สถาบันพระปกเกล้า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:31, 28 พฤษภาคม 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ---- '''ผู้ทรงคุณ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


สถาบันพระปกเกล้า

เป็นองค์กรอิสระทางวิชาการในกำกับของรัฐสภา มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 โดยมีฐานะเทียบเท่ากองอยู่ในสังกัดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า สถาปนาเป็นสถาบันอิสระ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นราชการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2541

สถาบันพระปกเกล้า มีคณะกรรมการกำกับดูแลที่ประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธาน ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธาน และผู้นำฝ่ายค้านเป็นกรรมการ กับกรรมการอื่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการสถาบัน รวมกันจำนวน 21 คน ส่วนงานในสถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สำนักวิจัยและพัฒนา สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สำนักงานเลขาธิการ และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านงบประมาณ สถาบันพระปกเกล้าได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากงบประมาณแผ่นดินบางส่วน ในด้านการฝึกอบรม สถาบันพระปกเกล้าได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมในหลายสาขาวิชาด้วยกัน ได้แก่ การเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ โดยเน้นที่แนวคิดประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ทั้งสำหรับบุคคลในวงการเมือง วงราชการ และภาคธุรกิจ ตลอดจน ประชาชนพลเมืองทั่วไป โดยมีเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ