กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ : ประธานสมัชชาสหประชาชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


กรมหมื่นนราธิปฯ : ประธานสมัชชาสหประชาชาติ

          นักการเมืองไทยท่านหนึ่ง แม้จะเป็นเพียงนักการเมืองสมัครเล่น แต่ได้เป็นผู้ที่มีบทบาทในวงการต่างประเทศ คือ เคยเป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา คือการประชุมสมัชชาสมัยที่ 11 ปี 2499 - 2500 ท่านคือ  พลตรี ศาสตราจารย์ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้ซึ่งเป็นนักการทูตเรืองนามและนักวิชาการชื่อดัง อันเป็นที่ยอมรับมากในสังคมไทย แต่วันนี้จะดูถึงการทำงานและบทบาทในวงการเมืองของท่าน แม้ท่านจะมิได้ตั้งใจเป็นนักการเมืองและลงเลือกตั้งในสนามการเลือกตั้งเลยก็ตาม แต่ท่านก็ได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ในวงการเมืองยาวนานเป็นเวลาถึง 40 ปี ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินปี 2475 ใหม่ๆ

          ม.จ.วรรณไวทยากร ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2434 มีบิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และมารดาคือหม่อมหลวงต่วนศรี มนตรีกุล ตามที่บันทึกกันไว้นั้น ท่านได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย แล้วจึงชิงทุนหลวงได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ โดยเรียนที่ Balliol. College ก่อนที่จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด จนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านอักษรศาสตร์ จากนั้นจึงข้ามไปเรียนในประเทศฝรั่งเศสที่สถาบันการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ จบแล้วจึงเข้าทำงานที่สถานอัครราชทูตไทยที่นครปารีส ในปี 2460 ขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี อีก 3 ปีต่อมาจึงได้เดินทางกลับมาเป็นหัวหน้ากองที่กระทรวงการต่างประเทศในเมืองไทย และในปี 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี อีกปีถัดมาท่านก็ได้ขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองของกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นอีกสองปีจึงได้ออกไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ถึงปี 2473 ก็ได้มาเป็นศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับชีวิตสมรสนั้น พระชายาท่านแรกคือ ม.จ.พิบูลเบญจางค์ กิติยากร ต่อมาท่านได้สมรสกับหม่อมพร้อยสุพิณ

          หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ปี 2475 แล้ว ท่านได้เป็นได้เป็นที่ปรึกษาสำคัญของนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย คือพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ เมี่อปี 2475 และหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจซ้ำอีกในปี 2476 ท่านได้รับการยอมรับจากพระยาพหลฯ มากถึงขนาดนายกฯ ขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรให้ที่ปรึกษาท่านนี้ได้เข้าไปนั่งร่วมฟังการประชุมในสภาฯได้ แต่กระนั้นท่านก็ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลหรือได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มาตรา 11 กำหนดว่า

          “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”

          เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ.2489 ที่ไม่ได้มีการห้ามไว้ ประกอบกับให้มีสองสภาในรัฐสภา ม.จ.วรรณไวยทยากร ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกด้วย แต่ท่านก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 เท่านั้น เพราะคณะรัฐประหาร ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหวัณ ได้เข้ายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลและยกเลิกรัฐธรรมนูญ จนเวลาผ่านไปถึงปี 2490 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลต้องการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา ที่กำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงหันมาเลือกอดีตทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ม.จ.วรรณไวทยากร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งท่านก็ยินดีรับตำแหน่ง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าท่านยินดีทำงานให้แผ่นดินโดยไม่ได้เลือกข้างทางการเมืองเป็นสำคัญ ท่านเป็นขุนพลด้านการต่างประเทศให้รัฐบาลของหลวงพิบูลฯ และในปี 2495 อีกเช่นกันที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ที่ 2 ด้วย ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศท่านได้ไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติในนามของรัฐบาลและประเทศอยู่เป็นประจำ และฝีไม้ลายมือทางด้านงานการทูตก็เป็นที่ประจักษ์ ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติในการประชุมสมัยที่ 11 ประจำปี 2499 – 2500

          แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวนที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ที่นายกฯ หลวงพิบูลฯ เป็นหัวหน้า “ทีม” นำรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลหลายคนลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งที่จังหวัดพระนคร ท่านก็ไม่ได้ร่วมลงเลือกตั้งด้วย หากแต่มีชื่อ พ.ต.รักษ์ ปันยารชุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นบุตรเขยนายกฯ ลงสมัครด้วยเป็นรายชื่ออันดับสุดท้าย ทั้งๆ ที่เวลานั้นชื่อเสียงของท่านก็ดีเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรัฐมนตรีมือสะอาด รัฐบาลชนะเลือกตั้งแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 แต่เมื่อมีรัฐบาลของนายกฯ พจน์ สารสิน ม.จ.วรรณไวทยากร ก็ยังคงเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสืบมา จนมีเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ที่มีพลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ ม.จ.วรรณไวทยากร ก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย จนมีการปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ในเดือนตุลาคม ปี 2501 ท่านจึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปเป็นเวลาสั้นๆ ครั้นจอมพล สฤษดิ์ขึ้นมาเป็นนายกฯเอง ม.จ.วรรณไวยทยากร ผู้ได้รับการตั้งเป็นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกรัฐมนตรี และท่านก็เป็นรองนายกฯ ต่อเนื่องมาจากปี 2502 จนถึงปี 2513 แม้จะเปลี่ยนตัวนายกฯ จากจอมพล สฤษดิ์ มาเป็นจอมพล ถนอม ก็ตาม และในช่วงเวลาเดียวกันนี้นี้ท่านยังได้รับการแต่งตั้งไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตั้งแต่ปี 2506 ถึง ปี 2514 งานสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งของท่านก็คือเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติ เมื่อปี 2516 และก็เป็นงานใหญ่ครั้งสุดท้าย

          กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 2519