศควรติดตามโดยเข้าเยี่ยมและสังเกตการณ์พิจารณาคดี
แนวทางการขับเคลื่อน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีการประกาศรูปแบบองค์กรที่มีลักษณะเป็น "เครือข่าย" อย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่ได้มีแกนนำแต่เป็นเสมือนคนกลางที่คอยประสานให้กลุ่มต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายสอดรับกัน มารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและปัญหาซึ่งกันและกัน โดยมีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นสื่อกลาง และภายในขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะมี “กองเลขา” ซึ่งมาจากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ โดยมีทั้งนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน และภาคประชาชน ทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ จัดการนัดหมายประชุมกลุ่ม กำหนดทิศทางหรือประเด็นในการเคลื่อนไหว จัดการการเคลื่อนไหว ประสานให้กิจกรรมย่อยต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ระดมทุนทรัพย์ และดึงกลุ่มเครือข่ายให้เข้าร่วมกิจกรรม ในกองเลขาจะมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน[9] ซึ่งจะคอยแบ่งหน้าที่กันทำ อาทิ ดูแลการเงิน ประสานงาน ดูแลสิ่งพิมพ์ ฯลฯ นอกจากนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยังมี “กลุ่มเครือข่าย” ที่เข้าร่วมกิจกรรมอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งมีทั้งกลุ่มนิสิต นักศึกษา กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มประชาสังคม อาทิ กลุ่มดาวดิน กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) กลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) กลุ่มเสรีนนทรี กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มศิลปิน กลุ่มแรงงาน ฯลฯ กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้บางกลุ่มมีการดำเนินกิจกรรมอยู่ก่อนหน้านี้ ทว่ามีจุดยืนร่วมกันกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่
ในส่วนของการระดมทุนนั้น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้มีการระดมทุนผ่านการจัดกิจกรรมโดยกำหนดให้มีแนวทางการระดมทุน 2 ช่องทาง คือ หนึ่ง การบริจาค ซึ่งเปิดรับการบริจาค 2 รูปแบบ คือการตั้งโต๊ะรับบริจาคในช่วงเวลาที่มีการจัดกิจกรรม และอีกรูปแบบคือการรับบริจาคผ่านบัญชีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งช่องทางนี้มีจำนวนเงินเข้ามาสม่ำเสมอ[10]
และสอง การจำหน่ายสินค้า ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีการจัดจำหน่ายในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมของกลุ่ม โดยเป็นสินค้าที่ระลึก อาทิ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสินค้าของกลุ่มเครือข่ายมาจำหน่ายเพื่อระดมทุนเข้าสู่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ดังเช่นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) มีการทำเสื้อยืดเพื่อหารายได้เข้ากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไปมากขึ้น รายได้เริ่มเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ตลอดถึงการเปลี่ยนเป็นรูปแบบของการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ และการอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากการระดมทุนแล้ว “การระดมคน” ก็นับเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก กลุ่มเครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทั้งที่เป็นนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่า รวมถึงกลุ่มประชาสังคมที่คอยช่วยเหลือกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยผู้คนจากกลุ่มเหล่านี้มีลักษณะเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวสูง ประเภทที่สอง กลุ่มประชาชนทั่วไป เป็นผู้คนที่ติดตามและมีจุดยืนเหมือนกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อรับรู้การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงสนใจที่จะเข้าร่วม โดยผู้คนกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นผู้ฟัง (audience) และไม่มีความตื่นตัวเท่ากลุ่มแรก[11] ทั้งนี้ เป้าหมายของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คือ การขยายฐานของผู้เข้าร่วมออกไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะฐานในกลุ่มประชาชนทั่วไป[12]
เมื่อขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สิ่งที่จะต้องมีอีกประการหนึ่ง ก็คือ “การเคลื่อนไหว” เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องที่มี[13] ในแต่ละกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่จัดขึ้น จะต้องมีการประชุมกลุ่ม ซึ่งจะมีในช่วงต้นเดือนของทุกเดือน โดยกองเลขาจะเป็นฝ่ายนัดหมายกลุ่มเครือข่ายต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดประเด็นในการจัดกิจกรรมที่จะมีขึ้น ซึ่งจะต้องดึงให้ผู้สนใจเข้าร่วมมากที่สุด เพื่อให้ข้อเรียกร้องถูกนำเสนอไปในวงกว้าง โดยผ่านช่องทางและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งนี้สามารถแบ่งกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบแรก กิจกรรมหลักของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้นจะจัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 รูปแบบคือ กิจใหญ่ประจำเดือน การใช้สื่อออนไลน์ และการพิมพ์หนังสือ
รูปแบบที่สอง กิจกรรมย่อย จะจัดขึ้นตามโอกาสต่างๆ อาทิ เช่น การจัดกิจกรรมดนตรี ในชื่องาน “เผด็จการอลวน ประชาชนอลเวง” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมย่อยในรูปแบบเสวนาวิชาการที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จัดร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอื่น อาทิ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจัดเสวนาวิชาการ “รู้ทันเผด็จการ The Series Ep. 1 วิธีคิดและยุทธวิธีรัฐบาลทหารในการจัดการผู้ต่อต้าน” เป็นต้น
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” กับการเมืองไทย
การปรากฏขึ้นของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเป็นที่กล่าวถึงอยู่มาก เนื่องจากภายหลังการรัฐประหารไม่มีกลุ่มหรือขบวนการใดที่สามารถรวมตัวต่อต้าน คสช. ได้อย่างเป็นระบบดังเช่นขบวนการประชาธิปไตยใหม่[14] อีกทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการประชาธิปไตยใหม่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเมืองไทยได้ เพราะประเด็นที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่นำเสนอ เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองของผู้คนในสังคม นับตั้งแต่กิจกรรมในช่วงแรกที่ดุเดือดและพร้อมแตกหัก ดังเช่นเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงที่มีการก่อร่างสร้างองค์กรขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่บีบคั้นนี้เอง เป็นปัจจัยผลักดันให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เกิดได้เร็วขึ้น และเป็นที่รับรู้ของผู้คนมากขึ้น
ภายหลังที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เริ่มมีการจัดเครือข่ายให้เป็นระบบมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวทางกิจกรรมที่ชัดเจนและมีสื่อรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ กระนั้นผลที่ตามมา ก็คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมต่างๆ ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ มักจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ ตลอดถึงการติดตามไปยังที่พักอาศัย การไปพบบุคคลรอบข้างของผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าการขับเคลื่อนกิจกรรมในนาม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ไม่ได้ดำเนินการในนามของปัจเจกบุคคล หากแต่เคลื่อนไหวในนามองค์กร หรือขบวนการเครือข่าย ซึ่งมักถูกโจมตีแบบเหมารวมว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรือรับอามิสสินจ้างจากพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หรือ การโจมตีว่าเป็นกลุ่มเสื้อแดง ฯลฯ ทั้งนี้[15]
เมื่อสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต้องเผชิญกับการถูกควบคุมตัว ทางกลุ่มจึงแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการภายใต้การรัฐประหาร เพื่อทำลายความชอบธรรมของกระบวนการ กอปรกับการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของกลุ่มเครือข่าย อย่างเช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมส่งผลให้การเลือกที่จะไม่ยอมรับกระบวนการภายใต้การรัฐประหารนับเป็นการเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่งที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในทางลบของ คสช. เช่นกัน
อ้างอิง
- ↑ Jeff Goodwin and James M. Jasper, The Social Movement Reader: Case and Concepts, (West Sussex: Blackwell Publishing, 2009), p. 4.
- ↑ รังสิมันต์ โรม, (สัมภาษณ์, 25 กุมภาพันธ์ 2558). อนึ่ง นายรังสิมันต์ โรม เป็นหนึ่งในสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ซึ่งถูกควบคุมตัวจากการเข้าร่วมกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่
- ↑ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ประมวลสถานการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 24 – 27มิถุนายน 2558, เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, เข้าถึงจาก <https://tlhr2014.files.wordpress.com/2015/08/20150701_-24-27-2558.pdf>. เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ โปรดดูรายละเอียดคำแถลงการณ์ใน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านคำประกาศ ชูหลักปชต.-ความยุติธรรม,”วอยซ์ทีวีออนไลน์, (8 มิถุนายน 2558). เข้าถึงจาก <http://news.voicetv.co.th/thailand/215841.html>. เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านคำประกาศ ชูหลักปชต.-ความยุติธรรม,”วอยซ์ทีวีออนไลน์, (8 มิถุนายน 2558). เข้าถึงจาก <http://news.voicetv.co.th/thailand/215841.html>. เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ตำรวจจับกุมนักศึกษา”ขบวนประชาธิปไตยใหม่”ที่สวนเงินมีมา คุมตัวไป สน.พระราชวัง,”ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, (26มิถุนายน 2558). เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1435316860>. เมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ รังสิมันต์ โรม, (สัมภาษณ์, 25 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ รังสิมันต์ โรม, (สัมภาษณ์, 25 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์, (สัมภาษณ์, 23 กุมภาพันธ์ 2559). อนึ่ง นายสิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์ เป็นสมาชิกของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาซึ่งอยู่ในเครือข่ายของขบวนการประชาธิปไตยใหม่
- ↑ รังสิมันต์ โรม, (สัมภาษณ์, 25 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์, (สัมภาษณ์, 23 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ รังสิมันต์ โรม, (สัมภาษณ์, 25 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, (เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2552), หน้า 153-173.
- ↑ สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์, (สัมภาษณ์, 23 กุมภาพันธ์ 2559).
- ↑ สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์, (สัมภาษณ์, 23 กุมภาพันธ์ 2559).
บรรณานุกรม
Goodwin. Jeff and Jasper. James M. (2009). The Social Movement Reader: Case and
Concepts. West Sussex: Blackwell Publishing. Milan. Stefania. (2013). Social Movements and Their Technologies: Writing Social Change.
Hampshire: Palgrave Macmillan.
“ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านคำประกาศ ชูหลักปชต.-ความยุติธรรม.”วอยซ์ทีวีออนไลน์. (8 มิถุนายน 2558). เข้าถึงจาก <http://news.voicetv.co.th/thailand/215841.html>. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559.
“ตำรวจจับกุมนักศึกษา"ขบวนประชาธิปไตยใหม่"ที่สวนเงินมีมา คุมตัวไป สน.พระราชวัง.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (26 มิถุนายน 2558).เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1435316860>. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง(2552). กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม. เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
รังสิมันต์ โรม. (สัมภาษณ์. 25 กุมภาพันธ์ 2559).
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. ประมวลสถานการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 24 – 27 มิถุนายน 2558. เอกสารอิเล็กทรอนิกส์. เข้าถึงจาก <https://tlhr2014.files.wordpress.com/2015/08/20150701_-24-27-2558.pdf>. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559. สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์. (สัมภาษณ์. 23 กุมภาพันธ์
2559).
สิรวิชญ์เสรีธิวัฒน์. (สัมภาษณ์. 23 กุมภาพันธ์ 2559).