ดาราปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:37, 6 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ผ้าปักดิ้นเงินและไหม

เส้นผ่าศูนย์กลาง 17.0 เซนติเมตร

ปักด้วยดิ้นเงินและไหมสีเป็นรัศมีแฉก 8 แฉก และรัศมีแทรกตามระหว่างอีก 8 แฉก กลางดาราเป็นพื้นสีชมพู มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.จ.จ. (ย่อมาจาก จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า) ขอบพื้นแพรสีขาบปักอักษร เราจะบำรุงตระกูลวงษ์ให้เจริญ


ประวัติความเป็นมา

เป็นดาราประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 1 ชนิดที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ใช้ประดับฉลองพระองค์ครุยปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ โดยจะติดไว้ที่อกเบื้องซ้ายของฉลองพระองค์ครุย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีความชอบต่อแผ่นดิน ทั้งนี้โดยพระราชดำริเห็นว่านับตั้งแต่สถาปนากรุงเทพมหานครมา 4 รัชกาล เป็นเวลาถึง 90 ปีเศษ มิได้มีการรบราฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกันให้เดือดร้อนแต่ประการใด และในการที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินอันดับที่ 5 ซึ่งยังทรงพระเยาว์ และมีพระชนมายุน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนๆ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการต่างๆ ก็มิได้มีความรังเกียจ ทั้งนี้ก็เพราะต่างมีใจระลึกถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นต้นพระบรมวงศ์ มาทุกพระองค์ เพื่อเป็นการตอบสนองคุณความดีนี้ สมควรที่จะได้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นอีกชนิดหนึ่ง เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สืบเนื่องกันมา และให้พระราชทานสืบตระกูลได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงบรรดาท่านผู้ที่ได้รักษาแผ่นดินมาแต่กาลก่อน ตลอดจนถึงท่านที่ได้ทะนุบำรุงแผ่นดินในปัจจุบัน [1]

ใน พ.ศ. 2484 ได้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2484”

อ้างอิง

  1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, (กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์, 2523),หน้า 60-61.