เลือกตั้งใหม่

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:19, 28 พฤษภาคม 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์


เลือกตั้งใหม่ หมายถึง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในเขตเลือกตั้งใด ทำให้ กกต.ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ต่อมาผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ในทั้ง 2 กรณี กกต.จึงต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งใหม่ในปัจจุบันอาจแบ่งได้ 2ประเภท

(1) การเลือกตั้งใหม่ เนื่องจาก กกต. ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพราะเหตุว่าการเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดมิได้รับเลือกเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้รับการประกาศผลให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่เรียกว่าได้รับ “ใบเหลือง” และอาจจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปีด้วย หรือที่เรียกว่าได้รับ “ใบแดง” กกต.จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้จำนวนสมาชิกสภาฯ ครบถ้วนจึงเปิดประชุมสภาได้ โดย กกต. ไม่มีดุลพินิจเป็นอย่างอื่น และใช้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งแรกกลุ่มเดิมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่ เว้นแต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมที่ได้รับ “ใบแดง” ไม่อาจเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งใหม่ การเลือกตั้งใหม่ประเภทนี้ ไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยถือว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งแรกยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด

(2) การเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากสมาชิกภาพของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งสิ้นสุดลงไม่ว่าเพราะเหตุ ตาย ลาออก ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติ หรือ กกต. สืบสวนสอบสวนพบว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีมติเอกฉันท์สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่เรียกว่า “สอย” ทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “การเลือกตั้งซ่อม” การเลือกตั้งประเภทนี้ต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง โดยเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปภายในกำหนด 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่อายุสภานั้นเหลือไม่ถึง 180 วัน ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งใหม่จะอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าที่อายุของสภาที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ตามมาตรา 119 และมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540