การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก (ChoiceWork Dialogue)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก (ChoiceWork Dialogue)
การสานเสวนาพิจารณาทางเลือกเป็นวิธีการตัดสินใจที่พัฒนาขึ้นโดย Viewpoint Learning ในรูปแบบของวิธีการวิจัยเพื่อรับทราบความคิดเห็นของประชาชน[1] การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก เป็นการนำประชาชนที่ได้จากการสุ่มตัวอย่าง จำนวนประมาณ 40 คน มาทำงานร่วมกันเพื่อตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ โดยการพิจารณาทางเลือก (choice) และสิ่งที่ต้องดำเนินการตามทางเลือกนั้น ๆ การสานเสวนาพิจารณาทางเลือกเป็นวิธีการที่ผสมผสานรูปแบบการปรึกษาหารือโดยใช้ภาพอนาคต (scenario) และการพูดคุยกัน (dialogue) เพื่อหาค่านิยมร่วมกันของสังคมหรือชุมชน ซึ่งแตกต่างไปจากการพูดคุยกันเพื่อค้นหาข้อมูลเพียงอย่างเดียวในกระบวนการ ผู้เข้าร่วมการพูดคุยจะมาช่วยกันพัฒนาแนวทางการดำเนินงานหรือแก้ไขปัญหาที่ทุกคนยอมรับและอยู่ร่วมกันได้ ข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากกระบวนการจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก[2] ถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนแนวคิดที่เชื่อว่าความคิดเห็นของประชาชนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และข้อเท็จจริงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การจัดกระบวนการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกนอกจากต้องการทราบว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรแล้ว ยังต้องการเข้าใจด้วยว่าทำไมความคิดเห็นของประชาชนถึงมีการเปลี่ยนแปลง และความคิดของประชาชนนั้นเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก จึงแตกต่างจากการสำรวจความคิดเห็น (polls) และการประชุมกลุ่ม (focus group) โดยทั่วไป เนื่องจากการสำรวจความคิดเห็นและการประชุมกลุ่มมักทำให้เห็นเพียงภาพคร่าว ๆ ของความคิดเห็นของประชาชน ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่การสานเสวนาพิจารณาทางเลือกทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่า และสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับทิศทางของความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการอาจจะยังไม่ได้คิดถึงในปัจจุบันหรือหัวข้อที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และพัฒนาเป็นประเด็นปัญหาหรือข้อท้าทายใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดความสนใจใหม่ขึ้นมาได้
การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก ต้องการผู้เอื้อกระบวนการ (facilitator) ที่ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี มีคู่มือการทำงาน (workbook) ที่สามารถอธิบายข้อมูลสำคัญแบบสั้น ๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในคู่มือประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน ชุดของข้อมูลทางเลือกหรือภาพอนาคต (scenarios) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา (2-4 ทางเลือกหรือภาพอนาคต) คู่มือจะเขียนในภาษาที่เข้าใจง่าย โดยจากประสบการณ์ในการจัดกระบวนการที่ผ่านมาพบว่า การจัดรูปแบบเนื้อหาในคู่มือตามทางเลือกที่พัฒนาขึ้นจากค่านิยมพื้นฐาน (value-based choices) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากแนวทางดังกล่าวสามารถทำให้ประชาชนเรียนรู้ ซึมซับข้อมูลที่ซับซ้อนและประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว
ภาพอนาคตที่มีบทนำ (สรุปสั้น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง) ข้อมูลพื้นฐาน ส่วนประกอบที่สำคัญ (key elements) ของประเด็นปัญหา (เช่น ขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่ภาพอนาคตแต่ละภาพ) ชุดข้อดี/ข้อเสีย (ข้อคิดเห็นที่แสดงออกมา และข้อโต้แย้งในภาพอนาคต ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย) หมวดที่สำคัญของคู่มือ (เป็นส่วนที่ผู้เข้าร่วมสานเสวนาจะใช้เวลานานที่สุด) คือ หมวดในเรื่องการพิจารณาข้อดี/ข้อเสีย (pros and cons) และส่วนประกอบที่สำคัญของประเด็นปัญหา ดังนั้น การเตรียมการล่วงหน้า จึงเป็นส่วนที่สำคัญสุดของแนวทางการศึกษา การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก
คุณลักษณะพิเศษของ การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก คือ การเรียนรู้ความคิดเห็นของคนกลุ่มใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมกระบวนการต้องเรียนรู้คู่มือและเรียนรู้จากคนอื่น (learning from one another) การสานเสวนาพิจารณาทางเลือก จึงเป็นการสานเสวนาที่ใช้ระยะเวลานาน มีเค้าโครง หรือโครงสร้างในการสานเสวนาซึ่งใช้เวลานานกว่าการทำโพลสำรวจความคิดเห็นถึง 24 เท่า และใช้เวลายาวกว่าการประชุมกลุ่ม (focus group) ถึง 4 เท่า กล่าวคือ ในการจัดกระบวนการหนึ่งวันเต็มเป็นเวลารวม 8 ชั่วโมงนั้น ในช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาจะใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับภาพอนาคตและพิจารณาข้อดี/ข้อเสียของภาพอนาคตแต่ละภาพเพื่อร่วมกับผู้เข้าร่วมการสานเสวนาอื่น ๆ ทำการพัฒนาแนวทางที่พวกเขาปรารถนาให้เกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มานั่งสานเสวนากัน
ขณะที่ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาจะได้นำแนวทางที่พวกเขาพึงพอใจไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ในการพิจารณาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาจะได้รับรู้ถึงความยุ่งยากและข้อจำกัดในทางปฏิบัติ รวมถึงการที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการกับประเด็นปัญหาที่พวกเขาพึงพอใจ
ในกระบวนการนี้ ไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้เข้าร่วมเสวนาจะเลือกภาพอนาคตภาพใดภาพหนึ่งโดยง่ายเพียงภาพเดียว แต่มักจะผสมผสานแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากภาพนาคตต่าง ๆ กลายเป็นภาพอนาคตในแบบของผู้เข้าร่วมกระบวนการเอง ซึ่งภาพอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้และพูดคุยกับคนอื่น ๆ นี้เองที่จะเผยให้เห็นค่านิยมและข้อสมมติฐานต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ (underlying values and assumptions) ของผู้ร่วมการสานเสวนา ตลอดจนทางเลือกที่พวกเขาสนับสนุนและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการเพื่อนำไปสู่ทางเลือกที่พวกเขาสนับสนุนนั้น[3]
การจัดกระบวนการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกวางอยู่บนพื้นฐานของการสานเสวนา (dialogue) มากกว่าการโต้เถียงอภิปราย (debate) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยและประสบการณ์ในการจัดกระบวนการในลักษณะนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่ากระบวนการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกเป็นรูปแบบที่ทำให้ความคิดเห็นสาธารณะ (public opinion) ของประชาชนสามารถเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ผ่านการพูดคุยกันกับเพื่อน เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงาน
นอกจากนี้ ตลอดช่วงเวลาการประชุมปรึกษาหารือกันกว่า 8 ชั่วโมง ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม (social learning) ซึ่งเมื่อมีการผสมผสานวิธีการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้ามาในกระบวนการด้วย ก็สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามุมมองความคิดของประชาชนเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรและทำไมความคิดของประชาชนถึงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนั้น
ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา กระบวนการการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกถูกนำไปใช้ในการระบุประเด็นปัญหาหรือความต้องการของชุมชนในหลากหลายประเด็นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เช่น การวางแผนการใช้ที่ดิน[4] การบริหารจัดการของหน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับมลรัฐ[5] การจัดบริการสาธารณสุข[6] การดูแลผู้สูงอายุ[7] และการเคหะ[8] ฯลฯ ในแคนาดา รัฐบาลระดับจังหวัด (provincial governments) ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการวางแผนและจัดบริการด้านสุขภาพได้ให้ความทุ่มเทในการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนผ่านการมอบอำนาจการตัดสินใจในการริเริ่มจัดทำบริการด้านสุขภาพให้แก่องค์กรในระดับภาค เขต และท้องถิ่น[9] ในขณะที่ในระดับชาติ ได้มีการนำกระบวนการการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกไปใช้เพื่อรับทราบความคิดเห็นจากประชาชนที่ไม่ได้มีการจัดตั้งเกี่ยวกับอนาคตของระบบสุขภาพที่พึงปรารถนาสำหรับประเทศแคนาดา[10] ความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบสุขภาพโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกเข้าไปเป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นนี้เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน[11]
สำหรับประเทศไทย กระบวนการการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกยังไม่เคยมีการนำมาประยุกต์ใช้โดยหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการของไทย แต่หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศแคนาดาและออสเตรเลียที่มีการนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศแล้ว กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพและปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐของไทยให้ความสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดทำกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้คำจำกัดความของสมัชชาสุขภาพไว้ว่า หมายถึง“กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม” นอกจากนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยังได้กำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการเป็นประจำด้วย
อ้างอิง
[1] รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ ข้อดี-ข้อเสีย และประสบการณ์ในการจำกระบวนการสานเสวนาพิจารณาทางเลือกสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่โดย Viewpoint Learning (http://www.viewpointlearning.com) เช่น Yankelovich, Daniel. 1991. Coming to Public Judgment: Making Democracy Work in a Complex World. New York: Syracuse University Press, Yankelovich, Daniel. 1999. The Magic of Dialogue: Transforming Conflict into Cooperation. New York: Simon & Schuster; Yankelovich, Daniel and Will Friedman. 2011. Toward Wiser Public Judgment. Nashville, TN: Vanderbilt University Press เป็นต้น
[2] เนื้อหาส่วนนี้แปลและเรียบเรียงจาก Rosell, Steven and Heidi Gantwerk. 2011. “Moving Beyond Polls and Focus Groups.” In Toward Wiser Public Judgment, eds. Daniel Yankelovich and Will Friedman. Nashville, TN: Vanderbilt University Press, 110-128.
[3] Safaei, Jalil. "Deliberative democracy in health care: current challenges and future prospects." Journal of healthcare leadership 7 (2015): 123.
[4] Bingham, Lisa Blomgren. "The new urban governance: Processes for engaging citizens and stakeholders." Review of Policy Research 23.4 (2006): 815-826.
[5] Stowers, Genie NL, Albert C. Hyde, and M. Ernita Joaquin. "Engaging Urban Residents." Managing the Sustainable City. Routledge, 2017. 63-83.
[6] Maxwell, Judith, Steven Rosell, and Pierre-Gerlier Forest. "Giving citizens a voice in healthcare policy in Canada." BMJ 326.7397 (2003): 1031-1033; McBride, Tony, and Viola Korczak. "Community consultation and engagement in health care reform." Australian Health Review 31.5 (2007): 13-15.
[7] Mitton, Craig, et al. "Public participation in health care priority setting: a scoping review." Health policy 91.3 (2009): 219-228.
[8] Christensen, Karen, and Jane Rongerude. The San Diego Dialogue: Reshaping the San Diego Region. No. 2004, 04. Working Paper, 2004.
[9] Premier’s Council on Health, Well-Being and Social Justice . A Framework for Evaluating Devolution. Toronto: The Task Force; 1994, Nova Scotia’s Blueprint for Health System Reform . Report of the Minister’s Action Committee on Health System Reform. Halifax, NS: Department of Health; 1994.
[10] Maxwell J, Rosell S, Pierre-Gerlier F. Giving citizens a voice in health-care policy in Canada. BMJ. 2003;326:1031–1033.
[11] Commonwealth Department of Health and Aged Care . National Health Strategy. Healthy Participation – Achieving Greater Public Participation and Accountability in the Australian Health Care System. Commonwealth of Australia; Canberra: 1993. (Background Paper No 12), NSW Department of Health . Community Consultation and Participation Resource Kit for Area Health Service Managers and Project Leaders. 1999. (State Health Publication No 980188).