พรรคแนวรัฐธรรมนูญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:43, 28 พฤษภาคม 2555 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


พรรคแนวรัฐธรรมนูญ

เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นยุคที่รัฐธรรมนูญรับรองให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง และไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้ต้องจดทะเบียนพรรค สมาชิกส่วนใหญเป็นอดีตผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ (แต่งตั้ง) ที่ไม่สะดวกใจจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคสหชีพ เนื่องจากมิได้เป็นสมาชิกเสรีไทยหรือกลุ่มนักการเมืองภาคอีสาน ที่มีนโยบายหนักไปในทางสังคมนิยม พรรคการเมืองในลักษณะดังกล่าวคือกลุ่มการเมืองในสภา มากกว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานการเมืองนอกสภาหรือพรรคในแนวมวลชน พรรคแนวรัฐธรรมนูญมี พล. ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรสายทหารเรือ เป็นหัวหน้า

พรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในสี่พรรคที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งรัฐบาลในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมาเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ พรรคแนวรัฐธรรมนูญได้เป็นแกนหลักในการจัดตังรัฐบาลร่วมกับพรรคสหชีพในภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน มหาอำนาจกดดันให้ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม ทหารบกจำนวนมากไม่พอใจที่ถูกปลดประจำการ และปัญหาไม่สารถคลี่คลายคดีในหลวงรัชกาลที่ ๘ สวรรคต รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแนวรัฐธรรมนูญถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า ผู้นำคนสำคัญของพรรคแนวรัฐธรรมนูญต้องหลบลี้หนีภัยการปราบปรามของฝ่ายรัฐประหาร และพรรคถูกทำลายไปกับการรัฐประหารดังกล่าว