การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2476

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


รายนามผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต และ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม



ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 และบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยดังเดิม รัฐบาลก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 ตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งโดยทางอ้อม โดยเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จึงดำเนินการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1


ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลจะต้องมีคุณสมบัติดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง และเฉพาะผู้ที่ไปลงชื่อสมัครไว้ต่อกรมการอำเภอ เมื่อเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสร็จแล้วจึงดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสำหรับจังหวัดนั้น ๆ ส่วนผู้ที่จะได้เข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง เสมือนเนผู้สมัครเป็นผู้แทนตำบล และเฉพาะผู้ที่ไปลงชื่อสมัครไว้ต่อข้าหลวงประจำจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนึ่ง ๆ อาจจะมีคนเดียว หรือหลายคนก็ได้สุดแต่จำนวนพลเมืองของจังหวัดนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด ตามปกติมีจังหวัด 1 คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่า 3 แสนคน จังหวัดนั้นมีผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุก ๆ 2 แสน เศษ ให้ปัดทิ้งเสีย


คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 ฉบับที่ 2 ได้กำหนดคุณสบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลไว้ดังนี้


1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2. มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
3. ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
4. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง
5. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะที่มีการเลือกตั้ง
6. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนตำบลที่มีชื่ออยู่ในสำมะโนครัวตำบลใดให้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลของตำบลนั้น จะไปออกเสียงในตำบลอื่นไม่ได้


คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล

ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเกิดในตำบลนั้น ๆ แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้


1. มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
3. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ในขณะมีการเลือกตั้ง
4. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะมีการเลือกตั้ง
5. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิออกเสียง
6. มีอายุ 23 ปีบริบูรณ์
7. ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
8. มีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
9. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 10


สำหรับความรู้ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476 มิได้กำหนดไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลจะต้องมีความรู้แค่ไหน ก็เป็นอันว่าแม้ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ได้ก็สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลได้


เมื่อได้ดำเนินการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นขั้นตอนที่สองต่อไป โดยให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง กฎหมายได้กำหนดวิธีการต่าง ๆ ในการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนราษฎรไว้คล้าย ๆ กัน และมีบทบัญญัติหลายอย่างที่บังคับในการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร


คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างดียวกันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลทุกประการ เว้นแต่ในด้านความรู้ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งมาตรา 6 กำหนดไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีความรู้เทียบชั้นประถมสามัญ กล่าวคือ ต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแผนการศึกษาของชาติปัจจุบันขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดใดก็ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น


ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 4,278,231 คน แต่ปรากฏว่ามาใช้สิทธิเพียง 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 และได้ผู้แทนราษฎรจำนวน 78 คน แม้ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อ ๆ มาแล้ว ก็ปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกมีจำนวนสูงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง การที่รัฐบาลยังไม่ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงนั้น ก็เนื่องจากว่า ราษฎรยังไม่เคยชินต่อการออกเสียงเลือกตั้ง และจำนวนผู้ที่อ่านออกเขียนได้ในขณะนั้นก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น รัฐบาลจึงให้มีการเลือกตั้งโดยทางอ้อมดังได้กล่าวมาแล้ว


อ้างอิง

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

สิริ เปรมจิตต์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี, พระนคร : โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2505

กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1, พระนคร : โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500