ความรุนแรงและทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมือง : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สาหรับสังคมไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:54, 29 ตุลาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ความรุนแรงและทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมือง

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับสังคมไทย ?


ชลัท ประเทืองรัตนา * บทคัดย่อ บทความนี้เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ.2549-2553 ใน 3 ลักษณะคือ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงทางตรงเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เกิดจากโครงสร้างจนกระทั่งทำให้เกิดรอยแยกแตกร้าวในสังคม และความรุนแรงทางวัฒนธรรมทำให้คนยอมรับได้กับการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เมื่อเราได้ทราบถึงความสลับซับซ้อนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว บทความได้นำเสนอและวิเคราะห์การใช้สันติวิธีของพลังทางสังคมและรัฐในสองความหมายคือ การเรียกร้องเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของกลุ่มตนเองและการจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี โดยนำเสนอการเรียกร้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ สำหรับการจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีเป็นการนำเสนอภาพรวมการดำเนินการของเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย และการเจรจา 2 ครั้ง ณ สถาบันพระปกเกล้า นอกจากที่กล่าวมาบทความนี้ได้เสนอแนะทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมืองเพื่อให้สังคมไทยได้พิจารณา บนพื้นฐานที่เชื่อว่าสังคมไทยยังคงมีทางออกโดยเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่มองเห็นทางออกได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกคนในสังคม ร่วมกันผลักดันการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ด้วยการค้นหาความจริงทุกแง่ทุกมุม เร่งเยียวยาผู้สูญเสียอย่างเร่งด่วนไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง พร้อมๆ กับการเปิดพื้นที่สานเสวนาทุกพื้นที่ และบ่มเพาะสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนในทุกระดับ และมุ่งเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อย่างจริงจัง

บทนำ บทความความรุนแรงและทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมือง : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับสังคมไทย ? ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากการรับรู้ปรากฎการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2549-2553 จนกระทั่งนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน ยังไม่นับรวมผู้สูญหายที่ยังไม่ปรากฏ รวมถึงความสูญเสียทางซากปรักหักพังทางวัตถุ อาคาร สถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียทางจิตวิญญาณในการเคารพความเป็นเพื่อนมนุษย์ระหว่างกัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาเยียวยากันอีกนานในสังคมไทย แต่ก็เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับสังคมไทยที่ประชาชนคนไทยต้องร่วมกันฟันฝ่าเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายร่วมกันให้ได้ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการเขียนเพื่อ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 3 ลักษณะ เชื่อมโยงกับบริบทสังคมที่ตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว 2) การใช้สันติวิธีของพลังทางสังคมและรัฐในสองความหมายคือ การเรียกร้องและจัดการความขัดแย้ง ของกลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย และการเจรจา 2 ครั้ง ณ สถาบันพระปกเกล้า 3) ทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมือง : ข้อพึงพิจารณาสำหรับสังคมไทย

1)สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดสังคมแห่งความหวาดกลัวและหวาดระแวง เราไม่สามารถพูดคุยเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองกับคนแปลกหน้าแม้กระทั่งในบรรดาญาติของเราเอง เมื่อเราขึ้นรถแท๊กซี่คนขับจะถามเราว่า เราสีอะไร ?หรือเราอาจจะถามแท๊กซี่ว่าสีอะไร ? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นไปในทิศทางใดคือ พันธมิตร หรือ นปช. หรือไม่สังกัดฝ่ายใด ล้วนแต่ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงว่าจะโดนทำร้าย อาการของโรคนี้เราล้อกันเล่น ๆ แต่ก็ตรงใจเรา เรียกว่า “โรคไข้เลือดออก” กับ “โรคดีซ่าน” ในหลายชุมชนมีกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างทางการเมืองกันอย่างชัดเจน มีทั้งนิยมชมชอบกลุ่มพันธมิตรและกลุ่มปนช. เกิดการแบ่งขั้วแยกข้างกันอย่างชัดเจน เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มมีการใช้อาวุธต่าง ๆ รวมถึงอาวุธปืนทำร้ายร่างกายกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ที่น่าเศร้าใจคือความรุนแรงในระดับครอบครัว เช่น ที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ่อชื่นชอบพันธมิตร ขณะที่ลูกชายชื่นชอบ นปช. พ่อห้ามไม่ให้ลูกชายมาชุมนุมกับ นปช.ที่กรุงเทพฯ แต่ลูกชายไม่ฟัง เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง สุดท้ายพ่อใช้ปืนลูกซองยิงลูกชายเสียชีวิต เหตุการณ์เช่นนี้แพร่กระจายไปทั่วทุกชุมชนและครอบครัวในสังคมไทย ในหลายครอบครัวในบ้านหลังเดียวกันมีทั้งมือตบ กับตีนตบ แย่งกันดูทีวีช่อง ASTV กับ D station มีผ้าโพกหัวข้อความว่า ทักษิณออกไป กับทักษิณ สู้ สู้ แต่มีพื้นที่เหลือน้อยลง ๆ ให้กับคนที่ไม่นิยมชมชอบ หรือรู้สึกเฉย ๆ กับทั้งพันธมิตรและนปช. เพราะสังคมต้องการให้เรายืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน ความรุนแรง 3 ชั้น ในสังคมไทย ความรุนแรงทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมไทยเกิดรอยแยก และฉีกกระชากผู้คนในสังคมออกเป็นหลายกลุ่ม แม้ว่าจะเกิดการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์จนนำไปสู่การยุติการชุมนุมของกลุ่มนปช. แต่คำถามคือสังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติหรือแล้วหรือไม่ คำตอบคงจะอธิบายได้ด้วยคำกล่าวที่ว่า “สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” คำถามคือทำไมปัญหาความรุนแรงทางการเมืองจึงจะคงดำรงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป จะขออธิบายปรากฎการณ์ด้วยความรุนแรง 3 ชั้น คือความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงทางวัฒนธรรม ชั้นที่ 1 ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงทางตรง เป็นความรุนแรงที่เราสามารถมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนต่อชีวิตและร่างกาย โดยมีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำอาจเป็นคนหรือกลุ่มบุคคล ผู้ถูกกระทำก็อาจเป็นได้ทั้งบุคคลและกลุ่มบุคคล ผลที่เกิดขึ้นคือเกิดบาดแผลทางกาย อาการบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ รวมถึงการเสียชีวิต โดยที่เราสามารถเห็นบาดแผลได้ชัดเจน หรือนับจำนวนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ว่ามีจำนวนเท่าใด รวมถึงระบุลักษณะของอาวุธที่ใช้ได้ เช่น มีด ระเบิด อาวุธปืน M16 ปืนไรเฟิล เครื่องยิงลูกระเบิด M79 เป็นต้น ความรุนแรงทางตรงที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่เกิดการเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร ฯ เพื่อเรียกร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ลาออกด้วยเหตุผลของการขาดคุณธรรม จริยธรรมของผู้นำอย่างวิกฤต มาจนกระทั่งมาถึงการเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้สังคมเกิดความเป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีเหตุการณ์การเสียชีวิต บาดเจ็บ เพลิงไหม้อาคารทรัพย์สินเอกชนและหน่วยงานรัฐ เกิดขึ้นหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ฯ ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 737 ราย เสียชีวิต 8 รายโดยกลุ่มผู้ชุมนุม พันธมิตร ฯ เสียชีวิต 7 ราย และกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เสียชีวิต 1 ราย เช่น จากเหตุการณ์ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตรเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภาออกไปได้ จากเหตุการณ์กลุ่ม นปช.ยกกำลังเข้าประจันหน้าและปะทะกับกลุ่มพันธมิตรในช่วงที่พันธมิตรยึดทำเนียบรัฐบาล เหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรกับกลุ่ม นปช. ณ หมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ ถ.ทิพยเนตร อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในช่วงปี 2552-2553 มีเหตุการณ์สูญเสียชีวิตทั้งกลุ่มนปช.และข้าราชการ วันที่ 10 เมษายน 2553 บนถนนราชดำเนิน กลุ่มนปช.เสียชีวิต 25 ราย บาดเจ็บกว่า 800 ราย ทหารเสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 277 คน มีระดับผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพันรวมอยู่ การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 13- 19 พฤษภาคม อย่างน้อย 55 ราย การเสียชีวิต 6 รายที่วัดปทุมวนาราม เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น พลทหารณรงฤทธิ์ สาละ การเสียชีวิตของเสธแดง พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกถูกลอบยิงขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในช่วงต่อมาหลังจากเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เกิดการวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดหลายแห่งในอีสาน การเผาธนาคารกรุงเทพ การวางเพลิงสถานีโทรทัศน์ การเผา Central World และอาคารอื่น ๆ ความรุนแรงทางตรง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่เราเห็นได้ชัดเจนดังได้กล่าวมา ถ้าเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็ง เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาให้เราเห็นได้ชัดเจน แต่เราจะยังมองไม่เห็นความรุนแรงด้านอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งการจะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าวอธิบายได้ด้วยความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม ชั้นที่ 2 ความรุนแรงทางโครงสร้าง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจนกลายเป็นโศกนาฎกรรมก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินและจิตใจ อาจจะสามารถอธิบายได้ด้วยความรุนแรงทางโครงสร้าง กล่าวคือเป็นความรุนแรงทางโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ผลิตและทำให้บุคคลในสังคมมีพฤติกรรมในการใช้ความรุนแรง โดยกลายบุคคลที่มีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ต่อมคุณธรรมและจริยธรรมบกพร่อง สังคมไทยผลิตบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตของสังคมไทย ทั้งจากการเลี้ยงดูจากครอบครัว การได้รับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรุนแรงทางโครงสร้างก็คือความไม่เป็นธรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ผลักดันให้กลายเป็นคนจนทั้งอำนาจ ความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม จนกระทั่งลุกขึ้นมาต่อต้านจนนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ยกตัวอย่างความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ อาทิ ช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่างคนจนกับคนรวย คนจนที่ไม่มีเงินจะซื้อข้าวกินกับคนรวยที่เลือกไม่ถูกว่าจะกินอะไรดี คนจนที่ไม่มีแม้แต่เงินที่จะขึ้นรถเมล์ ขณะที่คนรวยมีเครื่องบินส่วนตัวขับ หรือคนรวยที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้พร้อมด้วยดอกเบี้ยราคาถูก ในขณะที่คนขับรถแท๊กซี่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้เพราะขาดหลักประกันที่น่าเชื่อถือ ถ้าพิจารณาจากการกระจายรายได้ในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2505-2549 จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้สูงมากมาโดยตลอด โดยคนจำนวนร้อยละ 20 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งรายได้ไม่ถึง 5% ขณะที่ประชากรอีกร้อยละ 20 ของประเทศที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 50-60 % มาโดยตลอด คนจนที่ไม่มีสถานะทางสังคม เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงการเลือกปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น ตำรวจมักจะไม่เรียกจับรถเบ๊นซ์แต่เรียกจับรถแท๊กซี่หรือรถกะบะ และถ้าบังเอิญคนขับรถกะบะคันนั้นเป็นข้าราชการ ตำรวจก็จะปล่อยไปด้วยเหตุผลเป็นข้าราชการเหมือนกัน เราจะสังเกตได้ถึงความรู้สึกภาคภูมิใจของกลุ่ม นปช.ที่ได้ใส่เสื้อสีแดง ขับรถอยู่บนท้องถนนแล้วมีการกระทำผิด โดยตำรวจไม่ได้ดำเนินการจับกุม และความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ออกมารวมพลังวิจารณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นการปกครองโดยระบบอำมาตย์ ที่มีระบบข้าราชการเป็นใหญ่ ในอดีตปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้เคยกดทับอยู่ แต่ปัจจุบันได้เกิดการต่อต้านและแสดงออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วเราจะปล่อยให้ปัญหาโครงสร้างดำรงอยู่ต่อไปอย่างนี้หรือไม่ ? ชั้นที่ 3 ความรุนแรงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงทางวัฒนธรรมทำงานโดยให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยอมรับได้ สังคมเห็นดีงามไปด้วย เช่น ผัวเมียตีกัน สังคมบอกว่าอย่าไปยุ่งดีแล้ว แปลว่าสังคมให้ทำได้ หรือ การทรมานต่อคนที่พยามพยามแบ่งแยกดินแดนเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว มีคำกล่าวว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผู้คนจิตใจดีงาม สยามเมืองยิ้ม โอบอ้อมอารี มีเมตตา แต่ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเราจะอธิบายอย่างไร ? เรารู้สึกอย่างไรกับการเสียชีวิตประมาณ 100 ศพ ทั้งการสูญเสียของกลุ่มพันธมิตร กลุ่มนปช.รวมถึงข้าราชการ สื่อมวลชนและอีกหลาย ๆ คน  ? ถ้าเราตอบว่าเฉย ๆ ไม่รู้สึกอะไร ยังน้อยไป ไอ้ฝั่งนั้นมันน่าจะตายมากกว่านี้ หรือสังคมบอกว่ามันสมควรตายแล้ว และแกนนำที่ชื่อไอ้นั่น... มันควรตายเรื่องจะได้จบ แสดงว่าวัฒนธรรมความรุนแรงกำลังบ่มเพาะและฝังตัวแน่นในสังคมไทย และอันตรายมากที่คนรู้สึกเกลียดชัง และรู้สึกเฉยๆ กับการตาย เกิดการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยเหตุแห่งสี แบ่งเป็นพวกเรา พวกเขา พวกมัน เห็นคนเทียบเท่ากับสัตว์ที่เราขยะแขยง เกลียดกลัว เช่น งู ตุ๊กแก แมลงสาป ฯลฯ ซึ่งตายไปเราก็ไม่ได้เสียดายหรือรู้สึกเสียใจแต่อย่างใด ตัวอย่างของความรุนแรงทางความคิด ความเห็นเหล่านี้ ปรากฏตามสื่อออนไลน์หลังจากภาพเพลิงที่เผาไหม้ถูกเผยแพร่ไปไม่นาน “คนเผา มึงต้องตาย สถานเดียว...” “...คงคุยกันไม่ได้อีกแล้วละครับ ต้องจับตายอย่างเดียว เอาไว้ไม่ได้หรอกครับ แฟนเก่าเราที่ทำงานเอสเอฟเวิลด์ ซีนีม่าเซ็นทรัลเวิลด์ มันร้องไห้ใหญ่เลยอะนะ มันคงต้องไปหางานใหม่ ไม่ก็ต้องหาสาขาอื่นอะ....” นอกจากนี้ คำพูดของแกนนำบางคนก็มีส่วนในการกระตุ้นความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้น “ผมจะเอาเลือดหัวของนายอภิสิทธิ์และอำมาตย์มาล้างเท้าให้ได้” สังคมไทยอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบที่ฮิตเลอร์ใช้ในการกวาดล้างชาวยิวด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ว่าเผ่าพันธุ์อารยันเป็นเผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์ ที่ชาวยิวเสียชีวิตไปถึง 6 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระวันดาระหว่างเผ่าฮูตูกับตุ๊ดซี่ที่ตายไปนับล้านคนไหม ? ทั้ง ๆ ที่เดิมนั้นมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน (Species) มีชีวิต มีจิตใจเหมือนกัน แต่มนุษย์ได้อาศัยการแยกประเภทเทียม ในการแบ่งแยกตัวเองออกเป็นชาติ เผ่า วรรณะ ชนชั้น ศาสนา อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน และคิดว่ากลุ่มอื่นหรือบางกลุ่มที่มีความแตกต่างจากตนไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ต่ำกว่ามนุษย์ ความเกลียดชังกำลังก่อตัวและรอเวลาให้เป็นโรคติดต่อแพร่ระบาดไปทั่วทุกแห่งหน ถ้อยคำแห่งความรุนแรงเช่น การฆ่าคนตายตรงราชประสงค์ คนถ่อยเผาเมือง การต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย การไล่ล่าหมายหัว การกล่าวอ้างว่ามีคนพยายามล้มล้างสถาบันโดยเปรียบเทียบกับคอมมิวนิสต์ การเรียกตัวเองว่าไพร่ต้องล้มล้างอำมาตย์ ถ้อยคำดังกล่าวอาจเป็นการตอกย้ำและแบ่งแยกความเป็นพวกเรา พวกเขา ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีอาจเป็นข้ออ้างที่ร้องรับ (Justification) ให้มนุษย์เห็นว่าความรุนแรงสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างตนกับผู้อื่นได้ โดยมีข้ออ้างที่รองรับ โดยใช้ประเด็นชนชั้นที่ต้องล้มล้างผู้ปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม หรือข้ออ้างในประเด็นชาตินิยมที่ต้องปกป้องสถาบันให้ดำรงคงอยู่ บาดแผลที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นบาดแผลที่ลึก ต้องใช้เวลานานกว่าแผลจะแห้ง และแม้ว่าแผลนั้นจะแห้งไปแล้ว ก็ยังคงเกิดรอยขึ้นให้เราได้จดจำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นการจดจำเพื่อจะได้ร่วมกันก้าวข้าวสังคมแห่งความรุนแรงและเกลียดชัง ไปสู่สังคมสันติวัฒนธรรมที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าจะไม่ได้รักกัน แต่ก็ไม่ถึงขั้นเข่นฆ่ากันให้หมดไปจากสังคม การใช้สันติวิธีของพลังทางสังคมและรัฐกับการจัดการความขัดแย้งในปัจจุบัน ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง แม้กระทั่งระหว่างและภายหลังการเกิดเหตุโศกนาฎกรรมในสังคมไทย มีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและมีสติในการจัดการปัญหา สันติวิธีดังกล่าวหมายถึงอะไร อาจจะพอตอบได้จากนิยามสันติวิธีที่ ดร.มารค ตามไท มักกล่าวถึงเสมอว่า สันติวิธีมี 2 ความหมายคือ 1) การเรียกร้องอย่างสันติเพื่อให้บรรลุในเป้าหมายของตนเอง เช่น การชุมนุม การเดินขบวน เป็นต้น 2) การจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเจรจา ไกล่เกลี่ย การสานเสวนา เป็นต้น สันติวิธีแบบแรก การเรียกร้องอย่างสันติซึ่งความหมายที่สังคมน่าจะเห็นพ้องต้องกันมากที่สุดคือการเรียกร้องโดยไม่ใช้ความรุนแรง การชุมนุมเรียกร้องจะยังคงอยู่กับเราไปอีกยาวนาน แต่ชุมนุมเรียกร้องแบบไหนที่ควรจะเป็น การชุมนุมเรียกร้องเพื่อกดดันเรียกร้องแบบธรรมดามีความแตกต่างกับการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน การดื้อแพ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายเพราะรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม ควรมีขอบเขตแค่ไหนและการยอมรับผลในการกระทำควรมีมากน้อยเพียงใด ? การชุมนุมแบบยึดทำเนียบรัฐบาล ? ชุมนุมแบบปิดสนามบิน ? การสกัดกั้นการประชุมอาเซียนซัมมิทและพยายามเข้าไปค้นหานายกรัฐมนตรีที่พัทยา  ? ชุมนุมแบบปิดแยกราชประสงค์เอาไหม ? ทั้งกลุ่มพันธมิตร ฯ และกลุ่ม นปช.ต่างก็เน้นย้ำและบอกกับสังคมว่าใช้สันติวิธี อหิงสา ทั้งการชุมนุมของพันธมิตรและนปช.เองมีจุดเน้นในการเรียกร้องที่หลากหลาย ถ้าเราเปรียบเป็นขบวนรถไฟเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละขบวนมีกลุ่มที่ขึ้นรถไฟที่แตกต่างหลากหลาย และมีปลายทางที่จะลงทั้งเหมือนและแตกต่างกัน แต่อาจสรุปหัวใจ หรือสาระสำคัญของการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายได้ว่า กลุ่มพันธมิตรชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดคุณธรรม จริยธรรมขึ้นในสังคม กล่าวคือผู้นำต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน ไม่บริหารประเทศเหมือนบริหารบริษัทเอกชน ไม่เล่นพวกพ้อง โดยการเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออก และต่อมาก็เป็นเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มนปช.เองก็มีการเรียกร้องที่หลากหลาย แต่อาจจะสรุปได้ว่าหัวใจสำคัญคือการเรียกร้องความเป็นธรรมและประชาธิปไตย ต้องการให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ต้องการความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ต้องการให้สังคมปราศจากชนชั้น สำหรับจุดเน้นในการนำเสนอสันติวิธีของทั้งสองกลุ่มนั้นจะพิจารณาประเด็นหลักไปที่ลักษณะของการใช้สันติวิธีของทั้งสองกลุ่ม สันติวิธีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นมาในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 โดยมีแกนนำคือนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา พลตรีจำลอง ศรีเมือง โดยเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองรอบ 2 โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับผลประโยชน์ของประเทศ การทำลายกลไกการตรวจสอบภาครัฐ สำหรับแนวทางในการเคลื่อนไหวมี 2 แนวทางคือ แนวทางกฎหมาย โดยใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ การเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง แนวทางการเคลื่อนไหวมวลชน ด้วยการจัดปราศรัย อภิปราย ทำสื่อสิ่งพิมพ์ แผ่นพับ สติ๊กเกอร์ กลุ่มพันธมิตรกำหนดแนวทางในการกดดันนายกรัฐมนตรีด้วยการนัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 จนกระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภาก่อนที่จะมีการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประเด็นในการเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรนั้นมีความชัดเจนว่าให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลคุณธรรม จริยธรรมที่ต้องมีของนักการเมือง ถ้ากล่าวให้ไปไกลกว่าตัวบุคคลก็คือ ไม่ว่านักการเมืองจะเป็นใครก็ตาม จะต้องบริหารประเทศด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ไม่ควรจะเข้ามาหาผลประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้อง ไม่คอร์รัปชั่น และต้องเปิดให้มีช่องทางในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างจริงจัง การเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรภายใต้ข้อความที่ว่า สงบ สันติ อหิงสา ผ่านทางสื่อหลักคือ ASTV และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภายหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยในขณะนั้นไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมทั้งกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ลักษณะของการใช้สันติวิธีในช่วงนั้นกลุ่มพันธมิตร ฯ ได้เรียกร้องกดดัน จัดเวที รณรงค์ เข้าชื่อเพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุติบทบาทการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งกำหนดวันชุมนุมใหญ่อีกครั้ง แต่กลุ่มพันธมิตร ฯ ก็ได้ยุติบทบาทในช่วงแรกลงหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 พรรคพลังประชาชนในขณะนั้นได้รับการเลือกตั้ง 233 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และบริหารประเทศได้ระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรประชาชน ฯ ได้กลับมาดำเนินกิจกรรมอีกครั้ง โดยได้จัดการชุมนุมประท้วงกว่าสามเดือนบนถนนราชดำเนิน ฯ โดยยึดพื้นที่ถนนราชดำเนินนอก หน้าบริเวณสำนักงานสหประชาชาติ จนถึงแยก จปร. ตั้งเวทีปราศรัยเพื่อถอดถอน ส.ส.และส.ว. ที่เสนอญัติติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายไปกดดันหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้เร่งดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฯ ในทุกคดีโดยไม่เลือกปฏิบัติ สำหรับเหตุผลในการดาวกระจายเพื่อให้ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนไหวบ้างไม่ให้รู้สึกว่านิ่งเกินไป หลังจากชุมนุมบนถนนราชดำเนินนาน 102 วัน กลุ่มพันธมิตร ฯ ตัดสินใจยึดทำเนียบรัฐบาลและประกาศปักหลักจนกว่ารัฐบาลจะลาออก โดยใช้ชื่อการเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ว่ายุทธการสงคราม 9 ทัพ เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุม 9 เส้นทางรอบทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งยึดทำเนียบรัฐบาลได้ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551 การเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลนั้นกลุ่มพันธมิตรได้ร่วมกับเครือข่าย พนักงานเดินรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสหภาพท่าเรือ สหภาพการบินไทย สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหภาพการประปาและสหภาพขสมก. นัดหยุดงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตร ฯ จังหวัดภูเก็ต สงขลา และกระบี่ร่วมกันปิดสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่และกระบี่ รวมถึงปิดการเดินทางโดยรถไฟสายใต้ ภายหลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อปิดทางสมาชิกรัฐสภาเข้าฟังนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตายิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดทางให้ สส.สว.เข้าไปประชุมในรัฐสภา การเคลื่อนไหวที่ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายหรือสงครามครั้งสุดท้ายของพันธมิตร คือการยกระดับจากการยึดทำเนียบมาเป็นการยึดสนามบิน กลุ่มพันธมิตรยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ในที่สุดการชุมนุมของพันธมิตรก็ได้ยุติลง ไม่ใช่เพราะเกิดจากการชุมนุม แต่เกิดจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล และตัดสิทธิทางการเมือง นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธินั้นมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมอยู่ด้วย ทำให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมาสนธิ ลิ้มทองกุล แถลงข่าวและประกาศยุติการยึดสนามบิน ซึ่งใช้เวลาการชุมนุมต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยถึง 193 วัน ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรจะสังเกตเห็นได้ว่า กลุ่มพันธมิตร ฯ ต้องมีความระมัดระวังอาวุธโดยเฉพาะเครื่องยิงลูกระเบิด M 79 ซึ่งยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สนามหลวง สถานีรถไฟฟ้าสีลม ทำเนียบรัฐบาล สะพานมัฆวาน แยกสวนมิสกวัน สำนักงานASTV สนามบินดอนเมืองอีกหลายครั้ง โดยกลุ่มพันธมิตร ฯ จะมีการ์ดคอยดูแล คือนักรบศรีวิชัย ทีมรักษาความปลอดภัยของกลุ่มพันธมิตร แม้กระทั่งภายหลังการชุมนุมยุติแล้วยังมีการยิงถล่มแกนนำพันธมิตรคือนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้นายสนธิ และคนขับรถได้รับบาดเจ็บ

คำถามใหญ่ที่สังคมตั้งคำถามอย่างจริงจังหนักแน่นคือการยึดทำเนียบรัฐบาลกับการยึดสนามบินเป็นการใช้สันติวิธีหรือไม่ ? และเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ถ้าเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  คำตอบที่คงพอจะตอบได้ก็คือเป็นสันติวิธีที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ แต่ถ้าจะอธิบายไปมากกว่านี้ในระดับที่ลึกไปกว่าทางกายภาพคงเป็นเรื่องที่สังคมไทยคงต้องมาหาคำตอบร่วมกันถึงสันติวิธีที่ควรจะเป็น
สันติวิธีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 

กลุ่ม นปช.ก่อตัวขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความรักและศรัทธาในแนวทางการบริหารงานประเทศที่ผ่านมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฯ ที่สามารถยึดครองหัวใจคนไทยได้เป็นจำนวนมากสังเกตได้จากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ๆมา โดยได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ถ้าจะมองให้มากไปกว่าการยึดติดตัวบุคคล กลุ่ม นปช. ก่อตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ในหลัก 6 ประการ เช่น เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยกเลิกรัฐธรรมปีพ.ศ. 2550 นำรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 มาใช้ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ฯลฯ ลักษณะการใช้สันติวิธีของกลุ่ม ปนช. มีหลายลักษณะในการเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กลุ่ม นปช.ได้ประท้วงหน้ารัฐสภาปิดกั้นไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทน เดินทางออกจากรัฐสภาได้ในวันที่มีการเลือกนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ต่อมาเป็นการยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งรัดดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรที่ยึดทำเนียบ รัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และการยึดสนามบิน รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยเหตุผลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความเป็นประชาธิปไตย มิได้มาจากการรัฐประหาร แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.นั้นจะกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามต่างจังหวัดเพื่อหาแนวร่วม โดยมีไฮไลต์คือการโฟนอินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีสัญลักษณ์เสื้อสีแดงและตีนตบเป็นสัญลักษณ์ มีการเรียกตัวเองว่าไพร่เพื่อต่อสู้กับอำมาตย์ เรียกว่าเป็นแดงทั้งแผ่นดินสัญจรไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยมีสื่อหลายสื่อ เช่น D station Voice of Thaksin สื่อวิทยุชุมชน เป็นต้น ช่วงที่เคลื่อนไหวเข้มข้นคือในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 จัดชุมนุมแดงทั้งแผ่นดินสัญจรที่สนามหลวงและเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้ประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่ม นปช.เชื่อว่าประธานองคมนตรีอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารที่ผ่านมา และได้เคลื่อนขบวนไปที่บ้านสี่เสาเทเวศ บ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยรถขบวนนำโดย นพ.เหวง และนพ.สันต์ ฯ ใช้คำว่า “ขบวนสันติวิธี” และเมื่อถึงบ้านสี่เสาแล้วก็เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและแกนนำบางคนถูกตำรวจจับกุมตัวไป นอกจากนี้มีการชุมนุมเพื่อขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วง 7-10 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา กลุ่มนปช. ปิดล้อมทางเข้า-ออกโรงแรม และบุกเข้าไปในโรงแรมเพื่อให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้การประชุมอาเซียนต้องยกเลิกไป รวมถึงมีการติดตาม เขวี้ยงสิ่งของใส่ขบวนรถของนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนเมษายนกลุ่ม นปช.ได้เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น ณ กรุงเทพมหานคร ใช้วิธีดาวกระจายไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญ กองบัญชาการทหารบก กระทรวงการต่างประเทศ อนุสาวรีย์ และให้กลุ่มแนวร่วมแท็กซี่ปิดถนนต่าง ๆ เช่น จุดตัดพระโขนง เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า จนกระทั่งในช่วงที่ทหารจะเข้ามาสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ผู้ชุมนุมเผายางรถยนต์ ยึดรถประจำทางพุ่งเข้าชนเจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงยึดรถแก๊สมาจอดที่ถนนดินแดง แต่ในที่สุดแกนนำนปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมและแกนนำได้เข้ามอบตัวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกลับมาชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2553 โดยเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม ปี 2553 กลุ่มนปช.เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ฯ ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยกล่าวว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยตั้งจุดชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน จากนั้น ใช้วิธีดาวกระจาย ตระเวนทั่วกรุงเทพ ฯ ไปที่สำนักงานคระกรรมการการเลือกตั้ง ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เอ็นบีที กดดันรัฐบาลที่ราบ 11 มีการเจาะเลือด เพื่อนำไปเทยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น เทหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าบ้านนายอภิสิทธิ์ ฯ บ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้นำทำพิธีเทเลือด การชุมนุมบางครั้งใช้ขบวนดาวฤกษ์คือไปด้วยกันไม่แยกจากกันโดยมีกองทัพมอเตอร์ไซด์นำและขบวนคนของนปช. รวมถึงมีการโกนผมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและทำพิธีสาปแช่งนายกรัฐมนตรี และมีการแห่ศพผู้เสียชีวิตจาการสลายการชุมนุมเดินจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ขบวนประกอบด้วยรถยนต์บรรทุกโลงศพเพื่อมาตั้งเวทีที่แยกราชประสงค์ ในย่านใจกลางธุรกิจกลางเมือง รวมถึงปักหลักที่สถานีไทยคม ทั้งนนทบุรีและปทุมธานี เรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณพีทีวี ของกลุ่ม นปช. การตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬา ฯ โดยอ้างว่ามีการซ่อมสุมกำลังทหารอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ กลุ่ม นปช.มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น จังหวัดขอนแก่น ได้รับการขนานนามว่าขอนแก่นโมเดล ตั้งด่านสกัดตำรวจ ทหาร และตรวจค้นรถที่ต้องสงสัย รวมถึงในอีสานจังหวัดต่าง ๆ เช่น อุดรธานี ได้สกัดหน่วยทหารและยุทธโธปกรณ์ จนกระทั่งภายหลังจากการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ กลุ่มนปช.ได้บุกยึดศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ เช่น ขอนแก่น อุดร ฯ มุกดาหาร อุบลราชธานี เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มนปช.ได้จัดกิจกรรม “เราเห็นคนตาย” กิจกรรมผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์ โดยนัดคนใน Facebook ไปผูกผ้าแดงไว้อาลัยกับผู้สูญเสียชีวิต เป็นต้น การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการ์ดจำนวนหนึ่งคอยป้องกัน และตอบโต้การใช้ความรุนแรง ลักษณะของการปราศรัยหลายครั้งบอกว่าชุมนุมอย่างสันติ โดยจะไม่รุกรานใครก่อนแต่ถ้าตีมาจะตีโต้กลับทุกครั้ง ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล มีความเห็นว่าแตกต่างกับสันติวิธีของมหาตมะคานธี แต่เป็นเป็นสันติวิธีแบบนักเลงลูกทุ่ง คือรักพวกพ้อง ไม่ทำร้ายใครก่อนและพร้อมจะตอบโต้เมื่อมีคนทำร้ายก่อน… จากที่กล่าวมาทำให้เราเข้าใจถึงลักษณะการใช้สันติวิธีในการเรียกร้องของทั้งกลุ่มพันธมิตร ฯ และกลุ่ม นปช. เพื่อให้บรรลุในเป้าหมายของตน การชุมนุมในลักษณะใดจะถือว่าเกินขอบเขต สังคมรับได้มากน้อยเพียงใด เป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ต้องผ่านการถกเถียง พูดคุยกันเพื่อให้ได้ผลึกทางความคิดร่วมกันถึงลักษณะและแนวทางการใช้สันติวิธีในสังคมไทยร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีทั้งความเหมือนและความต่างกับ สันติวิธีแบบมหาตมะคานธีที่ปฏิเสธการสร้างความเกลียดชัง และผู้กระทำการดื้อแพ่งนั้นต้องยอมรับความเจ็บปวดและผลที่เกิดขึ้น สันติวิธีในด้านการจัดการความขัดแย้ง  : บางส่วนของพลังสันติวิธีในสังคมไทย นอกจากสันติวิธีในด้านการเรียกร้อง ชุมนุมกดดันเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มตนเองแล้ว สันติวิธีแบบที่สอง คือการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเจรจา การไกล่เกลี่ย การสานเสวนา มีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในการเข้าไปจัดการวิกฤตการณ์ของปัญหาสังคมไทย โดยมีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเดียวกันคือ อยากเห็นสังคมไทยสงบสุข ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดขึ้นในสังคมไทย โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การพูดคุย เจรจา การรณรงค์ทางด้านความคิด พลังทางสังคมและพลังเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยความปรารถนาดีอยากเห็นสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ แต่ด้วยข้อจำกัดของผู้เขียนเองจะขอนำเสนอภาพบางส่วนของสันติวิธีในสังคมไทย คือเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย การเจรจา 2 ครั้ง ณ สภาพัฒนาการเมืองและสถาบันพระปกเกล้า -เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม

ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม อาทิ ผู้แทนจากสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และองค์กรเครือข่าย ได้จัดตั้งเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรมในช่วงปี 2551 ภายใต้บริบทสถานการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอย่างเข้มข้นและมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรมตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์คือ 1)รณรงค์เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันยุติการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ 2)หันหน้ามาคุยกันด้วยการสานเสวนา เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศ และสร้างพื้นที่ให้พลังเงียบและสื่อมวลชนได้ออกมามีส่วนร่วมในการรณรงค์ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม ได้จัดเวทีสานเสวนาครั้งใหญ่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551 ณ หอประชุมใหญ่ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีสัมพันธ์ ถนนพระราม 6 มีผู้ร่วมสานเสวนาประมาณ 1,000 กว่าคน มีการแจกเสื้อ สติ๊กเกอร์ และจัดทำบทความเพื่อเผยแพร่แนวคิดการเสริมสร้างความสมานฉันท์ กิจกรรมของเครือข่ายสานเสวนา ฯ เช่น การเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบเสื้อขาวสัญลักษณ์ของสันติและการยุติความรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่าให้การสนับสนุนแนวทางของเครือข่ายนี้ เพราะเป็นวิธีการหาทางออก ลดความขัดแย้งในบ้านเมือง โดยหันหน้ามาพูดคุยกัน เข้าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าพบผู้นำฝ่ายค้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าพบประธานวุฒิสภา รวมถึงการออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ชุมนุมอย่างสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ นับเป็นการรณรงค์เพื่อกดดันสังคมให้ใช้พลังทางสันติ

ในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิโดยพันธมิตร เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรมพยายามเรียกร้องไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น โดยเรียกร้องให้มีการเจรจากันของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยพร้อมจะเป็นตัวกลางให้ แต่ในที่สุดพันธมิตรได้ยุติการชุมนุมออกจากสนามบิน แต่มิได้เป็นเพราะการกดดันด้วยการยึดสนามบิน แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมืองพรรคพลังประชาชนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีพ้นสภาพไป ภายหลังเหตุการณ์การยุบพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพไป เครือข่ายยังคงพยายามให้ข้อมูลและเชิญชวนกับสังคมว่าควรจะต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบ ร่วมกันรณรงค์มิให้สังคมเกิดความรุนแรงต่อไปในอนาคต เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย

เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยมีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นแกนนำทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพลังเครือข่ายอีกจำนวนมาก อาทิ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า สภาพัฒนาการเมือง ผู้แทนองค์กรธุรกิจ ฯลฯ ตั้งขึ้นมาในช่วงปีพ.ศ. 2552 ที่กลุ่ม นปช.มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น เครือข่ายดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากทั้งกลุ่มนปช. และสื่อ ASTV ว่ามีความเป็นกลางแท้จริงหรือไม่ และไม่ยอมพูดถึงสาเหตุที่แท้จริงของรากเหง้าปัญหา กิจกรรมของเครือข่าย เช่น เวทีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น แถลงการณ์ กิจกรรมประดับธงไว้ที่หน้าบ้าน แต่งบทเพลง ใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ ทำกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรง ขอความร่วมมือสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในการสนับสนุนแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง แถลงข่าวรณรงค์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเผยแพร่แนวทางไม่ใช้ความรุนแรง รวบรวมบทความเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้วยสันติและการไม่ใช้ความรุนแรง

ภายหลังจากเหตุการณ์การเข้าควบคุมผู้ชุมนุมนปช.ช่วงสงกรานต์ปีพ.ศ. 2552 เสร็จสิ้นลง เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย เชิญชวนทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีสโลแกนว่า “หยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง” เช่น ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาขอความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรม แขวนธงชาติหน้าบ้าน หน่วยงาน โดยถือธงชาติชุมนุมกันโดยสงบ โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่อยากสื่อไปให้ทราบทั่วกันคือ ประชาธิปไตยเห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ประชาธิปไตยต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น สร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมไทย ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และไม่เลือกปฏิบัติ สร้างความเป็นพลเมืองไทยที่มีสำนึกประชาธิปไตย

กิจกรรมแสดงพลังของเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยครั้งใหญ่ จัดในวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพ ฯ เครือข่ายได้ เดินรณรงค์หน้าสวนลุมพินี ยุติการแบ่งฝ่าย แบ่งสีเสื้อ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่ในต่างจังหวัดก็ได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์กันอย่างแพร่หลาย

บทบาทของเครือข่ายมีเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่กลุ่ม นปช. กำหนดให้มีการชุมนุมในกรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคมพ.ศ. 2553 ได้มีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง โดยเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม โดยเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง “ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การนำธงชาติ ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน หรือใช้ สีขาว ใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ “การไม่เอาความรุนแรง” ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ การเจรจา 2 ครั้ง ณ ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่าง ๆ และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมพยายามที่จะเรียกร้องให้มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย แสงสว่างแห่งความหวังได้บังเกิดขึ้น โดยเกิดการเจรจากันระหว่างรัฐบาลกับนปช.2 ครั้ง ในวันที่ ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2553 ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า โดยที่เป็นการเจรจากันเองฝ่ายละ 3 คน ฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายนปช.ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ การเจรจาครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันเองโดยตรง ไม่มีคนกลางในการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและกำกับกระบวนการ เนื่องจากคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้ใครเป็นคนกลาง โดยสถาบันพระปกเกล้าทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการบันทึกเนื้อหาการเจรจา การใช้อาคารสถานที่ และการบริหารจัดการ การเจรจา 2 ครั้งที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเริ่มต้นสร้างทางออกให้กับสังคม เนื่องจากการที่จะนำคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันสูงมาขึ้นสู่โต๊ะเจรจานั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก จึงทำให้เราเห็นการเจรจาในครั้งนี้เต็มไปด้วยข้อมูล อารมณ์ ความรู้สึกที่แสดงออกมาเพื่อปกป้องจุดยืนของตนเอง แม้ว่าการเจรจาจะยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีประเด็นที่เห็นแตกต่างกันอีกมาก แต่ก็มีประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่า การพูดคุยกันขอให้พูดในเรื่องอนาคต ไม่ควรพูดถึงอดีตมาก ต้องการให้เกิดสันติสุขในประเทศเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้ อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้ชนะยุติความแตกแยกในสังคม ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เห็นด้วยกับการใช้สันติวิธีในการเจรจาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องมีการแก้ไข

สำหรับประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันมากคือประเด็นระยะเวลาในการยุบสภา กลุ่มนปช.ขอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ขณะที่รัฐบาลเห็นว่าควรยุบสภาภายใน 9 เดือน เพื่อผ่านการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน การทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดหรือไม่ รวมถึงต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้มีความสงบและลดความตึงเครียดทางการเมืองลง โดยนักการเมืองทุกพรรคสามารถลงพื้นที่หาเสียงได้โดยไม่เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้น

การเจรจาใน 2 ครั้งที่ผ่านมาจบลงด้วยการเลื่อนการเจรจาออกไปก่อน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่เห็นพ้องต้องกันในกำหนดระยะเวลาในการยุบสภา ข้อสังเกตที่ได้จากการเจรจาในครั้งนี้เป็นการโต้เถียงไม่ได้เน้นการสานเสวนา เช่น มีกล่าวหาว่ามีการใช้ความรุนแรงในการทำร้ายประชาชน หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและนิรโทษกรรม การโต้เถียงกันที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อปกป้องจุดยืนของตนเองเพื่อสื่อสารกับประชาชนฝ่ายของตนที่ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ วิทยุต่าง ๆ ซึ่งเป็นการตอกย้ำและยึดมั่นในจุดยืนเดิมของฝ่ายต่าง ๆ ให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น เข้าลักษณะที่ว่า “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” คือรู้ว่าอีกฝ่ายพูดอะไร แต่ไม่เข้าอกเข้าใจถึงปัญหาร่วมกันและยังไปไม่ถึงการแสวงหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าคนที่ขัดแย้งกันอย่างเข้มข้นและแหลมคม เมื่อมาขึ้นสู่โต๊ะเจรจาย่อมจะต้องปกป้องจุดยืนของตนเอง

การจัดการความขัดแย้งด้วยแนวทางการพูดคุยหรือการรณรงค์เพื่อให้เกิดสันติสุขนั้นมิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้คนไม่อยากใช้หรือไม่พร้อมในการใช้แนวทางสันติ ผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้ย่อมถูกท้าทาย และตอบโต้จากฝ่ายต่าง ๆ แต่ก็ต้องอาศัยความอดทน ความเชื่อมั่น ยืนหยัดในอุดมการณ์สันติวิธีว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะนำพาสังคมไปสู่สันติวัฒนธรรมให้ได้ ที่สำคัญคือพลังของสังคมในการกดดันเรียกร้องให้สังคมมุ่งไปในทิศทางของสันติวิธี ทางออกกรณีความเห็นต่างทางการเมือง : ข้อพึงพิจารณาสำหรับสังคมไทย

ระบบการเมืองไทยถึงทางตันในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีแล้วหรือไม่ ? คำตอบมิได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่พลเมืองไทยในการร่วมจิตใจก้าวข้ามพ้นวังวนแห่งความรุนแรงให้ได้ กรณีความเห็นต่างทางการเมืองยังคงมีความรุนแรงที่รอเวลาปะทุและระเบิดอีกรอบ ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการกับความรุนแรงทางตรง โครงสร้างและวัฒนธรรมได้ เราอาจใช้อดีตเป็นบทเรียนมุ่งสู่อนาคตร่วมกัน ทำไมในอดีตเราจึงสามารถเอาชนะคนที่หนีเข้าป่าด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ ด้วยการออกคำสั่งนายกรัฐมตรีที่ 66/23 โดยให้ถือว่าความไม่เป็นธรรมเป็นเงื่อนไขของภัยคอมมิวนิสต์ จึงให้ปฏิบัติต่อคนที่เข้าป่าว่าเป็นผู้หลงผิด มิใช่ศัตรู ควบคู่กับการให้อภัย และทำให้คนกลับเข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคมได้

ก้าวแรกที่สำคัญในการจัดการปัญหาเราควรวิเคราะห์ปัญหาให้ถูกต้อง ถ้ายึดตามหลักอริยสัจ 4 อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือกลุ่มพันธมิตรอาจเน้นปัญหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของผู้นำ ส่วนกลุ่ม นปช. อาจมองเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และสังคม การเมือง เช่น ช่องว่างของรายได้ การเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เราควรค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้ได้ว่าต้องการอะไร เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

การสานเสวนาเป็นแนวทางหนึ่งที่เรานำมาใช้ป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น citizen dialogue หรือโสเหล่ สุมหัว เป็นการพูดคุยกันแบบเปิดใจ มีคนช่วยกำกับกระบวนการ มีกฎ กติกาในการพูดคุยกัน ไม่ชี้หน้าว่ากัน ไม่มองว่าใครเป็นคนผิด คนถูก ฟังกันอย่างตั้งใจ อาจจะเปิดพื้นที่พูดคุยทั่วประเทศทุกจังหวัด โดยเรามาหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันให้ได้ในอนาคตอย่างสันติ และร่วมกันค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการที่แท้จริง อาจตั้งโจทย์ว่า “สังคม การเมืองการปกครองที่พึงปรารถนาในอนาคต” รวมถึงอาจพูดคุยในประเด็นการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรจะกำหนดกติการ่วมกันจากสังคมและผู้มีอำนาจเพื่อให้นักการเมืองสามารถลงพื้นที่แข่งขันกันหาเสียงร่วมกันได้โดยปราศจากความรุนแรง

การสร้างสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น เราจะสร้างเมล็ดพันธ์สันติภาพหรือเมล็ดพันธุ์แห่งสงครามในใจคน ? เสื้อสีแดง สีเหลืองเราสามารถถอดหรือเปลี่ยนสีเสื้อได้ แต่ความเป็นมนุษย์คงอยู่กับเราตลอดไป เราอยากไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน จนกระทั่งเห็นฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนหรือไม่ ? ทะไลลามะ แห่งธิเบต รับสั่งว่า “สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็เมื่อเราแต่ละคนสร้างสันติภาวะภายในใจเราเองก่อน แม้นี่จะเป็นเรื่องที่ยากเย็นประการใดก็ตาม แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่สันติภาวะจะเกิดขึ้นได้ในโลก เรามีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/46 ลงนามในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เน้นให้ภาครัฐมีทัศนคติไม่มีความเกลียดชังต่อคนที่มีความคิดแตกต่าง ด้วยการจัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมแก่บุคลากรภาครัฐ ในอนาคตเราอาจจะขยายแนวคิดนี้ ไปสู่ทุกระดับของสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน และให้การศึกษาด้านสันติภาพในทุกระดับชั้นของการศึกษา โดยร่วมมือกับสื่อสารมวลชนร่วมกันนำเสนอข่าวสารที่มุ่งให้เกิดสันติวัฒนธรรม มิใช่ข่าวที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง นำไปสู่การแบ่งแยก แตกแยกจนกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงเกิดขึ้น

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายชาติไทยในการฝ่าฟันร่วมกันก้าวข้าม การปฏิรูปประเทศคงไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือคณะกรรมการชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น หลักสำคัญคือคนไทยทุกคนควรมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกินหรือที่ในการประกอบอาชีพที่เพียงพอ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า เมื่อเจ็บป่วยไข้ก็ได้รับการรักษาถ้วนหน้า และดำรงตนได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ผิวสี ฐานะ การศึกษา สถานะทางสังคม หรือแม้กระทั่งสีเสื้อที่สวมใส่

การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม สังคมไทยได้รับบทเรียนที่ปวดร้าวจากการสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา แล้วเราจะก้าวข้ามผ่านวิกฤตความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปได้อย่างไร ? การสูญเสียที่เกิดขึ้นควรมีการเยียวยาด้วยการเคารพในหลักการการเปิดเผยความจริง เพื่อเป็นการธำรงความยุติธรรมในสังคม เช่น มีผู้เสียชีวิตกี่คน เสียชีวิตด้วยเหตุอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นมาอย่างไร แต่ความเป็นจริงนั้นจะต้องเป็นความจริงทั้งหมด มิใช่เป็นความจริงเพียงแง่ใดแง่หนึ่งที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถึงที่สุดแล้วความจริงที่เราได้รับรู้ ก็จะทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตกันอีกครั้ง สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนคือ การตระหนักและเยียวยาครอบครัวของผู้สูญเสีย ในการใช้ชีวิตดำรงชีพอยู่ต่อไป เพราะสมาชิกในครอบครัวที่หายไปนั้นอาจะเป็นเสาหลักของครอบครัว หรือเป็นคนสำคัญในครอบครัว ซึ่งรัฐและสังคมควรให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จริงจัง พอเพียงในการดำรงชีวิตได้ต่อไป

จากข้อเสนอทางออกของความรุนแรงทางการเมืองข้างต้นที่กล่าวมานั้น ผู้เขียนยังเชื่อมั่นว่าสังคมไทยที่ยังหลงอยู่ในอุโมงค์ที่มืดดำและหนาวเย็น ยังคงมีทางออกโดยเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่มองเห็นทางออกได้ด้วยความร่วมมือจากพวกเราทุกคน ในการร่วมใจกันเร่งผลักดันการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ด้วยการค้นหาความจริงทุกแง่ทุกมุม เพื่อเดินไปสู่อนาคต ร่วมกัน เร่งเยียวยาผู้สูญเสียอย่างเร่งด่วนไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง พร้อม ๆ กับการเปิดพื้นที่สานเสวนาทุกพื้นที่ และบ่มเพาะสันติวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนในทุกระดับ และมุ่งเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อย่างจริงจัง ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า “ความสุขและรอยยิ้มจะคืนกลับมาสู่สังคมไทยอย่างอย่างยั่งยืน”


บรรณานุกรม

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.), เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ,2549.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ . อาวุธมีชีวิตแนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2546.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. สันติทฤษฎี/วิถีวัฒนธรรม .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง, 2539.

ชาตรี ประกิตนนทการ. Central World : นัยยะทางการเมืองต่อคนชั้นกลางกรุงเทพ ฯ. วารสารอ่าน ปีที่ 2 ฉบับที่ 4เมษายน-กันยายน (2553):102-116.

ธงชัย วินิจจะกูล. เชื้อร้ายเมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง . วารสารอ่าน ปีที่ 2 ฉบับที่ 4เมษายน-กันยายน (2553):186-193.

นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธีรุ่นที่ 4 สถาบันพระปกเกล้า,รายงานวิชาการเรื่อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จัดทำ ณ กรกฎาคม 2549.

นิพนธ์ แจ่มดวง . คันฉ่องส่องสิทธิมนุษยชนและความสมานฉันท์ของ ส.ศิวรักษ์ .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม ,2553.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.บทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง .เอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษ อิศรา อมันตกุล ประจำปี 2552.

เปิดภาพหลักฐานใหม่กรณีเผา “เซ็นทรัลเวิลด์” และคดี 6 ศพ วัดปทุม ฯ ข้อมูลจาก ตร.แตงโม”. มติชนสุดสัปดาห์ (10-16 ธันวาคม 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1582)

ลุค ไรเลอร์ และทาเนีย พาฟเฟนโฮล์ซ. คู่มือภาคสนามการสร้างสันติภาพ peace building แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร กรุงเทพมหานคร : ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์ จำกัด, 2548.

ฤกษ์ ศุภสิริ . ประวัติย่อการเมืองไทยในรอบทศวรรษ . กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊กส์, 2553.

วันชัย วัฒนศัพท์ .ความขัดแย้ง : หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา... นนทบุรี : ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท,2550.

วาสนา นาน่วม. ลับลวงเลือด .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2553.

สำนักระงับข้อพิพาท. ทำเนียบหน่วยงานด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก นนทบุรี : ศูนย์การพิมพ์เพชรรุ่ง, 2553.

สำนักกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ . การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . กรุงเทพมหานคร : ภาพพิมพ์ ,2553

สรุปประเด็นเจรจา 2 รอบ รัฐบาล vs นปช. จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า, มติชนรายวัน 2 เมษายน 2553 .