13 กันยายน พ.ศ. 2477

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:34, 15 พฤศจิกายน 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ศ.นรนิต เศรษฐบุตร ---- '''ผู้ทรงคุณวุ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศ.นรนิต เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2477 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้สัตยาบันสัญญา ที่ทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ไปทำกับต่างประเทศ

เรื่องการให้สัตยาบันสัญญานี้ ตั้งแต่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นและรัฐบาลเอาสัญญาที่ทำกับต่างประเทศมาขอสัตยาบันจากสภาก็จะได้สัตยาบันไปแทบทุกครั้ง

มีอยู่ครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. 2477 ในสมัยของรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก คือ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 ว่า

“หนังสือสัญญาใด ๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยาม หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

ครั้งนั้นทางรัฐบาลของนายพันเอก พระยาพหลฯ ได้มาขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในข้อตกลงที่ทำกับต่างประเทศเกี่ยวกับโควตาค้ายาง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ยอมให้สัตยาบันสัญญา ดังที่ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ได้บันทึกเล่าเอาไว้ว่า

“วันจันทร์ที่ 10 กันยายน ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนี้ ผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่มีสวนยางได้ชี้แจงทางได้ทางเสียในข้อสัญญาตามที่ทางรัฐบาลได้ไปตกลงมา การพิจารณาได้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 กันยายน อีกวันหนึ่ง ที่ประชุมเห็นว่า ถ้าให้สัตยาบันสัญญานี้จะทำให้ราษฎรสยาม ที่มีอาชีพในการทำสวนยางถูกผูกมัดเสียเปรียบเป็นอันมาก จึงลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับสนธิสัญญาที่รัฐบาลทำไป ไม่อนุมัติตามที่รัฐบาลขอสัตยาบันมาด้วยคะแนน 73 ต่อ 25”

เมื่อเป็นเช่นนี้นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ จึงนำรัฐบาลาออกจากตำแหน่ง นับเป็นครั้งแรกและยังเป็นครั้งเดียวที่สภาไม่ได้ให้สัตยาบันสัญญา ที่น่าแปลกก็คือสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นมีสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งสภา แต่รัฐบาลกลับแพ้เสียงเป็นจำนวนมาก