การสานเสวนา(Dialouge)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

สานเสวนา (DIALOGUE)

คนเราเกิดมาต่างกัน ภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เพศ วัย ความคิด ความเชื่อ รสนิยม... ไม่มีใครในโลกที่เหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่ละคน มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง ดูแล และกำหนดแนวทางชีวิตของตนเองได้

ความต่าง...ทำให้โลกมีเสน่ห์น่าค้นหา แต่บางที ความต่าง...ก็ทำให้ไม่เข้าใจกัน การแบ่งเขาแบ่งเรา อคติ ความขัดแย้งเรื่องวิถีชีวิตและการให้คุณค่าที่ต่างกัน จึงกลายเป็นอุปสรรคของการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ที่เกิดขึ้นได้เสมอ

จริงๆ แล้ว เราก็ไม่ได้ต่างกันหมดทุกเรื่อง ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบความเหมือนอยู่บ้าง แสดงว่าเรามีทั้ง ความต่าง และความเหมือน กับผู้อื่นอยู่ในตัว เช่น ชาวไทยพุทธเคารพพระพุทธเจ้า พี่น้องชาวไทยมุสลิมอ่อนน้อมต่อพระอัลลอฮ์ แต่เราทั้งสองต่างเป็น มนุษย์ ที่ปรารถนาความสุข พยายามหลีกหนีจากความทุกข์เช่นเดียวกัน

การสื่อสารที่ทันสมัยทำให้โลกกว้างดูแคบลง หากเราต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก ต้องพบเจอ ทำงาน หรืออยู่ร่วมกับคนที่ต่างจากเราทำอย่างไรเราจึงจะอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้ อย่างมีความสุข เป็นธรรมดาที่เรามักจะคิด ทำ พูด ตามความเชื่อของตัวเอง ซึ่งเราเห็นว่า ดีที่สุด ถูกที่สุด

ความเชื่อเช่นนี้ บางครั้งนำไปสู่ความไม่เข้าใจกัน และความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเท่านั้น แม้แต่ในครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง ที่ทำงาน หรือในชุมชนของเราเองก็เกิดขึ้นได้ ทำอย่างไร เราจึงจะอยู่ด้วยกัน มีความสัมพันธ์กัน อย่างมีความสุข

การสร้างความสัมพันธ์กับใครก็ตาม ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า เขาก็เป็นเขา จะให้ คิด ทำ พูด เหมือนเราทั้งหมด คงไม่ได้ เขาก็มีดีในแบบของเขา และมีความสุขได้ในแบบที่เขาเป็น นี่คือวิธีคิดแบบยอมรับ ความหลากหลาย

กติกาง่าย ๆ สำหรับการอยู่ร่วมกัน คือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” เราอยากให้คนอื่นทำกับเราอย่างไร เราก็ทำกับเขาอย่างนั้น เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเราอย่างไร เราก็ไม่ควรทำกับเขาอย่างนั้น

พร้อมกับปรารถนาว่า....ทุกชีวิตมีคุณค่า... การเห็นคุณค่าของผู้อื่น เหมือนกับที่เห็นคุณค่าของตนเอง จะนำมาซึ่งความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก การปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์ เคารพ เมตตา พูด และทำแต่สิ่งที่เป็นจริง ทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

หากเมื่อใดที่ความต่าง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน อย่าปล่อยให้กลายเป็นความบาดหมาง ลองหันหน้ามา “สานเสวนา” กัน เพื่อรู้จัก ตนเอง และ ผู้อื่น มากขึ้น

สานเสวนา คือ กระบวนการสื่อความหมาย และเรียนรู้... เพื่อเข้าใจตนเอง และผู้อื่น สานเสวนา เป็นการเปิดใจ พูดคุย และ ฟังกันและกัน อย่างลึกซึ้ง ด้วยเมตตา ไม่ใช่การโต้เถียง หักล้า หรือเอาชนะ

ขอได้วางใจ ผ่อนคลาย จากความเครียด ความอึดอัด ความวิตกกังวล ให้เวลา ผู้อื่น ได้ พูด สิ่งที่อยู่ในใจ ให้เวลา ตนเอง ได้ ฟัง ผู้อื่นอย่างตั้งใจ

ฟัง...คำพูดของผู้อื่น ว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร มีเหตุผลอะไร ฟัง...หัวใจตนเอง ว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจากผู้อื่นว่าอย่างไร แล้วลองสังเกตผลที่ได้ จากการเปิดใจ ฟัง ผู้อื่น และตนเอง

การ ฟัง จะเอื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ภายในใจของเราเอง เมื่อได้ ฟัง ผู้อื่น และ ตนเอง ไปพร้อมกัน

การฟังจะทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น และอาจมองเห็นเขาในแง่มุมใหม่ พร้อมกับที่เข้าใจตนเองมากขึ้น และอาจมองเห็นตนเองในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อนั้นกำแพงอคติจะเริ่มทลายลง จากที่เคยตัดสินความคิดของคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ว่า ผิด... ก็จะเปลี่ยนเป็นมองว่า ต่าง เท่านั้น

ความเห็นอกเห็นใจ ความไว้ใจ และความปรารถนาดีจะเริ่มก่อตัวขึ้น

ความร่วมมือ เพื่อความสุข ในครอบครัว ชุมชน สังคม จะตามมา สานเสวนา จึงไม่ใช่การพูดคุยเพื่อโน้มน้าว กดดัน บังคับ หรือเปลี่ยนแปลงผู้ใด ถ้าจะมีความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นในตัวคนนั้นเองตามธรรมชาติ สานเสวนา จึงนำไปสู่การลดความไม่เข้าใจ และแก้ไขความขัดแย้งด้วย สันติวิธี

จุดเริ่มต้นของ การ “สานเสวนา”

1.ไม่มีวาระซ่อนเร้น ความงดงามของสานเสวนามาจาก “เจตนาบริสุทธิ์” คือ พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่สวมหน้ากากเข้าหากัน...ไม่มีอะไรต้องซ่อนเร้น

2.ปฏิสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์ ให้ความเคารพ ให้เกียรติผู้อื่น...เพราะเขาไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่ไร้หัวใจ ปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา

3.เท่าเทียม ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ “ให้ และ รับ” เท่าๆ กัน ไม่มีใครด้อยกว่า หรือเหนือกว่าใคร ไม่มีการครอบงำทางความคิด เขากับเราเท่าเทียมกัน เขากับเรามี ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน

4.จุดยืนชัดเจน กล้า บอกความคิด ความเชื่อของตนเอง กล้า เปิดหู เปิดใจ ฟัง...ความเห็นที่แตกต่าง กล้ารับฟัง ว่าผู้อื่นเข้าใจ และเห็นว่าเราเป็นอย่างไร สื่อความหมายของเราให้ชัดเจน

5.ไม่ด่วนสรุปตัดสินผู้อื่น จงภูมิใจในความคิด ความเชื่อ ของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราดีกว่า หรือเหนือกว่าคนอื่น แล้ว ด่วนสรุป ในสิ่งที่เขามี หรือเป็น ไม่ตัดสินเขาบนฐานความเชื่อของเรา

6.ใจกว้าง ใจกว้างพอที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง หรือกลุ่มของตนเอง สิ่งใดที่ไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง ก็น้อมรับความจริง อย่างไม่เข้าข้างตัวเอง กล้าหาญวิจารณ์ตน และกลุ่มของตนได้

7.ซื่อสัตย์และจริงใจ การสื่อสารอย่างจริงใจ จำเป็นมาก สำหรับ “สานเสวนา” ความคิดเห็นใดที่เราไม่เห็นด้วย ควรแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยบอกเหตุผลให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการยอมรับแบบขอไปที

8.ไว้วางใจผู้อื่น ให้เกียรติต่อความคิดของผู้อื่น ว่าเขาก็มีเหตุผลของเขา และน่าจะหาทางออกที่ดี ให้กับปัญหาตรงหน้าได้เช่นกัน ...ไว้วางใจในวิถีความเชื่อ ความสามารถ และเหตุผลของเขา

9.ไม่ปะปนหลักการกับปฏิบัติ เมื่อผู้อื่นพูดหรือถามในเรื่องใดก็พูดตอบในเรื่องนั้น... ถ้าเขาพูดเรื่อง หลักตัวบท หรือทฤษฎี ก็ตอบเรื่องหลักตัวบท หรือทฤษฎี ถ้าเขาพูดหรือถามเรื่อง การปฏิบัติ ประสบการณ์ ก็ตอบเรื่องการปฏิบัติ หรือประสบการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา “การพูดคนละเรื่องเดียวกัน” หลีกเลี่ยง ความเข้าใจผิด

10.ยืดหยุ่น แต่ตั้งใจจริง สานเสวนา เป็น “กระบวนการ” ที่ต้องอาศัย ความตั้งใจจริง ความต่อเนื่อง ความอดทน สานเสวนา จึงไม่ใช่ สูตรสำเร็จ หรือคำตอบสุดท้ายของปัญหาทันทีทันใด

สานเสวนา เป็นการฟัง การสื่อสาร เพื่อพัฒนาจิตภายใน เพื่อการเรียนรู้ เพื่อการเกิดเป้าหมายร่วมกัน และเพื่อสันติ เป็นธรรมดาที่อารมณ์ความรู้สึกฝ่ายลบอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการสานเสวนา โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับเรื่องที่คิดเห็น เราอาจแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ออกมาได้ แต่ต้องมี สติ ในการแสดง ความเห็นต่าง ต่อผู้อื่น ไม่ก้าวร้าวโดยทาง กาย วาจา และใจ ท้วงติงได้อย่างสุภาพ

ให้เวลาและกำลังใจทุกคนที่เกี่ยวข้องให้พยายามเอาชนะ ความอึดอัดคับข้องใจ อคติ ความวิตกกังวล ทั้งมวล... เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศการสานเสวนาที่เปิดกว้าง เสมอภาค และเป็นมิตร

สานเสวนา ท้าทายความเป็นมนุษย์แท้ พุทธแท้ มุสลิมแท้ คริสเตียนที่ศรัทธาของทุกคน สานเสวนาจึงเป็นกระบวนการสื่อสารด้วยใจที่เมตตา เป็นการพัฒนาจาก "ภายใน” โดยก้าวพ้นความแตกต่าง ความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง ซึ่งแสดงออก ภายนอก

สานเสวนา เกื้อกูแล แต่ ไม่ก้าวก่าย เข้าใจ แต่ ไม่ปะปน หันหน้าเข้าหากัน สานเสวนากัน ... เพื่อเข้าใจและยอมรับความต่าง... ...เพื่อตระหนักในความเหมือน... ...เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข...

สานเสวนา (dialogue)

บุคคลย่อมมี อัตลักษณ์ (identity)ของตนเอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม อันเป็นบ้าหลอมบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ วิธีการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้น

จริงอยู่ที่ความต่างทำให้โลกเรามีสีสันงดงาม หลากหลาย และน่าสนใจ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความคิดแบ่งเขาแบ่งเรา อคติ หรือความไม่เข้าใจกัน

ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ในครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ทั้งระดับชาติและระดับโลก ในหลายกรณี

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.)มหาวิทยาลัยมหิดล มีภารกิจในการ “ศึกษา” และ “พัฒนา” แนวทาง “สันติวิธี” เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยทั่วไป และโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งสถานการณ์รุนแรงกลายเป็นบ่อเกิดของความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจกัน ระหว่างประชาชนต่างศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม

กระทั่งเกรงว่า “ความแตกต่าง” กำลังจะทำให้เกิด “ความแตกแยก” เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ศพส. จึงดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเข้าใจกัน ทั้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเอง และระหว่างประชาชนในพื้นที่กับภาคส่วนอื่นของประเทศ

เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ สู่การพัฒนาชุมชนตนเอง รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนนอกพื้นที่มีความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของคนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม เพื่อความปรองดองของคนในชาติ

หนึ่งในเครื่องมือที่ ศพส. นำไปใช้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ คือ การสานเสวนา (dialogue) ซึ่งเป็นการเปิดใจพูดคุย และฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง เราได้เรียนรู้ว่า สานเสวนา เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการลดความไม่เข้าใจ และส่งเสริมสร้างความปรารถนาดีต่อกัน อันเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ ร่วมใจ แก้ปัญหาของชุมชนและสังคม จึงปรารถนาจะนำประสบการณ์นี้ มาถ่ายทอดให้คนไทยทั่วไป ได้เข้าใจแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการสานเสวนา อันเป็นการส่งเสริมวิธีคิดแบบยอมรับใน “พหุลักษณ์” หรือความแตกต่างหลากหลาย เพื่อการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันในครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคมได้อย่างมีสันติสุข