การประชุมเมือง (Town Meeting)
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การประชุมเมือง (Town Meeting)
การประชุมเมือง (Town Meeting) เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง หมายถึง กระบวนการที่มีชื่อว่า 21st Century Town Meeting ซึ่งพัฒนาขึ้น โดย America Speaks Center[1] กระบวนการนี้เป็นรูปแบบของการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะที่นำเอาประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางประชากรและเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มตามสภาพปัญหาจำนวนมากตั้งแต่หลายร้อยคนจนถึงประมาณ 5,000 คน เข้ามาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหา โดยกระบวนการพิจารณาหาทางออกที่อาศัยการประชุมกลุ่มย่อยจำนวนมากที่มีการดำเนินการอภิปรายแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น และตอบคำถามที่ต้องการการตัดสินใจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งโดยทั่วไปกระบวนการเช่นว่านี้จะใช้เวลา 1 วันเต็ม และมีการจัดกระบวนการลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่องหลายครั้งจนกว่าจะได้ทางออกของปัญหาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้
ในการประชุมเมืองแต่ละครั้งจะมีการเตรียมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นกลางและมีความสมดุลกันของแหล่งข้อมูล เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำไปใช้ประกอบการอภิปรายและพิจารณาทางเลือก พร้อมทั้งมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายมานำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละกลุ่มย่อยด้วย ผลจากการสนทนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในแต่ละกลุ่มจะมีการแบ่งปันให้กลุ่มใหญ่ได้รับทราบผ่านระบบเชื่อมโยงโครงข่ายจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการติดตั้งประจำในแต่ละกลุ่มย่อย ซึ่งที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะมีการติดตั้งแป้นพิมพ์แบบไร้สายสำหรับลงมติ (keypad wireless polling) ไว้ด้วย จากนั้นจะมีการประมวลผลข้อมูล จัดลำดับความสำคัญ และรายงานต่อผู้กำหนดนโยบายเมื่อการพูดคุยในวันดังกล่าวสิ้นสุดลง[2]
การประชุมเมืองเหมาะสำหรับใช้ระหว่างที่นโยบายสาธารณะกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือกำลังจะมีการตัดสินใจ โดยพื้นฐานในระหว่างการพิจารณานโยบายรัฐ พื้นที่ทางการเมืองจะเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความต้องการ การสำรวจความคิดเห็นข้ามกลุ่ม (cross section of public) จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ผูกติดกับประเด็นสาธารณะ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกคน จะทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเสียงของพวกเขาซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่คือเป็นเสียงประชามติแท้จริง ไม่มีเรื่องพรรคพวก เพื่อนพ้อง หรือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การประชุมเมืองจึงเป็นแนวคิดในการเปิดพื้นที่สำหรับการนำเสนอข้อพิพาท และอภิปราย เสียงของทุกคนหรือผู้เข้ามามีส่วนร่วมจะมีความเท่าเทียมกันซึ่งเป็นไปตามการออกแบบ ที่นำไปสู่ประชามติ โดยใช้คำถาม Values-Based ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จับต้องได้จริง[3]
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบริบท การประชุมเมืองจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อต้องนำไปใช้ในการตัดสินใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่อยู่กระจัดกระจาย และอยู่ข้ามพื้นที่ตามสภาพภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีการนำเทคโนโลยีสื่อสารทางโทรศัพท์ผ่านกล้องวีดีโอระบบดาวเทียม สามารถเชื่อมโยงและจัดการประชุมได้ในเวลาเดียวกันและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลพร้อม ๆ กันได้ในหลายจุด ซึ่งนำไปสู่กระบวนการปรึกษาหารือ (deliberation) พร้อมกันได้
โดยภาพรวม การประชุมเมืองเป็นกระบวนการบูรณาการประชุมร่วมกันระหว่างประชาชนภาคพลเมือง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งต้องทำงานร่วมกันในหลาย ๆ เดือนทั้งก่อนหน้าจัดงานและหลังจัดงาน จุดสำคัญของกระบวนการคือวันจัดประชุมใหญ่ ซึ่งต้องมีการเตรียมงานการประชุมเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบาย จะเข้ามาเป็นผู้เข้าร่วม และให้ความร่วมมือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการการวางแผน มีความเป็นกลาง มีเนื้อหาที่สำคัญเพื่ออภิปราย และมีการติดตามผลการประชุมที่ชัดเจน
ขั้นตอนการประชุมเมืองมี 4 ขั้นตอน[4] เริ่มจาก
(1) การจัดเตรียมบริบท
(2) การกำหนดความสำคัญ
(3) การพัฒนาข้อเสนอแนะ
(4) การนำเสนอรายงานสรุปผลการประชุม ในตอนท้ายของการประชุม
ความคิดเห็นที่แสดงออกมาจะถูกจัดเป็นกลุ่มใหญ่ตามตัวแทนของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยระหว่างกลุ่ม มีการบันทึกในประวัติการทำงาน และการใช้งานตามจริงของผู้ประชุมในการประชุมเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประชุมที่เลิกประชุมก่อนหรือผู้ประชุมที่มีส่วนร่วมในการประชุมตลอดงาน ขณะที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่เข้ามาร่วมประชุมจะเป็นผู้ให้คำแนะนำให้ข้อเสนอแนะ
ในการประชุม (town hall event) การประชุมเมืองจะเริ่มต้นด้วยการต้อนรับผู้สนับสนุน การกล่าวเปิดเวทีสั้น ๆ โดยนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นผู้นำในกระบวนการปรึกษาหารือ ผู้เข้าประชุมจะตอบคำถามตามกลุ่มประชากร โดยมีปุ่มกดลงมติ (keypad polling) การให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้น ผู้ประชุมจะรู้ว่ามีใครที่อยู่ในห้อง ซึ่งมีการแบ่งตามอายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ภูมิประเทศ และอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะอภิปราย จากนั้นก่อนที่จะดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือจะต้องมีการกำหนดความชัดเจนว่า อะไรคือประเด็นหัวข้อที่สำคัญที่กำลังพิจารณา กล่าวคือ การประชุมเมืองต้องการกำหนดลำดับแนวคิด และความสนใจของผู้เข้าประชุมก่อน-หลัง รูปแบบของการประชุมเมืองนั้น จะมีอุปสรรคมากถ้าผู้เข้าร่วมประชุมไม่สามารถเข้าใจประเด็นได้อย่างชัดเจน การอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นจะอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการปรึกษาหารือประมาณ 4-5 ชั่วโมง
ระหว่างการจัดการประชุมตามรูปแบบการประชุมเมือง ผู้เข้าร่วมประชุมจะอยู่ในกลุ่มเล็กแบ่งตามโต๊ะอภิปราย ซึ่งโต๊ะอภิปรายจะมีผู้ประชุมที่หลากหลาย แบ่งตามระดับอาชีพ ขนาดของกลุ่ม (10-12 คนต่อ 1 โต๊ะ) มีพื้นที่ปลอดภัย (safe space) ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สามารถโต้ตอบแนวคิด รับรู้ข้อเท็จจริงจากการแสดงความคิดเห็น และสุดท้ายที่เป็นความคาดหวังสูงสุดของงาน คือการได้แนวคิดร่วมกัน (collective view) ซึ่งเป็นการแสดงถึงการบูรณาการมุมมองและแนวความคิดของแต่ละคน ดังนั้น โต๊ะ Facilitator ต้องมั่นใจได้ว่าทุกคนที่เข้าร่วมประชุมมีโอกาสในการแสดงออกหรือมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย
อาสาสมัครจะดำเนินการจดบันทึกการประชุมโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ตามแต่ละโต๊ะประชุมมีกระดาน Flipchart อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำการบันทึกแนวความคิดที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วงการอภิปรายข้อมูลที่เก็บได้จะส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปยังทีมสรุปประเด็นซึ่งจะทำการจัดลำดับข้อมูลก่อน-หลัง ข้อแนะนำที่บ่งชี้เจาะจงจะได้รับการจัดเก็บตลอดการประชุม จะเป็นกระบวนการทำงานแบบตอบสนองและโต้ตอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสุดท้าย คือ การออกเสียง (voting) การสานเสวนาระหว่างขนาดเล็กกับใหญ่จะอยู่ในลักษณะ “กลับไป-กลับมา” (back and forth) ต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อแนะนำ
การออกเสียงของผู้เข้าประชุมผ่านระบบการออกเสียงแบบไร้สายด้วยปุ่มกด (wireless voting keypad) จะมีขึ้นตั้งแต่การประชุม ปุ่มกด (keypad) จะถูกใช้ในหลาย ๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงตลอดการประชุม เช่น ผู้เข้าประชุมระบุหัวข้อคำแนะนำที่พึงพอใจ การตัดสินใจในประเด็นหัวข้อที่จะประชุมครั้งต่อไป การเก็บข้อมูลของประชากร และการประเมินผลการประชุม คอมพิวเตอร์ และปุ่มกดเพื่อออกเสียง (voting keypad) จะทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลตามแต่ละกลุ่มประชากรที่มีการจัดเรียงตามปริมาณ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและได้อุปกรณ์สื่อ (media) ที่สามารถนำมาพัฒนาเรื่องต่อได้ นอกจากนี้ ปุ่มกดเพื่อออกเสียงจะทำให้เกิดความโปร่งใส ตลอดการประชุม และสามารถทำให้ผู้เข้าประชุมเห็นเสียง (voices) หรือความต้องการของพวกเขากำลังได้รับฟัง
ผู้เอื้อกระบวนการ (lead facilitator) จะเป็นผู้นำโครงการ ตั้งแต่การจัดเวทีที่ต้องมีจอภาพวีดีโอขนาดใหญ่สามารถแสดงข้อมูลโครงการประเด็นหัวข้อหรือสาระสำคัญ (theme) ข้อมูลจะแสดงผลและเก็บข้อมูลทันที เมื่อTheme (ข้อมูลของผู้เข้าประชุม) แสดงบนจอภาพ ผู้เข้าประชุมจะได้รับการตอบกลับ (feedback) ทันที ผลการประชุมจากโต๊ะอภิปรายจะถูกปรับให้เหมาะสมตลอดการประชุม การใช้จอภาพขนาดใหญ่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และเห็นข้อมูลทั้งหมดพร้อมกัน ทำให้สามารถพัฒนาเนื้อหาร่วมกันได้อย่างละเอียดที่ละเล็กละน้อยได้ตลอดทั้งวัน
การแสดงรายงานการประชุมจะใช้เวลา 30 นาที ในการประเมินต่อวันและมีการทบทวนขั้นตอนต่อไป รวมทั้งมีเวลาให้แก่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อแสดงความคิดเห็นว่าอะไรที่พวกเขาได้ยินจากผู้เข้าประชุม โดยในการปิดการประชุม ผู้จัดกระบวนการจะร่างรายงานเบื้องต้นจากข้อค้นพบ ประกอบด้วย รายละเอียดของผลการประชุม และประเด็นที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุมโดยการกดปุ่มออกเสียง (keypad voting results) สุดท้ายผู้เข้าประชุมทุกคน ผู้มีอำนาจตัดสินใจ และสื่อมวลชนจะได้รับรายงานเมื่อออกจากการประชุม
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า การประชุมเมืองไม่ใช่การจัดประชุมเพียงครั้งเดียว แต่เป็นกระบวนการบูรณาการของการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้มีอำนาจตัดสินใจตลอดระยะเวลาหลายเดือน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
(1) การเลือกประเด็นที่มีผลกระทบต่อนโยบายและทรัพยากรเพื่อหาแนวทางที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
(2) การพัฒนากลยุทธ์เพื่อทำให้การจัดกระบวนการมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
(3) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนและผู้มีอำนาจตัดสินใจ
(4) การประยุกต์ใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย
(5) การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับการปรึกษาหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง
(6) การเอื้ออำนวยให้เกิดการสนทนาแบบมีข้อมูล
(7) การทำให้เสียงของประชาชนมีความหมายและถูกนำไปใช้กำหนดเป็นนโยบายหรือออกเป็นกฎหมาย[5]
ที่ผ่านมา มีการนำ 21st Century Town Meeting ไปใช้ในกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น การเสวนาระดับชาติเรื่องการประกันสังคม[6] การวางแผนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ในมหานครนิวยอร์ก[7] การจัดประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ของ วอชิงตัน ดี.ซี. (ที่จัดขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง)[8]
อ้างอิง
[1] AmericaSpeaks Center ได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ.2014
[2] Lukensmeyer, Carolyn J., and Steve Brigham. "Taking democracy to scale: Creating a town hall meeting for
the twenty-first century." National Civic Review 91.4 (2002): 351-366.
[3] Lukensmeyer, Carolyn J., and Steven Brigham. "Taking democracy to scale: Large scale interventions—for citizens." The Journal of Applied Behavioral Science 41.1 (2005): 47-60.
[4] สรุปและเรียบเรียงจาก Lukensmeyer, C., Brigham, S., Goldman, J. (2005) "A Town Meeting for the 21st Century." in The Deliberative Democracy Handbook: Strategies for Effective Civic Engagement in the 21st Century. (154-163). San Francisco: Jossey-Bass.
[5] Lukensmeyer, Carolyn J., and Steve Brigham. "Taking democracy to scale: Creating a town hall meeting for the twenty-first century." National Civic Review 91.4 (2002): 351-366.
[6] Lee, Caroline W. "21st Century Town Hall Meetings in the 1990s and 2000s: Deliberative Demonstrations and the Commodification of Political Authenticity in an Era of Austerity." Journal of Deliberative Democracy 15.2 (2020).
[7] Boyd, Ashley, and Jane Berkow. "Rebuilding ground zero with democracy: Listening to the city and the 21st century town meeting (TM)." Group Facilitation 6 (2004): 13.
[8] Lukensmeyer, Carolyn J., and Wendy Jacobson. "The 21st century town meeting: Engaging citizens in governance." The Change Handbook: The Definitive Resource on Today's Best Methods for Engaging Whole Systems: Easyread Super Large 24pt Edition (2009): 320.