6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์(พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นวันที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญเกิดขึ้นซ้อนกันในวันเดียวกันแต่คนละเวลา เหตุการณ์แรกนั้นก็คือการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจัดการกับนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจัดการอย่างรุนแรงและโหดร้ายครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายที่ถูกปราบปรามเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน นับเป็นโศกนาฏกรรมของบ้านเมือง โดยที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้นไม่สามารถดูแลได้ เสมือนไร้อำนาจ พอถึงเวลาเย็นของวันเดียวกันนี้ คณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งก็คือคณะทหารได้เข้ายึดอำนาจซ้ำ ล้มรัฐบาล และล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประธิปไตยมากที่สุดในเวลานั้นไป เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่กล่าวได้ว่านิสิต นักศึกษา เป็นฝ่ายแพ้ และถูกตามล่าตัว ผู้นำนักศึกษาจำนวนมากจึงหลบออกจากบ้าน หนีจากเมืองไปเข้าป่า นับเป็นครั้งแรกที่ปัญญาชนจำนวนมากได้เข้าป่าไปร่วมงานกับพรรคคอมมูนิสต์อย่างจริงจัง

การยึดอำนาจของคณะทหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้นำมาซึ่งรัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ดำเนินนโยบายขวาจัดและทำการปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง โดยหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถสยบความขัดแย้งในสังคมไทยให้น้อยลง แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยกลับมากเสียจนในที่สุดรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ทางคณะทหารไปขอให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องถูกคณะทหารชุดเดิมยึดอำนาจซ้ำ และยกเลิกรัฐธรรมนูญของตน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520