การออกเสียงประชามติ (Referendum)
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
การออกเสียงประชามติ (Referendum) เป็นกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน การออกเสียงประชามติจึงเป็นบทบาทหน้าที่ในฐานะเป็นกลไกเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีสิทธิร่วมแบ่งปันการใช้อำนาจตลอดจนกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองของประเทศได้[1] การออกเสียงประชามติรวมถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตยทางตรงสมัยใหม่อื่น ๆ เช่น การใช้สิทธิริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชน (Initiative) และการเข้าชื่อยื่นถอดถอนตัวแทนในรัฐสภา (Recall) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการเติมเต็ม หรือแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานของสถาบันทางการเมืองในระบอบตัวแทน[2] ซึ่งการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน (Political Participation of the citizens) เป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งอันหนึ่งของระบอบการเมืองการปกครองที่พัฒนาแล้ว (the developed political systems)[3]
ความหมายของการออกเสียงประชามติ
นันทวัฒน์ บรมานันท์ และคณะ ได้ให้ความหมายของคําว่า “ประชามติ” หมายถึง การนําเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาให้ประชาชนได้แสดงความเห็นด้วยการออกเสียงลงคะแนน เพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก่อนที่จะนํามติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนําไปปฏิบัติต่อไป[4]
แนวคิดการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติพัฒนาขึ้นและมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายนับแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมานั้น[5] อยู่บนรากฐานแนวคิดที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ แนวคิดการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) แนวคิดความชอบธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (Democratic Legitimacy) และแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
1. แนวคิดการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty)
แนวคิดว่าปวงประชาชนมีฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้นประชาชนจึงเป็นฐานที่มาของอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituent) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นในนามของปวงชนเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผลของการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของชาติ
2. แนวคิดความชอบธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (Democratic Legitimacy)
การตัดสินใจทางการเมืองที่มีระดับความชอบธรรมสูงสุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชนโดยผ่านการออกเสียงโดยตรง[6] การตัดสินใจทางการเมืองโดยผ่านการออกเสียงประชามติถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความชอบธรรมแก่การตัดสินใจนั้นในระดับสูงสุด ด้วยเหตุผลที่ว่าแม้นประชาชนอาจจะไม่เชื่อมั่นไว้วางใจในการใช้ดุลพินิจตัดสินใจของตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภา แต่ประชาชนย่อมเชื่อมั่นในการตัดสินใจที่ตนได้คิดไตร่ตรองและพิจารณาด้วยตัวเอง ดังนั้นการตัดสินใจทางการเมืองใด ๆ ที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีโอกาสให้เข้าไปร่วมด้วยย่อมต้องเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่มีความชอบธรรมมากกว่าที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเลย เป้าหมายหลักของการจัดการออกเสียงประชามติในลักษณะดังกล่าว มักเป็นไปเพื่อปรึกษาหารือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน[7]
3. แนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง (Participatory Democracy)
การออกเสียงประชามติเป็นกลไกที่จะช่วยทำให้สังคมที่มีประชากรจำนวนมากมายสามารถดำเนินการปกครองโดยตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยได้ในระดับระดับสูงสุด เพราะการออกเสียงประชามติเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนทั้งปวงสามารถเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจในกิจการบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง เช่น การอนุมัติรับรองกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้นการออกเสียงประชามติจึงเป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมการมีส่วนร่วมกันปกครองตนเองโดยตรงของพลเมือง ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย[8]
ประเภทของการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่[9]
1. การออกเสียงประชามติแบบบังคับ เป็นการออกเสียงประชามติที่เขียนบังคับไว้ในกฎหมายว่าก่อนการดำเนินการในเรื่องใด ๆ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนก่อน โดยผลของการออกเสียงประชามติมีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
2. การออกเสียงประชามติแบบทางเลือก เป็นการออกเสียงประชามติที่มีบทบัญญัติเขียนไว้ว่าในกรณีที่เห็นสมควร รัฐหรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่เห็นว่ามีความสำคัญและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการ
นอกจากการแบ่งประเภทของการเสียงประชามติเป็นแบบบังคับ และแบบทางเลือกแล้วยังสามารถแบ่งตามระดับหรือพื้นที่ในการออกเสียงประชามติได้หลายลักษณะ เช่น การออกเสียงประชามติระดับชาติ ระดับมลรัฐหรือระดับท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับเรื่องจะจัดทำประชามติมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด รวมทั้งได้มีบทบัญญัติเขียนรับรองสำหรับการจัดทำประชามติในระดับนั้น ๆ หรือไม่
ประชามติในบางประเทศก็เรียกว่า Plebiscite เป็นมติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง ขณะที่ Referendum เป็นมติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเลียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายที่สำคัญ ที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้วหรือให้ตัดสินในปัญหาที่สำคัญในการบริหารประเทศ[10] แม้ว่านิยามของประชามติในความหมายของ Plebiscite และ Referendum จะมีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก แต่ทั้งสองคำนั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ Plebiscite จะถูกนำมาใช้กรณีขอให้รับรองบุคคลหรือหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลนั้นเสนอขึ้นโดยอาจจะเป็นการออกเสียงโดยให้ความรับรองทั้งตัวบุคคล (Individual) และเรื่องที่บุคคลนั้น ๆ เสนอด้วยก็ได้[11] ในขณะที่ Referendum เป็นการลงประชามติในกรณีที่รับรองร่างกฎหมายทั้งหมดหรือแต่บางส่วนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนั้น ๆ[12] จะเห็นได้ว่า ประชามติแบบ Plebiscite เป็นการให้ประชาชนออกเลียงลงมติ รับรองบุคคลหรือแนวความคิดของบุคคลซึ่งไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่ Referendum จะเป็นกรณีที่ขอให้ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างกฎหมายหรือผลจะเป็นไปตามเลียงช้างมาก[13] แม้ว่าเราจะสามารถกำหนดกรอบแนวทางการใช้ประชามติได้อย่างเหมาะสมที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชามติจะเป็นไปตามหลักการเสมอ แท้จริงแล้วมีหลายกรณีที่การลงประชามติอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือกระทั่งถูกล่วงละเมิดได้
การออกเสียงประชามติในประเทศไทย
ประเทศไทยได้บัญญัติการออกเสียงประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 8 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ พ.ศ. 2492 ฉบับ พ.ศ. 2511 ฉบับ พ.ศ. 2517 ฉบับ พ.ศ. 2540 ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ฉบับ พ.ศ. 2550 ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับ พ.ศ. 2560 โดยสามฉบับแรกกําหนดให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ จนกระทั่งการออกเสียงประชามติระดับชาติครั้งแรกของประเทศไทยได้มีขึ้น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 กําหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาให้แล้วเสร็จ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และกําหนดเวลาในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้กําหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติและประกาศผลการออกเสียงประชามติและจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญสามเพื่อเผยแพร่ด้วยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนทราบได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเวลาต่อมา นับว่าเป็นการออกเสียงประชามติระดับชาติครั้งที่สองของประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติใน 2 มาตรา ได้แก่ 1) มาตรา 166 ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่งผลให้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประชามติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูป ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ และ 2) มาตรา 256 (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตามกระบวนการประกาศใช้ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตามกระบวนการประกาศใช้ ต่อไป
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 9 หมวด 85 มาตรา มีสาระสำคัญ กล่าวคือ มาตรา 9 กำหนดให้การออกเสียงประชามติให้ทำได้ ดังนี้
(1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
(3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง
(4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
(5) การออกเสียงกรณีประชาชน (ไม่น้อยกว่า 50,000คน ) เข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด
การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้นตาม มาตรา 13 นอกจากนี้ ยังมีการลงคะแนนออกเสียงนอกราชอาณาจักรตาม มาตรา 53 ให้สามารถใช้สิทธิออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้นและให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตาม มาตรา 54
ส่วนบทกำหนดโทษตาม มาตรา 77 เช่น ผู้ใดกระทำการขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่น อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลาที่ออกเสียงหรือวิธีการออกเสียง เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ นำไปหรือขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียง หรือบัตรออกเสียงหรือเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องระวางโทษจำาคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
อ้างอิง
[1] เนติพงษ์ วิจิตรเวชการ, ม.ป.ป. “หลักประชาธิปไตย เรื่อง: ประชามติกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย.” (เอกสารวิชาการส่วนบุคคลหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ), หน้า 1-2.
[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และชาย ไชยชิต, ม.ป.ป. “การออกเสียงประชามติ: กระบวนการประชาธิปไตยทางตรงสมัยใหม่.”, (บทความวิชาการ เอกสารคัดสำเนาน) ม.ป.ท., หน้า 2 อ้างถึงใน เนติพงษ์ วิจิตรเวชการ, อ้างแล้ว, หน้า 2.
[3] วิสุทธิ์โพธิแท่น, 2542. “ความคิดเกี่ยวกับการให้ความรู้ในทางการเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย.” รวมบทความวิชาการทางรัฐศาสตร์ พ.ศ. 2516-2525. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์วิภาษา, หน้า 389-390. อ้างถึงใน เนติพงษ์ วิจิตรเวชการ, อ้างแล้ว, หน้า 2.
[4] นันทวัฒน์ บรมานันท์ และคณะ, 2550. “รายงานการวิจัย เรื่อง กระบวนการขั้นตอนการออกเสียงประชามติ.” กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, หน้า 7. อ้างถึงใน เนติพงษ์ วิจิตรเวชการ, อ้างแล้ว, หน้า 2.
[5] David Butier and Austin Ranney, 1978. Referendum: A Comparative Study of Practice and Theory. Washington, D.C.: American Enterprise Institute. อ้างถึงใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และชาย ไชยชิต, ม.ป.ป.
[6] Ibid., p. 25
[7] Ibid., p. 139
[8] เนติพงษ์ วิจิตรเวชการ, อ้างแล้ว, หน้า 4.
[9] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, 2559. คําถามน่ารู้ในการออกเสียงประชามติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, หน้า 5.
[10] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หน้า 703. อ้างถึงใน อนุรักษ์ นิยมเวช, ประชามติ, วารสารจุลนิติ, 13(1), 37.
[11] วราพร ธนาศรีมงคลกุล, ผลผูกพันของการออกเลียงประชามติ (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), หน้า 15. อ้างถึงใน อนุรักษ์ นิยมเวช, อ้างแล้ว, 37.
[12] นพรัตน์ อภิวิมลลักษณ์, การนำประชามติมาใช้ในประเทศไทย (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2538), หน้า 2. อ้างถึงใน อนุรักษ์ นิยมเวช, อ้างแล้ว, 37.
[13] อนุรักษ์ นิยมเวช, “ประชามติ,” วารสารจุลนิติ, 13(1), 37.