การศึกษาในประเทศอังกฤษ : กับครูและที่วิทยาลัยอีตัน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


การส่งเสด็จไปยุโรป

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในภายหลัง) ได้ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เฉลิมพระนามเป็นกรมขุนศุโขไทยธรรมราชา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ผู้มีพระชันษา ๑๒ ปีเศษ เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ มีพิธีการส่งเสด็จเป็นพิธีสงฆ์ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ในวันที่ ๑๓ และ ๑๔ และในวันที่ ๑๘ เสด็จไปยังพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม ทรง “ปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสกถือพระรัตนทั้งสามเป็นสรณะ” ต่อพระพักตร์กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส “พระอุปัชฌาอย่างทรงผนวช” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิมพระราชทานแล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ[1]

เห็นได้ว่าทรงเข้าพระหฤทัยดีในหลักพระพุทธศาสนาระดับหนึ่งแล้วก่อนที่จะเสด็จไปประทับในประเทศตะวันตกซึ่งมีศาสนาวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ทั้งยังน่าจะได้ทรงทราบความแห่งพระบรมราโชวาท ซึ่งพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์แรกที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ยุโรป เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ ความสำคัญ ๗ ข้อ ความโดยสรุปว่า หนึ่ง ไม่ให้อวดอ้างว่าเป็นเจ้านายแต่ให้ทำตัว “เสมอลูกผู้มีตระกุล” สอง ให้สำนึกเสมอว่าเงินที่พระราชทานให้ใช้สอยนั้น หากใช้อย่างประหยัดและมีเหลือก็ทรงยกให้เป็นสิทธิขาด หากแต่ว่าให้สำนึกว่า แม้จะเป็นเงินพระคลังข้างที่ แท้ที่จริงก็มาจากราษฎร “จึงต้องใช้ให้เป็นการมีคุณต่อแผ่นดิน” เท่านั้น สาม เมื่อกลับมาแม้เป็นเจ้าก็ไม่จำเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงใช้ในราชการ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะ “ต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้และความเพียรของตัว” จึงต้องเล่าเรียนด้วยความเพียรอย่างยิ่ง “เพื่อมีโอกาสทำคุณแก่บ้านเมืองและโลก” สี่ ไม่ให้ประพฤติตัว “เกะกะ” หากทำผิดเมื่อใดจะถูกลงโทษทันที จึงต้องละเว้นทางที่ชั่วซึ่งทราบเองหรือมีผู้ตักเตือน ห้า ให้เขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่า “ใจโตมือโต สุรุ่ยสุร่าย” หก ให้ศึกษาภาษาต่างประเทศจนคล่องแคล่ว จนแต่งหนังสือได้ ๒ ภาษาเป็นอย่างน้อย โดยภาษาไทยต้องรู้ด้วย และต้องเรียนเลขด้วย เจ็ด ให้ประพฤติให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งโรงเรียนตั้งไว้ “อย่าเกะกะวุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุสาหะพากเพียรเรียนวิชชาให้รู้มา ได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมสมกับที่มีความรักนั้นเถิด” (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)[2] หากศึกษาพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดี จะเห็นได้ว่าทรงปฏิบัติตามนี้เป็นสำคัญ

ในการเสด็จไปทรงศึกษา ณ ทวีปยุโรปนี้ มีพระยาศรีธรรมศาสน์ อัครราชทูตประจำราชสำนักกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย นำเสด็จ และมีหม่อมราชวงศ์ฉายฉาน (ศิริวงศ์) ในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ (พระราชมาตุลาหรือน้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) โดยเสด็จไปศึกษาด้วย[3] ม.ร.ว.ฉายฉานผู้นี้ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมราชินิกุลที่นาวาตรี หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์[4]

ประทับทรงศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ๔ เดือน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ (ในราชสกุลกฤดากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในภายหลัง) อุปทูต ณ กรุงปารีส ผู้ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นผู้ทรงจัดการศึกษาในยุโรปถวาย เชิญเสด็จไปประทับ ณ ตำบลวิแยร์ วีย์ (Viller Ville) ในแคว้นนอร์มังดี (Normandie) ชายทะเลทางเหนือจนถึงวันที่ ๔ กันยายน จึงเสด็จกลับไปยังกรุงปารีส ประทับทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และภาษาละติน เพื่อเป็นพื้นฐานในการที่จะเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษต่อไป มีนายครอสเป็นผู้ถวายพระอักษร ประทับอยู่ที่กรุงปารีสเป็นเวลา ๔ เดือน ระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระเชษฐาได้เสด็จไปทรงเยี่ยมพระองค์ด้วย[5] เพราะพระชันษาใกล้กันและทรงคุ้นเคยกันมาก ต่อมาเมื่อหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์เสด็จกลับสยาม ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าบวรเดช (ในราชสกุลกฤดากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าในภายหลัง) ทรงทำหน้าที่แทน[6]

ประทับทรงศึกษากับครูที่ประเทศอังกฤษครึ่งปี

ต่อมาได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ และตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (พ.ศ. ๒๔๕๐ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ประทับอยู่กับครอบครัวของนายเบลล์ (Mr. C.W. Bell) ชาวอังกฤษ ที่ใกล้เมืองเล็ดเบอรี่ (Ledbury) เมืองเก่าเล็กๆ ในจังหวัดเฮริเฟิร์ดเชียร์ (Herefordshire County) ทางตะวันตกของแคว้นอิงแลนด์ มีนายโคลแมน (Mr. Coleman) ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นพระอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษาละติน ฯลฯ อีกทั้งได้ทรงฝึกทรงม้า แทงดาบ (fencing) และยิมนาสติก (gymnastics) ด้วย โดยครอบครัวเบลล์ได้จัดให้ทรงปฏิบัติพระจริยวัตรตามเวลาที่กำหนดไว้ตามแบบฉบับที่คล้ายกับของโรงเรียนประจำซึ่งต้องทรงเข้าศึกษาต่อไป ประทับอยู่กับครอบครัวนี้เป็นเวลาถึง ๑ ปี ๔ เดือน[7] การส่งนักเรียนไทยไปพำนักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษและมีครูสอนเป็นการเฉพาะตัวเช่นนี้ เป็นวิธีปฏิบัติปกติในสมัยนั้นและในสมัยต่อมาด้วย เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับการใช้ภาษาและวิถีชีวิตในประเทศนั้น และมีความรู้พอที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนได้

อนึ่ง ในพ.ศ. ๒๔๕๐ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ได้เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในช่วงที่เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ด้วย

ประทับทรงศึกษา ณ วิทยาลัยอีตัน ๒ ปี

ครั้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ได้ทรงสอบผ่านเพื่อเข้าศึกษาในวิทยาลัยอีตัน (Eton College) โรงเรียนราษฎรประเภทอยู่ประจำชั้นเอกอุของอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมของ “ผู้มีตระกูล” โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ที่ประทับนอกกรุงลอนดอนแห่งหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ นักเรียนจึงได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมราชสำนัก ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ในฐานะนักเรียนใหม่ผู้หนึ่งน่าจะได้เฝ้าฯ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เมื่อเสด็จไปทรงเปิดหอประชุมของโรงเรียนในปีเดียวกัน[8]

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จ เข้าประทับทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ประทับอยู่ในสำนักหรือคณะ (House) ของนายแฮร์ (Mr. J.H.M. Hare) นายแฮร์มีจดหมายในเดือนกรกฎาคมถัดมารายงานหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ว่า ทรงปรับพระองค์ได้แล้ว ทรงมีความฉลาดและทรงเข้าพระทัยภาษาอังกฤษพอใช้ แต่ยังทรงล้าหลังในวิชาภาษาละติน อีกทั้งยังไม่ทรงคุ้นเคยกับวิธีการคิดเลขแบบอังกฤษ แต่โดยรวมทรงมีความก้าวหน้าและความเพียรที่จะทรงทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทรงทำได้[9]

วิชาที่ทรงเรียนได้แก่ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วาดเขียน และดนตรี (ไวโอลิน) ทรงมีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสดีอยู่แล้วและทรงทำคะแนนได้ดีมากในวิชานี้ อีกทั้งทรงได้รับรางวัลสำหรับวิชาฟิสิกซ์เป็นหนังสือภาพเขียนสถานที่ในวิทยาลัยอีตันในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓)[10][11]

ส่วนนายเกลีย์ (Mr. Andrew Gailey) อาจารย์ผู้ใหญ่ (Vice –Provost) อีตันปัจจุบันได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระองค์ขณะประทับอยู่ที่อีตันโดยการสกัดสาระจากเอกสารจดหมายเหตุของอีตันเกี่ยวกับพระองค์ว่า “ทรงเป็นผู้ฉลาดที่สุดในกลุ่ม และมีความตรงต่อเวลา ทั้งละเอียดถี่ถ้วนและมุ่งมั่นที่จะทรงทำให้สุดความสามารถในทุกสิ่ง ไม่น่าแปลกใจที่ทรงทำได้ดีที่สุดในวิชาภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ทรงแสดงความสามารถในวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย อีกทั้งยังทรงได้คะแนนสูงในการสอบภาษากรีกโบราณ การผสมผสานกันระหว่างท่วงท่าที่เป็นระเบียบแบบแผนกับความพร้อมที่จะทรงทำความเข้าพระทัยกับแนวคิดใหม่ๆ ได้ช่วยให้ดำรงพระองค์ได้อย่างมั่นคงที่อีตัน และได้กลายเป็นบทเรียนที่ไม่ทรงลืมเลยในช่วงหลังแห่งพระชนมชีพ” และ “การที่ทรงเป็นผู้ที่สนิทใจด้วยง่ายก็สำคัญ บรรดาครูอาจารย์ของพระองค์พอใจตั้งแต่แรกกับ เด็กน้อยที่น่ารักและน่าคบพระองค์นี้ และนิยมชมชอบพระอัธยาศัยแจ่มใส และการที่ทรงยืดหยุ่นปรับพระองค์เองได้ แม้ว่าพระวรกายจะย่อมก็ตาม โดยที่เราสัมผัสได้ว่า ทรงชนะศึกต่างๆ ของพระองค์ได้ก็โดยการเอาชนะใจคน ด้วยพระเสน่ห์และการดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยแท้”[12]

สำหรับพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เองนั้น รับสั่งว่า เมื่อทรงปรับพระองค์ได้แล้ว ทรงสบายดี สนุกสนานมาก และทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ ทรงหัดว่ายน้ำและโปรดการเล่นกรรเชียงเรือ[13] ในเรื่องกรรเชียงเรือนี้ ทรงเป็นนายท้ายเรือ (cox) ซึ่งก็คือนายธงให้สัญญาณแก่ฝีพายซึ่งหันหลังให้ทิศทางที่เรือกำลังแล่นไป ในการแข่งขันของนักเรียนรุ่นเยาว์นามว่า Novice Eights ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓[14] ซึ่งคงจะเป็นเพราะพระวรกายย่อม พระน้ำหนักเบา เอื้อให้เรือแล่นได้เร็ว ส่วนกีฬาอื่นๆ ที่ทรงนั้นย่อมมีฟิลด์เกม (Field Game) ซึ่งนายเกลีย์เขียนไว้ว่า “ต้องใช้ความสมบุกสมบันและความอดทน..ซึ่งยากยิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระวรกายย่อมจะทรงพระปรีชา”[15] และวอลล์เกม (Wall Game) เพราะเป็นกีฬาเฉพาะของอีตันทั้งคู่ และแน่นอนคริกเก็ต (Cricket) กีฬาประจำชาติของอังกฤษ

ในโรงเรียนราษฎร์ประเภท “public school” ของอังกฤษ เช่น อีตันในสมัยนั้นและในสมัยต่อๆ มาอีกนาน เด็กเล็กจะต้องเป็นเด็กรับใช้ (forg) รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า (prefect) เช่น ตื่นเช้าไปปลุก ชงน้ำชา ปิ้งขนมปัง ขัดรองเท้า เอาฟืนมาใส่เตาผิงเพื่อทำความอุ่นในห้อง ฯลฯ ตามแต่หัวหน้าจะใช้ให้ทำ ถือเป็นการฝึกการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เพื่อที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีได้ในอนาคต ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเล่าพระราชทานนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาลของพระองค์ว่า

“ครู เด็กชั้นใหญ่ เด็กชั้นเล็ก เขาปกครองกันเป็นลำดับ แลมีวินัยอย่างเคร่งครัด...และให้เด็กปกครองกันเอง เพื่อฝึกหัดให้รู้จักปกครองเป็นลำดับชั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีโรงเรียนไหนที่อนุญาตให้เด็กชั้นใหญ่เฆี่ยนเด็กชั้นเล็ก แต่นี่อังกฤษเขายอมให้ทำเช่นนั้น เด็กเล็กต้องรับใช้เด็กใหญ่ และเด็กชั้นใหญ่ลงโทษเด็กเล็กได้ด้วย...”[16]

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เยาวราชวงศ์ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเยาว์ทรงเล่าว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ “ทรงได้รับคำสั่งจากลูกพี่ให้เล็ดลอดออกไปซื้อไข่ในเมืองมาให้หัวหน้า ทรงปีนกำแพงกลับเข้ามาแล้วไข่แตกอยู่ในพระมาลา เขาจับได้...ทางโรงเรียนลงโทษ เพราะว่าผิดกฎเกณฑ์ ไม่แน่ใจว่าโทษถึงเฆี่ยนหรือเปล่า”[17]

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทรงปฏิบัติพระองค์และทรงได้รับการปฏิบัติต่อเช่นเดียวกันกับนักเรียนคนอื่นๆ และเข้าพระทัยเป็นอย่างดีถึงวัตถุประสงค์ของการฝึกหัดเช่นนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับการที่นักเรียนมักจะล้อเลียนหรือแกล้งกันนั้น ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีผู้ใดแกล้งพระองค์หรือไม่ แต่สำหรับการล้อเลียนหรือต่อว่านั้น หม่อมเจ้าการวิก ทรงเล่าว่ามีเกี่ยวกับเมื่อพระสหายร้องว่าทรงเป็น “คนป่าเหม็น” ด้วยได้เสวยน้ำพริก ณ ที่ประทับที่สถานอัครราชทูตสยามก่อนเสด็จกลับไปโรงเรียนหลังวันหยุดบางสุดสัปดาห์[18] หากแต่ว่ามีเบาะแสให้เห็นว่าทรงวางพระองค์อย่างไรเมื่อทรงถูกแกล้งหรือล้อเลียน คือ พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงแนะนำว่า “อย่าไปทำโกรธ ทำเฉยๆไว้ และอย่าไปทำจ๋อง ทำเฉยเท่านั้นเป็นดี ถ้าเราไม่โกรธหรือไม่เรี่ยแหย มันก็ล้อไม่สนุก เลิกกันไปเอง ยิ้มๆ เฉยๆ เสียดีกว่า ถ้าโกรธหรือกลัวมันแล้ว มันเอาใหญ่ ต้องทำเป็นคนใจดี ใจเย็น...”[19] พระอัธยาศัยเช่นนั้นกระมังที่อาจารย์เกลีย์สังเกตเห็นจากการศึกษาเอกสารที่พระอาจารย์ของพระองค์บันทึกไว้แต่กาลก่อน

อาจารย์เกลีย์เขียนไว้ด้วยว่า แม้ว่าอีตันในสมัยนั้นจะมีระเบียบวินัยมากก็ตาม “แต่ก็ใช่ว่าจะคาดหวังให้นักเรียนต้องคล้อยตามไปในทุกสิ่ง แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนส่วนใหญ่ได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้พอสมควร”[20] ในกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ นั้นนายจอร์จ ลิตเติ้ลเติ้น (George Lyttleton) อาจารย์หนุ่มผู้ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงทางวรรณคดีประพันธ์ เป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษา (tutor) อาจารย์ลิตเติ้ลเติ้นเขียนรายงานเกี่ยวกับภาคเรียนสุดท้ายของพระองค์ไว้ว่า

“เขาเป็นเด็กน้อยคนหนึ่งที่น่าคบมาก เพราะมีบุคลิกที่น่าสนใจไม่น้อย วิสัยสงวนท่าทีของเขาทำให้รู้จักเขาได้ยากกว่าเด็กส่วนใหญ่ หากแต่ว่าเขาดูจะมีความสนใจในสิ่งที่เด็กคนอื่นๆ ไม่สนใจ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดียิ่ง ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เขาสนใจนั้นไม่ขัดกับสิ่งที่โรงเรียนให้ความสนใจอยู่เป็นธรรมดา ผมหมายถึงรสนิยมเชิงศิลปะที่ดูเหมือนว่าเขาจะมี ซึ่งทำให้ผมชอบคุยกับเขา เขาน่าจะมีอนาคตที่แจ่มใส”[21] พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงอ่านวรรณกรรมน่าจะได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ผู้นี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยอีตันจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ รวมระยะเวลาประมาณ ๒ ปี และได้เสด็จกลับมาทรงร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ (พ.ศ. ๒๔๕๔ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) แล้วเสด็จกลับไปทรงเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยทหารเมืองวุลลิช(Royal Military Academy at Woolwich) ใกล้กรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ [22]

อ้างอิง

  1. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๗-๘.
  2. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๔๗๕. พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงพระนิพนธ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ (พิมพ์ในงานพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระราชทานพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในวันสิ้นพระชนมายุครบสีปตามวาระ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕). (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา/โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร)
  3. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๙.
  4. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช), หน้า ๗๑ , ๓๙.
  5. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๑๖.
  6. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช), หน้า ๙.
  7. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๑๙-๒๐.
  8. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓) , หน้า ๑๔ , ๒๑.
  9. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๒๐.
  10. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๒๐-๒๙.
  11. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช), หน้า ๑๒.
  12. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓) , หน้า ๑๕.
  13. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๒๐.
  14. Eton College. 1993. The Eton Boating Book. (Eton Spottiswoode: Ballantyne & Co. Ltd.) p. 429.
  15. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓) , หน้า ๑๔.
  16. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์) , หน้า ๒๕๘.
  17. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช), หน้า ๑๔.
  18. สุวิทย์ ไพทยวัฒน์. ๒๕๓๘. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า. (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) , หน้า ๗๒.
  19. เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา (ผู้จัดทำ) .มปป. คุณหญิงมณี สิริวรสาร (ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส) , หน้า ๖๓.
  20. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ในรายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓) , หน้า ๑๔.
  21. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓) , หน้า ๑๕-๑๖.
  22. รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๒๘-๒๙.

บรรณานุกรม

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๔๗๕. พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงพระนิพนธ์แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ (พิมพ์ในงานพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระราชทานพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในวันสิ้นพระชนมายุครบสีปตามวาระ ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา/โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

รัฐสภา. ๒๕๒๔. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด.

ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน ๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก.นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. หน้า ๓-๓๙

สุวิทย์ ไพทยวัฒน์. ๒๕๓๘. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา (ผู้จัดทำ) .มปป. คุณหญิงมณี สิริวรสาร (ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส)

Eton College. 1993. The Eton Boating Book. Eton Spottiswoode: Ballantyne & Co. Ltd.

Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton. In The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing. แปลโดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน. ใน รายงานกิจการประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ: ๒๕๕๓.