การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม 2535

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 เกิดขึ้นหลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมพาพันธ์ พ.ศ.2534 และได้นำร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นธรรมนูญการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2534 โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อบแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นทั้งรัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกันคณะ รสช.ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บางมาตราแอบแฝงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจของ รสช.จนถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับหมกเม็ด”[1]

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 มาตรา 99 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) มาตรา 99-102 ได้กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ทั้งหมด 360 คน ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ (เท่ากับประชากรในขณะนั้นประมาณ 150,000 คนขึ้นไป ต่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน) โดยการใช้การเลือกตั้งโดยตรงแบบผสม เขตละไม่เกิน 3 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง และพรรคการเมืองนั้นจะต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 120 คน[2]

นอกจากนั้น กฎหมายยังได้ระบุให้การเลือกตั้งครั้งนี้มี “องค์กรกลาง” ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยจัดให้องค์กรกลางเป็นองค์กรอิสระ และมี ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นประธานกรรมการ

จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 นี้เองได้ส่งผลให้มีการกำหนด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศมาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 58.26 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง-การเลือกตั้งทั่วไป
22 มีนาคม พ.ศ.2535[3]
พรรคการเมือง จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต (คน)
สามัคคีธรรม 79
ชาติไทย 74
ความหวังใหม่ 72
ประชาธิปัตย์ 44
พลังธรรม 41
กิจสังคม 31
ประชากรไทย 7
เอกภาพ 6
ราษฎร 4
มวลชน 1
ปวงชนชาวไทย 1

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครจำนวน 15 พรรค โดยประกอบไปด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเอกภาพ พรรคราษฎร พรรคมวลชน พรรคส่งเสริมประชาธิปไตย พรรคเทิดไท พรรคประชาไทย พรรคเกษตรกรไทยและพรรคปวงชนชาวไทย ทั้งที่มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 21 พรรคการเมือง

(1) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 11 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเอกภาพ พรรคราษฎร พรรคมวลชน และพรรคปวงชนชาวไทย

(2) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งหมด 4 พรรค ได้แก่ พรรคส่งเสริมประชาธิปไตย พรรคเทิดไท พรรคประชาไทย และพรรคเกษตรกรไทย

ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 ปรากฎว่า 5 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียง 195 เสียง ต่อพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคมวลชน และพรรคปวงชนชาวไทย ด้วยคะแนนเสียง 165 เสียง

แต่อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเลยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเพราะพรรครัฐบาลได้สนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคแกนนำไม่สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีมลทินจากการถูกปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทางการสหรัฐอเมริกาสงสัยว่านายณรงค์ วงศ์วรรณ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

หลังจากพลเอกสุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน ก็ได้ถูกคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก เนื่องจากพลเอกสุจินดา คราประยูรมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้เคยประกาศว่าจะไม่สืบทอดอำนาจของ รสช.[4] อีกทั้งยังพบว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 18 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงินซื้อเสียงอย่างเปิดเผยและเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่ “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ” เมื่อเหตุการณ์สงบลง พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และต่อจากนั้น พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ได้อ้างว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นการกระทำของ พลเอกสุจินดา คราประยูร และคณะนายทหารเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจึงมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคมวลชน และพรรคปวงชนชาวไทย ก็ได้อ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน

จากความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 ตามที่ประชาชนได้ร้องขอในประเด็นสำคัญ อันได้แก่

1. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

2. ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา

3. ลดอำนาจของวุฒิสภาลง

4. สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้ในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง

อีกทั้งยังได้ให้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยนายอานันท์ ได้ประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535

ที่มา

คณะทำงาน ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, รายงานฉบับสมบูรณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 มีนาคม 2535.

นคร และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542)

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย : ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2548)

อ้างอิง

  1. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2548), น.587.
  2. รวบรวมจาก, นคร และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542), น.155-156. และ คณะทำงาน ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, รายงานฉบับสมบูรณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 22 มีนาคม 2535.
  3. นคร และ อุกฤษ พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542), น.156
  4. วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้แถลงการณ์ว่า “...เราขอยืนยันว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจ โดยสมาชิกสภา รสช. ...เพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องกับสภารสช. สมาชิกสภารสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล...ขอยืนยันว่าทั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลอากาศเอกเกษตรนั้น จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดออกมาแล้ว...”, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ-ยุคปฏิรูป (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2548), น.590.