การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Polling)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ (deliberative polling) เป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยที่ ศาสตราจารย์เจมส์ ฟิชกิน (James Fishkin) แห่ง Center for Deliberative Democracy: CDD) ได้พัฒนาขึ้นโดยอาศัยเครื่องมือทางสังคมศาสตร์และสื่อสมัยใหม่ เช่น โทรทัศน์และการสำรวจความเห็น (poll) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปต่อประเด็นปัญหาหลังจากที่ได้รับฟังและศึกษาข้อมูล[1]

          กระบวนการเริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นข้อมูลตั้งต้น จากนั้นสมาชิกที่ถูกสำรวจข้อมูลจำนวนหนึ่งจะได้รับการสุ่มคัดเลือกแบบไม่เจาะจงและเชิญมาเข้าร่วมการเสวนาเป็นเวลา 1-2 วัน ข้อมูลและความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ถูกจัดเตรียมโดยทีมที่ปรึกษาที่เป็นกลางจะถูกนำเสนอ ทั้งต่อกลุ่มผู้ร่วมเสวนาและเสนอต่อสาธารณะ ผู้เข้าร่วมจะซักถามและอภิปรายกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยมีผู้ดำเนินการสนทนาที่ได้รับการฝึกมาก่อน หลังจากได้ซักถาม อภิปรายและถกเถียงกันแล้ว จะมีการสำรวจความเห็นด้วยคำถามชุดเดิมอีกครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อสรุปที่แตกต่างกัน หากสาธารณชนได้รับฟังและศึกษาข้อมูลอย่างเข้าใจ[2]

          ในการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ เช่น กระบวนการที่จัดทำในเมืองลาซิโอ ประเทศอิตาลี ในปี 2006 เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ออกเสียงที่ถูกเลือกเข้ามาในการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือนั้น ได้เข้าสู่การอภิปรายประเด็นโดยมีการอภิปรายกลุ่มเล็ก มีเอกสารสรุปสั้น ๆ และมีผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถาม แนวคิดนี้ มีการลงทะเบียนในการเก็บรักษาแบบสอบถามเป็นความลับ มีผลข้อมูลจำนวนมากที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเห็น กระบวนการได้แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ หรือสาธารณชน (public) คิดประเด็นปัญหาอะไรภายใต้สถานการณ์ปกติ โดยให้ความสำคัญในข้อถกเถียง ข้อโต้แย้งที่ไม่เป็นทางการ เนื่องจาก ผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มซึ่งเป็นตัวแทนของจำนวนประชากรทั้งหมดของผู้ออกเสียง ที่ไม่ใช่กลุ่มที่ถูกเลือก (self-selected group) ที่เข้ามาเพิ่มเสียง[3]

          การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ ได้ถูกนำมาใช้ในระดับการบริหารท้องถิ่นที่เมืองโตริโนและลาซิโอในอิตาลี ซึ่งใช้มาแล้วถึง 2 ครั้งในระดับ pan-European ของสหภาพยุโรปทั้งหมด (the entire European Union) เป็นกลุ่มตัวอย่างในระดับชาติ มีการใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากตามข้อมูลทางสถิติที่สำคัญ พบว่า การสำรวจไม่จำเป็นต้องใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด แบบสำรวจต้องใช้ได้ทั้งในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

          อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือในเรื่องทางเลือกด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Deliberative Poll on Energy and Environmental Options) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ รัฐบาลกลางได้ประยุกต์ใช้ผลข้อมูลและการตัดสินใจจากการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนในกระบวนการจัดทำนโยบายของรัฐบาล[4]

          การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือโดยทั่วไปประกอบด้วยแนวคิดกว้าง ๆ 2 แนวคิด แนวคิดที่ 1 คือ การสำรวจความคิดเห็นซึ่งไม่แตกต่างจากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะทั่ว ๆ ไป (common public opinion polls) ที่สื่อมวลชนทำ แต่แนวคิดที่ 2 ซึ่งเป็นจุดที่การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือมีความแตกต่างจากการสำรวจความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปอย่างชัดเจน คือ กระบวนการลำดับต่อมาโดยการเชิญผู้ซึ่งตอบรับการสำรวจความคิดเห็นและสมัครใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเวทีการไตร่ตรองสาธารณะที่อาจกำหนดระยะเวลาหนึ่งวันเต็ม หนึ่งคืนสองวัน หรือสองคืนสามวันก็ได้ตามแต่ความเหมาะสม[5]

          ในกรณีของญี่ปุ่น การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะครั้งแรก (the first public poll) ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม จากนั้นผู้ตอบแบบสำรวจที่สมัครใจจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมเวทีปรึกษาหารือ (deliberative forum) โดยผู้จัดกระบวนการดำเนินการจัดส่งเอกสารสรุปประเด็นความยาว 47 หน้า ให้ผู้เข้าร่วมได้อ่านและศึกษา เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับประเด็นต่าง ๆ ที่จะมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนในเวที[6]

          เวทีปรึกษาหารือสาธารณะ ระยะเวลา 2 วัน (The two-day deliberative forum) ถูกจัดขึ้นใน วันที่ 4 และ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2012 เมื่อผู้เข้าร่วมมาถึงสถานที่จัดงานในช่วงบ่ายวันที่ 4 พวกเขาจะต้องตอบคำถามในแบบสอบถาม ซึ่งเป็นแบบสอบถามเดียวกันกับที่จะถูกนำมาใช้ในตอนสุดท้ายของงานในช่วงบ่ายของวันที่ 5 คำตอบที่ได้จากแบบสอบถามก่อนและหลังการเข้าร่วมเวทีนี้จะนำไปประมวลวิเคราะห์ร่วมกับการสำรวจความคิดเห็นทางโทรศัพท์ในรูปแบบการบันทึกข้อมูล 3 ช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั่วทั้งกระบวนการการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ[7]

          เมื่อการตอบแบบสอบถามก่อนเข้าร่วมเวทีเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมกระบวนการจะถูกแยกออกมาเป็นกลุ่ม ๆ ละ 15 คน และกระบวนการปรึกษาหารือก็จะเริ่มขึ้นทันที กระบวนการในช่วงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างไปจากการจัดเวทีสาธารณะทั่ว ๆ ไปที่รัฐบาลมักจะเป็นผู้จัดเตรียมเอกสารสั้น ๆ และนำเสนอข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับเอกสารนั้น ๆ แต่กระบวนการปรึกษาหารือภายใต้กระบวนการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือจะเป็นเวทีของการสนทนากลุ่มย่อย โดยมีผู้เอื้อกระบวนการ (moderator) ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกและนำกระบวนการอภิปรายพูดคุย โดยในช่วง 15 นาที สุดท้ายของการอภิปรายในกลุ่ม ผู้เอื้อกระบวนการจะทำการสรุปคำถามที่มีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในกลุ่มสำหรับนำไปใช้ซักถามผู้เชี่ยวชาญในการประชุมสรุปในวันสุดท้ายซึ่งเป็นการประชุมที่มีตัวแทนทุกคนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม (plenary session)[8] 

          ความโดดเด่นของการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือที่สะท้อนผ่านกระบวนการอภิปรายกลุ่มย่อยดังกล่าวอีกประการหนึ่งก็คือการพูดคุยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เข้าร่วมลงมติ หรือลงคะแนนเสียง เพื่อหาข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งของกลุ่ม แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือจะเป็นอย่างไรนั้น จะปรากฏผลเป็นข้อมูลในช่วงสุดท้ายของวันสุดท้ายในรูปความคิดเห็นภาพรวมที่ประมวลจากแบบสอบถาม[9]

          ในช่วงการประชุมสรุป คำถามของแต่ละกลุ่มจะถูกตั้งเป็นกระทู้ถามในเวทีอภิปรายซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 4 คน ได้รับเชิญมาเพื่อตอบคำถาม โดยให้เวลาผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านในการอธิบายเพื่อตอบข้อคำถาม ครั้งละไม่เกิน 2 นาที และไม่อนุญาตให้มีการโต้เถียงกันเองระหว่างผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนต้องเป็นบุคคลจากสาขาต่าง ๆ ที่ถูกเลือกโดยการพิจารณาอย่างรอบคอบตามความเชี่ยวชาญและสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาที่ใช้ในการประชุมสรุปจึงขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการและจำนวนกลุ่มย่อยที่ได้มีการแบ่งไว้ในวันแรก เช่น ถ้ามีการแบ่งกลุ่มอภิปรายย่อยออกเป็น 20 กลุ่ม อย่างน้อยจะมีคำถาม 20 ข้อ ให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนตอบ[10]

          การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือเป็นกระบวนการที่อาศัยการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรโดยพิจารณาจาก เพศ เชื้อชาติ การศึกษา และภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นผู้ที่ได้รับการสุ่มเลือกทำการกรอกแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับเชิญให้มารวมตัวกันเป็นเวลาสองถึงสามวันเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าถึงข้อมูลภูมิหลังที่เป็นกลาง ทำการปรึกษาหารือร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาในกลุ่มเล็ก ๆ ร่วมกับผู้เอื้อกระบวนการที่ผ่านการฝึกอบรม และผู้เข้าร่วมสามารถถามคำถามกับผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ได้ ภายหลังจากการพิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ผู้เข้าร่วมจะกรอกแบบสอบถามเดิมอีกครั้งหนึ่ง[11]

          จุดเด่นของกระบวนการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ คือ การหลอมรวมเอาความคิดเห็นที่ได้จากความเป็นตัวแทนทางสถิติของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจความคิดเห็นเข้ากับกระบวนการที่ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันและปรึกษาหารือกัน กระบวนการดังกล่าวช่วยเพิ่มความเข้าใจสาธารณะเกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหา สามารถดึงเอากลุ่มคนที่ปกติจะไม่ค่อยได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจสาธารณะให้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม การให้ข้อมูลในกระบวนการสามารถอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมุมมองของผู้ที่ไม่รู้ข้อมูลและมุมมองของคนที่ได้รับข้อมูล การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือเป็นวิธีที่ดีในการวัดความหลากหลายของความคิดเห็นของประชาชน และเมื่อทำงานร่วมกับสื่อ มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงในการให้ข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะ[12]

          อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนประการหนึ่งของกระบวนการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการที่อาศัยแนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารืออื่น ๆ คือ กระบวนการนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative information) แก่ผู้เข้าร่วมกระบวนการก็ได้ จึงอาจถูกตั้งคำถามได้ว่าคำตอบของผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นความคิดเห็นภายหลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลที่ลุ่มลึกเพียงพอแล้วหรือยัง[13]

          ในปัจจุบัน (ค.ศ. 2022) การสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือกระจายไปมากกว่า 12 ประเทศ ได้แก่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล บัลกาเลีย จีน กรีซ ฮังการี อิตาลี ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์เหนือ โปแลนด์ และอังกฤษ รวมถึงในระดับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างสหภาพยุโรป (EU) ด้วย โดยขอบเขตของการดำเนินการมีตั้งแต่ระดับจังหวัด (county) เมือง (town or city) ไปจนถึงระดับภูมิภาคอย่างสหภาพยุโรป  ประเด็นที่ใช้มีตั้งแต่การเลือกผู้สมัครของพรรคการเมือง การแก้ปัญหาสังคม การเมือง หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน[14]

 

อ้างอิง

[1] Mansbridge, Jane. "Deliberative polling as the gold standard." The good society 19.1 (2010): 55-62.

[2] Fishkin, James S. 2009. When the People Speak: Deliberative Democracy and Public Consultation. New York: University Press.

[3] Allegretti, Umberto. "Instruments of Participatory democracy in Italy." Perspectives on Federalism 4.1 (2012): 16.

[4] White, Philip. "Japan’s 2012 National Debate on Energy and Environment Policy." electronic journal of contemporary japanese studies (2015).

[5] Olsen, Espen DH, and Hans-Jörg Trenz. "From Citizens' Deliberation to Popular Will Formation? Generating Democratic Legitimacy in Transnational Deliberative Polling." Political Studies 62 (2014): 117-133.

[6] White, op. cit.

[7] Ibid.

[8] Ibid.

[9] Ibid.

[10] Ibid.

[11] Fishkin, James S., Robert C. Luskin, and Roger Jowell. "Deliberative polling and public consultation." Parliamentary affairs 53.4 (2000): 657-666.

[12] Olsen, Espen DH, and Hans-Jörg Trenz. "The micro–macro link in deliberative polling: science or politics?." Critical Review of International Social and Political Philosophy 19.6 (2016): 662-679.

[13] Ngar‐yin Mah, Daphne, et al. "Evaluating deliberative participation from a social learning perspective: A case study of the 2012 National Energy Deliberative Polling in post‐Fukushima Japan." Environmental Policy and Governance 31.2 (2021): 125-141.

[14] Fishkin, James S. "Deliberative polling." The Oxford handbook of deliberative democracy (2018): 315-328.